ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่เนื้อหา พ.ร.บ. อีอีีซี บังคับใช้พรุ่งนี้ (15 พ.ค.) กำหนดให้ภาคตะวันออกเป็นเขตพัฒนาพิเศษ สู่ความเป็นเมืองอุตสาหกรรมสมัยใหม่สอดคล้องการพัฒนาที่ยั่งยืน วางเป้าหมายอุตสาหกรรมพิเศษ อาทิ ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ การบิน เป็นต้น พร้อมกำหนดการเช่าที่ดินของต่างชาติ ไม่เกิน 99 ปี ตาม พ.ร.บ. การเช่าอสังหาริมทรัพย์ฯ ปี 42 ที่มีอยู่เดิม
วันนี้ (14 พ.ค.) ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค. 2561 เป็นต้นไป โดย พ.ร.บ. ฉบับนี้มีทั้งหมด 73 มาตรา รวมบทเฉพาะการ โดยเหตุผลของการตรา พ.ร.บ.
เพื่อกำหนดให้ภาคตะวันออกเป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่มีการวางแผนการใช้ประโยชน์พื้นที่ชัดเจนแน่นอนโดยสอดคล้องกับหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน มีการบูรณาการการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคให้ต่อเนื่องและเชื่อมโยงกัน ทั้งในและนอกเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พัฒนาเมืองให้มีความทันสมัยระดับนานาชาติ ที่เหมาะสมต่อการอยู่อาศัยและการประกอบกิจการ มีการให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร รวมทั้งให้สิทธิประโยชน์ทั้งแก่ผู้ประกอบกิจการและผู้อยู่อาศัยในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเป็นการเฉพาะ
สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.อีอีซี อาทิ มาตรา 6 กำหนดให้พื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และ ระยอง และพื้นที่อื่นใดที่อยู่ในภาคตะวันออกที่กำหนดเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา เป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเพื่อวัตถุประสงค์ อาทิ 1. พัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทันสมัยเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 2. จัดให้มีการบริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร ลดอุปสรรคและต้นทุนในการประกอบกิจการ 3. พัฒนาเมืองให้ทันสมัยระดับนานาชาติ สะดวก ปลอดภัย
มาตรา 10 กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ดอีอีซี) มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รองนายกฯ เป็นรองประธาน นอกนั้นมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ กับผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 5 คน เป็นต้น
มาตรา 11 กำหนดอำนาจหน้าที่ของบอร์ดอีอีซี อาทิ กำหนดนโยบายเพื่อพัฒนา EEC, ให้ความเห็นชอบแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน, โครงสร้างพื้นฐาน, กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการร่วมลงทุนกับเอกชน หรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน, อนุมัติ อนุญาตให้สิทธิ หรือให้สัมปทาน, กำหนดพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ อุตสาหกรรมเป้าหมายและสิทธิประโยชน์
มาตรา 39 ในหมวด 5 เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ กำหนดเป้าหมายอุตสาหกรรมพิเศษ ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วย 1. ยานยนต์สมัยใหม่ 2. อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 3. การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ 4. การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 5. การแปรรูปอาหาร 6. หุ่นยนต์ 7. การบินและโลจิสติกส์ 8. เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 9. ดิจิทัล และ 10. การแพทย์และสุขภาพครบวงจร
มาตรา 49 ให้ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษซึ่งเป็นนิติบุคคลและเป็นคนต่างด้าวตามประมวลกฎหมายที่ดิน มีสิทธิถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินภายในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อการประกอบกิจการที่ได้รับอนุญาตได้โดยไม่ต้องได้รบอนุญาตตามประมวลกฎหมายที่ดิน ให้ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษซึ่งเป็นนิติบุคคลและเป็นคนต่างด้าว ตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุดมีสิทธิถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุด โดยได้รับการยกเว้นจากการจํากัดสิทธิของคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด ผู้ประกอบกิจการซึ่งจะมีสิทธิ และจํานวนที่ดินหรือห้องชุดตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายประกาศกําหนดโดยความเห็นชอบ ของคณะรัฐมนตรี แต่ทั้งนี้ ต้องไม่เกินที่กําหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนหรือ กฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
และ มาตรา 52 การเช่า เช่าช่วง ให้เช่า หรือให้เช่าช่วงที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อดําเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ มิให้นําความในมาตรา 540 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ. 2542 มาใช้บังคับ การเช่า เช่าช่วง ให้เช่า หรือให้เช่าช่วงตามวรรคหนึ่ง ห้ามมิให้ทําสัญญาเช่าเป็นกําหนดเวลา เกินห้าสิบปี ถ้าได้ทําสัญญากันไว้เป็นกําหนดเวลานานกว่านั้นก็ให้ลดลงมาเป็นห้าสิบปี การต่อสัญญาเช่า อาจทําได้แต่จะต่อสัญญาเกินสี่สีิบเก้าปีนับแต่วันครบห้าสิบปีไม่ได้