xs
xsm
sm
md
lg

รายงาน : จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อ “ทิสโก้” ซื้อธุรกิจลูกค้ารายย่อย “สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด (ไทย)”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กิตตินันท์ นาคทอง ... รายงาน

นับเป็นความเปลี่ยนแปลงในแวดวงการเงินการธนาคารส่งท้ายปี เมื่อกลุ่มบริษัท ทิสโก้ไฟแนนซ์กรุ๊ป หรือ ธนาคารทิสโก้ ซื้อธุรกิจลูกค้ารายย่อยจากธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด (ไทย) มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 5,500 ล้านบาท

ประกอบด้วย บัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล สินเชื่อธุรกิจรายย่อย บริการธนบดีธนกิจ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ธุรกิจแบงก์แอสชัวรันส์ (ประกันชีวิต) และเงินฝากรายย่อย

โดยยอดสินเชื่อประมาณ 41,600 ล้านบาท และเงินฝากประมาณ 36,100 ล้านบาท ซึ่งขั้นตอนการถ่ายโอนธุรกิจนี้ คาดว่า จะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2560 ขึ้นอยู่กับการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแล

การซื้อธุรกิจลูกค้ารายย่อยจาก สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด (ไทย) ของกลุ่มธนาคารทิสโก้ คาดว่า จะกระทบกับลูกค้ารายย่อย ได้แก่ ลูกค้าสินเชื่อ 3 แสนราย และลูกค้าธนบดี ที่ลงทุนกับธนาคาร ตั้งแต่ 3 ล้านบาทขึ้นไป อีก 1 แสนราย

ส่วนลูกค้าบัตรเครดิต ที่มีอยู่ 1 แสนราย ในระหว่างเปลี่ยนผ่าน สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด (ไทย) จะดูแลลูกค้าเป็นเวลา 1 ปี ระหว่างที่กลุ่มธนาคารทิสโก้ได้ก่อตั้งธุรกิจบัตรเครดิต ภายใต้ชื่อ “ทิสโก้การ์ด” ในปี 2560

ก่อนที่ลูกค้าทั้งหมดจะถูกโอนไปเป็นลูกค้าบัตรเครดิต “ทิสโก้การ์ด” ภายใต้การบริหารงานของบริษัทลูกที่ชื่อ “ออล-เวย์ส” ซึ่งตั้งขึ้นมาใหม่ในที่สุด

สำหรับพนักงานสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด (ไทย) ประมาณ 100 คน กลุ่มธนาคารทิสโก้ได้รับเข้ามาทำงานในที่ใหม่ และรับโอนสาขาเฉพาะหัวเมืองใหญ่จำนวน 6 สาขาเท่านั้น

คำถามก็คือ ธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด (ไทย) จะยังมีอยู่หรือไม่?

นายพลากร หวั่งหลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด (ไทย) ยืนยันว่า แม้จะโอนธุรกิจธนาคารบุคคลธนกิจให้แก่ทิสโก้ แต่จะลงทุนอย่างต่อเนื่องในธุรกิจสถาบันธนกิจ และพาณิชย์ธนกิจ

โดยจะเน้นสนับสนุนบริษัทที่ต้องการขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศ และบริษัทจากต่างประเทศที่ต้องการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยแทน

เขายอมรับว่า แม้ลูกค้ารายย่อยจะดำเนินงานเป็นไปด้วยดี แต่เพราะเป็นธนาคารขนาดเล็ก จึงยากที่จะแข่งขันกับธนาคารรายใหญ่ภายในประเทศ

แม้จะไม่ได้เป็นการปิดฉากธนาคารสัญชาติอังกฤษ ที่เข้าซื้อหุ้นในธนาคารนครธน ของตระกูลหวั่งหลี เมื่อปี 2542 แต่ก็ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของธนาคารต่างชาติ ที่ตัดสินใจยกเลิกธุรกิจลูกค้ารายย่อยโดยสิ้นเชิง

สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจทั่วโลกของกลุ่มธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 ที่จะทบทวนแนวทางการดำเนินธุรกิจและปรับโครงสร้าง

รวมถึงการถ่ายโอนธุรกิจที่ไม่เอื้ออำนวย

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2555 ก็เคยเกิดเหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้ เมื่อธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ได้ซื้อธุรกิจลูกค้ารายย่อยจาก ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น หรือ HSBC มูลค่าเงินลงทุน 3,557 ล้านบาท

โดยธุรกิจบัตรเครดิตที่มีอยู่ 5 แสนราย ได้โอนไปให้บริษัทลูก คือ บัตรกรุงศรีอยุธยา เป็นผู้ดูแล ส่วนสินเชื่อบุคคล สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และธุรกิจเงินฝาก ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จะรับดูแลเอง

สำหรับ HSBC ปัจจุบันยังคงให้บริการลูกค้าองค์กร และลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่เท่านั้น โดยมีสาขาที่ถนนพระราม 4 ตรงข้ามสวนลุมพินีเพียงแห่งเดียว จากเดิมที่เคยเปิดสาขาทองหล่อเพิ่มอีกแห่ง

กลับมาที่ ธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด (ไทย) ก่อนหน้านี้ ได้ลดจำนวนสาขาลงเหลือเพียง 20 สาขา ให้เหตุผลว่าเป็นเรื่องทางการตลาด ที่ต้องการเปิดสาขาใหม่ในพื้นที่ซึ่งมีฐานลูกค้าอยู่ และทบทวนแผนธุรกิจ

กระทั่งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2559 ได้ควบรวมสาขาเจริญนคร ไปรวมกับสาขาบางแค และสาขาเดอะมอลล์ 3 รามคำแหง ไปรวมกับสาขาทองหล่อ ทำให้เหลือเพียง 18 สาขา

และในปี 2560 จะนำสาขาห้างโลตัส สุขุมวิท 50 และสาขาเซ็นทรัลบางนา ไปรวมกับสาขาทองหล่อ ทำให้หลังวันที่ 30 มกราคม 2560 จะเหลือเพียง 16 สาขาเท่านั้น

โดยนับจากนี้ เมื่อธนาคารทิสโก้รับโอนลูกค้าจากธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด (ไทย) ก็จะรับโอนสาขาเฉพาะสาขาหัวเมืองใหญ่ 6 สาขาเท่านั้น นอกนั้นก็จะปิดตัวลง เช่น สาขาในห้างสรรพสินค้า

สิ่งที่ลูกค้าธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด (ไทย) จะต้องเตรียมตัว ก็คือ ลูกค้าเงินฝากและสินเชื่อ อาจจะมีจดหมายจากธนาคารส่งมาถึงการโอนลูกค้าไปยังธนาคารทิสโก้ ซึ่งจะเกิดขึ้นในระยะเวลา 1 ปีนับจากนี้

ส่วนลูกค้าบัตรเครดิต เมื่อเปลี่ยนบัตรเป็นทิสโก้การ์ด ระยะแรกอาจจะไม่ได้รับความสะดวก หากเคยใช้บริการหักบัญชีอัตโนมัติสำหรับค่าสาธารณูปโภค และค่าบริการอื่นๆ รวมไปถึงคะแนนสะสมที่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ตาม เมื่อ สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด (ไทย) เป็นธนาคารขนาดเล็ก มีลูกค้ารวมกันหลักแสนราย การเปลี่ยนผ่านจึงไม่น่าจะวุ่นวายมาก เมื่อเทียบกับธนาคารขนาดใหญ่และขนาดกลางที่มีลูกค้าหลักล้านราย และมีธุรกรรมสม่ำเสมอ

ขึ้นอยู่กับความเป็นมืออาชีพของกลุ่มธนาคารทิสโก้ ที่จะรับมือกับลูกค้าสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด (ไทย) ที่มีอยู่เดิมได้มากน้อยขนาดไหน ก่อนที่จะกลายเป็นปัญหาดราม่าให้ได้แก้ไขกันเป็นระยะเฉกเช่นธนาคารอื่น
กำลังโหลดความคิดเห็น