xs
xsm
sm
md
lg

น้ำอร่อยของ ร.๕ ต้องแม่น้ำเพชรบุรีเท่านั้น!! ในยุคที่คนไทยต้องกินน้ำในแม่น้ำลำคลอง!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

ก๊อกประปารุ่นแรกข้างถนน
ก่อนที่จะมีน้ำประปา คนไทยต้องกินน้ำในแม่น้ำลำคลอง แม้แต่ในพระบรมมหาราชวังก็ต้องเสวยน้ำแม่น้ำเหมือนกัน โดยตักมาจากต้นน้ำเพชรบุรีที่ยังบริสุทธิ์อยู่มาก ทั้งยังทรงถือว่าเป็นน้ำอร่อยกว่าที่ใดทั้งหมด พระมหาธีรราชเจ้า รัชกาลที่๖ ทรงมีพระราชหัตถเลขาเกี่ยวกับน้ำแม่น้ำเพชรบุรีไว้ว่า

“เรื่องน้ำเพ็ชร์นี้เคยทราบมาแต่ว่าถือกันว่าเป็นน้ำดี เคยได้ยินพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๕ รับสั่งว่า นิยมกันว่ามีรสแปลกกว่าลำน้ำเจ้าพระยา และท่านรับสั่งว่าพระองค์เคยเสวยน้ำเพ็ชร์เสียจนเคยตัวแล้ว เสวยน้ำอื่นไม่อร่อย จึงต้องส่งน้ำเสวยมาจากเพ็ชร์บุรี และน้ำนั้นใช้เป็นน้ำเสวยจริงๆตลอดมาจนกาลบัดนี้”

“...จนกาลบัดนี้” แสดงว่ารัชกาลที่ ๖ ก็ยังเสวยน้ำจากแม่น้ำเพชรบุรีเช่นกัน

การนำน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีมาเป็นน้ำเสวยนั้น ต้องตักมาต้มเสียก่อนที่จังหวัดเพชรบุรี แล้วจึงใส่โอ่ง ขนขึ้นรถไฟส่งเข้ามาที่วัง มีบัญชีเรื่องนี้แสดงค่าใช้จ่ายในการนำน้ำจากแม่น้ำเพชรบุรีมาเป็นน้ำเสวยไว้ ๔ รายการ คือ

๑. ค่าจ้างคนต้มน้ำ ค่าเครื่องใช้ในการต้มน้ำเสวยที่จังหวัดเพชรบุรี
๒. ค่ารถไฟบรรทุกน้ำเสวยจากเพชรบุรีถึงกรุงเทพฯ และส่งถึงบ้านพายัพ
๓. ค่ารถและคนขนน้ำเสวยจากบ้านพายัพไปส่งในวัง
๔. ค่าตุ่มแตกเดือน ๑ ราว ๕ ใบ ราคาใบละ ๓ บาท
มีค่าใช้จ่ายรวมตามรายการนี้ในปี พ.ศ. ๒๔๖๒ เป็นเงิน ๖,๗๒๕.๘๕ บาท พ.ศ. ๒๔๖๓ เป็นเงิน ๖,๖๙๕.๑๕ บาท และ พ.ศ. ๒๔๖๔ เป็นเงิน ๖,๘๒๐.๕๙ บาท

ต่อมาในวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๔๖๕ เจ้าพระยายมราช เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้ทำหนังสือถึงราชเลขาธิการ ให้กราบทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯว่า ไปตรวจราชการที่เมืองเพชรมา เห็นมีบ้านเรือนอยู่ ๒ ฝั่งแม่น้ำมาก ข้อความในหนังสือตอนหนึ่งกล่าวว่า

“...แลการจัดน้ำเพ็ชรบุรีเปนน้ำเสวยจึงมีข้อพิจารณาว่า สมควรจะเปนน้ำเครื่องต้นสำหรับสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินด้านสถานใด แม้การตักแต่งน้ำจากลำแม่น้ำใส่ภาชนะขนไปในทางไกลดังเปนอยู่บัดนี้ พระราชอาญาไม่พ้นเกล้าฯ ข้าพเจ้าไม่กล้ารับรองด้วยความแน่ใจว่าจะเปนสิ่งสอาดเพียงพอ....”

ร.๖ ทรงมีพระราชกระแสว่า

“...ฉนั้นถ้ารู้สึกว่าน้ำในลำน้ำเพ็ชรบุรีปฏิกูลมากขึ้นจริง แลเห็นว่ากินอาจมีอันตรายได้ จะงดการตักน้ำเพ็ชรบุรีส่งเปนน้ำเสวยเสียก็ได้...”

ทั้งยังทรงมีพระราชกระแสให้ถามไปทางกระทรวงมหาดไทยว่า จะจัดน้ำประปาส่งเป็นน้ำเสวยโดยเฉพาะ ไม่ต้องส่งมาตามท่อได้หรือไม่ ซึ่งเจ้าพระยายมราชก็รับสนองพระราชดำริ

การตักน้ำจากแม่น้ำเพชรบุรีส่งเป็นน้ำเสวยจึงได้เลิกกันตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แต่ก็ยังมีรับสั่งว่า

“ในส่วนตัวเราเองมิได้เคยถือนักดอกเรื่องน้ำกิน แต่ต้องสารภาพอย่าง ๑ ว่า จะเป็นเพราะเหตุใดไม่ทราบ บอกไม่ถูก เราได้เคยกินน้ำประปาหลายครั้ง และรู้สึกว่ากินได้ แต่ยังไม่วายรู้สึกในใจว่าสู้น้ำเสวยที่เขาจัดมาให้พิเศษไม่ได้ ทั้งนี้เป็นด้วยอุปาทานมากกว่าอย่างอื่น”

เมืองไทยเริ่มมีน้ำประปามาตั้งสมัยรัชกาลที่ ๕ หลังเสด็จประพาสยุโรป ๒ ครั้ง ทรงพระราชดำริว่า กรุงเทพฯน่าจะมีน้ำสะอาดสำหรับดื่มและใช้ จึงทรงพระกรุณราโปรดเกล้าฯว่าจ้างนายเดอลาม โฮเตียร์ ช่างผู้ชำนาญการประปาของฝรั่งเศส มาวางแผนการประปากรุงเทพฯ จนวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๔๕๒ จึงประกาศพระบรมราชโองการทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้กรมสุขาภิบาลจัดการนำน้ำมาใช้ในพระนครคือ

๑. ให้ทำที่ขังน้ำขึ้นที่คลองเชียงราก เมืองปทุมธานี อันเป็นที่พ้นเขตน้ำเค็มขึ้นถึงทุกฤดู
๒. ให้ขุดคลองแยกจากที่ขังน้ำนั้นเป็นทางน้ำลงมาถึงคลองสามเสนฝั่งเหนือ ตามแนวทางรถไฟ
๓. ตั้งโรงสูบขึ้นที่ตำบลสามเสน สูบน้ำขึ้นที่เกรอะกรองตามวิธีให้น้ำสะอาดบริสุทธิ์ปราศจากสิ่งซึ่งจะเป็นเชื้อโรค แล้วส่งน้ำไปในที่ต่างๆตามควรแก่ท้องที่ของเขตพระนคร

ต่อมาจึงจัดซื้อที่ดินขุดคลองทำอ่างเก็บน้ำ ก่อสร้างประตูน้ำ ท่อไซฟอนลอดคลอง สะพาน ติดตั้งเครื่องสูบเพื่อให้สามารถส่งน้ำจืดมายังโรงกรองน้ำสามเสนได้ ซึ่งได้ก่อสร้างอาคารติดตั้งระบบผลิตน้ำ ได้แก่เครื่องกวนสารส้มเพื่อให้ตกตะกอน ต่อท่อเหล็กจากถังกรองจ่ายน้ำไปทั่วพระนคร รวมค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างระบบประปารวมค่าที่ดินทั้งสิ้น ๔,๓๐๘,๒๒๑ บาท ๘๑ สตางค์ ใช้เวลาดำเนินการประมาณ ๕ปีเศษจึงสามารถจ่ายน้ำสะอาดให้กับชาวพระนครได้ใช้

ต่อมาในวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๔๕๗ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดกิจการมีชื่อว่า “การประปากรุงเทพฯ” และมีพระราชดำรัสในวันนั้นว่า

“...ท่านทั้งหลายที่ได้ช่วยเราทำการอันนี้ให้สำเร็จไปได้ ควรรู้สึกปลื้มใจว่าได้ทำการอันเป็นประโยชน์และกุศลอย่างยิ่ง เพราะน้ำซึ่งใสสะอาดบริสุทธิ์ใครๆย่อมรู้อยู่แล้วทั้งในโบราณและบัดนี้ว่า เป็นของจำเป็นเพื่อประโยชน์และเพื่อความสุข สำหรับป้องกันโรคอันตรายของมนุษย์ น้ำใสสะอาดย่อมเป็นเครื่องบำบัดโรคได้ดีกว่าโอสถหรือเภสัชทั้งหลาย...”

กิจการประปากรุงเทพฯก้าวหน้าตามลำดับ จนกระทั่งในปี ๒๔๙๖ เมื่อประชาชนเพิ่มจำนวนมากขึ้น ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำ จนมีการขุดน้ำบาดาลกันมากมายโดยเฉพาะในกิจการอุตสาหกรรม ในปี ๒๕๑๐ รัฐบาลได้รวม การประปากรุงเทพฯ การประปาเทศบาลธนบุรี การประปาสมุทรปราการ และการประปานนทบุรี รวมเป็นกิจการเดียวกัน เป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย มีชื่อว่า “การประปานครหลวง” มาจนทุกวันนี้

ปัจจุบันการประปานครหลวงมีพื้นที่รับผิดชอบ ๓,๑๙๕ ตารางกิโลเมตรใช้น้ำดิบจากสองแหล่งในการผลิต คือ แม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำแม่กลอง มีโรงงานผลิตน้ำหลัก ๔ แห่ง คือ โรงงานผลิตน้ำบางเขนมหาสวัสดิ์ สามเสนและธนบุรี รวมกำลังการผลิต ๔.๗ ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน น้ำประปาที่ผลิตได้มีคุณภาพตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก มีผู้ใช้น้ำราว ๑,๘๕๙,๕๗๓ ราย คิดเป็นประชากรประมาณ ๘ ล้านคน หรือเป็นร้อยละ ๙๑.๑๓ % ของประชากรในพื้นที่รับผิดชอบ
สำนักงานประปาแห่งแรกที่แม้นศรี
ต้นแม่น้ำเพชรบุรี
กำลังโหลดความคิดเห็น