เครือข่ายประชาชนฯ ร้องกระทรวงทรัพย์ ค้านแก้ปรับ พ.ร.บ. สิ่งแวดล้อม ฉบับใหม่ ยัด ม.44 อนุญาตให้เอกชนดำเนินโครงการก่อนอีไอเอ ผ่าน อัดไม่เป็นไปตาม รธน. ม.77 ขาดการรับฟัง ระยะเวลาแสดงความคิดเห็นสั้น ช่องทางมีเพียงแค่เว็บไซต์
วันนี้ (24 ก.ค.) เวลา 09.30 น. ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ผู้แทนเครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน นำโดย นายประสิทธิชัย หนูนวล และ ดร.สมนึก จงมีวสิน พร้อมด้วยตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนด้านสิ่งแวดล้อม เดินทางเข้ายื่นหนังสือและขอเจรจากับผู้แทนทส. กรณีการแก้ไข พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับใหม่
ทั้งนี้ ก่อนเข้าเจรจากับตัวแทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ได้มีการอ่านแถลงการณ์เรื่อง ข้อเสนอภาคประชาชนต่อการจัดทำร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ (หมวดการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม) โดยมีใจความสำคัญระบุว่า ตามที่รัฐธรรมนูญไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 77 ประกอบกับมติ ครม. 4 เมษายน 2560 กำหนดให้ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบจากกฎหมาย รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นต่อประชาชนผ่านทางเว็บไซต์อย่างน้อย 15 วัน ผลปรากฏว่า หน่วยงานรัฐเร่งดำเนินการรร่างกฎหมายเปิดรับฟังความคิดเห็นด้วยหลักเกณฑ์ขั้นต่ำ โดยไม่สนว่าจะเป็นกระบวนการรับฟังความคิดเห็นอย่างแท้จริงหรือไม่
แถลงการณ์ระบุว่า หลักเกณฑ์ดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยไม่มีส่วนร่วมต่อร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว เช่น การรับฟังความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ ที่เปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ของ ทส. ซึ่งเป็นการขาดการรับฟังความคิดเห็นก่อนกระบวนการร่างกฎหมาย โดยที่รัฐเป็นผู้ร่างกฎหมายอยู่ฝ่ายเดียว และนำมารับฟังความคิดเห็นเมื่อร่างกฎหมายทั้งฉบับเสร็จเรียบร้อยแล้ว และด้วยระยะเวลาแสดงความคิดเห็นที่สั้น ช่องทางแสดงความคิดเห็นที่แคบ ตลอดจนไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลเพื่อประกอบการรับฟังความคิดเห็นในด้านต่างๆ ดังนั้น กระบวนการร่างกฎหมายจึงไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญไทย มาตรา 77 นายประสิทธิชัย กล่าวว่าต้องการให้มีการนำเนื้อหาข้อเสนอของภาคประชาชนไปบรรจุเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณากฎหมาย โดยเฉพาะการแก้ไขหมวดการจัดทำอีไอเอ มาตรา 50 ที่มีความถดถอยจาก พ.ร.บ. ฉบับเก่า ซึ่งอาจนำไปสู่ความขัดแย้งมากกว่าเดิม และหากมีการออกคำสั่ง คสช. ใช้อำนาจ มาตรา 44 แก้ไขกฎหมาย นอกจากนี้ ประชาชนยังมีข้อจำกัดทั้งระยะเวลาและช่องทางการนำเสนอความเห็นผ่านทางเว็บไซต์ รวมถึงเวทีการรับฟังความคิดเห็นที่ถูกจัดขึ้นเพื่อให้หน่วยงานได้พูด แต่ประชาชนมีเวลาเสนอข้อคิดเห็นเพียงเล็กน้อย “ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ถ้าเป็นของกระทรวงอุตสาหกรรมจะไม่แปลกใจ แต่เมื่อเป็นร่างของทส.ก็ต้องเป็นกฎหมายรักษาสิ่งแวดล้อม ถ้ายังให้บริษัทรับจ้างทำอีไอเอ การอนุมัติโครงการก็ยังเป็นปัญหาเหมือนเดิม ประเทศไทยไม่เคยมีอีไอเอฉบับใด ที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมไม่อนุมัติ อย่างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่เป็นพื้นที่คุ้มครองทางสิ่งแวดล้อม ก็ไปแก้กฎหมายเพื่อให้สร้างโรงไฟฟ้าได้ หรือถ้าเป็นอุทยานแห่งชาติก็เสนอยกเลิกอุทยานแห่ชาติ สิ่งที่เสนอในวันนี้จึงเป็นข้อเสนอเชิงระบบเพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง” นายประสิทธิชัย กล่าว
ด้าน ดร.สมนึก กล่าวว่า การรับฟังความคิดเห็นของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ เป็นเพียงกระบวนการที่จัดทำขึ้นเพื่อให้ร่างกฎหมายผ่าน ซึ่งเป็นกระบวนการที่ไม่มีธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม ทส. รู้ดีอยู่แล้วว่าควรปรับแก้กฎหมายในส่วนใดบ้างแต่กลับไม่แก้ไข ดังนั้นจำเป็นต้องใช้กระบวนการภาคประชาชนเพื่อผลักดันการแก้ไขกฎหมาย หลังจากนั้นเวลาประมาณ 10.30 น. เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนได้เข้าไปเจรจากับ นางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ รองปลัด ทส. โดยมีการยื่นข้อเสนอภาคประชาชน 3 ประเด็น ได้แก่ 1.ระบบของการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ควรมีการประเมินระดับยุทธศาสตร์ ในด้านศักยภาพและข้อจำกัดด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยให้เห็นความเหมาะสมกับพื้นที่และเป้าหมายของการพัฒนา หากว่าสอดคล้องจึงค่อยจัดทำอีไอเอหรืออีเอชไอเอ หากไม่สอดคล้องต้องไม่ดำเนินโครงการนั้น 2. มีการศึกษาขัดความสามารถในการรองรับด้านพื้นที่ ระบบนิเวศ ทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนแก้ไขผลกระทบ หรือการเยียวยา และปรากฏว่าในมาตรา 53 วรรค 4 ของ ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ นั้นเป็นการนำคำสั่ง คสช. ที่ 9/2559 มาบัญญัติไว้ ที่กรณีมีความจำเป็นเร่งด้วย สามารถดำเนินโครงการไปก่อนได้ในระหว่างรอผลพิจารณาอีไอเอนั้น เข้าข่ายละเมิดรัฐธรรมนูญไทย มาตรา 58 จึงเห็นว่าควรตัดมาตราดังกล่าวออกจากร่างกฎหมายฉบับนี้ 3. องค์การบริหารจัดการระบบประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมควรแยกเป็นหน่วยงานอิสระ หรือหน่วยงานกลาง ขณะที่ รองปลัด ทส. กล่าวว่า กระบวนการรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมของกฎหมายฉบับนี้ ได้เปิดให้มีการแสดงความเห็นผ่านทางเว็บไซต์ตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม - 24 กรกฎาคมนี้ ซึ่งข้อเสนอในวันนี้จะรับประมวลเป็นข้อเสนอเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ซึ่งตอนนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะมีการปรับแก้กฎหมายส่วนใดบ้าง แต่อย่างไรก็ตาม ผลสรุปของความเห็นทั้งหมดและร่างกฎหมายที่ปรับแก้จะถูกนำเสนอต่อประชาชนผ่านทางเว็บไซต์ต่อไป แต่หากยังมีข้อปัญหาเพิ่มเติมก็อาจจะมีการจัดประชุมเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมได้อยู่ นายประสิทธิชัย กล่าวภายหลังการเจรจากับตัวแทน ทส. ว่า
นอกจากการแก้ไขร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ เรายังได้เสนอให้มีการชี้แจงขั้นตอน และแก้ไขในร่างกฎกระทรวงที่จะเป็นกฎหมายลูกในการจัดทำอีไอเอ หรืออีเอชไอเอ หลังจากนี้เครือข่ายฯ จะติดตามกระบวนการของร่างกฎหมายฉบับนี้ หากไม่มีการแก้ไขร่างกฎหมาย หรือถ้าหน้าตากฎหมายฉบับนี้ หรือกฎหมายลูกยังเหมือนเดิม ก็คงต้องเป็นวาระของภาคประชาชนต้องออกมากดดันรัฐบาลอีกครั้ง