xs
xsm
sm
md
lg

“อาจารย์ ม.เกษตรฯ” แถลง “หัวเชื้อน้ำมันยี่ห้อฉาว” เป็นตัวเดียวกันกับที่ขายตามท้องตลาด ไม่เหมาะใช้กับรถยนต์ ทำเครื่องพัง !

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“อาจารย์เคมี ม.เกษตรฯ” เผยผลวิเคราะห์ “หัวเชื้อน้ำมันยี่ห้อฉาว” เทียบกับอีก 2 ยี่ห้อที่ขายตามท้องตลาด ผลสรุปทั้ง 3 ตัว เป็น “คลอริเนเตท พาราฟิน” ซึ่งไม่ใช่น้ำมันเครื่อง ไม่เหมาะนำมาใช้กับรถยนต์ เนื่องจากระเหยที่ 200- 500 องศาฯ ทั้งที่ห้องเครื่องร้อนถึง 500 - 1,000 องศาฯ ทำให้ตอนแรกอาจใช้งานได้ดี แต่ระยะยาวทำเครื่องพัง ! จี้ถามภาครัฐหายหัวไปไหนหมด ปล่อยให้ทำขายกันแบบนี้ได้ยังไง

วันนี้ (18 ก.ย.) รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้แถลงผลการวิเคราะห์หัวเชื้อน้ำมัน โดยเปรียบเทียบตัวที่กำลังเป็นข่าวดัง กับอีก 2 ยี่ห้อที่วางขายตามท้องตลาด โดยใช้เทคนิคการวิเคราะห์ 2 เทคนิค คือ อินฟราเรดสเปกโตรสโกปี (IR) และ เทคนิค นิวเคลียร์ แมกเนติกเรโซแนนซ์ (NMR) ซึ่งทั้งสองเทคนิคเป็นที่ยอมรับระดับโลก ผลปรากฏว่า ทั้ง 3 ยี่ห้อเป็นตัวเดียวกันหมด เหมือนกับครีม 1 สูตร แต่แยกขายเป็น 100 ยี่ห้อ

รศ.ดร.วีรชัย กล่าวว่า เทคนิคแรกที่ใช้ คือ อินฟราเรดสเปกโตรสโกปี (IR) คือ การพิสูจน์หมู่ฟังก์ชันของสาร ผลปรากฏว่า ทั้ง 3 ยี่ห้อ โครงสร้างโมเลกุลเป็นแพทเทิร์นของคลอริเนเตท พาราฟิน ภาษาชาวบ้านเรียกว่าน้ำมันพาราฟินซึ่งมีอะตอมของคลอรีน ซึ่งคลอริเนเตท พาราฟิน ไม่ใช่น้ำมัน นี่คือสาเหตุว่าทำไมไม่ต้องขึ้นทะเบียนกับกรมธุรกิจพลังงาน เพราะมันไม่ใช่น้ำมัน

รศ.ดร.วีรชัย กล่าวต่ออีกว่า อีกเทคนิคคือ นิวเคลียร์ แมกเนติกเรโซแนนซ์ สเปกโตรสโคป (NMR) ใช้วิเคราะห์สารไฮโดรคาร์บอน ใช้ยืนยันเทียบกับเทคนิค IR ผลปรากฏว่า ทั้ง 3 ยี่ห้อ เป็นสารตัวเดียวกัน เทียบกับสเปกตัวมาตรฐานของ คลอริเนเตท พาราฟิน ตรงกันเป๊ะ

สรุปทั้ง 3 ยี่ห้อ คือคลอริเนเตท พาราฟิน หรือน้ำมันพาราฟิน นึกถึงกลุ่มน้ำมันพืชที่มีอะตอมคลอรีนมาเกาะ มีจุดเดือดไม่สูงมาก อยู่ระหว่าง 200-500 องศาเซลซียส ไม่ได้เป็นน้ำมันเครื่อง ฉะนั้นกรมธุรกิจพลังงานไม่สามารถเอาผิดได้ เพราะใช้ในอุตสาหกรรมอื่น เช่น ใช้เคลือบโลหะเพื่อลดแรงเสียดทานโลหะ พวกนี้เลยเอามาเคลือบลูกสูบให้หล่อลื่นได้ดี, ใช้หยอดใบเลื่อยเวลาเลื่อยเหล็ก เพื่อให้ลื่น, ใช้เป็นตัวเติมในอุตสาหกรรมพลาสติกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้นุ่มขึ้นหรือแข็งขึ้น, ใช้ในการทำกาวอิพ็อกซีเรซิ่น ยังไม่เคยมีรายงานว่าเอาสารตัวนี้มาเป็นน้ำมันเครื่อง ถามว่าใช้ได้ไหม 3 ยี่ห้อนี้เค้าเอามาให้เราลอง บางคนก็บอกดีมาก เพราะมันลื่น บางคนบอกใช้ไปสักพักเครื่องพัง

รศ.ดร.วีรชัย กล่าวอีกว่า หัวเชื้อน้ำมันทั้ง 3 ยี่ห้อ ทนความร้อนได้ประมาณ 200- 500 องศาเซลเซียส ถ้าอุณหภูมิสูงกว่านั้นจะระเหยสลายตัว ตนเลยโทรศัพท์ไปถามอาจารย์ที่สอนวิศวะเครื่องกล ท่านบอกว่าห้องเครื่องดีเซล และ เบนซิน อุณหภูมิอยู่ที่ 500 - 1,000 องศาเซลเซียส ฉะนั้น หากใส่ตัวนี้ลงไป แรกๆ รู้สึกดี เพราะมันลื่น แต่พอไปสักพักมันระเหยก็กลายเป็นเขม่า เกิดการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ทำให้เครื่องน็อก หรือพังได้เวลาวิ่งเร็วหรือใช้เครื่องยนต์อย่างหนัก นอกจากนี้ตัวอะตอมคลอรีนที่เจอ ถ้าเจอความร้อนสูงก็จะแตกตัวไปรวมกับไฮโดรคาร์บอน กลายเป็นกรดไฮโดรคลอริก หรือกรดเหลือ ทำให้ห้องเครื่องเกิดความเป็นกรดสูง นี่คือเหตุผลว่าทำไมรถบางรุ่นพัง บางรุ่นใช้แล้วดี มันอยู่ที่สภาพการใช้งาน ถ้าใช้กับรถที่มีความร้อนสูง เช่น บีเอ็ม วิ่งไปสักพักมีผลแน่นอน ไม่ส่งผลทันที แต่ส่งผลในระยะยาว

รศ.ดร.วีรชัย กล่าวด้วยว่า ฝากถามถึงภาครัฐ ปล่อยให้คนทำหัวเชื้อนี้ออกมาขายได้อย่างไร มีแต่โซเชียลมีเดีย เพจต่างๆ ออกมาช่วยกัน สังคมเราเหลือแค่นี้หรือ ภาครัฐหายหัวไปไหน ไม่รู้ทำอะไรกัน แล้วประชาชนจะอยู่อย่างไร น่าจะมีการปลดอธิบดีอะไรสักอย่างให้ดูเป็นขวัญตา

กำลังโหลดความคิดเห็น