xs
xsm
sm
md
lg

เปิดใช้แล้ว “กล้องเลนเชนจ์” 15 จุดทั่วกรุงเทพฯ จับผิดจอมปาด-จอมเบียด ส่งใบสั่งถึงบ้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


วันนี้ (9 พ.ค.) เป็นวันแรกที่กองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) จะดำเนินการใช้งานกล้องจับรถเปลี่ยนช่องทางกะทันหัน หรือกล้องเลนเชนจ์ เพื่อตรวจจับรถฝ่าฝืนเปลี่ยนช่องทางเดินรถในเขตห้าม โดยได้เริ่มเก็บข้อมูลตั้งแต่เวลา 01.00 น.ที่ผ่านมา

สำหรับจุดติดตั้งกล้องเลนเชนจ์ 15 จุด ประชาชนสามารถสังเกตจุดบังคับใช้กฎหมายได้จากป้ายเตือน ที่ได้ติดตั้งเสร็จแล้ว โดยจะติดเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะ 100 เมตร ระยะ 50 เมตร และระยะ 30 เมตร ประกอบด้วย

1. สะพานแยกบางเขน ถนนงามวงศ์วาน ขาออก
2. สะพานข้ามแยกศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ ขาออก
3. ทางลอดแยกห้วยขวาง ถนนรัชดาภิเษก ขาเข้า
4. สะพานข้ามแยกบรมราชชนนี ถนนบรมราชชนนี ขาออก
5. สะพานข้ามแยกวงเวียนบางเขน ถนนแจ้งวัฒนะ ขาเข้า
6. สะพานข้ามแยกราชเทวี ถนนเพชรบุรี ขาออก
7. แยกสามเหลี่ยมดินแดง ถนนดินแดง ขาเข้า
8. สะพานข้ามแยกประชานุกูล ถนนรัชดาภิเษก ขาออก
9. สะพานศิริราช ด้านถนนอรุณอมรินทร์ ถนนอรุณอมรินทร์ขาออก
10. แยกรัชดา-ลาดพร้าว ถนนลาดพร้าว ขาออก
11. แยกรัชดา-ลาดพร้าว ถนนลาดพร้าว ขาเข้า
12. สะพานข้ามแยกวงศ์สว่าง ถนนรัชดาภิเษก ขาออก
13. สะพานข้ามแยกพระราม 4 ถนนรัชดาภิเษก ขาออก
14. สะพานพระพุทธยอดฟ้า ถนนประชาธิปก ขาเข้า
15. สะพานข้ามแยกกำนันแม้น ถนนกัลปพฤกษ์ ขาออก

นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งกล้องจับรถเปลี่ยนช่องจราจร และบังคับใช้กฎหมายไปก่อนหน้านี้แล้ว 3 แห่ง คือ ที่สะพานข้ามแยกยมราช สะพานข้ามแยกประชานุกูล และอุโมงค์สุทธิสาร

- กล้องทำงานยังไง ได้ใบสั่งแล้วจะไปจ่ายที่ไหน?

รูปแบบการทำงาน คือ แต่ละจุดจะติดตั้งอุปกรณ์ทั้ง 3 ตัว คือ ตัวเซ็นเซอร์ กล้องบันทึกภาพวิดีโอและกล้องบันทึกภาพหลังกระทำความผิด โดยจะใช้ระบบเซ็นเซอร์และบันทึกภาพเป็นวิดีโอ จากนั้นจะเข้าสู่ระบบประมวลผล และส่งข้อมูลมายัง บก.จร.ตลอด 24 ชั่วโมง

เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.จร.จะตรวจสอบความถูกต้อง ก่อนจะออกใบสั่งและส่งไปยังเจ้าของรถทางไปรษณีย์ ให้ชำระค่าปรับ โดยสามารถชำระได้ผ่านทางจุดรับชำระที่มีสัญลักษณ์ ชำระค่าปรับจราจร PTM (Police Ticket Management) ได้แก่ เคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทยทุกสาขา, ตู้ ATM และตู้ ADM กรุงไทย, เว็บไซต์ แอปพลิเคชัน KTB netbank และเคาน์เตอร์ของ CenPay ในร้านแฟมิลี่มาร์ท เซ็นทรัลฟู้ดฮอลล์, ท็อปส์, ซูเปอร์คุ้ม, ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล, โรบินสัน, ร้านบีทูเอส, ร้านออฟฟิศเมท, ห้างไทวัสดุ, โฮมเวิร์ค, บ้านแอนด์บียอนด์, พาวเวอร์บาย, ซูเปอร์สปอร์ต ฯลฯ รวม 8,000 จุดทั่วประเทศ

นอกจากนี้ ระหว่างที่ออกใบสั่งจะตรวจสอบด้วยว่าสีรถที่กระทำผิดตรงกับสีรถที่ผู้ครอบครองแจ้งไว้กับสำนักงานขนส่งหรือไม่ หากไม่ตรงกันก็จะรีบแจ้งไปยังเจ้าของรถทันทีเพื่อป้องกันมิจฉาชีพสวมทะเบียนได้อีกทาง และในกรณีที่ยังมีข้อสงสัย สามารถตรวจสอบหลักฐานด้วยตนเองได้จากยูอาร์แอลและรหัสผ่านท้ายใบสั่ง โดยรหัสผ่านจะเปลี่ยนไปทุกครั้งที่มีการออกใบสั่ง

- “แยกศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ” แชมป์จอมปาด-เบียด

ที่ผ่านมา บก.จร.จัดหาเอกชน ซึ่งเป็นผู้รับเหมาติดตั้งมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2560 และได้เปิดทดลองระบบตรวจจับเพื่อทดสอบประสิทธิภาพของกล้องมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2561 ที่ผ่านมา พบว่า มีประชาชนทำผิดในระยะเวลาที่ทดลองกว่า 2 แสนราย เฉลี่ยวันละกว่า 7,000 ราย

จุดที่ประชาชนฝ่าฝืนเปลี่ยนช่องทางเดินรถในเขตห้ามมากที่สุด อยู่บริเวณสะพานข้ามแยกศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ ขาออก รองลงมาคือ สะพานข้ามแยกวงเวียนบางเขน ถนนแจ้งวัฒนะ ขาเข้า, สะพานข้ามแยกสามเหลี่ยมดินแดง ถนนดินแดง ขาเข้า, ทางขึ้นสะพานพระพุทธยอดฟ้า ถนนประชาธิปก ขาเข้า และสะพานข้ามแยกกำนันแม้น ถนนกัลปพฤกษ์ ขาออก

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่จัดเก็บตั้งแต่เดือนเมษายน ถึงวันที่ 8 พ.ค. ทาง บก.จร.จะลบทิ้งทั้งหมด และจะไม่นำภาพมาออกใบสั่ง แต่จะเริ่มบันทึกข้อมูลตั้งแต่วันที่ 9 พ.ค. เวลา 01.00 น.เป็นต้นไป

ส่วนข้อสงสัยที่ว่า กล้องตรวจจับเลนเชนจ์จะเชื่อมโยงใบสั่งให้เชื่อมกับข้อมูลของกรมการขนส่งทางบก เพื่อทำการอายัดการชำระภาษีประจำปี ในกรณีที่ไม่ยอมมาชำระค่าปรับตามที่กฎหมายกำหนดด้วย คงต้องดูว่ากรมการขนส่งทางบกจะว่าอย่างไรต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น