เจาะลึก “โรงเรียนวินิตศึกษา 2” อาณาจักรโรงเรียนวัดชายขอบเมืองลพบุรี พื้นที่ 200 ไร่ ในวันที่ “พระเทพเสนาบดี” เจ้าอาวาสวัดพัวพันคดี “เงินทอนวัด” เอาเงิน 38 ล้านจากสำนักพุทธฯ ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ พบ “สมเด็จช่วง” ให้เงินสร้างอาคาร 5 ชั้น แถมให้เงินวงดนตรีลูกทุ่งเกือบล้าน
การตรวจสอบทุจริต คดีที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โอนเงินงบประมาณให้กับวัด แล้วผู้บริหารและข้าราชการของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เรียกรับเงินคืนจากวัดหรือพระรูปหนึ่งในวัด เรียกกันว่า “เงินทอนวัด” ซึ่งกองบังคับการกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) เป็นผู้รับผิดชอบนั้น ในส่วนของคดีล็อตที่ 2 จำนวน 23 วัด ผู้ต้องหา 19 ราย
พบว่า 1 ใน 4 ผู้ถูกกล่าวหาที่เป็นพระ ก็คือ “พระเทพเสนาบดี” เจ้าอาวาส วัดกวิศรารามราชวรวิหาร ต.ท่าหิน อ.เมืองฯ จ.ลพบุรี และ เจ้าคณะจังหวัดลพบุรี
ปปป. ตรวจสอบพบว่า วัดกวิศรารามราชวรวิหาร เคยจัดตั้งโรงเรียนปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา (หมายถึง โรงเรียนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้การศึกษาแก่พระภิกษุสามเณร ตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ) ต่อมามีหนังสือขอยกเลิกแผนกสามัญศึกษาไปถึงสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ คงเหลือแต่โรงเรียนปริยัติธรรม แผนกบาลี (จัดการศึกษาเฉพาะด้านหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาล้วนๆ ไม่มีวิชาสามัญศึกษา ตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ เข้าไปปะปน) โดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ อนุมัติยกเลิก ก่อนแจ้งให้กรรมการมหาเถรสมาคม รับทราบ
หลังจากนั้น ปี 2556 - 2557 มีการจัดงบประมาณให้กับโรงเรียนปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ทั้งที่ไม่มีแผนกดังกล่าวแล้ว โดยนายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (ปัจจุบันหลบหนีคดีเงินทอนวัดล็อตแรกอยู่ในต่างประเทศ) อนุมัติงบประมาณ 3 ครั้ง ครั้งละ 10 ล้านบาท รวม 30 ล้านบาท โดยมีชื่อ นายพนม ศรศิลป์ ขณะเป็นรองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ นายบุญเลิศ โสภา อดีตผู้อำนวยการกองพุทธศาสนศึกษา นางพรเพ็ญ กิตติธรางกูร ผู้อำนวยการกลุ่มการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญ เป็นผู้เสนอเรื่องอนุมัติงบประมาณ
จากนั้นพบว่า มีการนำงบประมาณ 30 ล้านบาท รวมกับงบบูรณะวัดอีก 8 ล้านบาท รวม 38 ล้านบาท มาสร้างโรงเรียนวินิตศึกษา ในพระราชูปถัมภ์ฯ แห่งที่ 2 ตั้งอยู่ริมถนนสายลพบุรี-บางปะหัน ต.โพธิ์เก้าต้น อ.เมืองฯ จ.ลพบุรี ห่างจากตัวเมืองลพบุรีประมาณ 3 - 4 กิโลเมตร ตั้งอยู่ในที่ดินของวัดกวิศรารามราชวรวิหาร บนเนื้อที่กว่า 200 ไร่ โดยเป็นโรงเรียนสอบสายสามัญ ขึ้นกับกระทรวงศึกษาธิการ ไม่เกี่ยวข้องกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
การกระทำของ นายนพรัตน์ ในฐานะผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ นายพนม นายบุญเลิศ และ นางพรเพ็ญ ในฐานะผู้เสนอเรื่องอนุมัติงบประมาณ ทั้ง 4 คนเข้าข่ายการกระทำตามมาตรา 147, มาตรา 157 และมาตรา 162(4) นอกจากนี้ ยังเพิ่มข้อหาพระเทพเสนาบดี เจ้าอาวาส วัดกวิศรารามราชวรวิหาร มาตรา 162 ปลอมแปลงเอกสารทางราชการ อีก 1 ข้อหา
อ่านประกอบ : พระหรือนายหน้า! เปิดพฤติการณ์ “พระ 4 รูป” ตามสำนวน ปปป. เอี่ยวทุจริต “เงินทอนวัด”
เมื่อตรวจสอบ “โรงเรียนวินิตศึกษา ในพระราชูปถัมภ์ฯ แห่งที่ 2” ที่สำนวนของตำรวจ ปปป. ระบุว่า วัดกวิศรารามฯ นำงบประมาณโรงเรียนปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาที่ไม่มีอยู่จริง ผสมกับงบประมาณบูรณะวัดรวม 38 ล้านบาท มาจัดสร้างบนที่ดินกว่า 200 ไร่นั้น พบว่ามีข้อมูลที่น่าสนใจ
เดิม โรงเรียนวินิตศึกษา ในพระราชูปถัมภ์ฯ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2489 บริเวณหลังวัดกวิศรารามฯ ในตัวเมืองลพบุรี โดยพระพุทธวรญาณ เจ้าอาวาสวัดกวิศรารามฯ และเจ้าคณะจังหวัดลพบุรีในขณะนั้น ปัจจุบันเป็นโรงเรียนเอกชน สังกัดสำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เปิดสอนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 - 6
ต่อมาสภาพโรงเรียนคับแคบ ขณะที่นักเรียนมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นถึง 4,000 คน จึงได้ขยายไปสร้างโรงเรียนวินิตศึกษา 2 บนบริเวณเนื้อที่ 200 ไร่ โดยมี สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) วัดสระเกศ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชขณะนั้น วางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2552 ใช้งบประมาณในการปรับพื้นที่ถึง 80 ล้านบาท
โดยมีพระชั้นผู้ใหญ่ถวายปัจจัยมาจัดสร้างอาคาร 5 ชั้น ประกอบด้วย สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ในฐานะกรรมการมหาเถรสมาคม สนับสนุนปัจจัยอาคารหลังแรก อีกหลังหนึ่งได้รับการสนับสนุนจาก พระธรรมสิงหบูรจารย์ หรือ หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม วัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี
และพบว่า สมเด็จช่วง ยังมอบเงิน 9 แสนบาท เป็นทุนแรกเริ่มในการจัดตั้งวงดนตรีลูกทุ่งเยาวชนวินิตศึกษา
ด้วยความที่เป็นโรงเรียนซึ่งสมเด็จช่วงให้การสนับสนุนมาโดยตลอด ในช่วงที่สมเด็จช่วงเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ก็เอา จ.ลพบุรี เป็นต้นแบบ “โครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5” แห่งแรก โดยใช้โรงเรียนวินิตศึกษาแห่งที่ 2 เป็นสถานที่มอบป้ายหมู่บ้านรักษาศีล 5 ให้แก่หมู่บ้านต่างๆ ใน จ.ลพบุรี
และความยิ่งใหญ่ของโรงเรียนวินิตศึกษาแห่งที่ 2 ถึงขนาดเปิดห้องเรียนพิเศษ เช่น “ห้องเตรียมทหาร” ที่มุ่งสร้างเด็กให้สามารถสอบเข้าเตรียมทหารโดยเฉพาะ โดยนำรุ่นพี่จากโรงเรียนเตรียมทหารมาสอนให้เป็นพิเศษ ที่ผ่านมามีนักเรียนสอบติดโรงเรียนเตรียมทหารมากที่สุดติดอันดับ 1 ของประเทศมาแล้ว
วาดฝันในอนาคตว่าจะมี “ผู้บัญชาการทหารบก” (ผบ.ทบ.) ที่จบจาก “วินิตศึกษา” เลยทีเดียว
รวมทั้งยังมีห้องเรียน 2 ภาษา ห้องเรียนอัจฉริยะ ห้องโอลิมปิกวิชาการ ห้องเตรียมความรู้มุ่งสู่มหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ 5 แห่งของประเทศ เช่น จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ ศิลปากร หรือ 3 พระจอมเกล้าฯ โดยโรงเรียนจัดสอนพิเศษให้ถึง 2 ทุ่ม หลังเลิกเรียน บางช่วงเรียนถึง 4 ทุ่ม เพื่อให้มีนักเรียนสอบติดให้ได้
ยิ่งถ้าเป็นนักเรียนในโครงการช้างเผือก เด็กจะเรียนกลางวันตามปกติ แต่ต้องเรียนเข้มข้นในเวลา 5 โมงเย็นถึง 2 ทุ่ม หรือถึง 4 ทุ่ม ในบางวัน และมิใช่เรียนธรรมดา หากแต่เรียนข้ามไป 1 ชั้น เช่น ม.1 เรียนของชั้น ม.2 ไปเลย จำกัดจำนวนเพียงแค่ 500 คนเท่านั้น
แม้การจัดการศึกษาของโรงเรียนแห่งนี้ ดูเหมือนจะเป็นเรื่องน่าชื่นชม แต่เมื่อการตรวจสอบทุจริตเงินทอนวัด พบเจ้าอาวาสวัดกวิศรารามราชวรวิหาร นำเงิน 38 ล้านบาท จากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ แถมยังพบว่ามีการปลอมแปลงเอกสาร ก็ทำให้ความยิ่งใหญ่ของโรงเรียนแห่งนี้ถูกตั้งคำถาม
คงต้องรอทางโรงเรียนชี้แจงว่า รายรับที่ได้มา กว่าจะสร้างมาเป็น “อาณาจักรโรงเรียนวัด” กว่า 200 ไร่นั้น เกิดขึ้นได้แต่ใดมา นอกจากความสัมพันธ์ลึกๆ ของพระชั้นผู้ใหญ่ เฉกเช่น “สมเด็จช่วง” ที่วันนี้ก็เป็นที่น่ากังขาในกรณีครอบครองรถหรูเลี่ยงภาษีไม่แพ้กัน