กระทรวงดีอี แจงเนื้อหาประกาศฯ ซึ่งออกตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ถึงวิธีการส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ย้ำประกาศฉบับนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อการติดต่อสื่อสารโดยปกติของประชาชน ยกเว้นเป็นการส่งข้อมูลในเชิงธุรกิจ หรือเชิงพาณิชย์ ผู้ส่งจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้รับก่อน หากไม่ได้รับความยินยอม ผู้ส่งจะต้องมีช่องทางการบอกเลิก เพื่อให้ผู้รับข้อมูลบอกเลิกหรือปฏิเสธการรับได้โดยง่าย กรณีฝ่าฝืนจะถือเป็นการส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ ตามมาตรา 11 วรรคสอง และมีโทษปรับไม่เกิน 2 แสนบาท
น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะโฆษกกระทรวง เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ประชาชน และผู้ให้บริการต่าง ๆ ทางอินเทอร์เน็ต ยังมีความสับสนในเรื่องของลักษณะ และวิธีการส่ง รวมถึงปริมาณความถี่ในการส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ว่า การส่งลักษณะใด และปริมาณความถี่เท่าใด จึงจะไม่เป็นการก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้รับ
หลังจากที่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ประกาศใช้ ดังนั้น กระทรวงดีอี ในฐานะหน่วยงานหลักที่กำกับดูแลในส่วนนี้ จึงขอชี้แจงว่า การส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือจดหมายอิเล็กทรอนิส์ ให้แก่บุคคลอื่น ที่ไม่ถือว่าเป็นการส่งข้อมูลที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้รับข้อมูล ตามประกาศกระทรวงดิจิทัลฯ เรื่อง ลักษณะและวิธีการส่ง และลักษณะและปริมาณของข้อมูล ความถี่และวิธีการส่ง ซึ่งไม่เป็นการก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้รับ พ.ศ. 2560 ภายใต้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 มีดังนี้
1. การส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อติดต่อ หรือเป็นหลักฐาน ในการทำนิติกรรมสัญญา ที่คู่สัญญามีการตกลงกันเป็นที่เรียบร้อย หรือการส่งข้อมูลที่ผู้รับข้อมูล และผู้ส่งข้อมูลส่ง เพื่อปฏิบัติตามกฎหมาย หรือเพื่อแสดงความสัมพันธ์ที่มีระหว่างกัน 2. การส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยรัฐบาล รัฐสภา ศาล หรือหน่วยงานของรัฐ ที่บังคับใช้กฎหมาย เพื่อแจ้งให้ทราบถึงข้อกำหนด กฎหมาย ที่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ หรือแสวงหาผลกำไรทางธุรกิจ 3. การส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยสถาบันการศึกษา หรือหน่วยงาน หรือองค์กรการกุศล ที่ไม่มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหาผลกำไร และ 4. การส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ไม่มีลักษณะผิดกฎหมาย ไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์
สำหรับกรณีที่เป็นการส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ในเชิงธุรกิจ หรือเชิงพาณิชย์ นอกเหนือจากที่กล่าวข้างต้น เมื่อได้รับความยินยอมจากผู้รับข้อมูลแล้ว จะไม่ถือเป็นการก่อความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้รับข้อมูล โดยที่ผู้ส่งข้อมูลต้องระบุหรือแสดงสัญลักษณ์ หรือรายละเอียดและวิธีการใด ๆ ที่ผู้รับข้อมูลสามารถบอกเลิกหรือแจ้งความประสงค์ไว้อย่างชัดเจน เพื่อปฏิเสธการตอบรับข้อมูล (Opt-Out) จากผู้ส่งได้โดยง่าย
รวมถึงมีวิธีการให้ผู้รับข้อมูลแจ้งความประสงค์ในการบอกเลิก หรือไม่ยอมรับข้อมูลได้ และเมื่อมีการบอกเลิกการรับข้อมูลของผู้รับข้อมูลแล้ว ผู้ส่งข้อมูลต้องยกเลิกการส่งข้อมูลไปยังผู้รับทันที โดยห้ามเรียกร้องให้ผู้รับข้อมูลชำระเงิน หรือผลประโยชน์ใด ๆ เป็นการตอบแทน ซึ่งหากมีการฝ่าฝืน และไม่ปฏิบัติตามที่กล่าวมา ถือว่าผู้ส่งข้อมูลมีความผิด ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2 แสนบาท
อย่างไรก็ตาม ในกรณีผู้ส่งข้อมูลที่เป็นผู้ให้บริการเว็บไซต์ ผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน หรือผู้ให้บริการประเภทสื่อสังคมออนไลน์ที่โฆษณา หรือสนับสนุนการส่งข้อมูล หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ จะต้องจัดให้มีช่องทางการบอกเลิก หรือปฏิเสธการรับข้อมูลแก่ผู้ใช้บริการที่สามารถเข้าใจและเข้าถึงได้โดยง่าย ไม่เช่นนั้น จะถือว่ามีความผิดเช่นกัน
ทั้งนี้ แม้ว่าการรับส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ จะเป็นประโยชน์อย่างมหาศาลต่อผู้คนในยุคปัจจุบันก็ตาม แต่เนื่องจากที่ผ่านมา ได้มีการส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ เป็นจำนวนมาก จนกลายเป็นการสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับประชาชน ดังนั้น หากประชาชนพบเห็นการกระทำความผิด หรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับปัญหาออนไลน์ สามารถแจ้งเบาะแส หรือสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วน 1212 ตลอด 24 ชั่วโมง