xs
xsm
sm
md
lg

“ฟาร์มลุงรีย์” : จากคนเลี้ยงไส้เดือนและเก็บขยะ กลายเป็นสุดยอดเกษตรกรกลางกรุง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชายหนุ่มผู้มาจากเศษขยะไร้ค่าหรือไส้เดือนสกปรกดินดำ ก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าของฟาร์มออแกนิคกลางกรุง สร้างรายได้มูลค่ามหาศาลข้ามเดือนข้ามปี รวมทั้งให้ความรู้แก่ชุมชนและคนอื่นๆ ให้พัฒนาไป ด้วยองค์ความรู้และแนวคิดทฤษฏีใหม่ที่สามารถนำมาปรับใช้ให้มั่นคงและยั่งยืนได้จริง

เราพาไปรู้จักกับชายหนุ่มวัย 30 ปี อดีตมัณฑนศิลป์ ครูสอนศิลปะและเชฟร้านอาหารเมืองนอก ผู้เป็นอีกหนึ่งต้นแบบแห่งการเกษตรยุค 4.0 “ชารีย์ บุญญวินิจ”...

• เกษตรแนวใหม่คืออะไร

หลายๆ คนก็ตีความว่าศาสตร์พระราชา ซึ่งผมก็มองว่าศาสตร์พระราชาเป็นปรัชญาที่กว้างมาก แต่พอมานั่งวิเคราะห์ก็คือการบูรณาการความรู้ที่ได้มา แล้วทำอย่างไรให้พอดีกับคน กับตัวเรา ศาสตร์พระราชาจริงๆ แล้ว ไม่ใช่ว่าทุกคนต้องทำเกษตร แรกเริ่มก่อนจะเกิดเป็นเกษตรวิถีใหม่ที่ผมจำกัดความให้เข้าใจง่าย ผมไม่มีความรู้เกี่ยวกับเกษตร เป็นคนกรุงโดยกำเนิด แต่ชอบอยู่บ้าน ไม่ชอบรถติด ไม่ชอบคนเยอะ อย่างน้อยก็รู้ว่าเราไม่ชอบอะไร รู้แต่ชอบศิลปะ ก็ไปเปิดโรงเรียนสอนศิลปะ ไปเปิดออฟฟิศดีไซน์แล้วก็คิดงานเยอะมาก แต่ค่าตอบแทนต่ำมาก ก็ไม่เอาแล้ว ปวดหัว อยากปวดตัวแทนน่าจะดีกว่า ก็เลยไปทำงานครัวอยู่ก้นครัว เป็นเชฟ ทั้งเมืองไทยและเมืองนอก ก็ไม่ไหวอีก ยืนวันละ 10 ชั่วโมงทำครัว ก็รู้อีกว่าอยากทำเฉพาะตอนที่อยากทำ ไม่อยากทำตลอดเวลา แย่ อินดี้ จนแน่ๆ โน่นนั่นก็ไม่ดี

สุดท้ายก็ทำในสิ่งที่เราชอบมาลงที่บ้านที่เราชอบ ชอบศิลปะ รักทำอาหาร อยากให้คนได้รับสิ่งดีๆ อาหารทีดี บ้านที่สะอาดไม่มีขยะ ก็เลยเริ่มศึกษาระบบต้นทางของมันจึงพบเข้ากับไส้เดือนแก้ตอบโจทย์เบื้องต้นทั้งสองอย่างได้ ทีนี้พอศึกษาไป ไส้เดือนก็ไม่ได้ตอบโจทย์ขนาดนั้น ก็ไปรู้จักคอนเน็กชั่นเครื่องกำจัดขยะที่สามารถกำจัดขยะได้วันละ 100 กิโลกรัม ออกมาเป็นปุ๋ย มันทำให้โลกนี้น่าอยู่มากขึ้น แล้วด้วยความที่เราเรียนศิลปะเรามีสุนทรียศาสตร์ที่ทำให้มันสวยงามในทุกเรื่อง อย่างเขาพูดไม่น่าฟัง เราก็พูดให้น่าฟังกว่า เรื่องเดียวกัน มีสุนทรียภาพ ไม่ใช่วิศวกร A+B เท่ากับเท่านี้เท่านั้น มันมีอาร์ต มีศิลปะอยู่ในตัว แล้วเราจะทำให้มันมีมูลค่าอย่างไรในชีวิต

• ฟาร์มลุงรีย์จึงถือกำเนิดเกิดขึ้น

เอาประสบการณ์ของตัวเองที่ผ่านมา ไม่ได้ผันตัว เอามาบวกรวมกับการเกษตร เพื่อสร้างจุดแข็งในการทำเกษตรให้ตัวเอง ก็เลยเป็นที่มาเกษตรในแบบของตัวเองที่ด้วยปัจจัยหลายๆ ทั้งที่ตั้งของฟาร์ม ครอบครัว พื้นฐานอาชีพ การเงิน ตรงนี้มันก็ตอบโจทย์ว่าเป็นทฤษฏีใหม่ แต่เรียกง่ายๆ ให้คนเข้าใจเกษตรวิถีใหม่ แต่พอพูดอย่างนี้มันก็ดูกว้างและเข้าใจยาก อาจจะเข้าใจไปในทางที่มันดูแตกต่างจากสมัยก่อนที่ลำบากเวลาทำกันหรือทำแล้วผลตอบแทนตัวเงินน้อย มันก็ไม่ต่างกันในตรงนี้ ถ้าเราไปติดกับดักเรื่องสารเคมี การพนัน การเป็นหนี้ยืมสิ้น คำถามคือเราจะหลุดพ้นอย่างไร

ผมอยู่ในพื้นที่ชุมนเมือง มีขยะ ไม่มีลม มีแต่ตึก ผมต้องไปทุบตึกไหม แล้วมาทำเกษตร หรือผมต้องย้ายตัวเองไปทำที่ต่างจังหวัดหรือไม่ จะได้ไม่มีขยะ ดินจะได้ดีๆ เราก็เอาข้อดีของการที่มันมีขยะเยอะมาใช้ทำฟาร์ม นั่นก็คือโปรเจ็คต์แรกในเรื่องของไส้เดือน เราก็เอาข้อดีของการที่มีห้อง มีตึกแถวให้เช่า มีลานจอดรถที่เป็นพื้นปูนมันควบคุมอุณหภูมิที่ง่ายต่อการควบคุมและควบคุมได้ ตรงที่เรามีห้องตึกแถวแล้วมาทำเกษตรมันเหมาะกับการทำเกษตรแบบไหน เราก็มาดูว่าเกษตรในร่มหรือไม่ แล้วเกษตรในร่มมีอะไรบ้าง ผักปลูกได้ไหม เห็ดได้ไหม เห็ดอะไรมันจะคุ้มทุน เลี้ยงเสร็จแล้วราคามันเท่าไหร่

ก็เกิดกลายเป็นที่เกษตรแนวตั้ง เรามีพื้นที่น้อย ตรงนี้เลี้ยงไส้เดือนให้ความชื้นหน่อยก็ปลูกพืชได้ เห็ดได้ มันก็เลยกลาเป็นทฤษฏีของเรา ถ้าเกิดทำเกษตรในเมืองหรือ ‘ซิตี้ฟาร์ม’ มันไม่ต้องไปทำที่ต่างจังหวัด แต่เราก็ต้องปลูกพืชที่มันเอื้อกับตัวเราในเรื่องพื้นที่ ความคุ้มค่า ทุกมิติ แบบนี้เป็นต้น หรือการขนส่งการลำเลียงไปถึงร้านอาหารก็สะดวก อยู่กรุงเทพฯ ก็ทำเกษตรได้ ไม่เห็นต้องไปซื้อที่ต่างจังหวัดรอเกษียณรอบำนาญ

• แรกๆ มีคนปรามาสไหมว่าเป็นไปไม่ได้ บ้า ป่าคอนกรีตจะมีฟาร์มเกษตรได้อย่างไร

มีครับ... แรกๆ ผมก็เป็นแค่นักเลี้ยงไส้เดือนกับคนเก็บขยะที่ใครๆ ก็ต่างดูถูก เลี้ยงไส้เดือนมาทำสกปรก เก็บขยะมาทำชัดๆ ถ้าเกิดย้อนกลับไป 5 ปีที่แล้วผมก็ทำไม่ได้หรอก บอกกับตัวเอง แต่เราไม่ได้มีหน้าที่ไปอธิบายทุกคน เรามีหน้าที่พิสูจน์ว่าเรามีออเดอร์จริงๆ อยู่ได้จริงๆ ทำได้จริง คือเราดูว่าผู้บริโภคต้องการอะไร เราไปนั่งขายทีละคนหรือเปล่า หรือว่าเราจะขายตรงให้ร้านอาหาร เราเริ่มไปทำความรู้จักกับองค์การอาหาร ร้านอาหารต้องการให้ปลูกอะไร เขาก็บอกเราว่าต้องการปลูกอย่างนี้ๆ ต้องการใช้ผักชนิดนี้ๆ ต่อกิโลกรัม ตลาดมันจะหาไม่ได้ได้อย่างไร

เจ้าอื่นผูกขาด และบางอย่างก็หาซื้อง่ายๆ ในท้องตลาด เขาผูกขาดแบบไหน เขาปลูกแบบไหน แล้วเราทำเกษตรแบบไหน คุณภาพแบบไหน เราเลือกปลูกสิ่งที่เขามีอยู่แล้วทำไม ฉะนั้น ในรูปแบบของผมมันอาจจะเป็นรูปแบบเฉพาะตัว แต่รูปแบบเฉพาะตัวผมก็เหมือนผมเขียนทฤษฏีใหม่ขึ้นมา ศาสตร์นี้ผมก็เริ่มทราบว่าจะต้องปลูกอะไร อะไรที่เขาต้องการ แล้วเมืองไทยปลูกอะไรแล้วเท่าไหร่ก็ใช้ไม่พอ ในตลาดมีแต่คนขายไม่มีผลผลิต อาทิเช่นเห็ด แล้วทำไมมีแต่ก้อนเห็ด ไม่มีดอกเห็ดขาย ทำไมมีเห็ดอยู่ 4 ประเภท กิโลกรัมละ 80 บาท

• แล้วทำอย่างไรให้ยั่งยืนได้

สร้างสายสัมพันธ์ คือทุกวันนี้ผมส่งผลผลิตไปที่ร้านอาหารแล้วก็รับผักเศษขยะร้านอาหาร เชฟต่างๆ บรรจงแยกมาให้ เอากลับมาทำกระบวนการทำปุ๋ยแล้วก็ปลูกผักกลับไปส่งเขาแล้วก็เกิดสายสัมพันธ์อันดีต่อกัน คือ ‘ซัพพลาย เชน’ หรือห่วงโซ่อุปทานที่ทำเกิดการเชื่อมโยงกัน ECO SYSTEM สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจยั่งยืน นี่คือที่ทำแล้วก็ทำให้มันขยายไปหลายๆ วง อย่าง ผมเลี้ยงไส้เดือนแอฟริกันได้ปุ๋ยมาเอาไปปลูกผัก ปุ๋ยแอฟริกันเหมาะกับปลูกผักแล้วผมก็มีผักใบที่งามที่ดีอร่อย เลี้ยงไส้เดือนลายเสือ แล้วก็บอกว่าไส้เดือนชนิดนี้ตัวเยอะ 3,000 ตัว ต่อหนึ่งกิโลกรัม ก็เอาไปเลี้ยงสัตว์น้ำ ไปขุนธุรกิจบ่อกุ้ง เอาไปเลี้ยงสัตว์เพราะตัวเยอะ และเหมาะกับการขยายพันธุ์คัดแยกได้ง่าย

เลี้ยงไส้เดือนพันธุ์บลูเวิร์มเป็นพันธุ์ที่ไม่มีราคาเลยแต่ขายขีดละ 600 บาท กิโลกรัมละ 6,000 บาท ทุกคนที่มาบอกว่าแพง แต่พอได้นั่งคัดมันจับมัน เขาบอกว่าถูกแล้วก็ซื้อครั้งเดียว ผมเอาเอนไซน์ไส้เดือนน้ำมักของมันไปปลูกผลไม้เช่น เมลอน สตรอว์เบอร์รีผลไม้ที่ต้องการความหวาน ที่มีกลิ่น ความละมุนละไมที่ซับซ้อน ทำให้มันเกิดมูลค่าขึ้นมา เลือกตัวเองให้อยู่ถูกที่ เอาขยะต่างๆ แปรสภาพกลับมาเป็นปุ๋ย เอาปุ๋ยแปรสภาพเป็นผัก แล้วเอาผักแปรสภาพเป็นเงิน เอาเงินแปรสภาพเป็นมิตรภาพ

ที่สำคัญ คิดแล้วทำ ทำโดยรู้ ทำโดยมีวิชา องค์ความรู้ที่เกิดขึ้นกับฟาร์มลุงรีย์ไม่ได้เกิดจากผมคนเดียว เราทำโดยมีที่ปรึกษา มีศาสตร์ต่างๆ ที่เพื่อนร่วมงานร่วมเรียนที่จบต่างสาขาช่วยกันคิดขึ้นมา มันเกิดจากการร่วมกลุ่มกัน แชร์ การเอาความรู้ต่อยอดมาใช้ แลกเปลี่ยนสนทนา ง่ายๆ แยกกันทำรวมกันขาย โดยใช้เกณฑ์เราเข้ามาส่งเสริมเราไม่ได้เข้ามากอบโกย แล้วมาปรับมาเปลี่ยนใช้กับตัวตนแต่ละคน เรียกว่า ‘บันไดขั้นที่ 9’ การรวมกลุ่มเกๆ ไม่ต้องใหญ่แล้วดูแลชุมชนของตัวเองให้ดีหรือทำในสัดส่วนในละแวกบ้านของตัวเองให้ดีคือทางออก ไม่ว่าจะองค์กรอะไรก็ตามถ้ารวมแรงกันทำไม่แยกกันทำแล้วก็วางแผนงานกันทำ มันก็จะไม่ทำงานซ้อนกัน แข่ง เขาถึงได้เอาไว้บันไดที่ 9 คือสุดท้ายถ้าคุณแยกกันทำ มันก็จบ


• เหมือนกับเมืองกับเกษตรก็อยู่ร่วมกันได้ ไม่ต่างจากอดีตเก่าก่อน

จู่ๆ เกษตรก็บุกเข้ามาในเมืองและได้รับความนิยมร้านอาหารภัตตาคารก็ทำ ใครที่มีไม้ประดับหลังบ้านตอนนี้ก็ไม่เอาปลูกอะไรที่มันกินได้ ซึ่งจริงๆ ถ้าถามว่านิยามของเมืองกับธรรมชาติ คนต้องพึ่งป่า ป่าต้องพึ่งสัตว์ ต่างกันในแต่ละยุคสมัย ปัจจุบันเมืองคือคนที่เราความสบาย เพราะฉะนั้น เราต้องทำเกษตรในแบบที่เป็นความอุดมสมบูรณ์ทางอาหารที่ตอบโจทย์คนที่รักความสบาย ฉะนั้น เราจะเอาอะไรมาตอบโจทย์

เกษตรที่เขาว่า 4.0 มันคืออะไร คือเราใช้เทคโนโลยีแต่เพียงพอดีความต้องการแล้วเกิดผล เลือกใช้ อะไรต่างๆ เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีถูกลง และมันเป็นกฎธรรมชาติที่คนเมืองมาปลูกอะไรกันมากขึ้นเพราะว่ามันอันตราย สารเคมีเกินมาตรฐาน ถ้าเลือกได้เขาก็อยากทำของเขาเอง มันก็เป็นไปตามระบบธรรมชาติ พอเราสบายมากๆ มันก็จะเปลี่ยนพฤติกรรม ทีนี้มีคำถามคุณเอายาพิษไปใส่อาหารแล้วให้คนทานตาย คุณโดนจับไหม โดน แต่คุณใส่สารเคมีมากเกินอัตราแล้วคนกินค่อยๆ ตาย ไม่โดนจับ เปลี่ยนวิธีการก็ไม่โดนจับแล้ว มนุษย์วางยากันเอง แล้วคุณว่ามันถูกหรือไม่

ก็อยากจะฝากข้อคิดว่าของออแกนิกมันแพง แต่หากคุณต้องกินผัก 3 กิโลกรัม ต่อวันกว่าจะได้สารอาหาร สารพิษที่ตกค้างที่ตามมาที่จะส่งผลต่อร่างกาย โรค จนอาจจะเจ็บป่วยเสียเงินค่ารักษาหลักหมื่นหลักแสนจนถึงล้าน อะไรมันแพงกว่ากัน ถึงได้บอกว่าเราเลือกจุดยืนจุดอยู่ให้ถูกเวลา คนอยากจะทานของดีๆ ที่ดีต่อร่างกายก็มี จนเราโคจรมาเจอกันมันมีอย่างนี้ด้วยเหรอ เหมาทั้งหมดที่เอามาขาย

• ฟังๆ ดูไม่มีอุปสรรคในเรื่องนี้เลย

แรกเริ่มก็มี เพราะเราไม่มีคนรู้จัก ก็ต้องลงทุนแล้วลงทุนไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะคืนทุน ทำอะไรก็ยังไม่เป็น พูดภาษาธุรกิจก็ไม่ได้ ทำใบเสนอราคาก็ยังไม่เป็น มาตรฐานตรวจยังไงไม่รู้ ก็ต้องใช้เวลา หาความรู้ หาความพอดีสำหรับเรา เราจะทำให้ชีวิตมันมีเงินด้วย ธุรกิจได้ด้วย จิตเราดีด้วย มันก็ต้องต่อสู้กับตัวเองว่าเราจะหลงไม่หลง ทะเลาะกับตัวเองไปวันๆ เราก็ต้องยึดหลักขันติ ความอดทน ความมุมานะ บวกกับความคิดส่วนตัวที่เวลาทำอะไรแล้วมันสนุก มันทำทั่งวัน ความลำบาก อุปสรรคมันโดนเผาทิ้งหมด

คือทำงานทั้งวันด้วยความรักในงานด้วยความสนุก มีความสุข ยิ่งทำงานหนักยิ่งมีความสุข อยากพักเมื่อไหร่ก็ได้ไม่มีใครห้าม อยากทำเท่าไหร่ก็ได้ไม่มีใครห้าม ฉะนั้นทั้งหมดทั้งปวงมันคือการควบคุมตัวเอง สมมุติยิ่งเราออกมาจากงานเรามีฝนของตัวเราเองไม่ใช่เครื่องมือกลไกลหนึ่งที่ทำฝันคนอื่นให้สำเร็จ เราก็ยิ่งต้องขยันขึ้นเป็นสิบเท่ายี่สิบเท่า เพราะเราเป็นนายตัวเอง เคล็ดลับมันมีแค่นั้น

• อนาคตฟาร์มลุงรีย์

ผมมองว่าจริงๆ ไม่ได้มีชื่อเสียงอะไร แต่เพื่อนๆ ให้ผมรับบทบาทในการเผยแพร่ ไปพูดที อาชีพเกษตรเป็นอาชีพที่ใหญ่ หลายๆ อาชีพที่เกิดขึ้นทุกวันนี้เกิดมาเพื่อรองรับเกษตรกรรม แต่ทำไมเกษตรเป็นอาชีพที่ทำแล้วดูจน จริงๆ ไม่จน แล้วเราจะทำอย่างไรไม่ให้จน อยู่ได้ด้วยตัวเองอย่างยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมรอบข้างดีขึ้น เราทำตรงนี้ก็เพื่ออยากจะขยายบอกให้รับรู้ เราเข้ามาส่งเสริม เราไม่ได้เข้ามากอบโกย

อนาคตมันก็จะโตไปในทิศทางที่มีคนรุ่นใหม่มาเยอะขึ้น พอมีคนรุ่นใหม่กับประสบการณ์ของคนรุ่นเก่ามันก็จะแหลมคม มันก็จะเป็นอะไรที่สำเร็จเร็วและดี แล้วประสานงานเชื่อมโยงกันให้ถึง ส่งต่อให้ทุกอย่างไม่เกิดแค่เม็ดเงิน แต่เกิดความสุข ชีวิต ความผูกพัน ปฏิสัมพันธ์ที่เรียกว่า ‘บวร’ บ้าน วัด โรงเรียน เราจะทำงานกับบ้าน วัด โรงเรียนได้อย่างไร เราเปิดให้โรงเรียนเข้าเยี่ยมชมฟรี เปิดให้วัดมีการคัดแยกขยะมีการเลือกแล้วให้เอาปุ๋ยที่เราผลิตได้ไปใส่ในวัด อากาศก็ดีไม่ต้องมีปุ๋ยเคมี พระท่านก็ชอบให้ต้นไม้งามญาติโยมก็สงบใจเวลาไปวัด เราปฏิสัมพันธ์กับบ้านเราเชิญชวนให้คนแยกขยะ เลี้ยงไส้เดือน เขตโทรมาหาบอกขอบคุณมากเศษขยะกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ไม้ต้องไปปนกับพลาสติกแล้ว คนเริ่มแยกขยะกันแล้วนะ

คือเมื่อทุกอย่างรอบตัวเราพัฒนา เราดีขึ้น มันก็ยั่งยืนได้ในทุกสาขาอาชีพ ไม่ใช่เฉพาะเกษตรกรอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่คือการบูรณาการความรู้ที่ได้มาแล้วทำอย่างไรให้พอดีกับคนกับตัวเรา


เรื่อง : รัชพล ธนศุทธิสกุล
ภาพ : เพจเฟซบุ๊ก Thailand Young Farmers
ฟาร์มลุงรีย์ : ตั้งอยู่ที่ซอยเพชรเกษม 46 แยก 11 ใกล้สถานี BTS บางหว้า โดยเปิดให้เยี่ยมชมและเรียนรู้ฟรีจากฟาร์มทุกวันอาทิตย์ตั้งแต่เวลา 9.30 น. เป็นต้นไป และในวันอาทิตย์ที่ 25 มีนาคม 2561 จะมีส่วนคอร์สสัมมนาวิชาการความรู้เกษตรวิถีใหม่ใน รายละเอียดสามารถติดต่อได้ที่ 061-414-5242



กำลังโหลดความคิดเห็น