xs
xsm
sm
md
lg

“เมาแล้วขับ” ต่ำกว่า 20 เบียร์สักกระป๋องแตะไม่ได้ - คำสั่งใหม่ชนแล้วประกันไม่คุ้มครอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่! กฎหมายใหม่เกี่ยวกับเมาเหล้าแล้วขับรถ ต่ำกว่า 20 แอลกอฮอล์เกิน 20 มก. ถือว่าเมาสุรา ดื่มเบียร์กระป๋องเดียวก็เกินแล้ว เตือนใจคนชน! แอลกอฮอล์เกิน 50 มก. ประกันภัยไม่คุ้มครอง

วันนี้ (1 มิ.ย.) เป็นวันเริ่มต้นของ กฎกระทรวงฉบับที่ 21 (พ.ศ. 2560) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ในตอนหนึ่งกำหนดให้ กรณีตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์จากเลือด เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ให้ถือว่าเมาสุรา

เว้นแต่ผู้ขับขี่ “ในกรณีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์, ผู้ขับขี่ซึ่งได้รับใบอนุญาตขับรถชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์, ผู้ขับขี่ซึ่งมีใบอนุญาตขับขี่สำหรับรถประเภทอื่นที่ใช้แทนกันไม่ได้ และผู้ขับขี่ซึ่งไม่มีใบอนุญาตขับขี่ หรืออยู่ระหว่างถูกพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่

หากมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ให้ถือว่าเมาสุรา”


เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่การขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น เป็นสาเหตุหลักประการหนึ่งที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน เนื่องจากปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดมีผลทําให้ประสิทธิภาพในการควบคุมยานพาหนะลดลงอย่างมีนัยสําคัญ

ซึ่งผู้ขับขี่ที่มีอายุน้อย หรือมีประสบการณ์ในการขับขี่ไม่เพียงพอ แม้จะมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเพียงเล็กน้อยก็มีผลทําให้ความสามารถในการควบคุมยานพาหนะลดลงได้ สมควรกําหนดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดให้เหมาะสําหรับผู้ขับขี่ดังกล่าว เพื่อเป็นการป้องกันอุบัติเหตุทางถนนจากผู้ขับขี่ยานพาหนะที่เมาสุรา หรือของเมาอย่างอื่น จึงจําเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

จากกฎหมายที่ออกมา ทำให้ส่งผลกระทบไปถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น ความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุรา หรือของเมาอื่นๆ โทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับขั้นต่ำ 10,000 - 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

หรือจะเป็นกรณีที่ คำสั่งนายทะเบียนที่ 11/2560 เรื่อง ให้แก้ไขแบบ ข้อความกรมธรรม์ประกันภัย และเอกสารแนบท้ายของกรมธรรม์ประกันภัย ให้ยกเลิกความในข้อยกเว้น “การขับขี่โดยบุคคลซึ่งในขณะขับขี่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเส้นเลือดไม่น้อยกว่า 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์”

ให้ใช้ข้อความ “การขับขี่โดยบุคคลซึ่งในขณะขับขี่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นไปตามกฎกระทรวงฉบับที่ 16 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 กำหนดให้ถือว่าเมาสุรา”

ซึ่งมีผลใช้บังคับสำหรับการทำสัญญาประกันภัยกับบริษัทประกันภัยตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. กล่าวว่า กฎหมายเดิม กำหนดให้ต้องมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ถึงจะไม่ได้รับความคุ้มครอง

แต่คำสั่งใหม่ กำหนดให้คนที่ขับขี่รถยนต์ มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ หากทำประกันและเกิดอุบัติเหตุ จะไม่ได้รับความคุ้มครอง ทั้งชีวิตและทรัพย์สินจากการทำประกันภัยภาคสมัครใจ

ถึงกระนั้น ผู้ประสบภัยหรือบุคคลภายนอกที่ได้รับความเสียหายจากผู้ที่เมาแล้วขับ ยังคงได้รับความคุ้มครองโดยบริษัทที่รับทำประกันภัยของรถคันที่เป็นฝ่ายผิด จะยังชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้ที่ได้รับความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน หลังจากนั้นบริษัทประกันภัยจะไปไล่เบี้ยเรียกคืนค่าสินไหมทดแทน กับผู้ขับขี่ที่เมาแล้วขับ ส่วนประกันภัยภาคบังคับยังคงให้ความคุ้มครองในกรณีบาดเจ็บและเสียชีวิตเช่นเดิม

คำถามที่ตามมา ก็คือ ถ้าเป็นเช่นนั้น ผู้ที่จำเป็นจะต้องดื่มแอลกอฮอล์ ต้องดื่มในปริมาณเท่าไหร่ถึงจะไม่ถูกจับ และประกันภัยยังคงได้รับความคุ้มครอง

จากการวิจัยของ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ศึกษาระดับแอลกอฮอล์ในเลือด ภายหลังการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เมื่อเดือนตุลาคม 2556

พบว่า ภายหลังดื่มเบียร์ 8 ดีกรี ปริมาณ 1 กระป๋อง (330 มิลลิลิตร) ไวน์ไทย หรือ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ 5 ดีกรี ปริมาณ 1 กระป๋อง (330 มิลลิลิตร) จะมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดน้อยกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์

ถ้าดื่มเบียร์ 8 ดีกรี ปริมาณ 2 ขวด (1,260 มิลลิลิตร) ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดจะเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ และหลังดื่ม 2 ชั่วโมง ก็ยังมีระดับแอลกอฮอล์มากกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์

ปริมาณการดื่มเบียร์ 1 ขวด (630 มิลลิลิตร) หรือเบียร์ 2 กระป๋อง ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดอาจมากกว่าหรือน้อยกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ขึ้นอยู่กับน้ำหนักของผู้ดื่มเป็นสำคัญ

ผู้ดื่มน้ำหนักตัว 60 - 69 กิโลกรัม ค่าเฉลี่ยระดับแอลกอฮอล์ในเลือด 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ถ้าผู้ดื่มน้ำหนักน้อยกว่านี้ระดับแอลกอฮอล์จะเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ และอัตราการทำลายของแอลกอฮอล์ใน 1 ชั่วโมง ร่างกายจะกำจัดแอลกอฮอล์ได้ 15 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์

กล่าวคือ ถ้ามีระดับแอลกอฮอล์ในเลือด 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เมื่อเวลาผ่านไป 1 ชั่วโมง ระดับแอลกอฮอล์จะเหลือ 35 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์

กรณีที่ดื่มสุราชนิดอื่น ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดก็ขึ้นกับน้ำหนักหรือรูปร่างของผู้ดื่มเช่นเดียวกัน

เครื่องดื่มประเภทวิสกี้ 35 ดีกรี และ 43 ดีกรี ผู้ดื่มที่มีส่วนสูง 170 ซม. น้ำหนักมากกว่า 58 กก. สามารถดื่มวิสกี้ปริมาณ 100 มิลลิลิตร และ 80 มิลลิลิตร ตามลำดับ

ส่วนผู้หญิงสูงเฉลี่ย 158 ซม. น้ำหนัก 45 - 55 กิโลกรัมดื่มวิสกี้ปริมาณ 40 มิลลิลิตร และ 60 มิลลิลิตร (1 ฝาเท่ากับ 10 มิลลิลิตร)

เครื่องดื่มประเภทไวน์ 10 - 12 ดีกรี ผู้ดื่มที่มีส่วนสูง 170 ซม. น้ำหนัก 61 กก. ปริมาณที่ดื่ม 300 มิลลิลิตร สำหรับ ผู้หญิงสูงเฉลี่ย 157 ซม. น้ำหนัก 45 - 55 กิโลกรัมปริมาณที่ดื่ม 170 มิลลิลิตร

นอกจากนี้ คู่มือจากกองบังคับการตำรวจจราจร เคยระบุการดื่มมาตรฐาน (Standard Drink) ได้แก่ เบียร์ 1 กระป๋อง ไวน์ 1 แก้ว หรือ เหล้า 3 ฝา เท่ากับปริมาณ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์

แต่สำหรับคนที่อายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ หรือคนที่มีใบขับขี่ชั่วคราว เบียร์เพียงหนึ่งกระป๋องก็ยังผิดกฎหมาย ถือว่าเมาแล้วขับ แม้จะขอดื่มแค่ครึ่งกระป๋องก็ตาม

รวมทั้ง คนที่ใช้ใบขับขี่ผิดประเภท เช่น คนที่มีใบขับขี่รถจักรยานยนต์ แต่มาขับรถยนต์ หรือแม้กระทั่งคนที่ไม่มีใบขับขี่ก็ตาม นอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว หากเจอเมาแล้วขับอีกก็จะได้รับโทษหนักเพิ่มขึ้น

เพราะฉะนั้น เมาไม่ขับ หรือ หากรู้ว่าจะต้องขับรถไม่ดื่มสักแก้วเลยเสียยังดีกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น