xs
xsm
sm
md
lg

แค่เปลี่ยนไม่ได้ยุบ! “วารสารศาสตร์ ม.กรุงเทพ” แจงภาควิชาใหม่ “บรอดแคสต์ติ้งและวารสารศาสตร์ดิจิทัล”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ชี้แจงควบรวมภาควิชาวารสารศาสตร์เข้ากับภาควิชาบรอดแคสต์ติ้ง เปลี่ยนเป็น “บรอดแคสต์ติ้งและวารสารศาสตร์ดิจิทัล” เน้นเรียนรู้นำเสนอข่าวสารไม่ยึดติดแพลตฟอร์มหรือรูปแบบ เกิดความยืดหยุ่นในการผสมผสานความรู้ได้ราบรื่น เน้นนักศึกษาผลิตเนื้อหามากกว่าป้อนแพลตฟอร์ม ตอบโจทย์ตลาดงานในปัจจุบัน

วันนี้ (10 ส.ค.) คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้ส่งเอกสารข่าวชี้แจงว่า ตามที่มีข่าวเผยแพร่ออกไปว่า คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ยุติการเรียนการสอนภาควิชาวารสารศาสตร์นั้น ดร.พีรชัย เกิดสินธุ์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้ชี้แจงว่า ข่าวดังกล่าวคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เนื่องจากทางคณะไม่ได้ยุติการเรียนการสอนภาควิชาวารสารศาสตร์แต่อย่างใด แต่ได้ควบรวมภาควิชาวารสารศาสตร์เข้ากับภาควิชาบรอดแคสต์ติ้ง พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อภาควิชาเป็น “บรอดแคสต์ติ้งและวารสารศาสตร์ดิจิทัล” เพื่อให้สอดรับกับกระแสโลกที่รูปแบบการนำเสนอข่าวเปลี่ยนไป พร้อมเสริมความรอบรู้ในการทำงานที่เหมาะสำหรับยุคสมัยปัจจุบันให้แก่นักศึกษา ทั้งยังเพิ่มประสิทธิภาพในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างภาควิชาอีกด้วย

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ในฐานะที่เป็นสถาบันการศึกษาที่เน้นการ “คิดอย่างสร้างสรรค์” และเป็นหนึ่งในผู้นำทางการศึกษามาโดยตลอด ได้เล็งเห็นว่า ด้วยรูปแบบเนื้อหาและแพลตฟอร์มการนำเสนอข่าวสารในปัจจุบัน สืบเนื่องไปถึงอนาคต มีความหลากหลายขึ้น ทั้งสื่อโทรทัศน์ สื่อวิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อดิจิทัล นักศึกษาจึงสมควรได้เรียนรู้การนำเสนอข่าวสารในลักษณะต่างๆ มากขึ้น โดยไม่ยึดติดเพียงแพลตฟอร์มหรือรูปแบบเนื้อหาอย่างใดอย่างหนึ่ง

ทางคณะจึงมองเห็นว่า การควบรวมภาควิชาบรอดแคสต์ติ้งกับวารสารศาสตร์เข้าด้วยกันนั้น จะทำให้เกิดการปรับโครงสร้างในเชิงบริหาร ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความยืดหยุ่นในการผสมผสานความรู้ การแลกเปลี่ยนนักศึกษา อาจารย์ ตลอดจนพันธมิตรซึ่งเป็นบริษัท องค์กร หรือหน่วยงานภายนอกระหว่างสาขาวิชาได้อย่างราบรื่นมากกว่าเดิม เนื่องจากศาสตร์ทั้งสองแขนงนั้นมีความเกื้อกูลกันอยู่แล้ว นักศึกษาจึงจะมีโอกาสเรียนรู้และฝึกฝนตนเองรอบด้านมากขึ้น ไม่จำกัดแค่ด้านในด้านหนึ่ง โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของการผลิตเนื้อหา (Content Base) มากกว่าการผลิตเพื่อป้อนแพลตฟอร์ม (Platform Base) เพื่อที่นักศึกษาจะสามารถผลิตเนื้อหาที่เหมาะสมกับทุกแพลตฟอร์ม อันนับว่าตอบโจทย์ตลาดงานในปัจจุบันเป็นอย่างมาก ทั้งนี้มีจุดประสงค์หลักคือ นักศึกษาจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากการปรับเปลี่ยนครั้งนี้

ดร.พีรชัย ยังได้เน้นย้ำว่า “วารสารศาสตร์” คือศาสตร์การนำเสนอข่าวผ่านสื่อต่างๆ ที่มีวิวัฒนาการเรื่อยมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ดังนั้นไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัย วารสารศาสตร์ก็ยังคงเป็นวิชาที่จำเป็นต่อโลกสื่อสารมวลชน การได้เรียนสาขานี้จึงไม่เพียงแค่บ่มเพาะนักศึกษาให้เป็น “นักสื่อสารมวลชน” ผู้มีคุณภาพ หากยังมีคุณธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคมควบคู่กันไปด้วย และยิ่งเมื่อนักสื่อสารมวลชนในยุคดิจิทัลมีความรู้ด้านบรอดแคสต์ติ้งหรือช่องทางการเผยแพร่ข่าวสารมากขึ้นด้วยนั้น ก็ยิ่งทำให้เป็นนักสื่อสารมวลชนที่ตลาดงานต้องการ สมกับคำว่า “วารสารศาสตร์ดิจิทัล” ดังนั้นทางคณะจึงไม่มีแนวคิดที่จะยกเลิกการเรียนการสอนสาขานี้อย่างแน่นอน

ท้ายที่สุด ดร.พีรชัย ได้แสดงจุดยืนของคณะว่า “นิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ พร้อมดันสาขาวารศาสตร์เข้าสู่ยุคดิจิทัล รวมพลังกับบรอดแคสต์ติ้ง เสริมความแกร่งให้นักศึกษาขานรับเทรนด์โลก” อันถือเป็นการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้แก่วงการศึกษา ขานรับหนึ่งในอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยที่ว่า “คิดอย่างสร้างสรรค์” อย่างแท้จริง

ก่อนหน้านี้ มีรายงานว่า มหาวิทยาลัยกรุงเทพ จะยุบภาควิชาวารสารศาสตร์ในคณะนิเทศศาสตร์ ไปรวมกับภาควิชาวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์แทน พร้อมกับได้มีการโยกย้ายอาจารย์ประจำภาควิชาวารศาสตร์ กระจายไปยังภาควิชาอื่นๆ โดยจะมีการประกาศถึงการปิดภาควิชาดังกล่าวในเร็วๆ นี้ กระทั่ง ดร.พีรชัย เกิดสินธุ์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ ชี้แจงต่อศิษย์เก่า ว่า ทางมหาวิทยาลัยไม่ได้ยุบภาควิชาวารสารศาสตร์ แต่เป็นการรวมหลักสูตรกับภาควิชาวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ แต่นายเพชร โอสถานุเคราะห์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว “Petch Osathanugrah” ระบุว่า มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ไม่เคยตัดสินใจปิดภาควิชาวารสารศาสตร์แต่อย่างใด

อ่านประกอบ : “วารสารศาสตร์ ม.กรุงเทพ” ไม่ได้ไปต่อในยุคดิจิตอล
แจง “ม.กรุงเทพ” ไม่ได้ยุบ “วารสารศาสตร์” แค่รวมหลักสูตรกับ “วิทยุโทรทัศน์”
อธิการบดี ม.กรุงเทพ ลั่นไม่ได้ยุบวารสารศาสตร์ - พบปรับโครงสร้างใหม่ “บรอดแคสต์ติ้งและวารสารศาสตร์ดิจิทัล”
กำลังโหลดความคิดเห็น