xs
xsm
sm
md
lg

บำเพ็ญกุศล “พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร” 21-25 มิ.ย.ที่วัดมกุฏกษัตริยารามฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เผย ศพของ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ อยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ กำหนดสวดพระอธิธรรมศพ 21 - 25 มิ.ย. ณ ศาลา 5 วัดมกุฏกษัตริยารามฯ

วันนี้ (21 มิ.ย.) นางพิมพ์รวี วัฒนวรางกูร อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กรณีที่ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ ในฐานะศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2541 ได้ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. เวลา 22.35 น. ที่โรงพยาบาลตำรวจ หลังจากเข้ารับการรักษาโรคมะเร็งตับอ่อน สิริรวมอายุ 88 ปี นั้น ศพของ พล.ต.อ.วสิษฐ จะอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ โดย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จฯ พระราชทานน้ำหลวงอาบศพในวันที่ 21 มิ.ย. 2561 เวลา 17.00 น. ณ ศาลา 5 วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร กรุงเทพฯ

ส่วนกำหนดสวดพระอภิธรรมศพ จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 21 - 25 มิ.ย. 2561 เวลา 19.00 น. ณ ศาลา 5 วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร กรุงเทพฯ ส่วนหมายกำหนดการพระราชทานเพลิงศพจะแจ้งให้ทราบในโอกาสต่อไป ในส่วนของการช่วยเหลือด้านต่างๆ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม จะดำเนินการมอบเงินช่วยเหลือเมื่อเสียชีวิตเพื่อร่วมการบำเพ็ญกุศลศพจำนวน 20,000 บาท และเงินช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือเพื่อเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิตเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 150,000 บาท

นางพิมพ์รวี กล่าวว่า พล.ต.อ.วสิษฐ ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2541 ในฐานะเป็นนักเขียนนวนิยายเกี่ยวกับวงการตำรวจและอาชญากรรม โดยนำมาจากประสบการณ์จริง และเป็นนักเขียนที่สร้างงานต่อเนื่องเกือบกึ่งศตวรรษ ผลงานที่โดดเด่น ได้แก่ งานเขียนประเภทหัสคดี นวนิยายแนวการเมือง และอาชญนิยาย เคยใช้นามปากกา “โก้ บางกอก” ผลงานเขียนที่สร้างชื่อเสียง เช่น แม่ลาวเลือด, รำลึกชาติ (นี้) อีก, ลว.สุดท้าย 1, ลว.สุดท้าย 2, เลือดเข้าตา, เบี้ยล่าง, หักลิ้นช้าง, สันติบาล, สารวัตรใหญ่, สารวัตรเถื่อน

“งานวรรณกรรมของท่าน เป็นนิยายที่เขียนจากประสบการณ์ในราชการตำรวจ มีตัวเอกเป็นตำรวจที่มีอุดมการณ์ และนิยายหลายเรื่องมีผู้นำไปสร้างภาพยนตร์ และละครโทรทัศน์ ทำให้งานเขียนเป็นที่รู้จักแพร่หลาย งานเขียนของท่านสะท้อนให้เห็นถึงความหยั่งรู้ในธรรมชาติและพฤติกรรมของมนุษย์ ความสำนึกทางสังคม ตลอดจนอารมณ์ขัน และละชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ ทำให้งานประพันธ์แต่ละประเภท เป็นวรรณกรรมที่ทรงคุณค่า เพราะนอกจากจะให้ความบันเทิงแล้ว ยังทำให้ผู้อ่านเข้าใจในพฤติกรรมของมนุษย์ และตระหนักถึงปัญหา ตลอดจนหน้าที่ความรับผิดชอบที่แต่ละคนจะพึงมีต่อสังคม” นางพิมพ์รวี กล่าวว่า


กำลังโหลดความคิดเห็น