xs
xsm
sm
md
lg

ยอดคนบนวีลแชร์!! ราชาเหรียญทองพาราลิมปิก “ประวัติ วะโฮรัมย์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แข็งแกร่งกว่าใครๆ ... ไวกว่าใครๆ ... นี่คือถ้อยคำที่มักจะถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวเกริ่นทุกครั้ง เมื่อเอ่ยถึง “ประวัติ วะโฮรัมย์” ฮีโร่ผู้สร้างประวัติศาสตร์เหรียญทองคนแรกที่อายุน้อยที่สุด และตำนานเจ้าราชาเหรียญของประเทศไทย 14 เหรียญ อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

แม้จะมีความบกพร่องทางร่างกาย แปลกแยกแตกต่างจากสังคม แต่ก็สู้กัดฟัน
แม้หลงทางชีวิต ก็หันทิศกลับจุดเดิม
แม้ท้อแท้ แต่ก็ไม่เคยถดถอย หรือถอดใจที่จะค้นหาความสำเร็จในตัวตนและสิ่งที่รัก
เหล่านี้คือพื้นฐานความสำเร็จตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี บนลู่แห่งวีลแชร์ เรซซิ่ง...


ค้นคำตอบของ “หัวใจ”
แล้วก้าวไปให้สุดทาง...ฝัน

“ก็รู้สึกดีใจที่เราได้สถิติกีฬาค่อนข้างเยอะ 14 เหรียญ จากการเข้าแข่งขัน 5 ครั้ง เขายกย่องเรา ให้เกียรติเราเป็นราชาเหรียญทอง ทั้งๆ ที่ตอนแรก กีฬาวีลแชล์ไม่ได้อยู่ในหัวเลย เราไม่รู้จักด้วยซ้ำ เราอยากจะรักษาตัวให้หาย คือสิ่งเดียวที่คิด เพื่อจะได้ไม่ต้องเป็นภาระของพ่อแม่”

แชมป์สองล้อวีลแชร์ผู้สร้างประวัติศาสตร์ให้กับวงการกีฬาคนพิการประเทศไทยบอกกล่าวเล่าย้อนถึงลู่ทางชีวิตที่จับพลัดจับผลู จนกลายมาเป็นนักกีฬาวีลแชร์เรสซิงระดับแชมป์โลก กระทั่งถึงตอนนี้ นับระยะเวลากว่า 20 ปี

“ทีนี้ จังหวะที่เข้ามารักษาตัว พร้อมกับเรียน ม.1 ที่ โรงเรียนศรีสังวาลย์ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เป็นคนไข้ในพระราชูปถัมภ์ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า) วันแรกๆ ที่เข้ามาก็เห็นรุ่นพี่เขาซ้อมปั่นลูกกลิ้งอยู่กับที่บ้าง ปั่นอยู่บนลู่วิ่งบ้าง แต่เราก็ยังไม่ได้สนใจอะไร ก็มุ่งหน้ารักษาตัว แล้วก็เรียน ม.1 อย่างเดียว อยู่ 2-3 เดือน

“แต่การรักษาต้องใช้ระยะเวลา เขาก็มีกิจกรรมให้เราทำเยอะ เราจึงต้องหากิจกรรมเพื่อฆ่าเวลาสักอย่าง ก็เลยไปว่ายน้ำเล่นทุกวันหลังเลิกเรียน ว่ายไปว่ายมา ทางโรงเรียนมีจัดแข่งขัน เราก็ไปลงแข่ง แล้วบังเอิญอาจารย์สุพจน์ เพ็งพุ่ม (โค้ชวีลแชร์พาราลิมปิกคนปัจจุบัน) ท่านคงเห็นว่าหน่วยก้านเรารูปทรงเหมาะ แขนยาว น่าจะมาปั่นวิลแชร์มากกกว่า เขาก็บอกว่า ว่ายน้ำแล้ว ลองไปนั่งวีลแชร์ดูหน่อย ลองปั่นดูหน่อย เราก็ลองดู เพราะคิดว่ามันไม่น่าจะยากอะไร”

“แต่เอาเข้าจริง โหย...มันยากกว่าที่คิดไว้เยอะมาก”
ประวัติ วะโฮรัมย์ ลากเสียงยาว ก่อนจะบอกให้นึกถึงภาพการนั่งคุกเข่าที่กินเวลานับชั่วโมงๆ ในท่วงท่าเดียวเท่านั้น

“เพราะวีลแชร์ ท่าลงนั่งมันเหมือนกับนั่งคุกเขาอยู่กับที่ จำได้ว่า ตอนที่ที่นั่งครั้งแรก ตะคริวรับประทานทั้งตัวเลย มันไม่ได้ง่าย นั่งไม่สบาย อย่างที่เรานั่งดู แขนเราที่คิดว่าแข็งแรง แต่พอปล่อยตัว เขาปั่นหนีกันไปหมดเลย ปั่นไม่ทันเขา ยิ่งกว่านั้นคือ มือก็แตก เพราะเมื่อก่อน ถุงมือที่ใส่ เป็นถุงมือผลิตกันเอง คือเอาถุงมือสีขาวที่เขาใช้เกี่ยวข้าวตามบ้านนอกเรา แล้วก็เอามาขึ้นโครง เอาหนังใส่บ้าง บางทีก็ไปหักยางสิบล้อมาปิด เราก็ทำกันเอง ก็เป็นแผล มือด้าน บางทีเลือดเลยก็บ่อย

“มันยากกว่าว่ายน้ำ เพราะว่ายน้ำ มันไม่ต้องมากดทับอะไรตัวเอง แต่รถแข่งต้องนั่งคุกเขา ท่านั้นตลอด อาทิตย์แรกๆ วันแรกๆ ก็ท้อเลย ไม่ไหวอย่างนี้ จะไม่เอาแล้ว”

แรงหนุ่มถึงกับท้อ ความคะนองถึงกับถดถอย แต่ทว่าด้วยลักษณะนิสัยแต่เดิมที่เป็นคนทำอะไรทำจริง บวกกับแรงปณิธานที่ตั้งไว้ว่าจะไม่เป็นภาระให้ใคร ทำให้หนุ่มจากสระแก้วผู้มีสายเลือดบุรีรัมย์ “สลัดทิ้งความท้อ”

ภาพในอดีต ตอนแปลกแยกแตกต่างจากพี่ๆ น้องๆ ท้องเดียวกันและเพื่อนๆ, กิจกรรมต่างๆ อย่างเข้าค่ายลูกเสือ หรือแตะบอล เล่นวอลเลย์บอล ที่ไม่เคยสัมผัสแตะต้อง ... เวียนเข้ามาโลดแล่นอยู่ในหัว ...

“คือมันนานจนผมจำความรู้สึกที่เดินได้ไม่ได้แล้ว ตอนที่ป่วยเป็นโปลิโอที่ขาขวา ผมอายุประมาณ 3 ขวบ เวลาไปไหนมาไหน ท่านก็ต้องอุ้มผม ต้องให้ผมขี่คอ ขึ้นหลังเขา ต้องแบกเราตลอด เราก็สงสาร เราก็อยากจะเดินได้ จะได้ช่วยแบ่งเบาภาระพ่อแม่บ้าง เพราะพี่น้องทั้ง 3 คน คนโตพี่สาว พี่ชายคนรอง เขาไม่มีเป็นเหมือนเรา

“งานท่านทำไร่ทำสวนก็หนักอยู่แล้ว เราคือคนเดียวที่เป็นภาระ แม้ว่าตอนไปเรียนเราจะพอปั่นจักรยานขาเดียว กับใช้ไม้เท้าค้ำยันเองได้ แต่เวลาไปไหนมาไหนใช้ชีวิตปกติที่บ้าน ท่านก็จะอุ้มจะแบกเราเสมอ

“เราก็กลับมานั่งคิด ทำไมรุ่นพี่ๆ พวกนั้นเขายังผ่านอุปสรรคตรงนี้ได้ ความคิดน้อยใจตัวเอง ทำไมต้องเกิดมาเป็นแบบนี้ช่วงก่อนหน้าก็ค่อยๆ หายไป เพราะเราได้มีโอกาสมาที่นี่ เห็นคนพิการเยอะแยะมากมาย บางคนเป็นหนักกว่าเรา ขาขาดบ้าง แขนขาดบ้าง บางคนทั้งขาและแขนขาด เขายังมีจิตใจที่จะต่อสู้ตัวเองให้มีคุณค่า นอกจากไม่ให้ใครช่วย ยังพยายามช่วยเหลือตัวเอง

“ผมก็เลยมานั่งคิดว่า สิ่งที่เราท้อแท้หรือน้อยเนื้อต่ำใจตลอด รู้สึกเหมือนกับเราด้อยกว่าเขา ทั้งๆ ที่เรามีโอกาสหายจากการรักษา ก็เลยลองนั่งดูไปเรื่อยๆ จนมันถนัด ก็ชินไปเอง ตะคริวก็หาย จากนั้นพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ จนมีโอกาสเข้าแข่งขันกีฬาเฟสปิกเกม (การแข่งขันกีฬาคนพิการภาคพื้นตะวันออกไกล และแปซิฟิกตอนใต้) ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ”

แม้จะเด็กรุ่นสุด ด้วยวัยเพียง 15 หยกๆ 16 หย่อนๆ ทว่าในครั้งแรกก็สามารถสร้างผลงานยอดเยี่ยม คว้าเหรียญทอง รุ่น 800 เมตร และเหรียญทองแดง รุ่น 10,000 เมตร

“เขาก็บอกว่าเรามีแวว เพราะเราเด็กสุดในรุ่นเลยที่แข่ง อีกทั้งเราก็ทำเวลาได้ดี รุ่น 800 เมตร สถิติตอนนั้น 1.35 นาที เราทำได้ 1.37 นาที มันก็ฮึกเหิม ทีนี้ก็เริ่มมีแรงบันดาลใจ เพราะการที่เราได้เก็บตัวฝึกซ้อม ผ่านการฝึกฝน ต้องตื่นตั้งแต่ 6 โมง เพื่อไปบริหารยืดเหยียด แล้วก็วอร์มในการเล่นระยะไกลวิ่งรอบคอร์ส 10 กิโลเมตร ก่อนจะซ้อมทำเวลาจริงตามที่อาจารย์สั่ง ถึง 9 โมงเช้ารอบหนึ่ง อีกรอบหนึ่งซ้อมตอนบ่าย 3 โมงครึ่ง ถึง 6 โมงเย็น ทุกๆ วัน มันสำเร็จ”

“และที่สำคัญ มันน่าจะเป็นอนาคตที่ดีสำหรับเราที่ไม่ปกติร้อยเปอร์เซ็นต์ได้ด้วย”
เจ้าตัวกล่าวด้วยรอยยิ้มเต็มดวงหน้า นั่นเพราะนอกจากจะสร้างคุณค่าให้กับตัวเอง สามารถพิสูจน์ปณิธาน อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ การมีอนาคตสร้างชีวิตและการตอบแทนคุณบุพการี เฉกเช่นปุถุชนคนทั่วไป

“เพราะเงินรางวัลเหรียญทองหนึ่งแสนบาท ทองแดง 3 หมื่นบาท จำได้แม่นเลยตอนที่ได้เอาใส่กระเป๋ากางเกงไปให้พ่อแม่ครึ่งหนึ่ง แล้วก็เก็บไว้ใช้ครึ่งหนึ่ง แต่มันก็ไม่นาน ประสาเด็กวัยรุ่นก็อยากได้โน่นนี่นั่น แป๊บเดียวก็หมด แต่เราก็ภูมิใจที่เรายังมีโอกาสหาเงินให้พ่อแม่ได้ ทำให้เขาดีใจว่าเราสามารถดูแลตัวเองได้

เราไม่เป็นภาระแล้ว แถมเราทำเงินได้ด้วย จากไม่ได้คิดว่าจะทำได้ ไม่รู้จักกีฬาชนิดนี้เลย แต่พอได้ทำ พอทำได้ ความรู้สึกตอนนั้นคือลืมทุกอย่าง ความพิการอะไรต่างๆ มันหายไปเลย บทจะหาย มันหายแว้บไปเลย ซึ่งผมก็ไม่ได้คาดคิดตรงนี้ หรือหวังว่าจะเดินได้ คิดว่าแค่ผ่าตัด อาจจะเดินไม่ได้ เพราะว่าขาเราเล็ก ไม่ได้ใหญ่ แต่พอผ่าตัดยืดเส้นเอ็นแล้วก็ใส่อุปกรณ์ค้ำดามช่วย ช่วงจังหวะก้าวแรกที่หมอบอกว่าเอาไม้เท้าออก ก็ดูโยกๆ จะเดินได้เหรอ แต่พอเดินไปสองสามก้าวเราเดินได้ เรากลับมาเดินได้แล้ว ดีใจมาก อย่างน้อยๆ เราก็กลับมาใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไปเดินได้ อาจะมีใช้ไม้ค้ำยันพยุงช่วย แต่เราก็ดีกว่าคนอื่นๆ เราจะไม่สู้ต่อได้อย่างไร

“ถามว่ารู้สึกอย่างไร คิดอย่างไรในตอนนั้น... ผมคิดว่าคนเราถ้าตั้งใจที่จะเดินไปหาสิ่งเหล่านั้นที่เราอยากจะทำ เราไปถึง ถ้าเราไม่ท้อซะก่อน ไม่ถอยซะก่อน เราต้องมีจุดยืนของตัวเราเอง แม้ว่าวันนี้ เรายังมองไม่เห็นหนทาง มันอาจจะไม่สำเร็จในวันนี้ หรือในไม่เร็ว แต่เชื่อว่าคนเราถ้าเกิดมีความตั้งใจ ไม่ช้าก็เร็ว ต้องสำเร็จ ขอให้มั่นใจจริงๆ ผมเคยท้อ แต่ผมเป็นคนไม่ถอย ในเมื่อเราตั้งใจแล้วว่าจะไปให้ได้ ก็จะทำจนสุด”

หลังจากนั้น ชื่อของ ประวัติ วะโฮรัมย์ ก็ถือกำเนิดเกิดขึ้นบนหน้าวงการกีฬาคนพิการระดับประเทศ และกลายมาเป็นตำนานทีมชาติไทย สร้างประวัติศาสตร์เหรียญทองแรก ด้วยวัยไม่ถึง 20 ปี และเป็นเจ้าของสถิติพาราลิมปิกรุ่น 5,000 ที่ยังไม่มีใครล้มได้ จนถึงทุกวันนี้ ...

เมื่อต้นทุนชีวิตไม่เท่ากัน...
อยู่ที่เราจะเติมเต็ม “ตัวเรา” อย่างไร

“กว่าจะมาถึงตรงนี้ได้ คิดอย่างนั้นได้ก็ยาก สายตาที่มองเวลาเราพิการเหมือนกับตัวตลก ไปตรงไหนเขาก็มอง เดินขาง่อยข้างค้ำไม้เท้า เขาก็มอง เราก็คิดว่าจะมองทำไม ในความบกพร่องของเรา ทุกวันนี้ก็ยังมีคนมอง เราก็ไม่ได้เดินร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่มันต้องผ่านไป ต้องลืมๆ ไป เพราะทำอะไรไมได้ เราไปห้ามเขาไม่ได้”

“เราเท่านั้นที่ต้องทำตัวของเรา เติมชีวิตของเราขึ้นมา”
ประวัติ วะโฮรัมย์ บอกเล่าถึงแรงผลักดันที่ทำให้ก้าวขึ้นมาสร้างประวัติศาสตร์ “ราชาเจ้าเหรียญทอง” อย่างทุกวันนี้

“เพราะหลังจากเสร็จแมทช์การแข่งขันนั้นก็ได้ซ้อมต่อไปเลย ซ้อมๆ ๆ จนไปคัดทีมชาติติด ระหว่างนั้นมันก็กดดัน เพราะมีคนเก่งกว่าเรา มีรุ่นพี่ พี่สมชาย ดวงแก้ว พี่ศุภชัย โกยทรัพย์ แล้วพี่ๆ อีกกหลายคน และอีกอย่างก็ด้วยคนไทยด้วยกันเองต้องมาคัดกันเอง แต่ผมโชคดี ติดคนที่ 8 คนสุดท้ายพอดี ความรู้สึกติดทีมชาติครั้งแรก ก็ยิ่งใหญ่สำหรับผม แต่เราก็ไม่ได้คิดว่าจะไปได้เหรียญทอง คิดว่าได้ไปแข่งแมทช์ใหญ่ ได้ไปเข้าร่วมระดับโลกเท่านั้น แค่นี้ก็ดีใจแล้ว แต่ก็ซ้อมหนักกว่าเดิม จากอันดับแรกเลยก็ต้องมีการวอร์ม 25 รอบ เราก็เพิ่มซ้อมให้เราเสียเปรียบ คือเวลาวิ่งซ้อม วิ่งลู่นอก ลู่ 7-8 เพื่อให้กวดตัวเองให้เร็วขึ้น เนื่องจากเวลาเวลาแข่ง ถ้าเราได้ลู่ใน มันจะได้เร็วขึ้น

“พอถึงวันแข่งประเภททีม มีวิ่งผลัด 4 X 100 ประเภทเดี่ยวที่ลงก็จะมีระยะสั้น 1,500 เมตร ระยะกลาง 5,000 เมตร ระยะไกล 10,000 เมตร ซึ่งระยะกลางกับระยะไกล ก็จะมีประเด็นว่าจะต้องแข่งกับแชมป์โลกในตอนนั้นคือ ชาวฟินแลนด์ ก็เกร็งๆ กดดันเหมือนกัน แต่ไม่มาก เพราะเราก็ซ้อมมากหนัก พอได้ลงแข่ง ความกลัวมันหมดไป มีแต่ความกระหายอยากจะแข่ง ปล่อยตัวก็ออกตามที่ซ้อม ก็ฉีกเลย พยายามจะสร้างเกม ก็ฉีกกลุ่มให้มันแตก พอแตกกลุ่มก็ปั่นขึ้นลง ช้าบ้าง ไวบ้าง สลับกัน แชมป์เขาก็จะอยู่ข้างหลังเราตลอด เพราะพอเขาขึ้น เราก็สปีดขึ้นตาม วิ่งไปได้สักระยะ ดูแล้วเขาก็หนีเราไม่ขาด กินเราไม่ลง รอบสุดท้ายผมก็เลยฉีกทิ้งเขา ประมาณเกือบ 350 เมตร ปล่อยเขาเส้นเลย ในรุ่น 10,000 เมตร”

รุ่น 5,000 เมตร ก็เข้าอีหรอบเดียวกัน คือทิ้งแชมป์โลกไว้ข้างหลัง นำลิ่วเข้าชนเส้นชัยคนแรก พร้อมกับประกาศก้องเพลงชาติไทย เป็นครั้งที่ 2 ในการแข่งขันครั้งนั้น

“สรุปประเภทเดี่ยวได้ทั้งหมด 2 เหรียญทอง พลาดแค่ระยะสั้นรุ่น 1,500 เมตร ส่วนประเภททีมวิ่งผลัด 4 X 100 ได้เหรียญเงินหนึ่งเหรียญ ความรู้สึกก็ดีใจมาก ได้รับการต้อนรับดีมาก มีคนคอยรับตั้งแต่ที่สนามบินดอนเมือง ล้นเลย เพราะบ้านเราไม่เคยมีเหรียญทอง สูงสุดที่ทำได้คือเหรียญทองแดงที่เมืองแอตแลนต้า ประเทศสหรัฐอเมริกา

“เราก็อย่างกับฮีโร่ คิดว่าเราเก่ง ก็เหลิงเลย หลงระเริง หลังจากประสบความสำเร็จในครั้งนั้น เป็นบทเรียนราคาแพงเลย” เจ้าตัวเผยอย่างตรงไปตรงมา

“ก็มีไขว้เขว อย่างว่านั่นล่ะ ของอะไรที่เราไม่เคยซื้อ อย่างรถก็ซื้อ ใช้เงินหนักพอสมควร จะว่าไปก็หมดเหมือนกัน 5-7 ล้าน แทบไม่ได้แบ่งที่บ้านเลยด้วย เราไปหลงระเริง กินเที่ยว ณ ตอนนั้น กิน เที่ยว ดื่ม คืนละหมื่นๆ เกือบๆ ปี

“จนอาจารย์มาตามไปให้ซ้อม และเตือนว่า อย่ามัวหลงระเริง เราถึงได้กลับไปซ้อม”

ประวัติกล่าวพลางเว้นวรรค เช่นเดียวกับความสามารถที่ร้างห่างลู่วิ่ง จากแชมป์โลกและเจ้าของสถิติ 5,000 เมตร 3.01 นาที แรงความเร็วกลับกลายเป็นเหมือนคนละคน

“เชื่อไหม สิ่งที่เราเคยเป็น ได้เร็วๆ มันหายหมดเลย เหมือนศูนย์เลย แล้วทีนี้ ด้วยความที่เราแบกศักดิ์ศรีเบอร์หนึ่งมันก็ยิ่งกลัวที่เราจะทำได้ไม่ดีเท่าเดิม จากที่ชนะเป็นแชมป์แล้วมันต้องมั่นใจ ไม่เลย ตอนเก็บตัวก็นอนคิดอยู่ตลอดเวลาเลย บางทีสะดุ้งตื่นกลางคืน เพราะเก็บเอาไปฝัน เวลาใกล้จะแข้งอีกแล้ว จะทำได้ไหม มันใกล้แล้ว เราจะทำได้ไหม คิดตลอดเวลา

“และก็พลาดจริงๆ การแข่งขันที่กรุงเอธนส์ ประเทศกรีซ ระยะเดี่ยว พลาดหมดเลยที่ลงทั้ง 1,500 เมตร และ 10,000 เมตร ดีที่ได้ทองผลัดประเภททีมวิ่งผลัด 4 X 100 และ 4 X 400 แทน”

“นั่นล่ะถึงสำนึกได้ ต้องเจอกับตัวเอง ถึงเข้าใจในบทเรียนอย่างรุ่นพี่ๆ หลายๆ คน ถึงได้รู้ในสิ่งที่ผู้หลักผู้ใหญ่บอกกล่าว ซึ้งในคำสอนของพ่อแม่สอน ทำอะไรก็อย่าละเลย อย่าหลงระเริง เพราะเราไม่เป็นคนไม่ร้อย โอกาสมันอาจจะมีมาไม่มาก ก็จำไม่ลืม แล้วก็เอามาใช้ เงินรางวัลครั้งนี้ก็เลยฤกษ์ได้เริ่มเก็บ”

และในขณะที่กำลังประคับประคองชีวิตให้พ้นจุดตกต่ำ จะเรียกว่าโชคชะตาอย่างที่เขากล่าวบอกว่าดี หรือเป็นไปตามกฎแรงดึงดูดที่ “พลังงานที่เหมือนกันย่อมดึงดูดซึ่งกันและกัน” ประวัติในวัยก็ได้พบเจอกับ (โอ๋-มาลัย วะโฮรัมย์) ผู้ซึ่งเสมือนขาที่หาย ชีวิตที่ขาด ซึ่งประวัติยังจำวันนั้นได้เป็นอย่างดีไม่มีเลือน

“วันนั้นผมแวะไปเที่ยวหาเพื่อน แล้วเขาทำงานที่เดียวกับเพื่อน ก็เลยได้เจอกัน เราก็จีบผู้หญิงไม่เป็น อาศัยแฝงคุยเนียนๆ (ยิ้ม) ก็เลยมีโอกาสได้ทำความคุ้นเคยจักเรื่อยๆ เขาก็อัธยาศัยดี ไม่รังเกียจคนอย่างเรา ไม่รังเกียจความพิการของเรา แม้กระทั่งพ่อแม่เขา ญาติเขา เขาให้โอกาส ทั้งๆ ที่ซึ่งในระหว่างที่คุย เขาก็ไม่รู้ว่าผมเป็นใคร ทำอะไร เขาไม่รู้จักกีฬาคนพิการด้วยซ้ำ

“เขาก็มักจะเตือนเราตลอดเวลาให้ไม่หลงในทางที่ไม่สมควรไป เราก็ไม่รู้ว่าเรามีเสน่ห์อะไร ไม่รู้ว่าเขาคิดอย่างไรกับผม แต่ผมรู้สึกนี้แหละคนที่ใช่สำหรับเรา นั่นคือสิ่งที่เขาทำให้รักเขา ก็แต่งงานใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน หลังจากนั้นไม่นานก็รู้ว่ามีน้องบอม ลูกชายคนแรก”

จากที่ไม่ 100 ก็เติมเต็มจนเกิน 100 ทั้งชีวิต จิตใจ และอาชีพ หมุดหมายของใครต่อใครอาจจะเป็นความสนุกใช้ชีวิต แต่ของประวัติยึดปักอยู่หลักเดียว คือครอบครัว

“คือแต่เดิม พื้นฐานผมเป็นคนมีจุดหมาย ยิ่งเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น ยิ่งเห็นเป้า เลยไม่ลังเลที่จะทำ ทีนี้ พอมีครอบครัว ก็เลยยิ่งทำให้เราคิดว่าจะสร้างฐานครอบครัว สร้างชีวิต เพราะเราไม่ได้แบกชีวิตคนเดียว หรือแบกศักดิ์ศรีแชมป์ การแข่งคือเพื่อคนข้างหลัง พ่อแม่ ภรรยา โดยเฉพาะลูกที่รู้ว่าเขากำลังจะเกิด เนื่องจากรายได้หลักของเรามีทางเดียวคือรางวัลตำแหน่ง เบี้ยเงินเดือนนักกีฬา 7,000 บาท ตอนนั้นจะได้แค่ตอนเรียกเก็บตัวก่อนไปแข่งเพียงประมาณ 5 เดือน เท่านั้นที่เหลือเราต้องใช้เงินรางวัลจากครั้งก่อนทั้งหมด

“ฟอร์มเราครั้งก่อนก็ไม่สู้ดี เราก็อดคิดหวั่นไม่ได้ ท่องในใจว่าแป๊กไม่ได้ พลาดคือจบ เหมือนงมเข็มในมหาสมุทร แต่ความรู้สึกที่เราทำ มันกลับตรงกันข้ามกับความคิด คือมันเหมือนยิ่งทำยิ่งมีความสุข กำลังใจยิ่งมา เราก็มุ่งมั่นเต็มที่ ซ้อมหนักกว่าเก่า ทั้งรูปแบบการฝึกและชั่วโมงวันเวลา ซ้อมจนแทบไม่มีเวลาอยู่บ้าน เวลาพักก็ไม่ได้พัก ซ้อมๆ แทนที่จะต้องเหนื่อยเพราะอายุ ไม่เด็กเหมือนแต่ก่อน แต่กลับมาเห็นหน้าลูกและภรรยา หายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง”

และก็ไม่ผิดหวัง เพราะผลการแข่งขันพาราลิมปิกที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ประวัติสามารถคว้าเหรียญได้ทั้ง 5 รายการที่ลง ได้เหรียญมากที่สุดในประวัติศาสตร์ แบ่งเป็นทองรุ่น 5,000 เมตร เหรียญเงินรุ่น 1,500 ,วิ่งผลัด 4 X 100,วิ่งผลัด 4 X 400 และเหรียญทองแดงรุ่น 800 เมตร ลงทุกรายการได้ทุกรายการ ก่อนที่ในปี 2012 การแข่งขันพาราลิมปิกที่กรุงลอดดอน ประเทศอังกฤษ จะทำเหรียญเงินเพิ่มอีก 2 เหรียญ

และล่าสุด การแข่งขันพาราลิมปิกที่นครรีโอ เด จาเนโร ประเทศบราซิล จะคว้าเหรียญทองอีก 2 เหรียญเป็นการตอกย้ำความสำเร็จที่ถือเป็นประวัติศาสตร์เจ้าเหรียญทองพาราลิมปิก

“ถ้าถามว่า นอกจากความมุ่งมั่น ความเป็นคนที่ท้อไม่ถอย สิ่งที่เติมความขาดหายให้ครบ คือครอบครัวพ่อแม่ วีลแชร์ที่ให้ชีวิตให้โอกาสเป็นคนที่เต็มคน ก็มีภรรยาและลูก คือคนธรรมดาอาจมองไม่ออกว่าสำคัญขนาดนั้นเหรอ คนเราควรเติมเต็มตัวเอง แต่เวลาคนเราทำเพื่อคนที่รัก มันทำได้ไม่มีจุดสิ้นสุด คนที่ยังไม่มีครอบครัวอาจจะยังไม่คิด แต่พอมีแล้ว มันเปลี่ยนความคิด ความคิดมันเปลี่ยน ยิ่งพอมีลูกด้วยแล้ว ครอบครัวคือทุกสิ่งทุกอย่าง

“เราต่างมีคุณค่า เราคนเหมือนกัน แต่ที่ทำให้ไม่เหมือนคือกุญแจของชีวิตที่คุณจะต้องค้นให้เจอ ครอบครัว ภรรยา ลูก นี่คือกุญแจของผม เป็นสิ่งที่ทำให้เติมเต็มชีวิตและมีวันนี้ได้”
ไม่มีใครด้อยกว่ากว่าใคร
“ราชา” หรือ “คนธรรมดา” อยู่ที่เราทำ

“ก็อยากจะให้เป็นแบบอย่างปรับใช้ชีวิตสำหรับคนที่เคยผิดพลาดพลั้ง คนที่เหมือนผม หรือคนอื่นๆ ที่มองว่าตัวเองด้อยกว่า ความผิดพลาด เราต้องจำไว้เป็นบทเรียน แล้วเปลี่ยนความผิดพลาดนั้นเป็นแรงผลักดัน ให้ลุกขึ้นสู้ต่อ ท้อได้ แต่ต้องไม่ถอย

“ที่สำคัญคือพึงระวัง ไม่หลงระเริง เพราะนอกจากเงินหมด ชีวิตก็อาจจะหมดไปด้วย อย่างผมมาถึงจุดนี้ได้ การที่จะเล่นกีฬาต้องเอาใจใส่ มีความรัก มีความอดทนสูง แล้วมันก็ไม่ได้เป็นอะไรที่ง่ายๆ อย่างที่คิด ดูเหมือนง่ายแต่มันไม่ง่าย ต้องเอาใจแลกใจ

“ชีวิตก็เหมือนกัน หรือไม่จริง?”

เจ้าเหรียญทองถามย้อนให้คิดตาม ชีวิตที่ผ่านมาได้ทุกวันนี้ที่เกิดจากความอดทนผสมความตั้งใจ แม้เจอะเจออุปสรรคจนท้อ แต่ก็ไม่ถอย จนประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้ ด้วยตำแหน่งที่ใครต่างยกย่อง เจ้าของสถิติเหรียญรางวัลมากที่สุด 7 เหรียญทอง 6 เหรียญเงิน 1 เหรียญทองแดง ในขณะนี้ และแนวโน้มอาจจะยิ่งเพิ่มเติมเสริมมากขึ้นกว่านี้ ในพาราลิมปิกครั้งที่ 6 ของตัวเอง ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

“จริงๆ ก็ตั้งใจว่าจะหยุดตัวเองไว้แค่นี้ เพราะว่าจบสวยเหมือนตอนเปิด สองทอง หนึ่งเงิน แต่พอคิดไปคิดมา กีฬามันก็อยู่ที่การดูแลตัวเองด้วยส่วนหนึ่ง อย่างแชมป์โลกคนก่อนผมชาวฟินแลนด์ แต่เขาก็ยังไม่เลิก เขาก็ยังไม่ทิ้งกีฬา

“เรารู้สึกว่าเราผ่านมาทุกสิ่งทุกอย่าง ไอ้สิ่งที่ไม่เคยลอง เคยจับ เคยสัมผัส ก็ผ่านมาแล้ว ครั้งหน้า ถ้าจะไม่ได้ก็ไม่สน จะปิดไม่สวย จบลงด้วยความพ่ายแพ้ ถึงเวลานั้นมันต้องมีกันทุกคน มันคงไม่มีใครเป็นแชมป์ค้ำฟ้า ก็ต้องมี ขึ้นได้ก็ต้องลง ตามกาลเวลา แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ขอให้เราทำถึงที่สุด ซ้อมให้ดีที่สุดก่อน ขอทำในสิ่งที่รักและให้ชีวิต”

ถึงตรงนี้ คงไม่ต้องเอื้อนเอ่ยคำใดๆ ถามถึงความรู้สึกในวันนี้ เพราะตลอดเรื่องราวและเส้นทางชีวิต “ประวัติ” ได้สร้างแล้วซึ่งประวัติอันยิ่งใหญ่ ได้ประกาศก้องให้โลกรับรู้ถึงความสามารถคนไทย และที่สำคัญคือหนึ่งในบุคคลที่สร้างแรงบันดาลใจให้ใครต่อใครลุกขึ้นสู้จนสำเร็จ

“ภูมิใจครับที่ทุกๆ คนให้เกียรติ ยกย่องผม ยกย่องทัพนักกีฬาพาราลิมปิก ก็อยากจะให้บันทึกสิ่งที่เราทำมาเอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา มันจะเป็นอะไรที่ดีมาก คนที่เขาไปเห็นได้ดู คนที่เขาเป็นอย่างเรา คนที่ผิดหวังผิดพลาด ท้อแท้ในชีวิต เขาหันมาเห็นหันมาดู เขาจะได้มีแรงจูงใจ จะได้มีแรงบันดาลใจต่อชีวิตที่เขากำลังท้อแท้ ให้ลุกขึ้นสู้และยืนได้อย่างพวกเรา”

“เพราะไม่มีใครด้อยกว่าใคร อยู่ที่ใจ ถ้าเอาชนะตัวเองได้ ก็ชนะได้หมด”

เรื่อง : รัชพล ธนศุทธิสกุล
ภาพ : สันติ เต๊ะเปีย

กำลังโหลดความคิดเห็น