แม้จะทราบกันดีว่า มือถือระบบเติมเงิน เมื่อเติมเงินผ่านช่องทางต่างๆ ไปแล้ว จะใช้สำหรับโทรออก ส่ง SMS เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต หรือใช้บริการอื่นๆ โดยหักจากยอดเงินที่เติม จะนำเงินที่เติมเปลี่ยนเป็นเงินสดไม่ได้ แต่สำหรับหนุ่มรายนี้ เขาอาจจะได้เงินคืนอย่างน้อยๆ เกือบ 7 หมื่นบาทเลยทีเดียว
เรื่องของเรื่องก็คือ หนุ่มรายหนึ่ง (ขอสงวนชื่อและนามสกุล) ไปร้องเรียน กสทช. ว่า ค่ายมือถือแห่งหนึ่ง ไม่ยอมคืนเงินที่เติม 7 เบอร์ มียอดเงินคงเหลือเกือบ 6 หมื่นบาท เมื่อเดือนสิงหาคม 2559 เจ้าตัวตัดสินใจปิดเบอร์ทั้งหมดที่ช้อปในศูนย์การค้าแห่งหนึ่งย่านพระราม 2 พร้อมกับขอเงินคงเหลือในระบบคืนทั้งหมด แต่เจ้าหน้าที่แจ้งว่าไม่สามารถคืนเงินให้ได้ ต้องรอผลการตรวจสอบก่อน เขาเห็นว่า บริษัทฯ เอาเปรียบผู้บริโภคและคืนเงินล่าช้า จึงขอให้ค่ายมือถือคืนเงินทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ย 15% เข้าบัญชีธนาคารเร็วที่สุด
ต่อมา เดือนธันวาคม 2559 เจ้าตัวร้องเรียน กสทช. ว่า ค่ายมือถือเจ้าเดียวกันนี้ ไม่ยอมคืนเงิน 1 เบอร์ มียอดเงินคงเหลือ 9,800 บาทเศษ หลังนำเบอร์ดังกล่าวไปย้ายค่ายเบอร์เดิม เสร็จแล้วได้ไปที่ช้อปในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งย่านท่าพระ เพื่อขอเงินคงเหลือในระบบคืน เพราะย้ายค่ายเบอร์เดิมไปแล้ว แต่ก็ยังไม่คืน จึงขอให้ค่ายมือถือคืนเงินทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ย 15% เข้าบัญชีธนาคารเร็วที่สุดเช่นกัน
ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. ที่ผ่านมา เห็นว่า ค่ายมือถือมีสิทธิ์ที่จะตรวจสอบหลักฐานการเติมเงินว่าเป็นคนเดียวกันกับเจ้าของเบอร์หรือไม่ หากผลการสืบสวนปรากฏว่า เจ้าตัวมีสิทธิ์ได้รับเงินคืน ให้ค่ายมือถือคืนเงินดังกล่าว พร้อมจ่ายค่าเสียประโยชน์เท่ากับดอกเบี้ยที่ผู้ให้บริการคิดจากผู้ใช้บริการกรณีผิดนัดชำระ จึงเสนอว่าให้ค่ายมือถือคืนเงินคงเหลือในระบบพร้อมดอกเบี้ย
หากมีการคืนเงินดังกล่าวจริง เจ้าตัวจะได้รับเงินต้นเกือบ 7 หมื่นบาท ไม่นับรวมดอกเบี้ย
ในตอนหนึ่งของคำประกาศสิทธิผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ของสำนักงาน กสทช. ระบุว่า การใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบเติมเงิน เมื่อเลิกสัญญา จะได้รับคืนเงินคงเหลือในระบบ ภายใน 30 วัน หรืออาจโอนเงินนั้นไปยังเลขหมายอื่นในค่ายเดียวกันตามประสงค์ของผู้ใช้บริการ
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ระบุว่า การที่เจ้าของเบอร์โทรศัพท์มือถือแบบเติมเงิน ต้องการจะปิดเบอร์ หากมีเงินคงค้างอยู่ในซิมการ์ด เจ้าของเบอร์นั้นสามารถขอรับเงินคืนจากผู้ให้บริการได้ โดยอาจรับเป็นเงินสด เช็ค หรือนำเข้าบัญชีเงินฝากได้ตามที่ต้องการ โดยจะได้เงินภายใน 30 วันนับจากวันยกเลิกเบอร์ดังกล่าว ตามประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2559 ข้อ 34
สำหรับประชาชนผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือแบบเติมเงินถ้าไปปิดเบอร์ แล้วขอเงินคืน หากได้รับการปฏิเสธ ขอให้แจ้งปัญหามาที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนสำนักงาน กสทช. หมายเลขโทรศัพท์ 1200
ถือเป็นอีกกรณีศึกษาที่น่าสนใจ เนื่องจากปัจจุบันยังมีผู้ใช้มือถือเติมเงินอีกจำนวนมาก เลือกที่จะเติมเงินเพื่อรักษาเบอร์ไม่ให้ถูกตัดออกจากระบบ โดยเน้นรับสายมากกว่าโทรออก หากแนวทางนี้เกิดขึ้นได้จริง ก็จะเป็นมาตรฐานใหม่สำหรับคนที่ต้องการปิดเบอร์เก่า หรือย้ายค่ายเบอร์เดิม
จากเดิมค่ายมือถือมักจะปฏิเสธว่าทำไม่ได้ หรืออย่างดีก็เสนอให้โอนย้ายไปยังเบอร์ใหม่ แต่ต่อไปประชาชนต้องรักษาสิทธิของตัวเอง อย่าให้ใครมาเอาเปรียบเราอีกต่อไป