xs
xsm
sm
md
lg

เลือดข้นคนจาง? “ไผ่ทอง ไอสครีม” เปิดศึกของจริง-ของปลอม เดิมพันธุรกิจร้อยล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


จากกรณีที่วานนี้ (22 ก.ย.) เฟซบุ๊กเพจ ไผ่ทองไอสครีม @PaithongIcecream ได้โพสต์ภาพและข้อความระบุว่า “โปรดระวัง!! สินค้าลอกเลียนแบบ สังเกตก่อนซื้อกินด้วยจ้าาาาา” พร้อมทั้ง ระบุว่า ไผ่ทอง ไอศครีมของแท้นั้นต้องมีจุดสังเกต 2-3 จุดดังนี้คือ โลโก้ไม้มลายใบม้วน และแม้ไอศครีมคือคำที่สะกดถูกต้อง แต่ไผ่ทองนั้นใช้คำสะกดว่า “ไอสครีม” เป็น ส.เสือ แทน (อย่างไรก็ตามตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ คำสะกดที่ถูกต้องจริงๆ คือ ไอศกรีม)





ต่อมาได้มีผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์นำข้อความดังกล่าวไปเผยแพร่ และตั้งข้อสังเกตว่าไผ่ทอง ไอศครีม ที่เพจดังกล่าวอ้งว่า เป็นของปลอมอาจจะหมายถึง “ไผ่ทอง ไอศครีม” ที่ใช้โลโก้เป็นรูปกอไผ่ และเข้าไปถามสอบถามเพิ่มเติมว่า ในรายการกบนอกกะลา ตอน ไอศกรีม ความสุขที่ไม่มีวันละลายซึ่งบุกไปถึงโรงงานในย่านสะพานขาว สัมภาษณ์เจ้าของ ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ โมเดิร์นไนน์ ทีวี เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2557 เหตุใดจึงยังเป็นโลโก้กอไผ่ที่เพจดังกล่าวอ้างว่าเป็นของปลอม



จากคำถามดังกล่าว ผู้ดูแลเพจไผ่ทองไอศครีมจึงตอบกลับมาว่า “เอกสิทธิ์อยู่ภายใต้เครื่องหมายการค้าที่ได้รับการรับรองถูกต้องจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา ลองตรวจสอบได้ครับ”

“ทางโรงงานยินดีให้ตรวจสอบที่มาที่ไป ธุรกิจเราเปิดมาตั้ง 1950 วันนี้ 68 ปีแล้ว ทำกันมาหลายรุ่น แต่พอมีคนเอาตราสินค้าเก่าเรามาลอกเลียนแบบ โดนไม่จดอะไรเลย อันนี้ทางโรงงานก็ต้องดำเนินคดีค่ะ”

“แต่เดิมเราใช้โลโก้ต้นไผ่ค่ะ แต่ 2542 เราได้มีการจดตราสินค้าให้ถูกต้องตามกฏหมาย แต่ระยะหลังได้มีการเอาตราสินค้ามาปลอมแปลง โดยไม่ลงทะเบียน แล้วแอบขายแฝงกับไผ่ทองไอสครีม อันนี้หลอกลวงประชาชนค่ะ ขอความเข้าใจด้วยค่ะ”


อนึ่ง ข้อมูลจากรายการกบนอกกะลา ระบุว่า “ไผ่ทอง ไอสครีม” อยู่ในวงการไอศกรีมมากว่า 60 ปีแล้ว โดยเดิมทีไม่ได้เริ่มขายไอศกรีมกะทิ แต่เป็นการขายไอศกรีมแท่ง และได้ก้าวเข้าสู่วงการไอศกรีมกะทิในปี 2526 ปัจจุบันผลิตไอศกรีมออกขายประมาณ 900 กิโลกรัม มีตัวแทนขายไอศกรีมไปทั่วประเทศกว่า 20 เจ้า และกระจายสินค้าผ่านรถเข็นไอศกรีมอีกกว่า 200 คัน โดยเจ้าของโรงงงานไผ่ทองไอสครีมนั้น คือ นายบุญชัย ชัยผาติกุล

นอกจากนี้ เมื่อมีโพสต์ถามยืนยันว่า ไผ่ทอง ไอศครีม ที่ใช้โลโก้เป็นกอไผ่และออกรายการโทรทัศน์หลายรายการเป็นของปลอมใช่หรือไม่? แอดมินเพจดังกล่าวก็ยืนยันว่าเป็น “ไผ่ทอง ไอศครีม” ของปลอม และยืนยันว่าทางบริษัทกำลังดำเนินการทางกฎหมายกับโรงงานที่สะพานขาวอยู่

“เมื่อประมาณ 35 ปีที่แล้ว โรงงานไผ่ทองไอสครีม อยู่ที่สะพานขาว และย้ายโรงงานเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้วค่ะ ทางไผ่ทองจึงปรับโลโก้ให้ทันสมัยมากขึ้นตอนย้ายโรงงานค่ะ” แอดมินเพจไผ่ทองไอสครีมระบุ


ต่อมาได้มีผู้ใช้ชื่อบัญชีเฟซบุ๊กว่า Phantira Chaipatikul ได้เข้าไปแสดงความเห็นว่า “Supawan Chaiphatikul รตาชัยผาติกุลนี่อาเธอเอง ในฐานะเป็นอา ต้องมาอบรม เพราะเข้าว่าคุณพ่อคุณแม่ไม่ว่างนะ “การทำดีทำยากเห็นผลช้า แต่ต้องทำ มิฉะนั้น ในสังคมจะมีแต่คนเลว” คุณย่าเธอยังมีชีวิตอยู่อย่ามาแอบอ้าง ให้ใช้สติ ถ้าว่างให้บอกพ่อกับแม่ด้วย อย่าเป็นคนเลว เพราะนั่นจะเป็นตัวอย่างไม่ดีให้กับลูกนะ”

พร้อมกับเขียนอีกข้อความว่า “อันนี้ของย่าเธอ จงละอาย ถ้าอายมากให้เพื่อนลบออกแต่อย่าแถ น่าละอาย”

จากการตรวจสอบพบว่า นางภัณฑิรา ชัยผาติกุล เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นของ ห้างหุ้นส่วนจำกัดไผ่ทองซีกิมเช็ง จดทะเบียนเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2541 โดยมีรายชื่อหุ้นส่วนดังนี้ นางน้ายเฮียง แซ่ซี, นายบุรวิทย์ ชัยผาติกุล, นายเกษมสันต์ ชัยผาติกุล, นางสาวภัณฑิรา ชัยผาติกุล, นางสิริณัฐ ชัยผาติกุล และนางเบญจนุช ชัยผาติกุล ดำเนินธุรกิจผลิตไอศกรีมและไอศกรีมหวานเย็น

ส่วน บริษัท ไผ่ทองไอศกรีม จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2546 โดยมีนายบุญชัย ชัยผาติกุล, นางสาวภคธร ชัยผาติกุลและนายปาลวัฒน์ พัฒนวิจิตร เป็นคณะกรรมการ ดำเนินธุรกิจการผลิตยานยนต์อื่นๆรวมถึงจำหน่ายยานพาหนะทุกประเภท และไอศกรีม (ไผ่ทอง) (ที่มาคลิก)

ข้อมูลเพิ่มเติมจากเว็บไซต์ Marketeer ระบุว่าในช่วงปี 2555-2559 จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ ไผ่ทอง ไอศครีมมีรายได้เติบโตขึ้นจากราว 19.90 ล้านบาทในปี 2555 เป็น 38.56 ล้านบาทในปี 2559 โดยจุดเริ่มต้นของ ไผ่ทอง ไอศครีม เกิดขึ้นในปี 2490

“หลังจากคุณตากิมเซ้ง แซ่ซี ต้นกำเนิดไผ่ทอง เป็นเพียงพนักงานขายไอศกรีมของโรงงานไอศกรีมแห่งหนึ่งที่รสชาติไอศกรีมที่ทำออกมาแต่ละวันไม่คงที่ จนลูกค้าติเตียนในรสชาติและนำคำติเตียนนี้ไปบอกเจ้าของโรงงาน แทนที่เจ้าของโรงงานจะนำไปปรับปรุง กลับตอกกลับมาว่าคุณตากิมเซ้ง เป็นแค่คนขายจะรู้อะไรมากมาย และเป็นคำพูดที่คุณตาตัดสินใจลาออกมาทำไอศกรีมกะทิสดด้วยตัวเอง ภายใต้ชื่อ “ไอศกรีมหมีบิน” ตามเทรนด์การตั้งชื่อแบรนด์สมัยนั้น ปรากฏว่า ขายดี จนคิดเปิดโรงงานของตัวเองด้วยการนำเครื่องจักรมาใช้ในการผลิต พร้อมปรับปรุงสูตรให้ถูกปากคนไทยมากขึ้น

“แต่คำว่าหมีบินกลับคล้ายนมตราหมี เหมือนบอกว่ารักจากใจ ไอศกรีมหมีบินจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นไผ่ทองที่มาจากคำว่า กิมเต็ก แปลว่า คนที่มีคุณธรรมดั่งทอง และไผ่เป็นไม้มงคลของคนจีน และใช้ชื่อไผ่ทองเป็นเครื่องหมายการค้าตั้งแต่นั้นมา”

ทั้งนี้ นายบุญชัย ชัยผาติกุล ผู้บริหารบริษัท ไผ่ทองไอศกรีม จำกัด เคยให้สัมภาษณ์ในรายการ “แฉ” LIVE โดย มดดำ คชาภา ออกอากาศเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2560 ทางช่อง GMM25 ว่าบิดาของตนคือนายกิมเซ้ง แซ่ซี เป็นผู้ก่อตั้งไผ่ทอง ไอศกรีม







กำลังโหลดความคิดเห็น