กระทรวงแรงงาน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และเสถียรธรรมสถาน เปิดปฏิบัติการ “สตรี คือ สติ” คืนความสุขแก่สตรีวัยแรงงาน ยกระดับประสิทธิภาพการทำงานหลังพบความเครียด ปัญหาอันดับแรกของสตรี ส่งผล “โรคซึมเศร้า” สาเหตุอันดับ 1 การสูญเสียปีสุขภาวะจากความเจ็บป่วยและพิการของหญิงไทย
วันนี้ (1 ก.ย.) ที่เสถียรธรรมสถาน กระทรวงแรงงาน ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเสถียรธรรมสถาน จัดงานแถลงข่าว ‘สตรี คือ สติ’ โดยม.ล.ปุณฑริกา สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า แรงงานสตรีถือเป็นแรงงานที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาองค์กรและประเทศ เพราะปัจจุบันมีแรงงานสตรีไทยถึง 27 ล้านคน หรือเกือบครึ่งหนึ่งของแรงงานไทยที่มีจำนวน 60.5 ล้านคน อย่างไรก็ตามความเครียดและโรคซึมเศร้ากำลังเป็นภัยเงียบของสตรีวัยทำงานที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและประสิทธิภาพการทำงาน จากการสำรวจของสายด่วนกรมสุขภาพจิต ปี 59 พบว่า ปัญหาความเครียดหรือวิตกกังวล เป็นปัญหาสำคัญอันดับ 1 ของสตรีวัยแรงงาน ตามด้วยปัญหาทางจิตเวช ปัญหาความรัก และปัญหาเกี่ยวกับการทำงาน นอกจากนี้ยังพบว่า โรคซึมเศร้า กลายเป็นสาเหตุอันดับ 1 ของการสูญเสียปีสุขภาวะจากความเจ็บป่วยและพิการของหญิงไทย นโยบายของกระทรวงแรงงานจึงเน้นเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของวัยแรงงานตามแนวคิดงานดีมีคุณค่าจึงร่วมกับ สสส.ในฐานะหน่วยงานที่มีองค์ความรู้ในการทำงานสร้างเสริมสุขภาพโดยเฉพาะการพัฒนาองค์กรแห่งความสุขร่วมกับองค์กรภาครัฐและเอกชน และประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายที่มีความเชี่ยวชาญในการผลักดันสร้างสุขภาวะแก่สตรีวัยแรงงาน
นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กร สสส.กล่าวว่า แนวทางการเสริมสร้างสุขภาวะสตรีวัยทำงานต้องทำคู่ขนาน 2 ด้าน คือ 1. การสร้างการรับรู้และทัศนคติที่ดีในการพัฒนาคุณภาพแรงงานสตรีทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง และกระทรวงแรงงานเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายที่สอดคล้องกับบริบทและลักษณะงานที่แตกต่างกัน 2. การส่งเสริมให้สถานประกอบการปรับปรุงสิ่งที่ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตสตรีในที่ทำงาน สนับสนุนข้อมูลข่าวสาร ที่ปรึกษาในการแก้ปัญหาสุขภาพกายและจิตที่สตรีสามารถเข้าถึงได้ สสส.จึงร่วมกับกระทรวงแรงงาน และเสถียรธรรมสถาน จัดอบรมแกนนำจากภาครัฐและเอกชนเพื่อสนับสนุนให้เกิดองค์กรต้นแบบด้านการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตสตรีวัยทำงานที่ดี โดยมีเป้าหมายในการสร้าง Health Promoter จำนวน 1,000 คน ใน 15 พื้นที่เป้าหมาย พร้อมกับถอดบทเรียนองค์ความรู้พัฒนาเป็นเครื่องมือการฝึกอบรมเพื่อถ่ายทอดไปยังกลไกการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนต่อไป
ด้านแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต เสถียรธรรมสถาน กล่าวว่า ชุดความรู้ที่เหมาะสำหรับสตรีทุกกลุ่ม เพื่อรับมือกับทุกสภาวะที่ต้องเผชิญในชีวิต ประกอบด้วย 5 ชุดความรู้ ดังนี้ อานาปานสติภาวนา หลักสูตรพื้นฐานสำหรับปลุกหัวใจทุกคน ใช้ลมหายใจเป็นศิลปะในการดำรงชีวิตอยู่กับโลกอย่างที่โลกเป็น จิตประภัสสรตั้งแต่นอนอยู่ในครรภ์ สำหรับสตรีตั้งครรภ์เพื่อสร้างเซลล์สมองให้แก่ลูก โรงเรียนพ่อแม่ สำหรับสตรีที่มีลูกแรกเกิด-วัยรุ่น เพื่อสร้างสติ เลี้ยงลูกอย่างที่ลูกเป็น ส่งเสริมพัฒนาตามวัยและปรับพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ ธรรมชาติบำบัด สำหรับสตรีที่ป่วยหรืออยู่ในฐานะดูแลผู้ป่วยและผู้สูงวัยในครอบครัว จิตปรึกษา หลักสูตรสำหรับสตรีมีความเครียดทั่วไป ไปจนถึงผู้ป่วยจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า ไบโพลา จิตเภท รวมถึงสตรีที่มีบุคคลในครอบครัวมีภาวะดังกล่าว
นอกจากนี้ยังได้พัฒนาเครื่องมือในการเรียนรู้ได้แก่ วิถีแห่งสติ กิจกรรมศิลปะแห่งสติ การเล่นบทบาทสมมติเมื่อเผชิญภาวะวิกฤตชีวิตสตรี และเรื่องเล่าเร้าพลัง รวมถึงสื่อการเรียนรู้ออนไลน์ อาทิ คลื่นเสียงบำบัดด้วยคริสตัลโบว์ เป็นต้น