ราชรถในสมัยรัตนโกสินทร์ ใช้อัญเชิญพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินหรือพระศพพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งทรงศักดิ์สูงเท่านั้น ราชรถที่ใช้ในการเชิญพระบรมศพที่ปรากฏหลักฐานทางพงศาวดารเป็นครั้งแรก มีพระมหาพิชัยราชรถ รถสมเด็จพระสังฆราช รถโปรยข้าวตอกดอกไม้ รถโยง รถท่อนจันทน์
สมัยรัชกาลที่ ๑ มีราชรถ ๒ หลัง ที่มีรูปทรงและขนาดใกล้เคียงกันมากที่สุด ต่างกันแต่ที่ลายจำหลักตกแต่งองค์ราชรถ แต่ก็ต่างกันเพียงเล็กน้อย จนคนไม่ช่ำชองในศิลปะลายไทยไม่สามารถสังเกตทราบได้ว่าต่างกันตรงไหน คือ พระมหาพิชัยราชรถ และ เวชยันตราชรถ ซึ่งเวชยันตราชรถจัดสร้างขึ้นหลังพระมหาพิชัยราชรถ ๗-๘ ปี
เวชยันตราชรถ ได้ใช้ในการทรงพระศพเจ้านายชั้นสูงซึ่งถวายพระเพลิงที่พระเมรุท้องสนามหลวง และเพราะใช้บ่อยจึงมีการซ่อมแซมอยู่เสมอ สภาพจึงค่อนข้างดีและมั่นคงกว่าพระมหาพิชัยราชรถ ซึ่งหลายปีจึงจะใช้อัญเชิญพระบรมศพสักครั้ง ในระยะหลัง แม้การใช้เชิญพระบรมศพ ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่มั่นใจในความมั่นคงแข็งแรงของพระมหาพิชัยราชรถ และถ้าจะบูรณะให้มั่นคงใช้ได้จะสิ้นเปลืองเวลามาก ก็จะใช้เวชยันตราชรถเชิญพระบรมศพแทน โดยใช้ชื่อว่า พระมหาพิชัยราชรถ ให้ถูกต้องตามโบราณราชประเพณี เช่น เมื่อครั้งสมัยรัชกาลที่ ๒ ก็ได้ใช้เวชยันตราชรถเป็นรถเชิญพระศพ โดยเรียกชื่อว่าพระมหาพิชัยราชรถ แต่ปัจจุบันกรมศิลปากรได้บูรณะซ่อมแซมพระมหาพิชัยราชรถให้งดงามและมั่นคงใช้ได้อีก
ในการนำ “ราชรถ” ออกใช้ในงานพระราชพิธี เจ้าหน้าที่จะนำพระมหาพิชัยราชรถและรถพระอภิธรรมออกซ้อมฉุดชัก ทดลองลากจูงไปตามเส้นทางแห่พระบรมศพ และก่อนที่จะนำพระมหาพิชัยราชรถออกจากโรงราชรถ ต้องมีการเซ่นไหว้หัวหมูบายศรี และต้องมีละครชาตรีรำถวายด้วย
การอัญเชิญพระบรมศพสู่พระเมรุมาศ ตามประเพณีถือว่ามีความสำคัญเป็นพิเศษ เป็นการถวายพระเกียรติแด่พระศพ จึงอัญเชิญโดยกระบวนพระราชอิสริยยศ ทำนองเดียวกับกระบวนพยุหยาตราสี่สาย ดังที่ถือปฏิบัติสืบทอดกันมาแต่โบราณ และใช้ราชรถในการอัญเชิญพระบรมศพ กระบวนพระอิสริยยศนี้ เรียกกันว่า “ริ้วกระบวน”
พระราชยานในริ้วกระบวนแต่ละริ้วจะมีคนหามคนฉุดชัก มีเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศ คือ เครื่องสูง พระกลด บังสูรย์ พัดโบก บังแทรก พุ่มไม้เงิน พุ่มไม้ทอง จามร พระอภิรุมชุมสาย แวดล้อมตามพระราชฐานันดรศักดิ์แห่งพระบรมศพ พรั่งพร้อมด้วยเครื่องประโคม เช่น แตร สังข์ ปี่ กลองชนะ พร้อมสรรพด้วย โขลน พลโยธา แห่นำ ตามแซงเสด็จ ทั้งแห่คู่ แห่เคียง เป็นจำนวนมาก
ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไม่มีการกล่าวรายละเอียดไว้ถึงการจัดริ้วกระบวนแห่พระบรมศพว่ามีลักษณะการจัด การตั้งแถวตามลำดับ รายละเอียดอย่างไร เป็นแต่กล่าวรวมๆไปว่า ตั้งกระบวนแห่ทางสถลมารค ออกประตูศรีสุนทร แล้วเชิญพระบรมโกศขึ้นประดิษฐานบนพระมหาพิชัยราชรถ ตั้งกระบวนแห่มาตามถนนถึงพระเมรุฝ่ายบูรพาทิศ การจัดริ้วกระบวนในยุคนี้มีการทำหุ่นรูปสัตว์หิมพานต์จัดเข้าในกระบวนแห่พระบรมราชอิสริยยศด้วย โดยบนหลังหุ่นรูปสัตว์นี้ จะตั้งวางบุษบก ผ้าไตร เครื่องไทยทาน และสังเค็ด สำหรับถวายพระที่พระเมรุมาศ แต่ได้ยกเลิกไปในงานพระบรมศพรัชกาลที่ ๕
ในงานถวายพระบรมศพสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้กล่าวถึงการจัดริ้วกระบวนพระบรมศพมีรายละเอียดเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม คือ
“...เชิญพระบรมศพขึ้นประดิษฐานในบุษบกพระมหาพิชัยราชรถ พระยาราชโกษา พระยาเทพากรณ์ เจ้าพนักงานภูษามาลาทั้ง ๒ ขึ้นประคองพระบรมโกศ ตั้งริ้วกระบวนเป็นพยุหยาตรา ประกอบด้วยเครื่องเฉลิมพระเกียรติยศ เครื่องสูง อภิรุมชุมสาย สังข์ แตร กลองชนะ มโหระทึก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรสขึ้นรถทรงอ่านพระอภิธรรม ข้าราชการกรมพระตำรวจและกรมมหาดเล็ก นายทหารบกและนายทหารเรือ เดินเป็นคู่แห่ ๔ สาย มีกองทหารบกนำขบวน เวลาบ่ายสามโมง เคลื่อนพระมหาพิชัยราชรถแต่หน้าวัดพระเชตุพนฯไปตามสนามไชยและถนนราชดำเนินใน สู่พระเมรุมาศ ณ ท้องสนามหลวง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ (ชั้นต่างกรม พระองค์เจ้า จนถึงหม่อมเจ้าชั้นได้รับพระราชทานพานทอง และเทียบตำแหน่งนายพล ทั้งฝ่ายทหาร พลเรือน) ตามพระบรมศพในขบวน ตอนที่ ๑ และเพิ่มขบวนอัครราชทูต ผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศ เสนาบดีเจ้าพระยา เจ้าประเทศราช ข้าราชการผู้ใหญ่ชั้นได้รับพระราชทานพานทองและเทียบตำแหน่งนายพลทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน ดำเนินตามพระบรมศพเป็นขบวนตอนที่ ๒ พวกเลขานุการทูตและกงสุลต่างประเทศ ดำเนินตามพระบรมศพในขบวนข้าราชการกระทรวงต่างประเทศเป็นตอนที่ ๓ และต่อไปมีขบวนหม่อมเจ้าที่ได้รับราชการในกระทรวงใด ดำเนินตามพระบรมศพในหมู่กระทรวงวัง พร้อมทั้งข้าราชการในกระทรวงต่างๆ เดินตามพระบรมศพในขบวนเป็นลำดับดังนี้ ตอนที่ ๔ กระทรวงวังและข้าราชการในพระราชสำนัก ตอนที่ ๕ กระทรวงกลาโหม ตอนที่ ๖ กระทรวงทหารเรือ ตอนที่ ๗ กระทรวงมหาดไทย ตอนที่ ๘ กระทรวงนครบาล ตอนที่ ๙ กระทรวงพระคลัง ตอนที่ ๑๐ กระทรวงเกษตราธิการ ตอนที่ ๑๑ กระทรวงยุติธรรม ตอนที่ ๑๒ กระทรวงธรรมการ ตอนที่ ๑๓ กระทรวงโยธาธิการ มีขบวนกรมทหารราบที่ ๑ (มหาดเล็กรักษาพระองค์ ในพระบาทามเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) เดินตามเสด็จแซงเป็น ๔ สาย กับกองทหารเรือเดินแซงและตามเสด็จเป็นหมู่กองสุดขบวน”
และในหนังสืองานพระเมรุมาศสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ได้กล่าวถึงการจัดริ้วกระบวนแห่อัญเชิญพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ในหลวงรัชกาลที่ ๘ จากพระบรมมหาราชวังไปยังพระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง เพื่อถวายพระเพลิง ละเอียดกว่าในรัชกาลอื่นๆ ดังนี้
“ทางด้านหน้าวัดพระเชตุพนฯ นั้น ได้เริ่มจัดตั้งกระบวนตั้งแต่เวลา ๗.๐๐ นาฬิกา คือกระบวนหน้าทหารบก ถัดมาเป็นกระบวนพระบรมราชอิสริยยศ จัดเป็น ๔ สาย มีธง ๓ ชายนำริ้ว มโหระทึก นายทหารบก เรือ อากาศ มหาดเล็ก และตำรวจหลวงเป็นคู่แห่ราชรถน้อยที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช ทรงอ่านพระอภิธรรมนำพระศพอยู่หน้าพระมหาพิชัยราชรถ มีทหารอากาศแต่งกายด้วยเครื่องแบบราชสำนัก สวมหมวกหูกระต่าย จำนวน ๕๐ คน เป็นผู้ฉุดชัก ถัดมาเป็นพระอภิรุมชุมสายเครื่องสูง สังข์ แตร กลองชนะ ข้าราชการชั้นพิเศษเป็นคู่เคียงอยู่ข้างพระมหาพิชัยราชรถ เครื่องบรมราชอิสริยราชูปโภค และพราหมณ์นาลิวันตามอยู่เบื้องหลังพระมหาพิชัยราชรถ ถัดไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินตามพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ นายกรัฐมนตรี ประธานวุฒิสภา ประธานสภาผู้แทน ทูต ผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศ รัฐมนตรี สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทน ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายทหาร พลเรือน แซงด้วยทหารมหาดเล็ก กระบวนเป็นทหารเรือกับทหารอากาศ ส่วนผู้ฉุดชักพระมหาพิชัยราชรถนั้นใช้ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ แต่งเครื่องแบบทหาร รวม ๒๑๖ คน โดยแบ่งให้เป็นผู้ฉุดเชือกด้านหน้าพระมหาพิชัยราชรถ ๑๖๐ คน เป็นผู้ชักเชือกด้านหลังพระมหาพิชัยราชรถ เพื่อมิให้ราชรถแล่นเร็วไป ๔๖ คน เป็นผู้ถือคันบังคับหางเสือซึ่งอยู่หน้าราชรถ ๒ คน และเป็นผู้ช่วยผลักหมุนวงล้อรถ ๘ คน ครั้นจัดตั้งกระบวนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็พักแถวคอยเวลาแห่พระบรมศพต่อไป พอกระบวนแห่พระบรมศพจากในพระบรมมหาราชวังยาตรามาใกล้จะถึงหน้าวัดพระเชตุพนฯ กระบวนแห่ด้านนี้เข้าประจำที่ตามตำแหน่ง ถวายเคารพพระบรมศพ แล้วเตรียมตัวยาตรากระบวน เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทอดผ้าไตร สดับปกรณ์ เจ้าหน้าที่อัญเชิญพระโกศขึ้นสู่บุษบกพระมหาพิชัยราชรถเสร็จ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับในกระบวนเพื่อทรงพระราชดำเนินตามแล้ว กระบวนก็เริ่มยาตราจากหน้าวัดพระเชตุพนฯ เมื่อเวลา ๘.๔๐ นาฬิกา ตรงไปตามถนนสนามไชย ถนนราชดำเนิน เลี้ยวที่ถนนพระจันทร์ ผ่านกลางสนามหลวง หยุดเทียบเกรินกลางสนามหลวงตรงพระเมรุมาศเมื่อเวลา ๙.๓๐ นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นประทับบนพลับพลาท้องสนามหลวง”
นี่ก็ถือเป็นแบบอย่างพระราชพิธีที่สืบต่อกันมาตั้งแต่โบราณกาลจนถึงปัจจุบัน