ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมิน พ.ร.ก. แรงงานต่างด้าว กระทบจีดีพีลดลงร้อยละ 0.03 ระบุส่งออกโตร้อยละ 3.8 หนุนปรับจีดีพีโตเพิ่มเป็นร้อยละ 3.4
นางพิมลวรรณ มหัจฉริยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่าการประกาศใช้ พ.ร.ก. แรงงานต่างด้าว จะส่งผลกระทบต้นทุนทางเศรษฐกิจและธุรกิจสูงขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการมีค่าใช้จ่ายเพื่อให้แรงงานต่างด้าวทำงานอย่างถูกต้อง และเศรษฐกิจที่มีการจ้างงานแรงงานต่างด้าวอาจหยุดชะงักระยะหนึ่ง ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินผลกระทบไว้ 3 ระดับ โดยมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดผลกระทบน้อยที่สุด จะมีผลต่อเศรษฐกิจ 12,400 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.08 ของจีดีพี แต่เชื่อว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงจะมีร้อยละ 40 หรือ 0.03 ของจีดีพีเท่านั้น จากการหยุดการผลิตของอุตสาหกรรมที่ใช้งานต่างด้าว ส่วนกรณีผลกระทบปานกลางจะกระทบเศรษฐกิจ 28,400 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.2 ของจีดีพี และกรณีผลกระทบมากจะกระทบประมาณ 46,500 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.3 ของจีดีพี โดยกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ เกษตรกรรมและกิจการต่อเนื่อง รวมทั้งประมง, แปรรูปอาหารทะเล, โรงแรม, ภัตตาคาร, ค้าขาย และก่อสร้าง ซึ่งกลุ่มธุรกิจเหล่านี้มีการจ้างแรงงานต่างด้าวรวมกันคิดเป็นร้อยละ 65 ของแรงงานต่างด้าวทั้งหมด
ด้านนางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ภาคเกษตรเป็นกลุ่มที่พึ่งพิงแรงงานต่างด้าวมากที่สุด โดยแรงงานต่างด้าวภาคเกษตรและการผลิตเกษตรต่อเนื่องมีจำนวน 320,000 คน ซึ่งผลกระทบจาก พ.ร.ก. แรงงานต่างด้าว ขึ้นอยู่กับสัดส่วนการพึ่งพาแรงงานต่างด้าวแต่ละขั้นตอนการผลิต รวมทั้งความยืดหยุ่นในการรับมือของผู้ประกอบการแต่ละราย ดังนั้น หากเกิดภาวะตึงตัวของแรงงาน จะทำให้ธุรกิจเกษตรมีต้นทุนสูงขึ้น หรือขาดรายได้หากการชะลอการผลิตออกไป โดยเฉพาะช่วงปลายปีที่มีความต้องการแรงงานเพื่อการเก็บเกี่ยว รวมทั้งกระบวนการแปรรูปและขนถ่ายสินค้า ซึ่งจะมีผลกระทบทำให้รายได้ภาคเกษตรหายไป 1,000 ล้านบาท
นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ผลกระทบจาก พ.ร.ก. แรงงานต่างด้าว ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม รวมทั้งยังต้องระมัดระวังการลงทุนภาคเอกชนที่ยังไม่ฟื้นตัวดี ทำให้ปรับลดการลงทุนภาคเอกชนเหลือโตเพียงร้อยละ 0.5 จากเดิมคาดโตร้อยละ 1.5 อย่างไรก็ตาม ผลบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้การส่งออกปีนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.8 จากเดิมคาดว่าขยายตัวร้อยละ 2 บวกกับเศรษฐกิจครึ่งปีแรกขยายตัวดีกว่าที่คาด จากการใช้จ่ายภาคครัวเรือนในการซื้อรถยนต์ รายได้ภาคเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้มีการปรับประมาณการอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปี 2560 เพิ่มเป็นโตร้อยละ 3.4 จากเดิมคาดว่าโตร้อยละ 3.3