กระทรวงแรงงาน ยืนยันยังไม่ปลดล็อกอาชีพช่างตัดผม - ช่างเสริมสวย ให้กับแรงงานต่างด้าว ขณะนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ย้ำชัด งานใดที่ห้ามคนต่างด้าวทำจะคำนึงถึงความมั่นคงของชาติ และโอกาสในการประกอบอาชีพและวิชาชีพของคนไทย การส่งเสริมภูมิปัญญาและเอกลักษณ์ไทย ตลอดจนความต้องการแรงงานต่างด้าวที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ
นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า จากการที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อน ว่า กระทรวงแรงงานมีแนวคิดที่จะเปิดให้แรงงานต่างด้าวสามารถประกอบอาชีพเป็นช่างตัดผม ช่างเสริมสวยในประเทศไทยได้ ซึ่งเดิมกำหนดไว้ให้เฉพาะคนไทยทำเท่านั้น เกี่ยวกับเรื่องนี้ ขอชี้แจงว่าการจัดทำกฎหมายลำดับรองเกี่ยวกับการกำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ (งานห้าม 39 อาชีพ) ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่อาจได้รับผลกระทบ ซึ่งยังไม่ได้มีข้อยุติในการกำหนดงานที่กำหนดห้ามคนต่างด้าวทำหรือจะปลดล็อกอาชีพสงวนแต่อย่างใด
ที่ผ่านมากรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการกำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำในหลายช่องทาง คือ 1. การประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็น โดยเชิญผู้แทนหน่วยงานของราชการ และหน่วยงานเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สภาวิชาชีพ สมาคมหรือสมาพันธ์ ผู้ประกอบการค้า องค์กรนายจ้างและลูกจ้าง สถาบันการศึกษา และองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น จำนวน 2 ครั้ง 2. การส่งแบบสอบถามความคิดเห็นถึงหน่วยงานราชการ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ สถาบันการศึกษา สภาวิชาชีพ สมาคมหรือสมาพันธ์ ผู้ประกอบการค้า และองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร เพื่อให้หน่วยงานดังกล่าวแสดงความเห็นเกี่ยวกับการกำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำตามแบบสอบถามความคิดเห็นและขอให้เสนอแนะงานที่ควรห้ามคนต่างด้าวทำเพิ่มเติม 3. การรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ของกรมการจัดหางาน (www.doe.go.th) โดยเริ่มให้แสดงความคิดเห็นไปตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 และปัจจุบันยังคงเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ได้ต่อไป ทั้งนี้เพื่อให้การจัดทำกฎหมายฯ เป็นไปอย่างรอบคอบและสอดคล้องกับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทำงานของคนต่างด้าวในประเทศไทยตามสภาพเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนบทบัญญัติของกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน
นายอนุรักษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมการจัดหางานขอย้ำว่าในการประกาศกำหนดให้งานใดเป็นงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำนั้น จะคำนึงถึงความมั่นคงของชาติ โอกาสในการประกอบอาชีพและวิชาชีพของคนไทย การส่งเสริมภูมิปัญญาและเอกลักษณ์ไทย และความต้องการแรงงานต่างด้าวที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ รวมทั้งความผูกพันหรือพันธกรณีที่ประเทศไทยมีอยู่ในลักษณะถ้อยทีถ้อยปฏิบัติประกอบด้วย โดยขั้นตอนในการยกร่างกฎหมายดังกล่าว จะต้องเสนอให้คณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ซึ่งมีองค์ประกอบมาจากผู้แทนจากหลายภาคส่วน เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานพิจารณาลงนามต่อไป เพื่อไม่ให้กระทบผลประโยชน์สาธารณะของประชาชนชาวไทย