xs
xsm
sm
md
lg

“เจี๊ยบ” พิสุทธิ์ ทรัพย์วิจิตร “อดีตร็อกเกอร์ชื่อดัง ยุค 90” ผันตัวเองช่วยงาน สปท.ร่วมเป็นหนึ่งในคณะเสียงปฏิรูป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ถ้าเอ่ยถึงนักร้องแนวร็อกเกอร์ในยุค 90 ที่มีภาพลักษณ์นักดนตรีร็อก ผมยาวผ้าคาดหัว กางเกงขาเดฟ ที่มีเพลงขาวสะอาด ฟังแล้วรื่นหู ด้วยเนื้อหาและดนตรีที่เป็นตัวของตัวเอง คงไม่มีใครลืมชื่อ “เจี๊ยบ” พิสุทธิ์ ทรัพย์วิจิตร

มาวันนี้หลังยุควงการเพลงเริ่มเปลี่ยนไป “เจี๊ยบ” พิสุทธิ์ ผันตัวมาเล่นการเมืองตั้งแต่ปี 2557 และหลังจากที่มีรัฐบาล คสช. “เจี๊ยบ” ก็เข้ามาร่วมงานกับคณะกรรมาธิการ รวมไปถึงคณะกรรมการหลาย ๆ คณะ โดยหลาย ๆ คนที่ไม่ได้อยู่ในวงใน คงไม่มีใครรู้มาก่อนว่า “เจี๊ยบ” คือผู้ประพันธ์บทเพลงไพเราะ ๆ หลาย ๆ บทเพลงขอทางคณะกรรมาธิการต่าง ๆ ของ สนช.และ สปท.

อย่างล่าสุด เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.ที่ผ่านมา เจี๊ยบได้ร่วมกับคณะกรรมการโครงการเสียงปฏิรูปประเทศ ในนาม สปท. ซึ่งเขาเป็นหนึ่งในคณะกรรมการชุดดังกล่าว ได้ประพันธ์เพลงไพเราะเฉลิมพระเกียรติเพื่อถวายความอาลัย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ พร้อมจัดทำเป็นมิวสิกวิดีโอจำนวน 9 บทเพลง ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ไม่ว่าจะเป็นเพลง พ่อมองเราลงมาจากฟ้า, บ้านของหัวใจ, เห็นด้วยหัวใจ, ต้นไม้แห่งความรักของพ่อฯ

อดีตนักร้องชื่อดังได้ให้สัมภาษณ์ว่า ภารกิจของคณะกรรมการเสียงปฏิรูปที่ตนเองได้เข้าไปร่วมงานด้วยก็ถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่ดี ๆ ในชีวิตที่เข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศในครั้งนี้ เพราะเชื่อว่า ถ้าครั้งหนึ่งเราสามารถใช้ความสามารถของเราช่วยประเทศชาติได้ ก็ควรจะทำ โดยการที่เราทำความดี ก็ไม่จำเป็นต้องไปสนใจคำพูด หรือคำตำหนิของคนอื่น การเข้ามาร่วมงานครั้งนี้ก็เชื่อว่า งานที่เราทำมันสามารถสร้างความเข้าใจอันดีจากรัฐบาลไปยังประชาชนได้ อย่างเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ตนก็ได้แต่งเพลงเพลงหนึ่งที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการศึกษา ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ชื่อว่าเพลง “ดีใจได้เรียนฟรี (ลุงตู่จัดให้)” ตนก็เชื่อว่า เพลงสามารถถ่ายทอดเนื้อหาสาระสำคัญไปยังประชาชนได้ในมุมที่หลากหลายและทุกชนชั้น มากกว่าการสื่อสารจากช่องทางอื่นๆ

“เจี๊ยบ” ยังแสดงความเห็นในเชิงการเมือง ในฐานะอดีตผู้ลงรับสมัครเลือกตั้งด้วยว่า การปฏิรูปประเทศในครั้งนี้ก็ต้องชื่นชมคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องหลาย ๆ ฝ่าย ที่ทำให้ประเทศของเราดีขึ้น อย่างที่เห็นได้ชัดเลยก็คือ การเวนคืนผืนป่า ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า ถ้าสถานการณ์ปกติก็คงไม่สามารถกวาดล้างพวกอิทธิพลเหล่านี้ได้ เพราะฉะนั้นการที่ประเทศถูกปกครองด้วยรัฐบาลทหาร ก็ไม่ใช่เรื่องแย่ เรื่องดี ๆ มันก็มี และมีแบบที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในรัฐบาลเลือกตั้งด้วยซ้ำไป แต่ตนก็คือ ประชาชนคนหนึ่งก็อยากฝากให้ทุกฝ่ายใช้เวลาที่เหลืออยู่เดินหน้าพัฒนาประเทศอย่างเต็มที่ เพราะคนไทยทุกคนย่อมอยากเห็นประเทศเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น

เมื่อถามกลับถึงการแต่งเพลงถวายพ่อหลวง ร.9 นั้น “เจี๊ยบ” เล่าว่า ได้มีโอกาสแต่งเพลง “ไม่อยากให้พ่อเหนื่อย” เพื่อถวายพ่อหลวง ในปี 2549 ตอนที่ท่านครองราชย์ครบ 60 พรรษา ซึ่งตอนนั้นมีโอกาสร่วมงานกับกรมประชาสัมพันธ์ ที่มีนางเตือนใจ สินธุวณิก ประธานคณะกรรมการโครงการเสียงปฏิรูปประเทศที่ตอนนั้นก็ดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์อยู่ด้วย

“ความรู้สึกระหว่างทำเพลงอธิบายไม่ถูก มันมีแต่ความภาคภูมิใจ เราคือคนไทยคนหนึ่งในแผ่นดิน ที่เชื่อว่าพ่อหลวงรักเรา และคนไทยทุกคนก็รักท่าน จนเรามีโอกาสได้เป็นตัวแทนของประชาชนถ่ายทอดความรู้สึกของทุกคนไปยังท่าน ซึ่งตอนนั้นก็เชื่อว่าท่านคงได้รับฟังบ้าง ชีวิตนี้ก็คงไม่มีอะไรที่น่าภาคภูมิใจไปกว่านี้อีกแล้ว” ร็อกเกอร์ชื่อดังกล่าว

“เจี๊ยบ” เล่าต่ออีกว่า จากนั้นก็ได้มีโอกาสแต่งเพลงมอบให้พ่อหลวงอีกครั้ง แต่มาคราวนี้ มันเป็นอีกเพลงที่กลั่นออกมาจากความรู้สึกสูญเสีย บทเพลง “พ่อมองเราลงมาจากฟ้า” เป็นเพลงที่ถูกเขียนออกมาจากใจและความรู้สึกล้วน ๆ ซึ่งคนไทยทุกคนย่อมรู้สึกไม่ต่างกัน แต่ในวันนี้เมื่อพ่อจากเราไปแล้ว พ่อไปแต่ร่างกาย แต่ลึกๆ แล้วตนเชื่อว่า พระองค์ท่านไม่ได้จากพวกเราไปไหนเลย คำสอนของพ่อยังอยู่ในความทรงจำของพวกเราทุกคน ที่รอให้เราเอาไปปฏิบัติ โครงการต่าง ๆ ของพ่อที่พ่อสร้างขึ้นมาด้วย 2 มือของพ่อ ก็ยังรอให้พวกเราเดินหน้าสานต่อแนวคิดของพ่อต่อไป และเมื่อใดที่ลูกคนไทยทุกคนรู้สึกท้อแท้ สิ้นหวัง ก็ขอให้มองขึ้นไปบนฟ้าและจะเจอพ่อที่มองเราลงมาจากฟากฟ้าเช่นกัน สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ตนในฐานะนักแต่งเพลงจะสามารถทำเพื่อถ่ายทอดไปยังคนไทยทุกคนได้ และก็คิดว่าได้ทำหน้าที่ของคนไทยที่ได้เกิดบนแผ่นดินของพ่อได้อย่างเต็มที่แล้ว

“ผมในฐานะคนในวงการเพลงมาก่อน ยังเชื่อว่า “บทเพลง” สามารถสร้างแรงกระตุ้นให้กับผู้ที่รับฟังได้ ไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์ อย่างก่อนหน้านี้ผมก็เคยแต่งเพลง “เธอ” ให้กับคณะอนุกรรมาธิการกิจการสตรี ของทางสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ก็ถือเป็นการรณรงค์ให้กับสตรีเพศ หรือจะใช้บทเพลงเพื่อการสร้างจิตสำนึก การสร้างความร่วมมือ ฯ ผมเชื่อว่าทุกคนมีบทเพลงในหัวใจ”



กำลังโหลดความคิดเห็น