ตั้งแต่สร้างกรุงรัตนโกสินทร์มา ไม่เคยมีอริราชศัตรูบุกเข้ามาถึงชานพระนครได้เลย แต่ครั้งหนึ่งและเพียงครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ ประตูของกรุงรัตนโกสินทร์ที่มั่นคง ก็ถูกถล่มด้วยปืนใหญ่และรถถัง จากทหารไทยเราเอง
ผู้ที่สั่งถล่มกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ต่อมาก็คือ จอมพลถนอม กิตติขจร
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในคืนวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๒ เมื่อกบฏกลุ่มหนึ่งที่เรียกกันว่า “กบฏวังหลวง” ได้ยึดตึกกระทรวงการคลัง ซึ่งอยู่ภายในพระบรมมหาราชวังด้านประตูวิเศษไชยศรี เป็นกองบัญชาการ เพราะมีชัยภูมิเหมาะและมั่นคงจากกำแพงพระบรมมหาราชวัง กองกำลังของกบฏกลุ่มนี้มีทหารเรือเป็นหลัก หากเพลี่ยงพล้ำก็จะถอยออกทางประตูเทวาภิรมย์ ตรงกับท่าราชวรดิฐ ซึ่งอยู่ในเขตของทหารเรือ ลงเรือไปได้สะดวก
ในหนังสือประวัติชีวิต จอมพลถนอม กิตติขจรได้เล่าไว้ว่า ขณะนั้นจอมพลถนอมมียศ พลตรี ตำแหน่ง ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ ๑๑ ได้รับทราบข่าวกบฏทางวิทยุขณะอยู่ที่บ้าน จึงรีบวิ่งไปที่บ้านของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งขณะนั้นมียศเป็นพลโท ตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลที่ ๑ ซึ่งอยู่บ้านใกล้ๆกัน และถามว่า
“ได้ยินวิทยุประกาศหรือไม่ ท่านจะเอาอย่างไร ผมน่ะจะสู้อย่างเด็ดขาดล่ะ”
จอมพลสฤษดิ์ก็ตกลงสู้ จึงสั่งให้จอมพลถนอมไปเตรียมกำลังทหาร แล้วออกไปตรวจเหตุการณ์ให้แน่นอน
ราว ๐๑.๐๐ น. ก็ได้ทราบว่าพระบรมมหาราชวังได้ถูกยึดเป็นกองบัญชาการของฝ่ายก่อการ จึงได้สั่งจอมพลถนอมว่า
“เกิดจลาจลขึ้นแล้ว ขณะนี้พระบรมมหาราชวังถูกพวกก่อการจลาจลบังคับปลดอาวุธทหารกองรักษาการณ์ของ ร.พัน ๑ ร.อ. แล้วยิงลูกระเบิดเข้ามาในที่ตั้ง ร.พัน ๑ ร.อ.มีทหารบาดเจ็บหลายนาย ให้ส่งกำลัง ร.๑๑ ไปล้อมพระบรมมหาราชวังด่วน รถถังจะรอร่วมปฏิบัติอยู่ที่สะพานผ่านพิภพ ข้าพเจ้าจะเปิดเจรจาด้วยสันติวิธีก่อน ถ้าไม่สำเร็จและจำเป็น จึงจะสั่งใช้กำลังเข้าโจมตีปราบปรามต่อไป”
กำลังที่ใช้ในการปราบปรามจลาจลครั้งนั้น นอกจากกรมทหรราบที่ ๑๑ เป็นหลักแล้ว ยังมีกรมทหารราบที่ ๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์บางส่วน กำลังรถ ป.ต.อ. ๔๐ จากกองพล ป.ต.อ. รถถังบางส่วนจากกองพลทหารม้ามาร่วมด้วย
กรมทหารราบที่ ๑๑ นั้นมีอยู่ ๓ กองพัน กองพันที่ ๑ และที่ ๒ ตั้งอยู่ในพระนคร ส่วนกองพันที่ ๓ ตั้งอยู่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา การเข้าตีพระบรมมหาราชวังครั้งนั้น กองพันที่ ๒ เข้าตีทางด้านใต้ คือด้านวัดพระเชตุพนและด้านตะวันออกตอนหน้าพระราชอุทยานสราญรมย์ ตอนหน้ากระทรวงกลาโหม ส่วนด้านเหนือทางประตูวิเศษไชยศรีใช้กองพันที่ ๑ ปล่อยแต่ทางด้านตะวันตกริมแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งมีทหารเรือยึดอยู่
พ.อ.เทียบ กรมสุริยศักดิ์ ซึ่งเป็นนายทหารคนแรกที่วิ่งเข้าประตูวิเศษไชยศรี และถูกประตูโดยแรงรถถังเบียดได้รับบาดเจ็บสาหัส ได้เล่าว่า
“คืนนั้นไม่ได้นอนทั้งคืน เข้าล้อมพระบรมมหาราชวังตั้งแต่ ๐๒.๐๐ น. ท่านจอมพลผิน ชุณหะวัณ ท่านจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์และนายทหารชั้นผู้ใหญ่บัญชาการอยู่หน้าศาลสถิตยุติธรรม พวกก่อการยิงต่อต้านจากเชิงเทินอย่างเข้มแข็ง เพราะมีใบเสมาเป็นที่กำบังอย่างดี ครั้งนั้นเป็นครั้งที่ใบเสมาได้ใช้การนับแต่สร้างมา และพบว่าการก่ออิฐถือปูนแข็งแรงมาก ทหารจะโจมตีด้วยอาวุธหนักก็ไม่สะดวกใจเพราะอยู่ในความมืด ห่วงปราสาทราชมณเฑียรจะเป็นอันตรายโดยไม่จำเป็น ท่านจอมพลถนอม กิตติขจร อยู่กับกองพันที่ ๑ หน้ากรมศิลปากร ได้ตัดสินใจเอารถถังชนประตูวิเศษไชยศรี แต่เมื่อส่งรถเข้าไปคันแรกก็ปรากฏว่าตายขวางประตูอยู่ รถถังคันใหญ่อีกคันหนึ่งเครื่องยนต์ก็ขัดข้องอยู่ที่หน้ากรมศิลปากร ท่านจอมพลฯเฝ้าคอยการแก้รถคันใหญ่ไม่ไปไหนเพราะจะใช้แสงสว่างก็ไม่ได้จะตกเป็นเป้า รอจนฟ้าสางจึงได้แก้สำเร็จทั้ง ๒ คัน เมื่อแก้สำเร็จแล้วท่านจึงได้ตัดสินใจยิงประตูวิเศษไชยศรีและพังเข้าไปดังกล่าวแล้วแต่ต้น ท่านเองนั้นวิ่งเข้าไปพร้อมกับรถทางปีกขวา และยึดวังหลวงคืนได้ในที่สุด”
ก่อนสั่งยิง จอมพลถนอมได้อธิษฐานว่า
“ขอเดชะ เนื่องด้วยข้าพระพุทธเจ้ามีความจำเป็นที่จะต้องบุกเข้าไปในพระบรมมหาราชวังเพื่อปราบราชศัตรู มีสิ่งใดไม่สมควร ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานอภัย”
จากนั้นก็ออกคำสั่งอย่างเด็ดขาด “ยิง!”
พอขาดคำ ปืนต่อสู้อากาศยานและปืนใหญ่ทหารราบซึ่งได้สั่งให้เตรียมพร้อมอยู่ ก็ลั่นเปรี้ยงออกไปยังประตูวิเศษไชยศรีทันที แล้วผู้สั่งก็เคลื่อนที่พร้อมกับรถถัง พุ่งไปยังประตูวิเศษไชยศรี
พลโทสมัย แววประเสริฐ เล่าเหตุการณ์ตอนนี้ไว้ว่า
“ภาพที่ปรากฏแก่สายตาที่ไม่มีวันจะลืมเลือนไปได้ชั่วชีวิตนั้น ก็คือการสั่งการอย่างเฉียบขาด และการนำอย่างกล้าหาญเด็ดเดี่ยวของท่านผู้บังคับการกรมทหารราบที่ ๑๑”
“ที่หมายเข้าตีประตูวิเศษไชยศรีตามข้าพเจ้า”
แม้ว่าในขณะสั่งการ เสียงจากการยิงของปืนใหญ่ทหารราบและเสียงเครื่องยนต์จากการเคลื่อนที่ของรถถังจะดังเพียงใดก็ตาม เสียงของความดังและความเด็ดขาดจากการสั่งการเคลื่อนที่เข้าโจมตีของท่านผู้บังคับการกรมฯ ทำให้ทหารทุกคนพร้อมที่จะเคลื่อนที่ หน้าตาของท่านผู้บังคับการกรมฯ ซึ่งเคยยิ้มแย้มแจ่มใสอยู่ตลอดเวลานั้น บัดนี้ไม่มีเหลืออยู่เลย เต็มไปด้วยความเหี้ยมเกรียม เอาจริงเอาจัง
สิ้นเสียงคำสั่งเข้าตี ท่านผู้บังคับการกรมฯ ก็ออกวิ่งนำตามรถถังซึ่งทำหน้าที่เป็นฉากกำบังทหารทุกคนที่พร้อมจะเคลื่อนที่ เมื่อได้เห็นท่านผู้บังคับการกรมฯ ออกวิ่งนำเช่นนี้ ทุกคนก็ออกวิ่งตามทันที การยิงประกอบกับการเคลื่อนที่ตามแผนการที่กำหนดไว้ เพียงชั่วโมงเศษฝ่ายกบฏก็ล่าถอยไป”
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งบัญชาการรบอยู่ได้ออกปากว่า
“หนอม นี่มันกล้าหาญเหลือเกิน”
ในหนังสือประวัติชีวิตจอมพลถนอม กิตติขจรได้กล่าวถึงตอนนี้ไว้ว่า
“เทพยดาที่รักษาเศวตฉัตรบันดาลให้ประตูเปิดออกได้โดยไม่ยากนัก ทั้งรถทั้งคนก็ตรูกันเข้าไปในพระบรมมหาราชวังอย่างกระเหี้ยนกระหือรือ มั่นหมายจะจับผู้ที่ทะนงองอาจไม่เกรงพระบรมเดชานุภาพในพระบาทสมเด็จพระจ้าอยู่หัว เข้ายึดพระบรมมหาราชวังไว้ในอำนาจของตน ทหารทั้งนายทั้งพลที่ดาหน้าเข้าไปวันนั้น ต่างคนต่างไม่คิดชีวิต ทุกคนยอมตายเพื่อราชบัลลังก์ เป็นเหตุให้พวกที่คิดประทุษร้ายแตกหนีถอยร่นไปอย่างไม่เป็นกระบวนทางทิศตะวันตก และออกทางประตูด้านนั้นหลบหนีไป
ตั้งแต่สร้างกรุงรัตนโกสินทร์มา ๑๖๗ ปี ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีเหตุเช่นนี้เกิดขึ้นในพระบรมมหาราชวัง ไม่มีใครรู้ว่าถ้าทหารไม่บุกเข้าให้ทันท่วงที อะไรจะเกิดขึ้น พวกผู้ก่อการร้ายคิดผิดในการยึดวังหลวงครั้งนี้ คิดว่าจะไม่มีใครกล้าบุกเข้าชิงเอากลับคืน เพราะเสียดายพระมหาปราสาท พระราชมณเฑียรสถาน และพระอาราม ตรงกันข้าม การยึดวังหลวงทำให้ความหายนะเกิดแก่ตนเร็วขึ้นเพราะทหารรู้เสียแล้วว่าตนจะต้องสู้กับใคร เพื่ออะไร พระมหาปราสาทก็ดี พระราชมณเฑียรสถานก็ดี พระอารามก็ดี เสียหายยับเยินหักพังไปก็สร้างใหม่ได้ ไม่ใช่ไม่เคยยับเยิน ทหารไทยไม่หลงวัตถุอันเป็นรูปธรรมถึงเพียงนั้น สิ่งที่ทหารไทยหวงแหนนั้นคือนามธรรม อันมีอิสรภาพของชาติ และพระบรมเดชานุภาพ เป็นข้อใหญ่”
กรมทหารราบที่ ๑๑ รักษาพระองค์ เป็นกรมทหารที่ตั้งขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๔๕ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นกรมทหารราบที่ ๒ ล้อมวัง กำหนดหน้าที่ให้รักษาการณ์เขตพระราชฐานชั้นนอก และโปรดเกล้าฯให้สถาปนาเป็นกรมทหารราบที่ ๑๑ รักษาพระองค์ขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๕๑ โดยมีสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) เป็นผู้บังคับการกรมพิเศษ แต่ได้ถูกแปรสภาพยุบลงในปี พ.ศ. ๒๔๗๐ สมัยรัชกาลที่ ๗ ไม่ได้เป็นกองทหารรักษาพระองค์ ถูกย้ายออกไปจากจังหวัดพระนคร แต่หลังปฏิบัติการณ์ครั้งนี้ กรมทหารราบที่ ๑ ก็ได้รับเกียรติกลับมาเป็นกรมทหารรักษาพระองค์อีกครั้ง
ส่วนผู้บังคับการกรมที่ ๑๑ ผู้สั่งถล่มกรุงรัตนโกสินทร์ ก็ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นรองผู้บัญชาการกองพลที่ ๑ และยังรักษาการณ์ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ ๑๑ ตามเดิม ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ก็ได้เป็นผู้บัญชาการกองพลที่ ๑
ไทยเราเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่และเข้มแข็งที่สุดชาติหนึ่งในเอเชียก็ว่าได้ ในยามที่เรามีความสามัคคีกัน ไม่เคยมีอริราชสัตรูที่ไหนมาย่ำยีได้ และในยามที่มหาอำนาจตะวันตกมาล่าอาณานิคมในย่านนี้ เราก็ใช้ปัญญาเอาตัวรอดปลอดภัยมาได้เพียงชาติเดียว เราจะเสียทีแก่ข้าศึกก็ต่อเมื่อแตกสามัคคีกันเท่านั้น กรุงรัตนโกสินทร์ถูกถล่มก็คนไทยเรากันเองอีกนั่นแหละ ยังดีที่ไม่ร้ายแรงเหมือนครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา