xs
xsm
sm
md
lg

คนสุขทั้งประเทศ จัดสรรป่า-คนอยู่ได้ เงินอุทยานทะลุ-ทุจริตสูญพันธุ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


MGR Online - กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในยุคนี้ มีภารกิจด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อคืนความสุขให้กับคนไทยทั้งชาติ

เมื่อปีที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วางกรอบการพัฒนางานในแต่ละด้านโดยวางรากฐานและกำหนดทิศทางการพัฒนาเอาไว้ 20 ปี

หลังจากที่ คสช. เข้ามาบริหารประเทศ รัฐบาลนี้ได้มีการหยุดยั้งการทำลาย และทวงคืนผืนป่ากลับมาสู่ประเทศไทยได้แล้ว 5 แสนกว่าไร่ จากผลสำรวจพบพื้นที่ป่าอันอุดมสมบูรณ์หลงเหลืออยู่จำนวน 32 เปอร์เซ็นต์ทั่วประเทศ ดังนั้น ตั้งแต่ปี 2561 จึงต้องวางกรอบนโยบายการบริหารจัดการป่าไม้กันใหม่ โดยต้องทำให้คนไทยมีความสุข ควบคู่กับการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ และยั่งยืนมากกว่ามิติเดิม ที่แรกเริ่มได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า ประเทศไทยจะต้องมีพื้นที่ป่าไม้อันอุดมสมบูรณ์ เหลืออยู่ 40 เปอร์เซ็นต์

พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า เป้าหมายที่เราจะดำเนินการต่อหลังจากนี้จนถึงปี 2579 มีอยู่ 3 ประการ คือ 1. การมีผืนป่าที่สมบูรณ์ในจำนวนที่เหมาะสม 2. คนไทยทั้งประเทศมีความสุข และ 3. แนวทางการพัฒนาที่สมดุลอย่างยั่งยืน
ในผืนป่าที่มีคนอาศัยอยู่เราจะต้องหาวิธีลดความขัดแย้ง โดยน้อมนำเอาพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ ๙ เรื่องการทำให้คนอยู่ร่วมกับป่าอย่างมีความสุข เริ่มจากการจัดทำข้อมูลป่าไม้รายจังหวัด สำรวจดูแต่ละจังหวัดควรมีพื้นที่ป่าชนิดใดอยู่ตรงไหน ทั้งป่าสมบูรณ์ ป่าอนุรักษ์ ป่าเศรษฐกิจ และป่าชุมชน “ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์คนที่อยู่มาแต่เดิมจะต้องอยู่อย่างเกื้อกูลโดยช่วยกันทำให้ป่าสมบูรณ์ ช่วยกันปรับระบบนิเวศดูแลทรัพยากรป่าไม้ ส่วนคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าชุมชน ที่ทางราชการอนุญาตให้พี่น้องประชาชนใช้ประโยชน์ ต้องร่วมกันปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง”

พื้นที่ป่าเศรษฐกิจคนที่อยู่ต้องสร้างมูลค่าให้เพิ่มพูน ช่วยกันปลูกไม้ที่มีมูลค่า ไม้ที่ก่อให้เกิดรายได้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อันดับสุดท้าย คือ ป่าในเมือง เป็นป่าของรัฐที่มีความอุดมสมบูรณ์และอยู่ใกล้เมือง เรากำลังจัดระบบเพื่อให้ประชาชนตามหัวเมืองทั่วประเทศเข้าไปใช้ประโยชน์ได้โดยตรงต่อไปคนไทยจะอยู่ใกล้ป่ากันทุกพื้นที่ หากอยากชื่นชมธรรมชาติไม่จำเป็นต้องขับรถไปไกล ทุกคนในครอบครัวสามารถไปเดินเล่น ปั่นจักรยานออกกำลังกายได้เต็มที่ และไม่ต้องกังวลเรื่องความปลอดภัย เพราะเราจะร่วมมือกับท้องถิ่นจัดเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลให้ ซึ่งในที่นี้รวมถึงสวนพฤกษศาสตร์ 18 แห่ง และ สวนรุกขชาติ กว่า 60 แห่งทั่วประเทศด้วย

พล.อ.สุรศักดิ์ บอกด้วยว่า เรื่องใหม่สำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทยที่จะเกิดขึ้นในปี 2561 ก็คือ การจัดทำแผนยุทธศาสตร์แร่แห่งชาติ ขณะนี้รัฐบาลกำลังเดินหน้าทำเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะแต่เดิมการทำเหมืองแร่ของไทย มุ่งหวังแต่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจโดยไม่เคยคำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพของพี่น้องประชาชนและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หลังจากนี้ การขออนุญาตทำเหมืองแร่จะมีปัจจัยเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเข้ามาเป็นปัจจัยให้ทางราชการพิจารณาด้วย ถ้าอนุญาตให้ทำกันแล้วเกิดผลเสียต่อชีวิตประชาชนและผลเสียต่อทรัพยากรมากกว่า ก็ถือว่าไม่คุ้ม

แผนจัดการแร่ในอนาคตของประเทศไทย จะต้องทำให้มีมูลค่า ควบคู่กับปัจจัยเรื่องการดูแลไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ที่กำลังน่าจับตามองคือ แร่ควอตซ์ และ แร่โปแตส จะต้องศึกษาอย่างเร่งด่วนว่าเราจะทำอย่างไรเพื่อสร้างมูลค่าแร่เหล่านี้ และจะต้องไม่ขาดดุล ส่วนเรื่องความโปร่งใสในหน่วยงานราชการนั้นถือเป็นนโยบายหลักของท่านนายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว ที่ผ่านมาส่วนราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีการตื่นตัวและพัฒนาให้เป็นไปตามนโยบาย โดยเริ่มปฏิรูปงานทุกด้านที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ชาติโดยตรง

เริ่มจากเมื่อปี 2559 การจัดเก็บรายได้ของอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ โดยเฉพาะหาดนพรัตน์ธารา - หมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ แต่เดิมในอดีตจัดเก็บกันได้ประมาณปีละ 24 ล้านบาท แต่ปีงบประมาณ 2559 จัดเก็บได้กว่า 560 ล้านบาท ตรงนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ เพราะทุกคนรู้อยู่แก่ใจว่า ถ้าร่วมกันทำดีก็จะสำเร็จจนได้ กระทั่งในปีงบประมาณ 2560 จัดเก็บได้กว่า 669 ล้านบาท ซึ่งรายได้ที่จัดเก็บได้เพิ่มขึ้นก็ไม่ได้หายไปไหน เงินทั้งหมดนั้นกลายเป็นสิ่งอำนวยความสะดวก ความปลอดภัย และเป็นรายได้ในการจ้างงานให้แก่ลูกจ้างในพื้นที่ให้มีอาชีพ ขณะนี้เกาะพีพี มีห้องน้ำสะอาด มีจุดบริการนักท่องเที่ยวที่ทันสมัย มีเรือพยาบาล เรือปฏิบัติงานดูแลนักท่องเที่ยว 14 ลำ

“เมื่อทุกภาคส่วนตื่นตัว เจ้าหน้าที่กรมอุทยานทั่วประเทศก็เริ่มใส่ใจ ให้ความสนใจกับเรื่องการทำความดี ด้วยเหตุนี้ในปีงบประมาณ 2560 เราจึงมีรายได้จากการจัดเก็บค่าบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ 150 แห่งทั่วประเทศ ทั้งทางทะเลและทางบก รวมกันทั้งสิ้น 2,413,598,822.70 บาท” เมื่อมีเงินรายได้จากการจัดเก็บค่าบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติเข้ามาเพิ่มเติม เราก็ต้องเพิ่มเติมนโยบายเรื่องความปลอดภัย และสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวเข้าไปด้วย ความปลอดภัยต้องสูง ความสะอาดต้องดี และต้องตอบคำถามสังคมให้ได้ว่าเราเอาเงินไปทำอะไร

อาทิ เรามีการลงทุนเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ การจัดหารถและเรือพยาบาลสำหรับใช้เฉพาะภารกิจดูแลนักท่องเที่ยว การวางทุ่นไข่ปลาในทะเล การสร้างทุ่นจอดเรือไม่ให้กระทบต่อปะการัง การวางทุ่นแบ่งเขตดำน้ำ การดูแลพัฒนาสภาพที่พักของเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในอุทยาน การจัดทำห้องน้ำทุกแห่งให้สะอาด การสร้างลานจอดเฮลิคอปเตอร์ ทั้ง 150 แห่ง เป็นต้น นอกจากนั้น เงินรายได้เหล่านี้มีการนำไปจ้างงานประชาชนในท้องถิ่นจำนวนหลายร้อยตำแหน่งให้เข้ามาช่วยเหลืองานบริการนักท่องเที่ยว โดยเราจะจัดสรรเวลาให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติภารกิจพิทักษ์ป่า ได้ลงพื้นที่เข้าไปดูแลทรัพยากรธรรมชาติให้ได้มากยิ่งขึ้นตามหน้าที่ที่แท้จริง

ประการสำคัญ ก็คือ การนำงบประมาณไปฝึกเพิ่มเติมความรู้ด้านการกู้ชีพกู้ภัย ให้เหล่าเจ้าหน้าที่ให้เขาสามารถช่วยเหลือนักท่องเที่ยวได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที ที่ผ่านมา มีข่าวการส่งทีมเข้าช่วยเหลือนักท่องเที่ยวเหตุซึ่งประสบอุบัติเหตุทางเรือในพื้นที่จังหวัดพังงา และสามารถช่วยเหลือนักท่องเที่ยวจนรอดชีวิตได้ 100 เปอร์เซ็นต์ จนได้รับคำชมเชยไปทั่วโลก เมื่อถามว่าเมื่อรัฐบาลชุดนี้หมดวาระลงไปแล้วความสุจริต โปร่งใส รวมถึงเงินรายได้จากการจัดเก็บค่าเข้าชม ค่าบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ จะยังคงตัวเลขเช่นนี้ต่อไปหรือไม่? ท่านรัฐมนตรีตอบอย่างมั่นใจ ว่า ปัจจุบันนี้ผลการดำเนินงาน และตัวเลขสถิติการจัดเก็บรายได้ทั้งหมดจะถูกนำขึ้นอัปเดตบนเว็บไซต์ของ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ทุกๆ เดือน

กำลังโหลดความคิดเห็น