หลังจากที่รัฐบาลแจก “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” แก่ผู้มีรายได้น้อย 11.67 ล้านคน และเปิดใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมา รัฐบาลกำลังจะพิจารณาเพิ่มสวัสดิการให้กับผู้มีรายได้น้อยในเฟส 2
หนึ่งในนั้นคือ แนวคิดการ “แจกซิมฟรี” ให้กับผู้มีรายได้น้อย ให้สามารถเข้าถึงข้อมูลหาความรู้ต่างๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและพัฒนาฝีมือแรงงาน
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังมีแนวคิดที่จะแจกซิมอินเทอร์เน็ตฟรี เพราะที่ผ่านมาโครงการเน็ตประชารัฐ ติดอยู่ในหมู่บ้านเท่านั้น ประชาชนเข้าไม่ถึงทุกคนเพราะอยู่กระจัดกระจาย
“หากมีซิมอินเทอร์เน็ตใช้ทุกคนจะอยู่ที่ไหนก็หาความรู้ได้” นายอภิศักดิ์ ระบุ
การแจกซิมอินเทอร์เน็ตฟรีของรัฐบาล อาจจะเสนอพร้อมมาตรการแพ็กเกจช่วยเหลือ ผู้มีรายได้น้อยให้ฝึกอาชีพที่จะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาในเดือน ธ.ค. นี้
สำหรับเครือข่ายที่จะนำมาใช้ในการแจกซิมอินเทอร์เน็ตฟรีนั้น นายอภิศักดิ์ เปิดเผยว่า จะใช้เครือข่ายทีโอที 3 จี (TOT 3G) ของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)
โดยรัฐบาลกำลังเจรจากับบริษัท ทีโอที ว่า จะร่วมโครงการอย่างไร เพราะปัจจุบันทีโอทีมีเครือข่ายอินเทอร์เน็ตแต่ไม่มีลูกค้า รัฐบาลก็จะไปเหมาซิมอินเตอร์เน็ตมาให้กับผู้มีรายได้น้อย
ที่สำคัญ ซิมอินเทอร์เน็ตฟรีที่เอามาแจก ดูได้แต่ข้อมูล ไม่สามารถใช้โทรศัพท์เข้าออกได้ โดยรัฐบาลจะดูแลค่าใช้จ่ายรายเดือนให้
เครือข่ายทีโอที 3 จี ตั้งอยู่บนคลื่นความถี่ 2100 เมกะเฮิรตซ์ ทดลองให้บริการในปี 2552 ก่อนเปิดให้บริการเต็มรูปแบบเมื่อปลายปี 2554 ด้วยเงินลงทุนไปกว่า 20,000 ล้านบาท
ปัจจุบันมีสถานีฐานทั้งสิ้นกว่า 20,000 แห่ง มีลูกค้าอยู่ในระบบประมาณ 1.8 แสนราย เนื่องจากที่ผ่านมามีปัญหาโครงข่ายและสัญญาณ ลูกค้าย้ายค่ายเบอร์เดิมไหลออกไปเครือข่ายอื่นกว่า 3 แสนรายเมื่อ 2 ปีก่อน
อย่างไรก็ตาม ทีโอทีเลือกที่จะเป็นพันธมิตรกับค่ายมือถือยักษ์ใหญ่ ในการให้เช่าใช้เสาสัญญาณมือถือระบบ 3G ระหว่างกัน อาทิ เอไอเอส และ ซิมเพนกวิน นอกจาก MVNO ที่เหลืออยู่ เช่น ไอคูล และ บัซมี
คำถามก็คือ ... ในปัจจุบันซิมการ์ดหาซื้อง่ายตามร้านสะดวกซื้อ ร้านขายมือถือทั่วไป บางเครือข่ายแทบจะแจกฟรี ทั้งเครื่อง ทั้งซิมการ์ด พร้อมค่าโทร ค่าเน็ตด้วยซ้ำ
การที่รัฐบาลจะเหมาซิมการ์ดไปแจก โดยให้เฉพาะอินเทอร์เน็ตอย่างเดียว จะต้องซื้อสมาร์ทโฟนก่อนใช่หรือไม่ ซึ่งราคาสมาร์ทโฟนที่ไม่ได้ล็อกเครือข่ายสูงถึงหลักพันบาท กลายเป็นว่าประชาชนต้องแบกรับภาระ
ที่สำคัญ จะต้องใช้กับมือถือสมาร์ทโฟนเพื่อเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้อย่างเดียว แต่ไม่สามารถโทร.ออก หรือรับสายได้ จะกลายเป็นข้อจำกัดที่ไม่จูงใจให้ประชาชนใช้ซิมการ์ดนี้หรือไม่
ยังคงเป็นแนวคิดที่หากนำไปปฏิบัติจริง ประชาชนจะชื่นชมหรือสาบส่งกว่ากัน เพราะดูแล้วไม่ต่างจากการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ที่เกิดขึ้นกับโครงการของรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย