ประชาชนที่เข้าร่วมพิธีวางดอกไม้จันทน์ ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จะได้รับแผ่นพับที่ระลึกคนละ 1 ฉบับ
แผ่นพับดังกล่าวเมื่อเปิดออกมาจะพบกับพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ขนาดย่อจำนวนมาก ส่วนเนื้อหาในแผ่นพับแบ่งออกเป็น
- พระราชประวัติจอมกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ ระบุถึงพระราชประวัติโดยย่อ ตั้งแต่ครั้งพระราชสมภพ การศึกษา วันสำคัญต่างๆ พระราชโอรสและพระราชธิดา มาถึงเสด็จสวรรคต
- พระปรีชาเกริกไกรทั่วหล้า บอกเล่าถึงประวัติศาสตร์ที่พระองค์ดำเนินนโยบายสร้างสัมพันธไมตรี เพื่อให้ต่างประเทศรู้จักประเทศไทย พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ประยุกต์ใช้ในการพัฒนาประเทศ
- พระราชกรณียกิจเพื่อปวงประชาฯ ทรงส่งเสริมการทำงานของรัฐในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะท้องถิ่นทุรกันดาร และทรงเร่งแก้ไขปัญหาของประชาชน แม้จนวาระสุดท้ายของพระชนม์ชีพที่ทรงพระประชวร
- พระเกียรติยศปรากฏทั่วสากล พระอัจฉริยภาพของพระองค์ ได้รับการยอมรับจากนานาอารยประเทศ รวมทั้งองค์กรและสถาบันในต่างประเทศ ได้ขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญและรางวัลสดุดีพระเกียรติคุณ
- พระราชดำริพัฒนาถาวร เกี่ยวกับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่เปรียบได้กับ “ศาสตร์พระราชา” อาทิ เกษตรทฤษฎีใหม่ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
- ดิเรกดลถวายพระเพลิงเถกิงนุสรณ์ กล่าวถึงขั้นตอนการถวายพระเพลิงพระบรมศพ ตามโบราณราชประเพณี โดยเฉพาะในช่วงออกพระเมรุ อัญเชิญพระบรมศพสู่พระเมรุมาศด้วยขบวนพระบรมราชอิสริยยยศ
- พระเมรุมาศสูงส่งอลงกรณ์ อธิบายถึงส่วนประกอบของพระเมรุมาศ เช่น พระเมรุมาศ 9 ยอด และอาคารสำคัญปริมณฑลพระเมรุมาศ เช่น พระที่นั่งทรงธรรม ศาลาลูกขุน ทิม ทับเกษตร เป็นต้น
- เจิดกำจรกำหนดการพระราชพิธี หมายกำหนดการโดยย่อ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ ตั้งแต่วันที่ 25 ถึง 29 ตุลาคม 2560 พร้อมคำแนะนำการแต่งกาย
ทิ้งท้ายด้วยพระราชดำรัสท้ายแผ่นพับ ระบุว่า “ที่ของข้าพเจ้าในโลกนี้คือ การที่ได้อยู่ท่ามกลางประชาชนของข้าพเจ้า นั่นคือคนไทยทั้งปวง”
แผนพับที่ระลึก พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ นอกจากจะเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงประวัติศาสตร์ครั้งหนึ่งในชีวิตที่ได้ถวายความอาลัยเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว ยังเป็นอนุสรณ์ที่รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงมีต่อประชาชนอย่างหาที่สุดมิได้