xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 4-10 ก.ย.2559

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1.ศาลฎีกาพิพากษายืนจำคุก”สนธิ” 20 ปี ทำผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ด้าน “จิตตนาถ” ประกาศนำสื่อในเครือ ผจก.-News1 ทำหน้าที่อย่างเข้มแข็งต่อไป!
(บน) สนธิ ลิ้มทองกุล กับเหตุผลที่ไม่หนีคำพิพากษา (ล่าง) สนธิ กับจิตตนาถ ลิ้มทองกุล บุตรชาย
เมื่อวันที่ 6 ก.ย. ศาลอาญา ได้นัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ในเครือผู้จัดการ และอดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.), นายสุรเดช มุขยางกูร อดีตกรรมการบริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน), น.ส.เสาวลักษณ์ ธีรานุจรรยงค์ อดีตผู้บริหารแผนฟื้นฟู บมจ.แมเนเจอร์ฯ และ น.ส.ยุพิน จันทนา อดีตกรรมการ บมจ.แมเนเจอร์ฯ เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานกระทำผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 307, 311, 312 (1) (2) (3), 313

คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2539 - 31 มี.ค. 2540 จำเลยทั้งสี่เป็นกรรมการ บมจ.แมเนเจอร์ฯ ได้ร่วมทำสำเนารายงานการประชุมของกรรมการบริษัทที่เป็นเท็จว่ามีมติให้บริษัทเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ให้กับบริษัท เดอะ เอ็ม กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัทแม่ของบริษัท แมเนเจอร์ฯ ซึ่งนายสนธิ จำเลยที่ 1 ถือหุ้นอยู่ รวม 6 ครั้ง จำนวน 1,078 ล้านบาท โดยนายสนธิ จำเลยที่ 1 และ น.ส.เสาวลักษณ์ จำเลยที่ 3 ไม่ได้ขออนุมัติจากมติที่ประชุมกรรมการบริษัท

ต่อมาวันที่ 30 เม.ย. 2539 - 18 พ.ย. 2541 จำเลยทั้งสี่ยังร่วมกันยอมให้มีการเปลี่ยนแปลง ตัดทอนทำบัญชีไม่ตรงกับความเป็นจริง และจำเลยทั้งสี่ไม่ได้นำภาระการค้ำประกันเงินกู้ดังกล่าวที่เป็นรายการที่ทำให้รายได้ของ บมจ.แมเนเจอร์ฯ เปลี่ยนแปลงผิดปกติ ซึ่งต้องแสดงรายการไว้ในงบการเงินประจำปี 2539-2541 และจะต้องนำส่งให้ตลาดหลักทรัพย์ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อลวงให้ผู้ถือหุ้น บมจ.แมเนเจอร์ฯ ขาดประโยชน์ที่ควรจะได้รับ รวมทั้งเป็นการลวงให้นักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไม่ได้รับรู้ถึงการค้ำประกันหนี้ดังกล่าว จำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพในชั้นพิจารณา

ขณะที่ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2555 ว่า นายสนธิ จำเลยที่ 1 และ น.ส.เสาวลักษณ์ จำเลยที่ 3 มีความผิดฐานร่วมกันกระทำผิดต่อหน้าที่โดยทุจริตเป็นเหตุให้บริษัทเสียหาย โดยร่วมกันกระทำการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้, ร่วมกันไม่ลงข้อความสำคัญในบัญชีหรือเอกสารของบริษัท และร่วมกันทำบัญชีไม่ครบถ้วนไม่เป็นปัจจุบัน ไม่ตรงต่อความเป็นจริงเพื่อลวงให้บริษัท และผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์ ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ มาตรา 307, 311, 312, 313 ให้จำคุกจำเลยที่ 1 และ 3 คนละ 17 กระทงๆ ละ 5 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 และ 3 ทั้งสิ้น 85 ปี

ขณะที่นายสุรเดช จำเลยที่ 2 จำคุก 5 ปี ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ มาตรา 313 และจำคุก น.ส.ยุพิน จำเลยที่ 4 รวม 13 กระทงๆ ละ 5 ปี ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ มาตรา 307,311,312,313 รวมจำคุกจำเลยที่ 4 ทั้งสิ้น 65 ปี จำเลยทั้งหมดให้การรับสารภาพ ศาลลดโทษให้กึ่งหนึ่ง จำคุกจำเลยที่ 1 และ 3 รวม 42 ปี 6 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 จำคุก 2 ปี 6 เดือน และจำเลยที่ 4 จำคุก 32 ปี 6 เดือน แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว ให้จำคุกจำเลยที่ 1, 3, 4 สูงสุดตามกฎหมายมาตรา 91 (2) คนละ 20 ปี

ต่อมานายสนธิ, น.ส.เสาวลักษณ์ และ น.ส.ยุพิน จำเลยที่ 1, 3 และ 4 ยื่นอุทธรณ์ว่าไม่มีเจตนากระทำผิด และไม่ได้รับผลประโยชน์ในทรัพย์สินแต่อย่างใด จึงขอให้ศาลลงโทษสถานเบา และรอการลงโทษ ส่วนนายสุรดช จำเลยที่ 2 ไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ คดีจึงถืงที่สุดตามกฎหมาย รับโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน

ต่อมา ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ทางนำสืบโจทก์ ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1, 3 และ 4 ได้รับผลประโยชน์ส่วนตัวในการค้ำประกันของ บมจ.แมเนเจอร์ฯ แต่การค้ำประกันเงินกู้ของ บมจ.แมเนอร์เจอร์ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ธนาคารกรุงไทยอนุมัติเงินกู้ให้ การกระทำของจำเลยจึงถือว่าครบองค์ประกอบที่ทำให้ บมจ.เดอะ เอ็ม กรุ๊ป ได้รับผลประโยชน์ จึงเป็นความผิด ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ มาตรา 307 และ 311

ส่วนที่จำเลย อ้างว่ามีเจตนาเดียว คือ การค้ำประกันเงินกู้ต่อเนื่องเพียงโครงการเดียว จึงเป็นความผิดเพียงกระทงเดียวนั้น ศาลเห็นว่า จำเลยไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าได้มีการประกันเงินกู้ในโครงการเดียวอย่างไร ดังนั้นการที่จำเลยค้ำประกันเงินกู้แต่ละครั้ง ย่อมเป็นการกระทำผิดแยกกรรมต่างกัน และที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยไม่ได้นำภาระการค้ำประกันหนี้ลงในรายการภาระหรือรายได้เพื่อจัดส่งให้ตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากภาระการค้ำประกันหนี้ไม่ถือเป็นภาระผูกพันปัจจุบันจึงไม่เป็นความผิดนั้น ศาลเห็นว่า บมจ.แมเนเจอร์ฯ เป็นบริษัทมหาชน จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และดำเนินงานอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ และข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์ เรื่องหลักเกณฑ์การจัดทำงบการเงินโดยจะต้องรายงานผลการจดทะเบียนและจัดทำงบไตรมาสทุกๆ 6 เดือน หรือ 1 ปี โดยระบุในรายการหนี้สินหมุนเวียน ซึ่งโจทก์มีเจ้าหน้าที่ผู้บริหารอาวุโสตลาดหลักทรัพย์เบิกความยืนยันว่า งบการเงินเป็นข้อมูลที่สำคัญทำให้ผู้ลงทุนสามารถตัดสินใจร่วมลงหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ และรู้ถึงสถานะทางการเงินของ บมจ.แมเนเจอร์ฯ ซึ่งบริษัทต้องเปิดเผยฐานะทางการเงินที่ถูกต้องและเป็นปัจจุบัน อุทธรณ์จำเลยจึงฟังไม่ขึ้น

ส่วนที่จำเลยขอให้ศาลลงโทษสถานเบา และรอการลงโทษ เนื่องจากจำเลยไม่ได้มีเจตนาแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตัวเอง และบมจ.แมเนเจอร์ ไม่ได้ทำให้ผู้ถือหุ้นได้รับความเสียหายร้ายแรง ศาลเห็นว่า พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ มีเจตนาคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้ลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้เป็นสากล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้เศรษฐกิจเกิดความเข้มแข็ง การฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมและเป็นพฤติการณ์ร้ายแรง ที่ศาลชั้นต้นลงโทษมานั้นเป็นโทษต่ำสุดแล้ว ไม่อาจลดโทษให้เบาลงได้อีก ขณะที่พฤติการณ์ของจำเลยถือว่าร้ายแรงจึงไม่อาจรอการลงโทษได้

ต่อมาจำเลยที่ 1, 3 และ 4 ยื่นฎีกา ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า ที่จำเลยที่ 1, 2 และ 3 ฎีกาว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำกรรมเดียวนั้น เห็นว่าการทำรายงานการประชุมเพียงหนึ่งครั้ง แต่นำไปค้ำประกันการกู้ยืมเงินรวม 6 ครั้ง ในวันเวลาที่แตกต่างกัน เป็นเวลา 1 ปี และมีจำนวนเงินแต่ละครั้งไม่เท่ากัน โดยกระทำผิดรวม 6 ครั้ง ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ ศาลเห็นว่า บริษัทแมเนเจอร์ฯ ของจำเลยเข้าตลาดหลักทรัพย์ต้องมีหลักธรรมาภิบาล หากกรรมการบริษัทกระทำผิดเสียเอง ย่อมสร้างผลกระทบและความเสียหาย การกระทำของจำเลยจึงถือว่ามีพฤติการณ์ร้ายแรง ที่จำเลยอ้างถึงคุณงามความดียังไม่เพียงพอที่จะให้รอการลงโทษได้ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทรณ์พิพากษาลงโทษมานั้นชอบแล้ว พิพากษายืน

หลังฟังคำพิพากษา นายสนธิมีสีหน้าสงบนิ่ง และโทรศัพท์ไปพูดคุยกับญาติและคนสนิท ก่อนเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะนำตัวไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา ได้มีการนำตัวไปควบคุมที่เรือนจำกลางคลองเปรม เนื่องจากโทษสูง ส่วน น.ส.เสาวลักษณ์ และ น.ส.ยุพิน ถูกนำตัวไปยังทัณฑสถานหญิงกลาง

ด้านนายจิตตนาถ ลิ้มทองกุล บุตรชายนายสนธิ ได้ออกแถลงการณ์ขอบคุณผู้ที่ส่งกำลังใจให้นายสนธิ พร้อมยืนยันว่าจะเป็นหลักให้สื่อในเครือผู้จัดการและ News1 ทำหน้าที่ด้วยความเข้มแข็งต่อไป สนับสนุนผู้นำให้เดินหน้าปฏิรูปประเทศตามที่ภาคประชาชนได้ต่อสู้มา และท้วงติงเมื่อมีเหลือบไรเกาะผู้มีอำนาจอาศัยช่องว่างในการคอร์รัปชั่น “ใครที่คิดว่า คุณสนธิเข้าไปอยู่ในเรือนจำแล้ว สื่อในเครือผู้จัดการเราจะเชื่อง คงจะคิดผิดละครับ และทุกท่านคงเห็นกันแล้วว่า ใครทำดีเราเชียร์ ใครทำเหี้ยเราแฉ ก็คงเป็นอย่างนี้จนกว่าเราจะเจ๊งละครับ เพราะคุณสนธิพร้อมติดคุก ไม่หนีคดี ไม่ยอมให้ผมและลูกน้องต้องอาย เราก็ต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุดไม่ให้ท่านต้องอายเช่นกัน”

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 7 ก.ย.มีข่าวลือว่า ผู้ต้องขังคดีนายสนธิป่วยหนัก ถูกหามส่งโรงพยาบาลกลางดึก ซึ่งกรมราชทัณฑ์ ได้ออกมายืนยันว่าข่าวดังกล่าวไม่จริงแต่อย่างใด

2.ป.ป.ช.มีมติเอกฉันท์ชี้มูลความผิดอดีต ส.ส.เพื่อไทย “นริศร” เสียบบัตรแทนกัน - “อุดมเดช” สลับร่าง รธน. ด้าน “ขุนค้อน” โดนด้วยฐานรู้เห็นเป็นใจ!

(บน) นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร (ล่างซ้าย) นายอุดมเดช รัตนเสถียร อดีต ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย (ล่างขวา) นายนริศร ทองธิราช อดีต ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย
เมื่อวันที่ 8 ก.ย. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ประชุมพิจารณากรณีที่มีการกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และร้องขอให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง กรณีเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่มา ส.ว. มีการใช้บัตรลงคะแนนแทนกัน การนับเวลาแปรญัตติโดยมิชอบ และการสับเปลี่ยนร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ หลังประชุม น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ชี้มูลความผิดนายนริศร ทองธิราช อดีต ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย กรณีใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ลงคะแนนแทนบุคคลอื่น ในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในนัดที่ 9 และ 10 ซึ่งทำให้ผลการลงมติบิดเบือนไปจากความเป็นจริง จึงมีมูลความผิดทางอาญา ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามมาตรา 123 และ 123/1 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 (พ.ร.บ. ป.ป.ช.) และมีมูลส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 68 วรรคหนึ่ง, 122,123 และ 126 วรรคสาม เห็นควรส่งรายงานและเอกสารที่มีอยู่พร้อมทั้งความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป และส่งรายงานให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติถอดถอนออกจากตำแหน่ง ตาม พ.ร.บ. ป.ป.ช.

ส่วนนายอุดมเดช รัตนเสถียร อดีต ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย มีความผิดทางอาญาตามมาตรา 123/1 พ.ร.บ. ป.ป.ช. กรณีสลับร่างรัฐธรรมนูญโดยไม่มีสมาชิกรัฐสภาลงรายมือชื่อรับรอง เห็นควรส่งรายงานและเอกสาร พร้อมความเห็นไปยังอัยการสูงสุดเพื่อฟ้องคดีต่อศาลฎีกาฯ ต่อไป และส่งรายงานพร้อมความเห็นไปยังประธาน สนช.เพื่อมีมติถอดถอนออกจากตำแหน่ง

ขณะที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร มีความผิดทางอาญาตามมาตรา 123/1 ของ พ.ร.บ. ป.ป.ช. กรณีรู้เห็นให้มีการสลับสับเปลี่ยนร่างรัฐธรรมนูญ โดยไม่มีการตรวจสอบให้ถูกต้องตามหน้าที่ของประธานรัฐสภา ตามข้อ 90 ของข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2553 และไม่สั่งให้มีการนำไปเสนอให้สมาชิกรัฐสภาร่วมลงชื่อรับรองญัตติตามมาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญ และกรณีจงใจนับระยะเวลาแปรญัตติย้อนหลัง ทำให้เหลือระยะเวลาให้สมาชิกรัฐสภาเสนอคำแปรญัตติเพียง 1 วัน ซึ่งกรณีดังกล่าวศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยแล้วว่า เป็นการกำหนดระยะเวลาที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากไม่ให้โอกาสสมาชิกรัฐสภามีเวลาในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. จึงเห็นควรส่งรายงานและเอกสารที่มีอยู่ พร้อมทั้งความเห็นไปยังอัยการสูงสุดเพื่อฟ้องคดีต่อศาลฎีกาฯ ต่อไป

ทั้งนี้ กรณีนายสมศักดิ์ ป.ป.ช.เคยมีมติชี้มูลความผิดฐานส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และได้ส่งรายงานไปยังประธาน สนช.แล้ว โดย สนช. ได้พิจารณาและมีมติไม่ถอดถอน จึงเห็นควรไม่ส่งรายงานในความผิดถอดถอนไปยังประธาน สนช.อีก

ส่วนนายคมเดช ไชยศิวามงคล อดีต ส.ส.กาฬสินธุ์ และนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร อดีต ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้พิจารณาอย่างละเอียดแล้ว พบว่าพยานหลักฐานไม่เพียงพอเหมือนกรณีนายนริศร แม้ ป.ป.ช.จะติดใจ แต่เมื่อพยานไม่เพียงพอ และทั้งสองคนได้ชี้แจงเหตุผลในการฝากบัตรไว้กับนายนริศร จึงยกประโยชน์ให้ โดยมีมติว่าบุคคลทั้งสองไม่มีความผิด และเห็นควรให้ข้อกล่าวหาตกไป

ด้านนายอุดมเดช รัตนเสถียร อดีตประธานวิปรัฐบาล อดีต ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงมติ ป.ป.ช.ที่ชี้มูลความผิดกรณีเปลี่ยนแปลงแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญว่า ที่ผ่านมาได้ไปให้ข้อมูลต่อ ป.ป.ช.ถึงการปรับปรุงแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ขอยืนยันว่า ไม่มีการปลอมแปลงร่างรัฐธรรมนูญ ส่วน ป.ป.ช.ที่รับฟังจะพิจารณาแค่ไหนอย่างไร เป็นเรื่องของ ป.ป.ช. แต่ยืนยันว่าได้ทำตามระเบียบขั้นตอนวิธีปฏิบัติทางสภาฯ ก่อนนำเรื่องไปหารือเจ้าหน้าที่สภาฯ ได้รับการยืนยันว่าสามารถทำได้ ไม่ได้ไปแอบกระทำหรือปลอมแปลงร่างรัฐธรรมนูญ แต่เป็นเรื่องที่ปรับปรุงร่างได้ก่อนที่ประธานสภาฯ จะบรรจุระเบียบวาระการประชุม ถ้าทำไม่ได้ คงไม่ทำ จากนี้คงจะไปชี้แจงต่อ สนช.ก่อนที่จะมีการลงมติวินิจฉัยต่อไป

3.ศาล รธน.รับคำร้อง กรธ.ไว้วินิจฉัยร่าง รธน.สอดคล้องคำถามพ่วงหรือไม่ ให้แม่น้ำ 3 สายส่งความเห็นภายใน 12 ก.ย.นี้!

(บนซ้าย) นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. (บนขวา) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี (ล่างขวา) นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธาน สปท.คนที่ 1
ความคืบหน้ากรณีคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ได้ส่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขให้สอดคล้องกับคำถามพ่วงที่ผ่านประชามติ ซึ่งระบุให้ ส.ว.มีสิทธิร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในช่วง 5 ปีแรกหลังรัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกาศใช้ โดยส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขดังกล่าวสอดรับกับคำถามพ่วงหรือไม่ โดยการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 1 พ.ศ.2558 มาตรา 37/1 ซึ่งเกิดปัญหาทางธุรการ ส่งผลให้ศาลรัฐธรรมนูญตีกลับคำร้องดังกล่าวถึง 2 ครั้ง อย่างไรก็ตาม กรธ.ได้ทำตามคำแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการยื่นคำร้องและส่งร่างรัฐธรรมนูญให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นครั้งที่ 3 เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา

ขณะที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุมพิจารณาคำร้องของ กรธ.เมื่อวันที่ 7 ก.ย. ก่อนมีคำสั่งรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาวินิจฉัย พร้อมระบุว่า เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณา เห็นสมควรมีหนังสือขอความเห็นและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผลการออกเสียงประชามติในประเด็นเพิ่มเติม(คำถามพ่วง) จากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) และคณะรัฐมนตรี(ครม.) รวมทั้งเอกสารอื่นใดที่เห็นว่าเกี่ยวข้อง โดยกำหนดให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจัดส่งความเห็นต่อศาลภายในวันที่ 12 ก.ย.นี้

ด้านนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญให้แม่น้ำ 3 สาย(สนช.-สปท.-ครม.) ยื่นความเห็นเพิ่มเติมเพื่อประกอบการวินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขสอดคล้องกับคำถามพ่วงหรือไม่ว่า สนช.ได้มอบหมายให้นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 เป็นผู้รับผิดชอบ โดย สนช.ได้รวบรวมเอกสารที่เป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคำถามพ่วงตามที่เคยยื่นให้ กกต.ก่อนทำประชามติ เพื่อมอบให้ศาลรัฐธรรมนูญแล้ว

ขณะที่นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธาน สปท.คนที่ 1 ก็ยืนยันเช่นกันว่า สปท.จะสรุปรวบรวมความเห็นและข้อสังเกตจากการประชุมเกี่ยวกับประเด็นคำถามพ่วงที่ผ่านมา เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญภายในวันที่ 12 ก.ย.นี้ และว่า รายละเอียดไม่ต่างจากที่ สปท.เคยส่งให้ สนช.เมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา

ส่วนความเคลื่อนไหวของทาง ครม.นั้น นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เผยว่า ได้แจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบแล้วว่า ศาลรัฐธรรมนูญให้ ครม.ส่งความเห็นเกี่ยวกับคำถามพ่วง ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งให้ตอบศาลรัฐธรรมนูญเพียงสั้นๆ ว่า เรื่องนี้รัฐบาลไม่เกี่ยว เพราะไม่ใช่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตั้งคำถามพ่วงแต่อย่างใด

4. โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งโยกย้ายนายทหารประจำปี ’59 แล้ว “พล.อ.เฉลิมชัย” นั่ง ผบ.ทบ.ตามโผ-"พล.อ.อ.จอม" ผบ.ทอ.-“พล.อ.สุรพงษ์” ผบ.สส.!

(บนซ้าย) พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท เป็น ผบ.ทบ. (บนขวา) พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล เป็นปลัดกระทรวงกลาโหม (ล่างซ้าย) พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง เป็น ผบ.ทอ. (ล่างขวา) พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ เป็น ผบ.สส.
เมื่อวันที่ 9 ก.ย. ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้นายทหารรับราชการ ความว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้นายทหารรับราชการสนองพระเดชพระคุณ จำนวน 798 นาย ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2559 เป็นต้นไป โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

โดยตำแหน่งสำคัญ ได้แก่ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รองปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นปลัดกระทรวงกลาโหม, พล.อ.ภุชพงศ์ พงษ์ศิริ หัวหน้านายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานคณะที่ปรึกษากระทรวงกลาโหม, พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ เสนาธิการทหาร เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด, พล.อ.ธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ รองเสนาธิการทหาร เป็นเสนาธิการทหาร

พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก เป็นผู้บัญชาการทหารบก, พล.อ.พิสิทธิ์ สิทธิสาร เสนาธิการทหารบก เป็นรองผู้บัญชาการทหารบก, พล.ท.เทพพงศ์ ทิพยจันทร์ แม่ทัพภาคที่ 1 เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก, พล.ท.สมศักดิ์ นิลบรรเจิดกุล แม่ทัพภาคที่ 3 เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก, พล.ท.สสิน ทองภักดี รองเสนาธิการทหารบก เป็นเสนาธิการทหารบก

พล.ท.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ แม่ทัพน้อยที่ 1 เป็นแม่ทัพภาคที่ 1, พล.ต.วิจักขฐ์ สิริบรรสพ รองแม่ทัพภาคที่ 3 เป็นแม่ทัพภาคที่ 3, พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช ที่ปรึกษากองทัพบก เป็นแม่ทัพภาคที่ 4, พล.ต.กู้เกียรติ ศรีนาคา รองแม่ทัพภาคที่ 1 เป็นแม่ทัพน้อยที่ 1, พล.ต.ธนา จารุวัต รองแม่ทัพภาคที่ 3 เป็นแม่ทัพน้อยที่ 3, พล.ต.คุณวุฒิ หมอแก้ว รองแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นแม่ทัพน้อยที่ 4 ขณะที่ พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค ผู้ชํานาญการกองทัพบก และ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกําเนิด ผู้ชํานาญการกองทัพบก เป็นผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก(อัตรา พลโท)

พล.ร.อ.ทวีชัย บุญอนันต์ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพเรือ เป็นประธานคณะที่ปรึกษากองทัพเรือ, พล.ร.อ.นริส ประทุมสุวรรณ ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือ, พล.ร.ท.สุชีพ หวังไมตรี รองเสนาธิการทหารเรือ เป็นผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ, พล.ร.ท.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการโรงเรียนนายเรือ เป็นเสนาธิการทหารเรือ, พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง เสนาธิการทหารอากาศ เป็นผู้บัญชาการทหารอากาศ, พล.อ.อ.ทวิเดนศ อังศุสิงห์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นรองผู้บัญชาการทหารอากาศ, พล.อ.อ.เผด็จ วงษ์ปิ่นแก้ว ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นประธานคณะที่ปรึกษากองทัพอากาศ, พล.อ.อ.สุรศักดิ์ ทุ่งทอง รองเสนาธิการทหารอากาศ เป็นเสนาธิการทหารอากาศ

สำหรับประวัติ พล.อ.เฉลิมชัย หรือ บิ๊กเจี๊ยบ ผบ.ทบ.คนใหม่ เกิดวันที่ 20 ต.ค.2500 จะเกษียณอายุราชการในเดือน ต.ค.2561 เป็นบุตรของพันโทบุญโถม กับนางจงจิตต์ สิทธิสาท สมรสกับนางเบญจวรรณ สิทธิสาท มีบุตรสาว 2 คน จบการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 16 และโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 27 รุ่นเดียวกับ พล.อ.กัมปนาท รุดดิษฐ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก

พล.อ.เฉลิมชัย เป็นทหารรบพิเศษหรือทหารหมวกแดง โดยผ่านตำแหน่งสำคัญมาตามลำดับ ได้แก่ ปี 2552 เป็นผู้บัญชาการกองพลรบพิเศษที่ 1 , ปี 2554 เป็นรองผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ , ปี 2556 เป็นผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ และปี 2558 เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ทั้งนี้ พล.อ.เฉลิมชัย เป็นทหารรบพิเศษมาตลอดเช่นเดียวกับ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ อดีต ผบ.สส. และประธานคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ(รสช.), พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีต ผบ.ทบ. และ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีต ผบ.ทบ. และหัวหน้าคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.) ที่ยึดอำนาจรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เมื่อ ปี 2549

5.ป.ป.ช.มีมติเอกฉันท์การก่อสร้าง “อุทยานราชภักดิ์” ทำถูกต้องทุกอย่าง ไม่พบผิดปกติ ด้าน “วีระ” ยังไม่หายคาใจ!

(บน) อุทยานราชภักดิ์ (ล่าง) นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต่อต้านคอร์รัปชั่น
เมื่อวันที่ 7 ก.ย. พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เผยความคืบหน้าการไต่สวนกรณีก่อสร้างโครงการอุทยานราชภักดิ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคิรีขันธ์ ตามคำร้องของนายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น ที่ขอให้ ป.ป.ช.ไต่สวน พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาทหารบก(ผบ.ทบ.) และ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตว่า คณะทำงานแสวงหาข้อเท็จจริงได้สรุปและรายงานเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.เมื่อวันที่ 6 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เสียง เห็นว่าโครงการดังกล่าวมีการดำเนินการถูกต้องตามระเบียบปฏิบัติทุกประการ อีกทั้งไม่ว่าทาง ป.ป.ช.ขอหลักฐานใดๆ ไปยังคณะกรรมการตรวจสอบของกองทัพบกหรือคณะกรรมการตรวจสอบของกระทรวงกลาโหม ก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี และเมื่อนำเอกสารหลักฐาน และเชิญพยานมาสอบปากคำ พิจารณาทุกอย่างแล้วไม่พบว่ามีอะไรผิดปกติ ดังนั้น การแสวงหาข้อเท็จจริงตามที่มีผู้ยื่นคำร้องจึงถือว่าเสร็จสิ้น “คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงมีมติว่าไม่พบความผิดปกติของการดำเนินการโครงการดังกล่าว จากนี้จะได้แจ้งมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช.กลับไปให้ผู้ร้องได้ทราบผลต่อไป ซึ่งหากยังมีข้อสงสัยพร้อมที่จะให้สอบถามรายละเอียดมาได้”

ด้านนายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต่อต้านคอร์รัปชั่น กล่าวว่า ประเด็นที่ตนยื่นให้ ป.ป.ช. สอบ ไม่ใช่เรื่องหัวคิว แต่เป็นเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ ซึ่งผิดระเบียบ โดยวันที่ ป.ป.ช. ทำหนังสือให้ตนชี้แจงคำร้อง ก็ได้ส่งรายละเอียดต่างๆ ไปแล้ว พร้อมทั้งระบุด้วยว่า หากผลออกมาอย่างไรให้แจ้งตนโดยด่วน ซึ่งตนอยากให้คนทั้งประเทศอ่านคำร้องของตนทั้งหมด 16 หน้า รวมถึงเอกสารหลักฐานอีกจำนวนมาก ซึ่งตนจะนำเสนอผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวต่อไป แต่ขณะนี้กำลังรอหนังสือชี้แจงมติเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นทางการจาก ป.ป.ช. ก่อนว่าเป็นอย่างไร จะได้ชี้แจงต่อสังคม

6.ปปง.มีมติยึด-อายัดทรัพย์ “เสี่ยเปี๋ยง” คดีทุจริตซื้อขายข้าวจีทูจี 7,000 ล้าน!

(บน) นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือเสี่ยเปี๋ยง คนสนิททักษิณ เป็น 1 ในจำเลยคดีทุจริตซื้อขายข้าวแบบจีทูจี (ล่าง) แผนผังที่ ปปง.นำมาประกอบการแถลงยึด-อายัดทรัพย์
เมื่อวันที่ 9 ก.ย. พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) ได้แถลงยึดทรัพย์ 3 คดี โดย 1 ในนั้นคือคดีทุจริตขายข้าวจีทูจี ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับพวกรวม 21 คน ซึ่งทำความผิดด้วยการแบ่งหน้าที่กันทำงานโดยช่วยเหลือ และเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทโดยไม่ต้องแข่งขันราคากับผู้เสนอรายอื่น แล้วนำข้าวที่ซื้อได้ในราคาที่ต่ำกว่าราคาขายในประเทศ หรือต่ำกว่าราคาที่รับจำนำ นำไปขายต่อให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในประเทศ หรือนำไปให้บริษัทสยามอินดิก้านำไปขายต่ออีกทอดหนึ่ง ก่อให้เกิดความเสียหายแก่กรมการค้าต่างประเทศและประเทศชาติ คิดเป็นมูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท

พล.ต.อ.ชัยยะกล่าวว่า จากการรวบรวมพยานหลักฐานและตรวจสอบธุรกรรมการทางการเงิน พบว่ากลุ่มบุคคลดังกล่าวมีพฤติการณ์ทุจริตโดยการปลอมสัญญาให้ดูเสมือนมีการซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐจริง รวมถึงการตรวจพบการได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดกับการทุจริตตาม พ.ร.บ.ฟอกเงิน เป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (5) พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ที่ประชุมจึงมีมติให้ยึดและอายัดทรัพย์สินของกลุ่มบริษัทสยามอินดิก้า บริษัทสิราลัย (กีธา) และกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือเสี่ยเปี๋ยง เป็นเงินฝากในบัญชีธนาคาร 51 บัญชี มูลค่าประมาณ 921 ล้านบาท และที่ดินในจังหวัดต่างๆ จำนวน 611 รายการ มูลค่าประมาณ 5,970 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้มีที่ดินแปลงหนึ่งย่านประดิพัทธ์ 22 ไร่ มูลค่าสูงถึง 2,000 ล้านบาท รวมทรัพย์สินทั้งสิ้น 662 รายการ มูลค่าประมาณ 7,000 ล้านบาท

7.ตุลาการผู้แถลงคดี เห็นควรยกฟ้องคดี “ทักษิณ” ฟ้อง กต.-ขอยกเลิกการเพิกถอนพาสปอร์ต ด้านองค์คณะศาลปกครองนัดพิพากษา 27 ก.ย.!

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และนักโทษหนีคำพิพากษาศาลฎีกาฯ จำคุก 2 ปี คดีซื้อที่รัชดาฯ
เมื่อวันที่ 7 ก.ย. นายชวลิต ลาภผล ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลางและคณะได้ออกนั่งบัลลังก์พิจารณาคดีครั้งแรกในคดีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และนักโทษหนีคำพิพากษาศาลฎีกาฯ จำคุก 2 ปี คดีซื้อที่รัชดาฯ ยื่นฟ้องอธิบดีกรมการกงสุล และปลัดกระทรวงการต่างประเทศ(กต.) โดยขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งกระทรวงการต่างประเทศที่ยกเลิกหนังสือเดินทางเลขที่ U957411 และ Z530117 ของนายทักษิณ ลงวันที่ 26 พ.ค. 2558

ทั้งนี้ นายวัฒนา เตียงกูล ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากนายทักษิณ ได้แถลงปิดคดีต่อศาลว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีอาศัยความคิดทางการเมืองที่แตกต่าง กรณีนายทักษิณให้สัมภาษณ์ที่ประเทศเกาหลีใต้มาเป็นเหตุในการยกเลิกหนังสือเดินทางนั้น ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และอธิบดีกรมการกงสุลยังให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนอ้างว่านายทักษิณเคยต้องคำพิพากษาให้จำคุก และออกหมายจับ ซึ่งไม่ใช่เหตุผลที่จะนำมาเพิกถอนหนังสือเดินทาง เพราะหนังสือเดินทางดังกล่าวออกภายหลังข้อกล่าวหาที่อธิบดีกรมการกงสุลอ้าง จึงไม่มีเหตุผลที่จะเพิกถอน ส่วนการคุ้มครองสิทธิเป็นเรื่องสำคัญที่จะมีในการเดินทาง แต่อาจเป็นการกลั่นแกล้งคนที่มีความคิดเห็นทางการเมืองได้ และไม่เป็นไปตามกระบวนการกฎหมายอาญา

จากนั้นนายนิทัศน์ แช่มช้อย ตุลาการศาลปกครองกลาง ในฐานะตุลาการผู้แถลงคดี ได้เสนอความเห็นในคดีซึ่งไม่มีผลผูกพันต่อการวินิจฉัยขององค์คณะว่า ทั้งถ้อยคำให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเกาหลีใต้ของนายทักษิณ การเผยแพร่ถ้อยคำในระบบคอมพิวเตอร์ต่างๆ มีข้อความที่พาดพิงองคมนตรีและส่งผลกระทบต่อความมั่นคง ชื่อเสียงและเกียรติภูมิของประเทศไทย ดังนั้น การที่อธิบดีกรมการกงสุล และปลัดกระทรวงการต่างประเทศมีคำสั่งยกเลิกหนังสือเดินทางดังกล่าวด้วยการอ้างคำสัมภาษณ์ของนายทักษิณที่ประเทศเกาหลีใต้มีเนื้อหาบางส่วนที่อาจส่งผลต่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศไทย โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งหรือรับฟังข้อโต้แย้งจากนายทักษิณ จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 และเป็นไปตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ในมาตรา 30 วรรคสอง (6) และกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2540) ออกตามความใน พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 รวมถึงปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง สมควรที่ศาลปกครองกลางจะมีคำพิพากษายกฟ้อง

ทั้งนี้ คณะตุลาการฯ ได้นัดให้คู่กรณีมาฟังคำพิพากษาในวันที่ 27 ก.ย.นี้ เวลา 10.00 น. ขณะที่นายวัฒนา เตียงกูล ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากนายทักษิณกล่าวว่า ข้อเสนอของตุลาการเจ้าของสำนวนที่เสนอให้ยกฟ้องคดีนั้น ไม่ใช่คำพิพากษาขององค์คณะ และเป็นเพียงแนวความคิดเห็นเท่านั้น ซึ่งจะต้องรอดูคำพิพากษาของศาลในวันที่ 27 ก.ย.นี้ก่อน หลังจากนั้นจะปรึกษานายทักษิณอีกครั้งว่าจะยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น