xs
xsm
sm
md
lg

จับโกหกโรงกลั่น อ้างน้ำมันส่งออกตกเกรด แต่ผลิตเป็นล่ำเป็นสัน ขายสิงคโปร์ปีละ 5-6 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
อดีต รมว.คลังโต้ผู้บริหารโรงกลั่น อ้างน้ำมันส่งออกเป็นน้ำมันตกเกรดจึงราคาถูกกว่าน้ำมันในประเทศ ชี้เป็นไปไม่ได้ที่จะผลิตน้ำมันตกเกรดเป็นล่ำเป็นสันวันละ 2 แสนบาร์เรล หรือ 1 ใน 5 ของกำลังการกลั่น แถมประเทศที่รับซื้อส่วนมากล้วนมีมาตรฐานสูง โดยเฉพาะสิงคโปร์ซื้อมากที่สุดปีละ 5-6 หมื่นล้านบาท ท้าเปิดเผยข้อมูลยืนยันคำพูด

วันนี้ (8 มิ.ย.) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala ในหัวข้อ “น้ำมันสำเร็จรูปที่ส่งออก ตั้งราคาต่ำกว่าคนไทย เพราะเป็นน้ำมันตกเกรด-ชัวร์หรือมั่วนิ่ม?” โดยระบุว่า “ในปี 2532 รัฐบาลของ พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เจ้าของนโยบาย “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” ได้กำหนดนโยบายให้ไทยขยายกำลังกลั่นน้ำมัน เกินกว่าความต้องการในประเทศ เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์ส่งออกน้ำมัน ซึ่งน่าจะเพื่อเป็นฮับการกลั่นน้ำมัน สำหรับป้อน “สนามการค้า” ใหม่ในอินโดจีนนั่นเอง

นโยบายดังกล่าว ประกอบกับการใช้สูตรราคาขายคนไทยที่สูงเกินเหตุ โดยให้ขายเท่ากับสิงคโปร์ บวกด้วยค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง เปิดช่องให้โรงกลั่น สามารถเอากำไรจากการขายให้แก่คนไทย ไปตัดราคาแข่งขันกับสิงคโปร์ ในการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป ทำให้ราคาส่งออกต่ำกว่าราคาคนไทย!

ปรากฏว่า รัฐบาล คสช.ได้ให้นายอธิคม เติบศิริ กรรมการผู้จัดการโรงกลั่นไทยออยล์ ออกมาชี้แจง ดังนี้
ในคลิปข้างล่าง นาทีที่ 2.51 นายอธิคม พูดว่า “ปัจจุบันคุณภาพน้ำมันของเราเป็น ยูโร 4 กำมะถันประมาณ 50 พีพีเอ็ม ซึ่งน้ำมันที่ส่งออกส่วนใหญ่กัมมะถันอยู่ในราว 500 พีพีเอ็ม ซึ่งไม่สามารถจะ blend (ผสม) ต่อได้แล้ว หรือ process (เพิ่มขบวนการผลิต) ต่อได้แล้ว ...น้ำมันเหล่านี้ไม่คุ้มค่าในการที่จะเอาไปใช้อย่างอื่น ก็ต้องมีการส่งออก ...ทำไมส่งออกถูกกว่าขายในประเทศ ก็เพราะน้ำมันคนละคุณภาพกัน”



ถามว่า ที่นายอธิคมบอกว่า น้ำมันส่งออก เป็นน้ำมันตกเกรดนั้น - ชัวร์หรือมั่วนิ่ม? และน้ำมันตกเกรด (ถ้ามี) เป็นสัดส่วนเล็ก หรือใหญ่?

น่าเสียดาย ที่กระทรวงพลังงานไม่ได้เปิดเผยตัวเลขที่สำคัญนี้ต่อประชาชนเป็นประจำ แต่ผมจะให้ข้อมูล เพื่อท่านผู้อ่านวิเคราะห์ได้เอง

** ประการที่หนึ่ง เป็นไปไม่ได้ที่โรงกลั่นจะตั้งใจผลิตน้ำมันตกเกรด อย่างเป็นล่ำเป็นสัน

เนื่องจากไทยส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป เกือบ 1 ใน 5 ของกำลังการกลั่นทั้งหมด เป็นปริมาณต่อวันสูงถึง 2 แสนบาร์เรล! จึงต้องถามว่า การที่โรงกลั่นในไทยจะมุ่งมั่นผลิตน้ำมันตกเกรดเพื่อส่งออก มากมายเช่นนี้ เป็นไปได้จริงหรือ?

และเมื่อพิจารณาว่า รัฐบาลไทยกำหนดนโยบายให้ไทยเป็นศูนย์กลั่นและส่งออกน้ำมัน ตั้งแต่ปี 2532 และมีการขยายกำลังกลั่นเพื่อส่งออกมาอย่างต่อเนื่อง …

จนล่าสุดกำลังกลั่นในประเทศไทย มีสูงถึง 1.1 - 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็นอันดับสองของอาเซียน!
จึงเป็นไปไม่ได้ ที่ในการวางแผนขยายกำลังกลั่น เจ้าของโรงกลั่นจะเลือกอุปกรณ์มาตรฐานต่ำ ...
ที่ผลิตน้ำมันคุณภาพต่ำโดยไม่ตั้งใจ ในลักษณะเป็น by product ที่เรียกว่าเป็น 'เศษน้ำมัน' ในจำนวนมากมายถึง 1 ใน 5 ของกำลังกลั่นทั้งประเทศ

ถ้าจะมีโดยไม่ตั้งใจ ก็คงจะเพียงเล็กน้อย

ดังนั้น ถ้ามีการผลิตและส่งออกน้ำมันคุณภาพต่ำ อย่างเป็นล่ำเป็นสัน ก็ต้องเกิดจากประเทศผู้ซื้อกำหนดมาตรฐานไว้ต่ำ เป็นการเฉพาะ ซึ่งก็ไม่น่าเป็นไปได้อีกเช่นกัน

** ประการที่สอง ส่วนต่างราคาส่งออกกับขายในประเทศ มีมากกว่าส่วนต่างมาตรฐานยูโร

ผมเคยพบข้อมูล ส่วนต่างระหว่างยูโร 3 กับยูโร 4 นั้น สะท้อนเข้าไปในราคาน้ำมันเพียงระดับลิตรละ 10-15 สตางค์ ...

แต่ราคาส่งออกเบนซิน (ตารางด้านขวา) ไปยังพม่า ลาว และกัมพูชา บางกรณีต่ำกว่าราคาขายคนไทยลิตรละเกือบ 1 บาท และราคาส่งออกไปยังสิงคโปร์ กราฟเส้นสีแดง ต่ำกว่าไทยถึงลิตรละ 2-3.50 บาท (ดูรูปที่ 1)
ภาพจากเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala
ดังนั้น ส่วนต่างราคาส่งออก ที่ต่ำกว่าราคาคนไทยมาก จึงย่อมมิได้เกิดจากแตกต่างมาตรฐานยูโรเป็นหลัก
แต่น่าจะเกิดจากการเอากำไรจากคนไทย ไปตัดราคาส่งออกแข่งกับสิงคโปร์มากกว่า

** ประการที่สาม ไทยส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปไปยังประเทศที่มีมาตรฐานสูงมากมาย ซึ่งไม่สามารถเป็นน้ำมันตกเกรด

ถ้าดูตารางรายชื่อลูกค้าที่ไทยส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป สำหรับช่วงเวลา 2558-2561 ซึ่งเป็นช่วงรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ (ดูรูปที่ 2)
ภาพจากเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala
จะพบว่า:-

อันดับ 1 คือ สิงคโปร์ ไทยส่งออกมากถึงปีละ 5-6 หมื่นล้านบาท
อันดับ 5 คือ จีน ปีละ 2-3 หมื่นล้านบาท
อันดับ 7 คือ มาเลเซีย ปีละ 1.5-2 หมื่นล้านบาท
อันดับ 9 เกาหลีใต้ ปีละ 2.5-3.5 พันล้านบาท
อันดับที่ 11 ออสเตรเลีย ปีละ 2.5-4 พันล้านบาท และ
อันดับที่ 11 สหรัฐอเมริกา ปีละ 2 ร้อยล้านบาท

รายชื่อประเทศผู้ซื้อเหล่านี้ ล้วนเป็นประเทศที่กำหนดมาตรฐานด้านน้ำมันสูง … และเฉพาะตลาดเหล่านี้รวมกัน ก็เป็นสัดส่วน 52% ของตัวเลขส่งออก 15 ตลาดแรกแล้ว!

และการที่สิงคโปร์เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย เป็นที่น่าสะท้อนใจว่า คนไทยถูกขูดเลือดขูดเนื้อ ถึงขั้นนี้แล้วเชียวหรือ?

เพราะสิงคโปร์ซื้อน้ำมันจากไทย ก็คงมิใช่เอาไปใช้เอง แต่คงเอาไปขายส่งออกอีกต่อหนึ่ง ดังนั้น ราคาที่ไทยส่งออกไปสิงคโปร์ จึงต่ำกว่าราคาคนไทยมากมาย ถึงลิตรละ 2-3.50 บาท ดังที่ปรากฏในรูปที่ 1

และถึงแม้ราคาจะต่ำดังกล่าว โรงกลั่นก็ยังตะบี้ตะบัน วางแผนจะขยายกำลังผลิตอย่างดุเดือด

กรณีไทยออยล์ของนายอธิคมเอง เพิ่งประกาศไม่กี่วันนี้ จะขยายกำลังจาก 1.75 แสนบาร์เรลต่อวัน ขึ้นเป็น 4 แสน ก็ย่อมแสดงว่า การขายไปสิงคโปร์ ถึงแม้ต่ำกว่าราคาคนไทยมากมาย ถึงลิตรละ 2-3.50 บาท โรงกลั่นก็ยังมีกำไรดี!!!

คนไทยจึงมีแต่โศกเศร้า???

ดังนั้น ผมจึงขอท้าทายให้นายอธิคม เปิดเผยข้อมูลน้ำมันตกเกรด ที่อ้างว่าโรงกลั่นไทยออยล์ส่งออก พร้อมแสดงราคา เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันคำพูดของตัวเอง โดยแยกเป็นผู้ซื้อแต่ละประเทศ แต่ไม่ต้องเปิดเผยชื่อผู้ซื้อ

ข้อมูลอย่างนี้ ไม่ใช่ความลับทางการค้าที่เปิดเผยไม่ได้ แต่เป็นเรื่องที่ค้างคาใจประชาชน ซึ่งจำเป็นต้องทำให้กระจ่าง และขอเรียกร้องให้กระทรวงพลังงานเปิดเผยตัวเลขสัดส่วนของน้ำมันตกเกรดส่งออกของทั้งประเทศ เป็นตัวเลขย้อนหลัง 5 ปีด้วย

นอกจากนี้ อสมท ผู้ทำรายการก็จำเป็นต้องไปสัมภาษณ์ข้าราชการกระทรวงพลังงาน และบุคคลที่น่าเชื่อถือ เพื่อขุดคุ้ยประเด็นนี้จนสิ้นซาก เพื่อตีแผ่ต่อประชาชนว่ามีการส่งออกน้ำมันตกเกรดมากจริง หรือมั่วนิ่ม ...

“และปัญหา “ตกเกรด” นั้น เป็นปัญหาของน้ำมันส่งออก หรือปัญหาคุณภาพของผู้บริหารโรงกลั่น หรือปัญหาความเป็นมืออาชีพของ อสมท กันแน่?” นายธีระชัยระบุ


กำลังโหลดความคิดเห็น