นิสิตสาว ปริญญาโท อักษรศาสตร์ จุฬาฯ แจงลงสอบบาลีศึกษาเปรียญธรรม 9 ประโยคจริง แต่จะเริ่มตรวจข้อสอบ วันนี้ (3 มี.ค.) และประกาศผลวันที่ 7 มี.ค. พร้อมระบุฆราวาสหญิงคนแรกที่ไม่ใช่แม่ชี และได้เปรียญธรรม 9 ประโยค เป็นทันตแพทย์หญิง สอบได้เมื่อปี 57
หลังจากที่มีการเผยแพร่ข่าวทางโซเชียลมีเดีย ว่า น.ส.สุกัญญา เจริญวีรกุล นิสิตปริญญาโท สาขา
ภาษาบาลี-สันสกฤตและพุทธศาสน์ศึกษา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี สำนักเรียนวัดสามพระยา สามารถสอบเปรียญธรรม 9 ประโยคได้สำเร็จ ถือเป็นฆราวาสหญิงคนแรกของไทยที่ได้เปรียญธรรม 9 นั้น น.ส.สุกัญญา ได้ชี้แจงผ่าน เฟซบุ๊ก “Sukanya Pema Dechen Chotso” ว่า ได้ทราบข่าวจากกัลยาณมิตรบางท่าน ว่า มีผู้เขียนถึงดิฉันว่าสอบได้บาลีศึกษา ขอบคุณทุกท่านสำหรับกำลังใจนะคะ ปี พ.ศ. 2561 นี้ ดิฉันลงสอบบาลีศึกษาประโยค 9 จริง แต่ขอชี้แจงว่า ในขณะนี้ (1 มีนาคม พ.ศ. 2561) ยังไม่มีการตรวจข้อสอบ ฉะนั้น จึงยังไม่มีการประกาศผลสอบโดยประการทั้งปวงค่ะ การตรวจข้อสอบจะเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2561 และประกาศผลสอบชั้นเปรียญเอกวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2561 ดูรายละเอียดข้อมูลจริงได้ที่เว็บไซต์ของสำนักงานแม่กองบาลีสนามหลวง www.infopali.net ป.ล. เข้า facebook มาเพื่อโพสต์ชี้แจงมิให้เข้าใจผิดบานปลายไปเท่านั้น ของดการติดต่อจนถึงวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2561
น.ส.สุกัญญา ยังได้โพสต์ข้อมูลอีกว่า ฆราวาสหญิงผู้สอบได้บาลีศึกษา 9 ประโยคท่านแรก (ที่ไม่ใช่แม่ชี) เท่าที่ทราบ ท่านแรกที่เป็นทั้งศิษย์เก่าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาและบัณฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือ ทันตแพทย์หญิง ศิริพร ชุติปาโร สำนักเรียนวัดสามพระยา สอบได้ บ.ศ.9 พ.ศ. 2557 ส่วนท่านแรกในสมัยที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยจัดสอบ (ท่านแรกของประเทศไทย) คือ อุบาสิกาชนิดา จันทราศรีไศล สำนักศาสนศึกษาวัดพระธรรมกาย สอบได้ บ.ศ.9 พ.ศ. 2543 และท่านแรกในสมัยที่สำนักงานแม่กองบาลีสนามหลวงจัดสอบ คือ อุบาสิกาสิรินุช บุสโร สำนักศาสนศึกษาวัดพระธรรมกาย สอบได้ บ.ศ.9 พ.ศ. 2558
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ น.ส.สุกัญญา เจริญวีรกุล สามารถสอบได้บาลีศึกษา 8 ประโยค จากการสอบจากการประกาศผลสอบบาลีสนามหลวงเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา
ก่อนหน้านี้ น.ส.สุกัญญา เคยให้สัมภาษณ์ว่า สาเหตุที่เรียนภาษาบาลีจริงจัง เพราะชอบมาตั้งแต่วัยเยาว์ และอยากเข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้า จึงเริ่มเรียนไวยากรณ์ที่สำนักเรียนวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ และต่อยอดการเรียนในประโยคที่สูงขึ้นที่สำนักเรียนวัดสามพระยา
“ประโยชน์ของการเรียนภาษาบาลีในโรงเรียนพระปริยัติธรรม คือ ได้ศึกษาโครงสร้างของภาษาและได้สืบทอดพระพุทธศาสนา ที่สำคัญ การเรียนภาษาบาลีในทางธรรมช่วยเกื้อกูลกับสาขาวิชาทางโลก แม้การเรียนทั้ง 2 รูปแบบไวยากรณ์จะไม่ต่างกันมาก แต่มิติของภาษาจะช่วยให้เข้าใจกฎเกณฑ์ภาษามากขึ้น การเรียนภาษาบาลีอาจยากสำหรับฆราวาส แต่ถ้าผู้เรียนมีความมุ่งมั่นและพยายามทำความเข้าใจ เชื่อว่าทุกคนสามารถเรียนได้” น.ส.สุกัญญา ระบุ