ประธาน กรธ.เผยเตรียมส่งร่าง กม.ลูกพิจารณาคดีผู้ดำรงตำแหน่งการเมือง ให้ สนช.เป็นฉบับที่ 3 ในวันที่ 29 พ.ค.นี้ ยันการสรรหา กกต.ต้องเป็นไปตาม รธน.ใหม่ พร้อมระบุใช้ ม.44 แก้ปัญหาอีอีซี ไม่ขัด
รธน. เพราะเป็นการลดขั้นตอนปฏิบัติงาน
วันนี้ (24 พ.ค.) เวลา 13.45 น.ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ที่จะส่งให้กับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นฉบับที่ 3 ว่า กรธ.จะส่งร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ... ให้ในวันที่ 29 พ.ค.นี้ เพื่อที่จะ สนช.จะได้บรรจุวาระการประชุมในวันที่ 2 มิ.ย. 60 ส่วนร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. ...จะส่งให้ในสัปดาห์ถัดไป ในส่วนของ กรธ.ไม่ได้มีปัญหาติดขัดหรือมีอะไรที่ต้องแก้ไขแล้ว อย่างไรก็ตามในขณะนี้กรธ.กำลังพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน พ.ศ. ...
นายมีชัยยังได้ยืนยันเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในการกำหนดคุณสมบัติเพิ่มเติมของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า การสรรหากรรมการเพิ่มเติมอีก 2 คน ต้องมีคุณสมบัติสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญปี 2560 หากยังคงให้คณะกรรมการเดิมที่มีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญเก่าปฏิบัติหน้าที่ต่อก็จะเป็นช่องโหว่ในการทำงานเพราะมีคุณสมบัติที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งความคิดเห็นต่างก็ต้องยอมรับฟังกัน เมื่อถามว่า หาก สนช.ต้องการให้ กกต.อยู่ต่อตรงนี้ กรธ.จะทำหนังสือชี้แจงไปยังประธาน สนช.หรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า ตอนนี้ต้องรอดูก่อนว่าทางสนช.จะเขียนออกมาอย่างไร ในการพิจารณาวาระ 3 เมื่อถึงตรงนั้นทางกรธ.ก็จะได้มาดูกัน
นายมีชัยกล่าวถึงกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เห็นชอบให้มีการใช้อำนาจตามมาตรา 44 เข้ามาเร่งผลักดันโครงการเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ด้วยการออกเป็นกฎหมายพิเศษ เพื่อร่นระยะเวลาของกระบวนการศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนที่มีต่อโครงการของรัฐ (อีเอชไอเอ) ว่า ตนคิดว่านายกรัฐมนตรีคงจะดูแล้วว่าการออกมาตรา 44ไม่ขัดต่อบทหลักของรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีไม่ได้ร่นระยะเวลาการทำอีเอชไอเอ แต่ออกคำสั่งเพื่อให้การทำอีเอชไอเอให้เร็วขึ้น หากไม่มีคนเพียงพอก็ให้ไปจ้างคนมาช่วยทำ ถ้าหากเวลาไม่พอ ก็ต้องใช้เวลาในช่วงวันเสาร์-วันอาทิตย์เพื่อทำอีเอชไอเอด้วย เพราะการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และกระบวนการศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนที่มีต่อโครงการของรัฐ (อีเอชไอเอ) นั้นปกติคนจะไม่ค่อยพออยู่แล้ว
นายมีชัยกล่าวต่อว่า การทำอีเอชไอเอให้เร็วขึ้นคงไม่ไปขัดต่อบทหลักของรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในมาตราที่ว่าด้วยสิทธิชุมชน เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเจตนารมณ์ที่ต้องการจะให้การทำงานนั้นมีความรวดเร็ว ปราศจากอุปสรรคอยู่แล้ว อะไรที่เคยทำช้า ใช้เวลาถึง 30 วัน ถ้าหากใช้เวลาแค่ 3 วันแล้วทำเสร็จก็จะเป็นเรื่องดี ส่วนในเรื่องของความละเอียดรอบคอบนั้น ทางรัฐบาลก็คงจะต้องคำนึงถึงเรื่องนี้เช่นกัน ในเรื่องการรับฟังความเห็นนั้นก็คงจะมีการรับฟังความเห็นประชาชนโดยใช้เวลาเท่าเดิม อาทิ ระเบียบเดิมบอกว่าให้ใช้เวลา 15 วันรับฟังความเห็นของประชาชนก็ยังคงใช้เวลา 15 วันเหมือนเดิม แต่ส่วนที่จะเร่งให้เร็วขึ้นก็คือขั้นตอนของทางราชการ
เมื่อถามว่า ทำไมนายกรัฐมนตรีถึงใช้อำนาจตามมาตรา 44 แต่ไม่ใช้กลไกตามรัฐธรรมนูญ นายมีชัยกล่าวว่า ตรงนี้ไม่ใช่กลไกตามรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการทำให้กลไกของข้าราชการเพื่อให้มีความรวดเร็วขึ้น ทั้งนี้ ในอนาคตกฎหมายทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการบริการประชาชนก็คงจะมีการแก้ไขเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการเร็วขึ้นเช่นกันเพื่อให้ตรงต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ