xs
xsm
sm
md
lg

ชาวเน็ตถล่ม “บีบีซีไทย” ตีข่าวมั่วอ้างหนังสือ 1984 ถูกห้ามวางขายในไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


MGR Online - บีบีซีไทยปล่อยไก่ หลังระบุว่า หนังสือ 1984 ของ จอร์จ ออร์เวลล์ ถูกห้ามวางจำหน่ายในประเทศไทย ในวาระครบรอบ 68 ปี ของการตีพิมพ์นวนิยาย ก่อนโดนทักท้วงจนต้องลบ ชาวเน็ตชี้ภาคภาษาไทย มาตรฐานต่ำกว่าภาคภาษาอังกฤษมาก

จากกรณีที่วานนี้ (8 มิ.ย.) เว็บไซต์ และเฟซบุ๊ก บีบีซีไทย - BBC Thai ของสำนักข่าวบีบีซี ได้เผยแพร่ข่าวเรื่อง “อังกฤษเปิดเวทีสาธารณะให้อ่าน 1984” โดยระบุว่า วันที่ 8 มิ.ย. เป็นวันครบรอบ 68 ปี การตีพิมพ์นวนิยาย 1984 ผลงานของ จอร์จ ออร์เวลล์ หนังสือที่กลายเป็นสิ่งที่ต้องห้ามในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย

ขณะที่ในความเป็นจริงแล้วหนังสือ หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ = 1984 มีวางขายทั่วไปตามร้านหนังสือ ฉบับภาษาไทย จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สมมติ ราคาเล่มละ 300 บาท ทำให้มีผู้เข้าไปแสดงความเห็นระบุว่า สำนักข่าวบีบีซี ภาคภาษาไทย พยายามเผยแพร่ข้อมูลเท็จ เพื่อให้เกิดภาพว่ามีการควบคุมสื่อของภาครัฐ แม้แต่หนังสือเล่มหนึ่งก็ถูกห้ามวางจำหน่าย ก่อนที่ในเวลาต่อมา บีบีซีไทยจะออกมาแก้ไขและขออภัยในความผิดพลาด

อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้เข้าไปให้ความเห็นว่า มาตรฐานของ “บีบีซีไทย” นั้น ต่ำกว่า “บีบีซี” ที่ลอนดอนมาก ขณะที่ อีกบางส่วนก็ให้ความเห็นว่า บีบีซีไทยในปัจจุบันนั้นกลายเป็นเหมือนเครื่องมือในการสร้างเรื่องโฆษณาชวนเชื่อมากกว่าแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือไปแล้ว

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2557 ในวาระครบรอบ 1 เดือน ของการทำรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เคยเกิดเหตุชายหนุ่มร่างใหญ่ แต่งกายคล้ายชุดนักศึกษา สวมเสื้อสีขาว กางเกงสีกรมท่า เนคไทแดง สวมแว่นตาดำ มานั่งกินแซนด์วิช อ่านหนังสือ 1984 และเปิดเพลงชาติฝรั่งเศส บริเวณลานน้ำพุ ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน ก่อนที่จะถูกเจ้าหน้าที่ทหาร และตำรวจ นอกเครื่องแบบควบคุมตัว และลากตัวออกจากพื้นที่ไป และถูกปล่อยตัวที่สนามกีฬากองทัพบก วิภาวดี ในกลางดึกคืนเดียวกัน เวลา 01.00 น.

สำหรับหนังสือ 1984 เป็นนวนิยายที่เขียนโดย จอร์จ ออร์เวลล์ นักเขียนชาวอังกฤษผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1949 อธิบายถึงการครอบงำทางความคิด การโฆษณาชวนเชื่อ การหลอกลวงอย่างเป็นทางการ การสอดส่องดูแลอย่างลับๆ และการชักใยอดีตทางการเมืองโดยรัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จ หรืออำนาจนิยม ทั้งนี้ ในปี ค.ศ. 2005 นิตยสารไทม์ ได้เลือกให้นวนิยายเรื่องนี้เป็นหนึ่งในร้อยนวนิยายภาษาอังกฤษที่ดีที่สุดตั้งแต่ ค.ศ. 1923 - 2005


กำลังโหลดความคิดเห็น