xs
xsm
sm
md
lg

InPics : ปลดล็อกเงินกู้กรีซงวดใหม่ล้ม! ที่ประชุม รมว.คลังยูโรโซนไม่สามารถหาข้อยุติร่วมกับ IMF

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ - การประชุมยูโรโซนระดับรัฐมนตรีการคลังเขตยูโรโซนช่วงคืนวันจันทร์ (22 พ.ค.) ไม่สามารถหาข้อยุติในแผนปลดล็อกแพกเกจเงินช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่กรีซก้อนใหม่ของความช่วยเหลืองวดที่ 3 ส่อเอเธนส์ผิดนัดชำระหนี้ อาจลากยาวเกิดวิกฤตรอบใหม่กับสกุลเงินยูโร

เดอะการ์เดียนรายงานวันนี้ (23 พ.ค.) ว่า ในการประชุมบรัสเซลส์เมื่อคืนดึกวานนี้ (23 พ.ค.) ระหว่างกลุ่มเจ้าหนี้กรีซ ได้แก่ ชาติสมาชิกยูโรโซนในระดับรัฐมนตรีการคลัง และสถาบันการเงินระหว่างประเทศ IMF พบว่าในที่ประชุมยังไม่สามารถหาข้อยุติถึงความต่างร่วมกันได้ ต่อความสามารถของกรีซในการจ่ายคืนเงินกู้ในระยะยาว

หลังจากการประชุมที่ยาวนานกว่า 8 ชม. ประธานในที่ประชุม รัฐมนตรีการคลังดัตช์ Jeroen Dijsselbloem กล่าวว่า “พวกเราเข้าใกล้มาก แต่พวกเรายังไม่สามารถที่จะหาข้อยุติได้ในคืนนี้” และยังกล่าวต่อว่า เขาหวังว่าข้อตกลงจะสามารถบรรลุได้ในการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 15 มิ.ย.ที่จะถึง

เดอะการ์เดียนชี้ว่า การหาข้อยุติไม่ได้ระหว่างยูโรโซนและ IMF เป็นปราการด่านสุดท้ายสำหรับเอเธนส์ที่จะปลดล็อกแพ็กเกจเงินช่วยเหลือก้อนใหม่ ที่จะสามารถทำให้เอเธนส์สามารถจ่ายคืนหนี้ราว 6.3 พันล้านยูโรของเงินกู้ ซึ่งจะถึงกำหนดการชำระในเดือนกรกฎาคมที่จะถึง

ทั้งนี้ พบว่าทางยูโรโซนได้ตกลงอนุมัติแพ็กเกจช่วยเหลือแก่กรีซจำนวน 86 พันล้านยูโรสำหรับกรีซในเดือนกรกฎาคม 2015 ซึ่งถือเป็นการช่วยเหลืองวดที่ 3 ที่ทำให้กรีซไม่ต้องออกจากการเป็นสมาชิกเขตยูโรโซน

แต่ถึงแม้ว่าแพกเกจจะได้รับการอนุมัติ กระนั้นกรีซยังต้องมีรายละเอียดจำนวนมากที่ต้องทำตามคำสั่งในการปฎิรูปก่อนที่จะได้รับเม็ดเงินอย่างแท้จริง ทั้งนี้พบว่าเอเธนส์ประสบความสำเร็จในการได้รับเงินแพ็กเกจจำนวน 10.3 พันล้านยูโรในเดือนพฤษภาคม 2016 แต่ทว่าการจ่ายครั้งล่าสุดนั้นกลับถูกแขวนไว้นานหลายเดือน สื่ออังกฤษรายงาน

ในข้อตกลง เอเธนส์ยอมรับที่จะยอมตัดเงินบำนาญและเพิ่มภาษีตามการเรียกร้องของกลุ่มเจ้าหนี้ แต่กลับกลายเป็นว่า การมีความเห็นแตกแยกในกลุ่มเจ้าหนี้ได้กลายเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับการปลดล็อกเงินช่วยเหลือของกรีซ

โดยประเทศยุโรปเหนือไม่ต้องการเขียนเช็คให้กรีซ เว้นแต่ว่า IMF จะร่วมอยู่ในการปลดล็อกครั้งที่ 3 นี้ ซึ่งประเทศ เช่น เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์ มีความเห็นว่า การมี IMF เข้าร่วม จะเป็นการเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับโครงการ เนื่องจากเกรงว่าสถาบันอียูอาจจะอ่อนเกินไปกับกรีซ

แต่ที่ผ่านมาทาง IMF ปฏิเสธที่จะร่วมอยู่ในการช่วยเหลือกรีซครั้งที่ 3 เนื่องจากลงความเห็นว่า กรีซไม่สามารถจัดการหนี้ได้ในระยะยาว ซึ่งในหัวใจของการโต้เถียง มีข้อเรียกร้องให้เอเธนส์ต้องทำงบประมาณแบบเกินดุล 3.5% ของตัวเลข GDP

โดยทางฝ่ายยูโรโซนคิดว่า กรีซจะสามารถทำสำเร็จ แต่ทางฝั่ง IMF กลับไม่เชื่อเช่นนั้น โดยชี้ว่าประเทศใดก็ตามที่มีอัตราการว่างงานสูง (อัตตราการว่างงานกรีซอยู่ที่ 23%) จะต้องประสบปัญหาที่จะทำให้ถึงเป้าหมายเช่นนี้นานหลายสิบปี

ทั้งนี้ ในที่ประชุมวานนี้ (22 พ.ค.) ฝรั่งเศสและเยอรมนียังออกมาประกาศ ปฏิญาณที่จะร่วมมือมากขึ้นในตลาดร่วมสกุลเงินเดียว เพื่อใช้โอกาส BREXIT ในการเปิดธุรกิจการเงินการธนาคารของชาติตัวเอง




กำลังโหลดความคิดเห็น