xs
xsm
sm
md
lg

ครั้งแรกในไทย! สีสัน “วันจักรยานโลก” นักปั่นนับพันรวมตัวคึกคัก (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เพราะ “จักรยาน” เปลี่ยนโลก เปลี่ยนชีวิตได้..ไม่แปลกที่หลายประเทศจะให้ความสำคัญกับ “เจ้าสองล้อ” นี้ เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ดูเหมือนจะมีความหวังจากการตื่นตัวของผู้ใหญ่หลายๆ ฝ่าย แต่ก็ยังดูคลุมเครือ และไร้ทิศทางในสายตานักปั่นอยู่ไม่น้อย โดยเฉพะโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการปั่นจักรยาน

“วันจักรยานโลก” จึงถือกำเนิดขึ้นหลังมีการเคลื่อนไหวเพื่อผลักดันให้มีการส่งเสริมการใช้จักรยานให้ได้ผลมากขึ้น โดยสมัชชาใหญ่สหประชาชาติได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2561 ประกาศให้วันที่ 3 มิถุนายนของทุกปี เป็น “วันจักรยานโลก” ซึ่งนับเป็นวันสากลอีกวันหนึ่งที่รัฐสมาชิกของสหประชาชาตินำไปเฉลิมฉลองให้เห็นความสำคัญเช่นเดียวกับวันสากลอื่นๆ เช่น วันสตรีสากล วันสิ่งแวดล้อมโลก วันเอดส์โลก วันสิทธิมนุษยชนสากล เป็นต้น





สำหรับในไทย วันนี้ (3 มิ.ย.) นับเป็นอีกหนึ่งวันที่ยิ่งใหญ่ และเป็นครั้งแรกที่มีการจัดงาน “วันจักรยานโลก” ขึ้นอย่างคึกคัก โดยมูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยาน ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), การประปานครหลวง (กปน.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และบริษัท โปร์ไบค์ ตลอดจนภาคีเครือข่ายจักรยานอื่นๆ กว่า 40 องค์กรทั่วไทย รวมตัวกันปั่นรณรงค์จากศาลาว่าการกรุงเทพมหานครไปยังองค์การสหประชาติ (ยูเอ็น) เพื่อยื่นจดหมายเปิดผลึกแถลงการณ์ขอบคุณที่เห็นความสำคัญ และประกาศให้วันนี้เป็นวันสากลอีกหนึ่งวัน

ทั้งนี้ ในตัวจดหมายดังกล่าว ศ.กิตติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ประธานมูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย เสนอมาตรการระยะสั้น 8 ข้อ คือ 1. จัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานที่อำนวยความสะดวกและความปลอดภัยแก่ผู้ใช้จักรยานทุกประเภท โดยมุ่งเน้นผู้ใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน 2. สร้างความเข้าใจ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จักรยานที่ถูกต้อง ปฏิบัติได้จริงในบริบทของสังคมไทย 3. จัดให้มีหน่วยงานภาครัฐระดับกรมที่รับผิดชอบงานจักรยานโดยตรงในกระทรวงคมนาคม และกระทรวงมหาดไทย เพื่อศึกษา วิจัย เก็บรวบรวมข้อมูล และจัดให้มีระบบจักรยาน และโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม โดยเฉพาะกับผู้พิการ








4. มีการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรและขนส่งอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้จักรยานทุกประเภท 5. ส่งเสริมและสนับสนุนระบบการเชื่อมต่อระหว่างการใช้จักรยานและระบบขนส่งสาธารณะ ทั้งแบบมวลชน และปัจเจกบุคคล 6. ส่งเสริม สนับสนุนให้เกิดชุมชนจักรยานที่ประชาชนในพื้นที่ของชุมชนได้ใช้จักรยานในชีวิตประจำวันอย่างจริงจัง อย่างประเทศเนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก หรือญี่ปุ่น

7. หลีกเลี่ยงการสร้างถนนใหญ่ในเมือง เทศบาล และชุมชนเพื่อลดปัญหาทางสังคม และใช้พื้นที่ที่มีอยู่จำกัดนั้น มาสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ โดยเฉพาะการเดิน และการใช้จักรยาน และ 8. ส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยจักรยานในประเทศเพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้แก่ชุมชนท้องถิ่น และประเทศโดยรวม




ทั้งหมดนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม อาคม เติมพิทยาไพสิฐ หลังจากร่วมปั่นจักรยานในกิจกรรมดังกล่าว ก็ยินดีรับข้อเสนอไว้พิจารณา พร้อมกับให้ความหวังในการปรับปรุงความปลอดภัยทางถนนเพื่อเอื้อต่อการปั่นจักรยานให้เห็นเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในเมืองหรือต่างจังหวัด เพราะเชื่อมั่นว่า “มันจะเปลี่ยนไทย เปลี่ยนโลกได้”

นอกจากนั้น “การปั่นจักรยาน” ยังเปลี่ยน “โรค” ให้เป็น “โชค” (สุขภาพดี) ไม่แพ้การออกกำลังกายในรูปแบบอื่นๆ 
บอกเล่าได้จากผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา รศ.นพ.ปัญญา ไข่มุก คณะกรรมการกองทุน สสส. “การปั่นจักรยาน” คือ ตัวเลือกหนึ่งในการออกกำลังกายที่ทำได้ง่ายๆ ในหมู่บ้าน หรือสวนสาธารณะ ช่วยลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs ได้มากถึง 10,000 รายต่อปี ซึ่งโรคในกลุ่ม NCDs ที่มีอัตราผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตสูงสุด 6 โรค ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ โรคถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง และโรคอ้วนลงพุง



อย่างไรก็ดี นอกจากความคึกคักของนักปั่นนับพันชีวิตในกรุงเทพฯ แล้ว ที่ จ.สงขลา ก็คึกคักไม่แพ้กัน โดยรวมตัวกันออกมาปั่นเพื่อแสดงสัญลักษณ์สนับสนุนปฏิญญา UN และหวังว่า “ปัญหา” จะได้รับ “การแก้ไข” ไม่ใช่ปล่อยให้ใครมาประชดได้ ว่า “โลกเขาไปถึงไหนแล้ว ประเทศไทยมัวทำอะไรกันอยู่”


กำลังโหลดความคิดเห็น