xs
xsm
sm
md
lg

“ผอ.ฝ่ายขายบีทีเอส” โบ้ยสาวโดนปรับแวะหลายสถานีไม่ใช่แค่ทำเล็บ - “หนุ่ย พงศ์สุข” ซัดกลับ “เห็นแก่ได้”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ผอ.ฝ่ายขายของบีทีเอส” ส่งข้อความตรงถึง “หนุ่ย พงศ์สุข” แจงสาวโดนปรับ แวะทำธุระหลายสถานี ก่อนใช้เวลาทำเล็บแค่ 30 นาที จึงปรับกับทางร้านไม่ได้ ด้าน “พิธีกรรายการไอทีชื่อดัง” ตอบกลับถ้าอยากรักษาให้กฎต้องเป็นกฎ ก็ไม่ควรให้ร้านที่ต้องใช้เวลาบริการนานเช่าพื้นที่ การชี้แจงครั้งนี้ชี้ให้เห็นถึงความเห็นแก่ได้แบบที่ประชาชนรู้สึกกัน

จากกรณีที่มีสมาชิกเว็บไซต์พันทิปโพสต์ว่า โดนรถไฟฟ้า BTS พระโขนง ปรับเงิน 42 บาท เหตุเพราะใช้เวลาอยู่ภายในสถานีนานเกินกำหนด 2 ชั่วโมง เนื่องจากใช้บริการร้านทำเล็บที่ตั้งอยู่ภายในสถานี จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ ว่า บีทีเอสทำไม่ถูกต้อง จากนั้น บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า บีทีเอส ได้แถลงว่าหากผู้ใช้บริการโดนปรับจากการใช้บริการร้านภายในสถานี สามารถนำใบเสร็จค่าปรับไปขอเงินคืนจากร้านค้าที่ใช้บริการได้ (อ่านข่าวเพิ่มเติม : "BTS" แจง หากใช้บริการร้านค้าในสถานีเกินเวลา นำใบเสร็จไปรับเงินคืนจากร้านค้าได้)

ล่าสุด วันนี้ (12 ต.ค.) นายพงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ พิธีกรรายการไอทีชื่อดัง ได้โพสต์เฟซบุ๊กว่า ผู้อำนวยการใหญ่สายงานการขายและตลาดของบีทีเอส ได้ชี้แจงเข้ามายังข้อความส่วนตัว ถึงกรณีที่ นายพงศ์สุข ได้วิจารณ์คำแถลงของบีทีเอสที่ให้ผู้โดนปรับนำใบเสร็จไปรับเงินคืนจากร้านค้าได้ ว่า “จากโพสต์วันก่อนที่ผมแขวะผู้ให้ข่าวของ BTS ต่อสำนักข่าว Manager ว่า “ขาดจินตนาการ”

เช้านี้ คุณอรนุช ผู้อำนวยการใหญ่สายงานการขายและตลาด ได้กรุณาให้เกียรติชี้แจงกลับมาใน Inbox ครับ ผมขอใช้พื้นที่ของผมเผยแพร่คำชี้แจงนี้เพื่อให้คุณผู้อ่านได้รู้เรื่องราวในมุมของ BTS ครับ ซึ่งไม่ได้เผยแพร่ในข่าวไหน

==============================

กราบเรียน คุณพงษ์สุข หิรัญพฤกษ์

ดิฉัน อรนุช รุจิราวรรณ มีหน้าที่กำกับดูแลการขายพื้นที่ร้านค้าและโฆษณาบนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสค่ะ ขออนุญาตเรียนชี้แจงให้ครบถ้วนดังนี้ค่ะ โดยระเบียบของสถานี ลูกค้าที่ซื้อตั๋วมูลค่า 15 บาท ความหมายคือ ใช้เดินทางได้ 1 สถานี และมีระยะเวลาอยู่ในสถานี 2 ชม. ซึ่งในทางปฏิบัติปกติที่เราทำงานมา เพียงพอกับการทำธุระบนสถานี แต่ในกรณีนี้ ลูกค้าได้เดินทางไปทำธุรกรรมต่างๆ ในหลายสถานี แล้วถึงมาใช้บริการทำเล็บ ซึ่งใช้เวลาเพียง 30 นาทีต่อการทำ 1 ท่าน ในกรณีที่ร้านค้าให้บริการนานเกินเวลา ร้านค้าต้องรับผิดชอบให้ลูกค้าถูกต้องแล้วค่ะ มันเป็นข้อกำหนดที่เรากับร้านค้ามีข้อตกลงกัน แต่กรณีนี้ร้านค้ามิได้ให้บริการล่าช้าแต่อย่างใดค่ะ ขอเรียนชี้แจงด้วยความเคารพค่ะ

กราบขอบพระคุณมากค่ะ ที่กรุณารับฟังคำชี้แจง ในกรณีที่ต้องการทราบรายละเอียดใดๆ เพิ่มเตืม ดิฉันยินดีเดินทางไปพบเพื่อเรียนชี้แจงค่ะ ติดต่อที่เบอร์ 061XXX-XXXX

ขอแสดงความนับถือ

อรนุช รุจิราวรรณ
ผู้อำนวยการใหญ่สายงานการขายและตลาด

ซึ่ง นายพงษ์สุข หิรัญพฤกษ์ ก้ได้พิมพ์ข้อความตอบกลับ ว่า สวัสดีครับคุณอรนุช ขอบคุณที่เห็นโพสต์เล็กๆ ของผมและชี้แจงกลับมาถึงข้อกฎระเบียบต่างๆ

ผมเป็นคนเคารพกฎระเบียบต่างๆ และกฎหมายบ้านเมืองเช่นเดียวกันกับคุณครับ แต่ที่รู้สึกไม่เห็นด้วยการชี้แจงผ่านปลายปากกานักข่าวนั้น เป็นเพราะเห็นว่า “ในทางปฏิบัติมันเป็นไปไม่ได้เลย ที่ผู้โดยสารที่ถูกปรับจะเดินหันหลังกลับ ผ่านประตูกั้นตั๋ว ยอมเสียเงินอีกรอบ (BTS ของคุณคิด 16 บาท ถ้าเข้าออกจากสถานีเดียวกัน ซึ่งจุดนี้เป็นอีกหนึ่งระเบียบที่กำหนดมาตั้งแต่ 5 ธันวาคม 2542 ที่ผมได้เห็นกะตาตัวเองตั้งแต่วันแรก ว่า ไม่ส่งเสริมประชาชนในการเดินข้ามสถานีเพื่อลดภาระพื้นถนนฟุตปาธอันไม่ค่อยสมประกอบของบ้านเรา ...สมัยแรกคิด 10 บาท ตามอัตราตั๋วสถานีแรก ผมจำได้ดี)

การให้ข่าวโดยการชี้แจงออกมาว่าผู้โดยสารท่านที่โดนปรับสามารถเดินกลับเข้าสู่ระบบไปเอาเงินค่าปรับคืนจากร้านค้าผู้ให้บริการได้ จึงไม่ใช่เรื่องจริง เพราะในทางปฏิบัติไม่มีใครเขาทำ และหากทำ เราก็คงต้องเหนื่อยเถียงกับเจ้าของร้านอีก จริงไหมครับ?

ผมจึงวิจารณ์ว่าผู้ให้ข่าว (หากนักข่าวเขียนตรงคำที่ลงเป๊ะๆ) ว่า “ขาดจินตนาการ” หลังอ่านคำชี้แจงเพิ่มเติมของคุณอรนุชที่กรุณาสละเวลาเขียนมาถึงผมแล้ว ผมก็ยังรู้สึกอย่างนั้นครับ

ถ้าอยากรักษาให้กฎต้องเป็นกฎ และไม่ต้องการแก้ไขกฎ BTS หรือบริษัท VGI (มหาชน) ต้องไม่รับลูกค้าเช่าพื้นที่เป็นบริการที่ใช้เวลาบริการยาวนานแบบร้านทำเล็บหรือร้านทำผมครับ (ร้านตัดผมแบบ Quick Cut ที่การันตีสปีด ผมเห็นด้วย เพราะตรงกลุ่มเป้าหมายดีอยู่แล้ว) การชี้แจงจาก BTS ในครั้งนี้จึงแสดงออกถึงความเห็นแก่ได้ออกมาดั่งที่ประชาชนคนอ่านข่าวเขารู้สึกกันครับ

ขอแสดงความนับถือ
พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์
ลูกค้าและผู้หวังดีกับ BTS เสมอ

กำลังโหลดความคิดเห็น