ประชาชนยังคงทยอยเดินทางต่อแถวเพื่อเข้ากราบถวายสักการะพระบรมศพ เบื้องหน้าพระบรมโกศ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อย่างหนาแน่นเป็นระเบียบ ด้านกลุ่มจิตอาสายังคงแจกอาหาร-น้ำ ต่อเนื่อง ลูกชาย “ถวัลย์ ดัชนี” แจกพระบรมฉายาลักษณ์ 2 หมื่นใบ เผยฐานะพสกนิกรจะเดินหน้าทำหน้าที่ของตัวเองให้ดี
วันนี้ (30 ต.ค.) นับเป็นวันที่ 2 ที่ได้พระราชานุญาตให้ประชาชนเข้าถวายสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร เบื้องหน้าพระบรมโกศ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
โดยบรรยากาศบริเวณท้องสนามหลวง หน้าพระบรมหาราชวัง มีประชาชนเฝ้ารอเพื่อเข้าถวายสักการะพระบรมศพ เบื้องหน้าพระบรมโกศ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อย่างหนาแน่น โดยเดินทางมาจากต่างจังหวัดมากขึ้นจากเดิม ด้านการจราจรจึงมีการปิดถนน จัดระเบียบอย่างเข้มข้น พร้อมมีรถฟรีรับส่งสาธารณะและของเอกชน ขณะที่มีกลุ่มจิตอาสานำข้าว อาหาร น้ำ ขนม ยาดม ยาหม่อง และอื่นๆ มาแจกมากมาย
ด้านนายดอยธิเบศร์ ดัชนี ลูกชายคนเดียวของนายถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปี 2544 นำพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาแจกประชาชนที่มาร่วมกราบสักการะพระบรมศพ บริเวณประตูวิเศษไชยศรี กล่าวว่า วันนี้นำพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช มาแจกให้ประชาชนจำนวน 2 หมื่นใบ โดยภาพล็อตแรกนี้คัดเลือกภาพที่มีคุณภาพดีทั้งหมด 9 แบบ เป็นภาพที่เห็นกันคุ้นเคย ส่วนใหญ่ฉลองพระองค์เป็นทางการ นำมาแต่งใส่กรอบแล้วอัดด้วยกระดาษอย่างดีเพื่อแจกจ่ายให้ประชาชนได้เก็บไว้เป็นที่ระลึก เพราะคนที่มาร่วมงานหลายคนมาจากต่างจังหวัด อาจไม่รูปแบบนี้เก็บไว้
“ครั้งนี้เป็นครั้งแรกนำมาแจก 2 หมื่นใบก่อน ส่วนครั้งต่อไปอีก 2 หมื่นใบจะนำมาแจกอีกประมาณสัปดาห์หน้า โดยจะแจกที่จุดนี้หมือนเดิม แต่ภาพจะแตกต่างจากครั้งนี้จะเป็นภาพจากทีมช่างภาพส่วนพระองค์ เป็นภาพที่ไม่ค่อยเห็นกันบ่อยนัก เพื่อให้ประชาชนได้เก็บไว้เพื่อความเป็นสิริมงคลต่อไป” นายดอยธิเบศร์ กล่าว
นายดอยธิเบศร์กล่าวอีกว่า ตระกูลของตัวเองรับใช้พระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ด้วยความจงรักภักดีเสมอมา และนับจากนี้ไปในฐานะพสกนิกรจะเดินหน้าทำหน้าที่ของตัวเองให้ดี ไม่ว่าใครมีความเชี่ยวชาญด้านไหนก็ควรทำอย่างเต็มความสามารถ เช่นเดียวกับ 70 ปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ไม่เคยหยุดทรงงาน นั่นเองจึงเป็นที่มาให้ตัวเองใช้ความสามารถที่มีอยู่ทำรูปเหล่านี้ขึ้นมา เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้ทุกคนนึกถึงพระองค์ท่าน
ด้านนางแสงเอ้ย ไชยา อายุ 70 ปี ชาวจังหวัดเชียงใหม่ ลงทุนเหมารถบัส 2 คันร่วมมากับเพื่อนๆ เพื่อจะมาแสดงความอาลัย กล่าวว่า มาถึงที่นี่ตั้งแต่เวลา 04.00 น.ก็ดีใจที่ได้มาถวายสักการะพระองค์เป็นครั้งสุดท้าย จากที่แต่ก่อนได้รับเสด็จฯ บ่อย พระองค์เสด็จไปทรงงานที่จังหวัดเชียงใหม่ ทรงมีโครงการพระราชดำริมากมาย เปลี่ยนแปลง จังหวัดเชียงใหม่มากมาย ตั้งแต่ทรงเปลี่ยนพื้นที่ปลูกฝิ่นมาเป็นปลูกพืชที่ขายได้ ได้พระราชทานที่ดินทำกิน ทรงแนะนำการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทำให้ผลผลิตปลอดสารพิษ ตลอดจนโครงการหลวงต่างๆ จึงไม่แปลกที่คนเชียงใหม่รักพระองค์มาก เช่นเดียวกีบคนทั่วโลกที่ทราบถึงความดีพระองค์ ส่วนตัวก็จะขอทำความดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่คนที่ตกทุกข์ได้ยาก ตลอดจนสอนลูกหลานให้รู้จักและเจริญรอยตามพระยุคลบาทต่อไป
ด้านนางบุญเจียม สระพัง อายุ 62 ปี ชาวจังหวัดอุบลราชธานี มาถึงตั้งแต่เวลา 04.00 น. กล่าวว่า ตนมาตั้งแต่วันเชิญพระบรมศพแล้ว มาลงนามแสดงความอาลัยที่ศาลาสหทัยสมาคมบ่อยๆ และมาถวายสักการะในวันนี้ ทั้งนี้ พระพระองค์เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ไม่ว่าพื้นที่ทุรกันดารแค่ไหนก็ทรงอดทนบุกบั่นเสด็จพระราชดำเนินไป อย่างที่จังหวัดอุบลราชธานี เคยเสด็จฯ ไปทั้งสองพระองค์ อย่างที่อำเภอเขื่องในที่ตนอยู่ มีโครงการผ้าไหมในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงส่งเสริมให้ชาวบ้านประกอบอาชีพทอผ้าและรักษาภูมิปัญญาผ้าไหมบ้านสร้างถ่อดั้งเดิมไว้ ส่วนตัวยังน้อมนำคำสอนคำแนะนำมาปฏิบัติใช้ อย่างอาชีพทำนาที่ปัจจุบันยังทำอยู่ ก็ทำแบบพอเพียงแบบให้อยู่ได้ พอกิน พอขายได้ จะไม่ลงทุนมากเพื่อไม่เป็นหนี้เขา รวมถึงใช้ปุ๋ยชีวภาพ ไม่ใช้สารเคมี ทั้งนี้ ตั้งใจจะมาถวายสักการะอีก ยังไม่กลับบ้าน รวมถึงจะแนะนำลูกหลานให้รู้ว่าพระองค์ท่านทำอะไรมาบ้าง ให้ลองน้อมนำคำสอนมาปฏิบัติใช้ เช่น การประหยัด อดทน การรักคนไทยด้วยกัน
ด้านนายคำพัน กองมา วัย 87 ปี ราษฎรจากเพชรบูรณ์ แม้แข้งขาจะอ่อนแรงเพราะโรคชราต้องนั่งรถเข็น แต่ตั้งใจแน่วแน่เดินทางเพียงลำพังจากบ้านเกิดเพื่อมาสักการะพระบรมศพ กล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า จริงๆ ลูกหลานไม่ให้มาเพราะเป็นห่วง แต่ครั้นจะให้ลูกหลานมาส่งก็คงไม่สะดวกเพราะแต่ละคนมีภาระการงาน จึงมาด้วยตัวเอง อยากกราบสักการะพระบรมศพเป็นครั้งสุดท้าย โดยนั่งรถโดยสารมาลงที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 29 ต.ค.แล้วให้ญาติแถวเกียกกายมารับก่อนจะตื่นแต่เช้ามืดเดินทางมาที่สนามหลวง
“ผมเคยรับเสด็จฯ พระองค์ท่านบ่อยๆ สมัยอายุ 13-14 ปี ท่านตามเสด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๘ พี่ชายพระองค์ท่าน มาเยี่ยมราษฎร เราก็แต่งชุดลูกเสือไปเข้าแถวรอ จำได้ว่าในหลวงเดินมาที่แถวลูกเสือทักทายอย่างไม่ถือพระองค์ ทรงยื่นพระหัตถ์มาแตะไหล่ด้วย รู้สึกปลาบปลื้มมาก ท่านเหนื่อยมามาก ทำงานเพื่อประชาชนมาตลอด ทุกวันนี้ดูโทรทัศน์น้ำตาไหลทุกที คิดถึงท่าน รักท่านมาก ชีวิตนี้ก็ให้ได้” พ่อเฒ่ากล่าวน้ำตาคลอเบ้า