xs
xsm
sm
md
lg

บทเรียนหนุ่มคว้าทอง 10 ล้านจากชาเขียวดัง ได้รางวัลแล้ว “อย่าลืมเรื่องภาษี”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


... รายงาน

กรณีที่ “ทนายเกิดผล แก้วเกิด” ระบุว่า มีหนุ่มรายหนึ่งชาวจังหวัดเพชรบูรณ์ได้รับรางวัลแมวทองคำ มูลค่า 10 ล้านบาท จากชาเขียวยี่ห้อดังเมื่อปี 2559 ซึ่งเจ้าตัวก็ใช้เงินไปกับการจับจ่ายจนหมด

แต่ต่อมาปี 2561 มีหนังสือจากสำนักงานสรรพากรพื้นที่เพชรบูรณ์ ให้ชำระภาษีรายได้บุคคลธรรมดา จำนวน 3.5 ล้านบาท เพราะไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90)

ทำเอาชาวเน็ตตั้งข้อสังเกตว่า ในเมื่อตอนรับรางวัลต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไปแล้ว ทำไมต้องเสียภาษีซ้ำอีก?

โดยปกติแล้ว ชาวบ้านธรรมดาที่มีรายได้ทั้งปีไม่เกิน 120,000 บาท (น้อยกว่าเดือนละ 10,000 บาท) ไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี

ถ้ามีรายได้มากกว่า 120,000 บาทต่อปี ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี ภ.ง.ด.91 สำหรับมนุษย์เงินเดือน หรือ ภ.ง.ด.90 สำหรับคนที่มีจ็อบเสริมทำด้วย

พอเอารายได้ไปคำนวณ โดยหักค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนต่างๆ เรียบร้อยแล้ว ถ้าคนที่มีเงินได้สุทธิต่ำกว่า 150,000 บาท ไม่ต้องเสียภาษี แค่ยื่นเอกสารให้สรรพากรเฉยๆ ก็จบ

แต่ถ้ามีเงินได้สุทธิเกิน 150,000 บาท ต้องเสียภาษีแบบขั้นบันได เริ่มต้นที่ 5% สำหรับเงินได้สุทธิ 150,001-30,000 บาท สูงสุด 35% สำหรับเงินได้สุทธิเกิน 5 ล้านบาทขึ้นไป

ปัญหาส่วนใหญ่ที่เคยพบ จนเป็นข่าวในอดีตก็คือ ชาวบ้านที่ไม่เคยยื่นแบบแสดงรายการภาษีมาก่อน เพราะรายได้ไม่ถึง คิดว่าจ่ายภาษี ณ ที่จ่ายตอนรับรางวัล 5% ก็ถือว่าจ่ายภาษีหมดแล้ว

ทั้งที่จริงแล้ว ไม่ใช่!

กรณีเงินหรือของรางวัลจากการชิงโชค ปกติหากมูลค่าเกิน 1,000 บาทขึ้นไป บริษัทห้างร้านกำหนดว่า ผู้ได้รับรางวัลจะต้องเสียภาษี ณ ที่จ่าย 5% และภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% โดยจ่าย ณ วันที่ได้รับของรางวัล

ยกเว้นทองคำแท่ง ไม่อยู่ในข่ายที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เสียเฉพาะภาษี ณ ที่จ่าย 5%

ส่วนบ้านและที่ดิน นอกจากเสียเฉพาะภาษี ณ ที่จ่าย 5% แล้วจะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ เมื่อจดทะเบียนโอนบ้านพร้อมที่ดิน

แต่ ... ไม่ได้จบลงแค่นั้น เพราะปีต่อไปที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีของปีที่แล้วจะต้องเอามูลค่าของรางวัลมาใส่เป็น “เงินได้พึงประเมิน” แล้วคำนวณเป็น “รายได้สุทธิ” ออกมา เพื่อจ่ายภาษีเงินได้ปีที่แล้วซ้ำอีกครั้ง

กรมสรรพากรระบุว่า เงินรางวัลที่ได้รับจากการชิงโชค ถือเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากรฯ ต้องนำเงินหรือมูลค่าสิ่งของที่ได้รับทั้งหมดในปีภาษีนั้น มารวมคำนวณด้วย

แม้จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แล้วก็ตาม แต่ผู้ได้รับรางวัลยังคงมีหน้าที่ต้องนำเงินรางวัลที่ได้รับ ไปยื่นแบบแสดงรายการเพื่อคำนวณภาษีเงินได้

ส่วนภาษี ณ ที่จ่าย 5% ที่จ่ายไปแล้ว จะกลายเป็น “เครดิตภาษี” ที่สามารถนำมาใช้ได้

ใครที่ได้รับรางวัล และถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย อย่าลืมเก็บเอกสารหลักฐานการเสียภาษี ณ ที่จ่ายเอาไว้ให้ดี แล้วปีหน้าเอาตัวเลขมูลค่ารางวัลมาเป็นเงินได้พึงประเมิน ก่อนคำนวณเป็นรายได้สุทธิ

จะซิกแซ็กไม่ทำเลยก็ยาก เพราะบริษัทฯ ที่จัดชิงโชคต้องส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรตามปกติอยู่แล้ว ใครเป็นผู้โชคดี สรรพากรย่อมมีข้อมูลอยู่ในมือ

นอกจากนี้ หากผู้โชคดีที่ได้รับรางวัลเป็นเด็กเล็ก ถือว่ามีเงินได้ตามมาตรา 40(8) แม้จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แล้วก็ตาม ยังคงมีหน้าที่ต้องนำเงินรางวัลที่ได้รับไปยื่นแบบแสดงรายการเพื่อคำนวณภาษีเงินได้

โดยให้เป็นหน้าที่ของผู้แทนโดยชอบธรรม เช่น ผู้ปกครอง เป็นตัวแทนในการชำระภาษี

กรณีหนุ่มชาเขียวที่คว้าโชคแล้วต้องกลายเป็นทุกขลาภ เป็นผลมาจากการเจออัตราภาษีสูงถึง 35% ของเงินได้สุทธิ ซึ่งมาจากแมวทองคำ มูลค่า 10 ล้านบาท แม้จะมีเครดิตภาษีหัก ณ ที่จ่ายไปแล้ว 5% ก็คงไม่พอ

ถือเป็นบทเรียนของบรรดานักเสี่ยงโชค หากพบว่าตนเองได้รับรางวัลจำนวนมหาศาลแล้ว ต้องคิดเรื่องภาษีที่จะตามมาในปีหน้าอีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น