xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการฉะ สผ.ขาด “ธรรมาภิบาล” เสนอยุบองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ดร.สมนึก จงมีวศิน นักวิชาการอิสระและเครือข่ายเพื่อนตะวันออก
นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ชี้ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ขาดหลักธรรมาภิบาล เสนอยุบองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (กอสส.) ขณะที่ร่าง พ.ร.บ. สิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ ตัดสิทธิกระบวนการรับรู้และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนต่อกระบวนการ EHIA อย่างแท้จริงต่อโครงการ หรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ

ดร.สมนึก จงมีวศิน นักวิชาการอิสระและเครือข่ายเพื่อนตะวันออก กล่าวถึงการแก้ไขร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในส่วนของการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ตัดกระบวนการจัดทำรายงาน EHIA และท้ายประกาศ ง. คือ กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียของหน่วยงานอนุมัติ หรือหน่วยงานอนุญาตตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้น ว่า เป็นการตัดสิทธิ์การรับรู้และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในเรื่องสิทธิชุมชนเกี่ยวกับกระบวนการEHIA โดยเฉพาะ “ที่บัญญัติไว้ในร่าง พ.ร.บ. สิ่งแวดล้อมมาตรา 52 วรรค 4 สรุปได้ว่าในกรณีมีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อประโยชน์ในการดำเนินโครงการ ในระหว่างรอการพิจารณาผลรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการหรือกิจการนั้น อาจเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาอนุมัติไปพลางได้ก่อน” ซึ่งสิ่งนี้ก็เป็นการการันตีได้ว่าโครงการเกือบผ่านแล้ว ถือว่าขัดหลักธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมเต็มๆ และตราบใดที่กระทรวง ไม่สามารถแยกเจ้าของโครงการกับบริษัทที่ปรึกษาออกจากกันได้ ก็นำมาซึ่งความไม่ไว้วางใจเหมือนเดิม และสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชุมชนเหมือนเช่นในอดีต

สำหรับกรณีที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีมติยกเลิกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การจัดตั้งองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (กอสส.) ซึ่งเป็นองค์กรที่เกิดจากการเรียกร้องของภาคประชาชนนั้น ดร.สมนึก มองว่า เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะขณะนี้กฎหมายยังไม่เรียบร้อยแต่กลับจะไปยุบแล้ว ซึ่งแนวคิดการจะยุบ กอสส. องค์กรที่เป็นกระบวนการทัดทานและตรวจสอบประโยชน์ของประเทศ ถือว่าการกระทำเช่นนี้ขาดหลักธรรมาภิบาล เป็นสิ่งที่ผมไม่เห็นด้วย และยืนยันว่าต้องมี กอสส. หรือหน่วยงานแบบ กอสส. ต่อไป ที่สำคัญเรื่องกระบวนการEHIA เป็นเรื่องที่มีผลกระทบทั้งสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ ซึ่งในร่าง พ.ร.บ. สิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ ก็ไม่ได้มีกระบวนการตรวจสอบอย่างรอบด้าน ดังนั้น ต้องมีหน่วยงานเช่นนี้ทำงานและแม้ว่า กอสส. จะไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ แต่ กอสส. มีอำนาจในการให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ

อย่างไรก็ตาม ดร.สมนึก ย้ำว่า หากการแก้ไข พ.ร.บ. สิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ ออกมาแล้วแย่กว่าเดิมก็ไม่ควรแก้และคงใช้ พ.ร.บ. สิ่งแวดล้อมฉบับปี 2535 เหมือนเดิม ส่วนเรื่อง EHIA ก็ให้ไปแก้ในประกาศกระทรวงฯ ทั้งนี้ ขอให้กระทรวงไปทบทวนและตีความมาตรา 58 ให้ชัดเจนกว่านี้ พร้อมทั้งขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องและท่านนายกรัฐมนตรี เปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมในกระบวนการ EHIA ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงโดยรอบด้าน
กำลังโหลดความคิดเห็น