xs
xsm
sm
md
lg

อารมณ์ขันไม่มีวันตาย! "นิว พิมพ์พิชา" หัวเรือคนใหม่ในโลกขายหัวเราะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เรียกได้ว่าเป็นผู้บริหารรุ่นใหม่ไฟแรงที่เจริญรอยตามพ่อมาแบบติดๆ ชนิดที่ว่าลูกไม้หล่นไม่ไกลต้นเลยก็ว่าได้ สำหรับ "นิว-พิมพ์พิชา อุตสาหกิจ"ลูกสาวคนโตของ วิธิต อุตสาหจิต บรรณาธิการหนังสือการ์ตูนในเครือบรรลือสาส์น ผู้ก่อตั้งนิตยสารขายหัวเราะและมหาสนุก

ณ วันนี้ นิว-พิมพ์พิชา อุตสาหกิจ ได้กลายมาเป็นผู้บริหารหน้าใหม่ที่เข้ามามีส่วนช่วยคุณพ่อดูแลในด้านคอนเทนต์ใหม่ๆ อย่างเต็มตัว ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของ งานอีเวนท์ สติกเกอร์ไลน์ สื่อดิจิตอลต่างๆ

ถึงแม้ว่าการทำธุรกิจบนอารมณ์ขันดูจะเป็นงานยากและท้าทาย แต่สำหรับผู้บริหารสาวหน้าใหม่ที่มีดีกรีเป็นถึงลูกสาวบรรณาธิการกลับไม่ใช่เรื่องที่น่าหวั่นวิตกแต่อย่างใด ซึ่งเธอคาดหวังไว้ว่าทิศทางข้างหน้าต่อไปนั้น เธอจะสามารถต่อยอดและพัฒนาไปได้อีกเรื่อยๆ และไม่มีวันหยุดแน่นอน

• ฟังว่า หลายคนชื่นชมคุณด้วยถ้อยคำ “ผู้บริหารรุ่นใหม่ไฟแรง” แห่งบันลือกรุ๊ป

(ยิ้ม) เรื่องไฟแรงถือว่าเป็นคำชม และก็ขอขอบคุณนะคะสำหรับคำชมนั้น แต่นิวก็ยังรู้สึกเขินอยู่ที่จะรับคำชมนั้น เพราะจริงๆ ก็ยังไม่รู้ว่าตัวเองจะพัฒนาและนำพาบริษัทเราได้ไปถึงจุดไหนยังไง แต่นิวให้คำสัญญาไว้ว่านิวจะพยายามเต็มที่ เพราะตั้งแต่เด็กๆ คุณพ่อคุณแม่ก็สอนมาโดยตลอดว่าให้ทุมเทกับงาน ถ้าทำอะไรก็พยายามทำให้เต็มที่ ทำให้ดีที่สุด

• คุณพ่อบังคับให้เรารับสานต่อธุรกิจนี้หรือเปล่าคะ

จริงๆ เรียกว่าชอบมากกว่า คุณพ่อคุณแม่ไม่ได้บังคับเลยว่าจบมาตั้งมาทำอันนี้นะ นิวเป็นลูกคนโต ตอนเด็กๆ เราก็เห็นว่าคุณพ่อคุณแม่ก็เป็นคนขยันทำงานทั้งคู่ และพาเราไปเลี้ยงที่ออฟฟิศ นิวโตมากับโต๊ะ ปากกา กระดาษที่เป็นสนามเด็กเล่น และนิวก็อ่านได้เร็วกว่าเด็กวัยเดียวกัน เพราะนิวนั่งอ่านขายหัวเราะ อ่านจนจะหมดออฟฟิศ หรือไม่ก็อ่านจากต้นฉบับเลย มันทำให้เรามีทักษะการอ่านที่ดี พอมีทักษะการอ่านที่ดีแล้ว ทักษะการเขียนก็ตามมาด้วย และลามไปถึงการสนใจในสื่ออื่นๆ ด้วย ก็เลยเลือกเรียนที่นิเทศฯจุฬาฯ ก็ถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ไม่ผิด

เข้ามาแรกๆ ก็กดดันเหมือนกัน เหมือนกับว่าตอนที่เราเรียนหนังสือ เรารู้สึกว่าถ้าเราตั้งใจ มันก็จะอยู่ในขอบเขตของเราคนเดียว ตราบใดที่เราตั้งใจ เราก็ทำได้แน่ๆ ยังไงคะแนนก็ดี แต่พอมาทำงานจริงๆ มันมีปัจจัยอื่นเยอะมากที่ทำให้เราไม่สามารถควบคุมได้ทุกอย่าง และเราหาสูตรสำเร็จของมันไม่ได้ อย่างการเรียนหนังสือ ถ้าเกิดรู้อันนี้ คือทำได้หมดทุกข้อ แต่การทำงาน เราไม่สามารถหาสูตรสำเร็จได้เลย อย่างเรื่องอารมณ์ขัน ก็ไม่สามารถหาสูตรสำเร็จได้ เราต้องปรับตัวตามทุกอย่าง เพราะเรื่องเนื้อหา มันเป็นเรื่องของยุคสมัย ถ้าเราทำธุรกิจเกี่ยวกับเนื้อหา เราต้องมีการปรับตัวเรื่อยๆ อยู่แล้ว อันที่จริง ไม่ว่าธุรกิจอะไร ก็จะต้องปรับตัวอยู่เสมอ เป็นสิ่งที่นิว คุณพ่อ และทีมงานทุกคน ให้ความสำคัญและพยายามที่จะก้าวไปให้ไกลกว่าเดิมที่เราเคยอยู่ทุกวัน

• สำหรับตรงนี้ เราบริหารงานในส่วนไหนบ้างคะ

ก่อนหน้านี้ นิวจะเริ่มทดลองงานทีละส่วน ตอนที่เข้ามาใหม่ๆ ก็จะดูคอนเทนต์เยอะหน่อย แต่พอหลังๆ จะดูเรื่องการบริหารมากขึ้น เพราะรู้สึกว่าถ้าเราไม่ดู แล้วใครจะดู อีกทั้งเป็นงานที่คนอื่นทำแทนไม่ได้ และนิวเป็นคนที่เข้าใจทุกอณูของบริษัทมากที่สุดแล้ว จากที่นิวเรียนจบนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ มา ก็ค่อนข้างรู้ว่าทีมงานที่ทำคอนเทนต์ต้องผลิตคอนเทนต์ให้ดีอย่างไร แต่ก็มีไปเรียนบริหารธุรกิจมาจากอังกฤษด้วย เพราะฉะนั้น ก็จะมีมุมมองที่สามารถเชื่อมผู้บริหารได้ และเชื่อมกับทีมที่ทำคอนเทนต์ได้ว่า ในวงการธุรกิจต้องการแบบนี้ การผลิตคอนเทนต์ให้ได้คุณภาพต้องทำแบบนี้ เพราะฉะนั้นก็จะสามารถทำได้ทั้งตัวคอนเทนต์และบริหารได้

แต่หลังๆ ก็จะมาเน้นบริหารมากกว่า ทั้งหมดที่เรามีอยู่ในมือ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทต่างๆ เครือต่างๆ ทีมงานมืออาชีพต่างๆ เราสามารถเอาไปต่อยอดอะไรได้บ้าง หรือแม้กระทั่งพวกทรัพย์สินทางปัญญาของเรา พวกคาแร็กเตอร์ดังๆ อย่าง “ปังปอนด์” “หนูหิ่น” หรือบรรดานักเขียนที่เรามี เราสามารถเอาไปต่อยอดอะไรได้บ้าง ไม่ใช่แค่ในประเทศ แต่รวมถึงการพาคาแรคเตอร์ของเราไปต่างประเทศได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการขายลิขสิทธิ์ให้สำนักพิมพ์ต่างๆ หรือว่าการที่ปังปอนด์ได้รับการซื้อลิขสิทธิ์ไปฉายในประเทศจีน หรือไปฉายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในส่วนของคอนเทนต์ขายหัวเราะ มหาสนุก บรรลือสาส์น นิวก็เข้ามาช่วยดูด้วย แต่ยังคงต้องปรึกษากับคุณพ่ออยู่เรื่อยๆ เพราะคุณพ่อเป็นคนที่รู้ดีที่สุดว่าแฟนๆ ชอบอะไร นิวจะเข้าไปเติมเต็มในแง่ของการทำงานรูปแบบใหม่ๆ หรือการต่อยอดไปเป็นโปรเจ็คต์ทางธุรกิจอื่นๆ

• การทำธุรกิจบนอารมณ์ขัน มีความเครียดหรือซีเรียสอย่างไรบ้าง

เรื่องอารมณ์ขัน นิวเห็นว่า หนึ่ง มันไม่มีสูตรสำเร็จ สอง มันเป็นประสบการณ์ร่วม เหมือนตอนที่นิวเข้ามาทำงานใหม่ๆ ก็จะมีความเครียดว่า เราพยายามจะให้ “ขายหัวเราะ” ขำกี่เปอร์เซ็นต์ เยอะๆ เท่ากันทุกหน้า ซึ่งในความเป็นจริง มันไม่ได้ เพราะคนอ่านแต่ละคนเขามีประสบการณ์กับแต่ละเรื่องไม่เหมือนกัน อย่างเช่น โจรมุมตึก ถ้าคนที่อินกับการเล่นกับมุม การเล่นกับสิ่งที่ยังไม่เคยเห็นมาก่อน อีกมุมหนึ่งของตึกมันคืออะไร เขาก็จะอินกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ

สิ่งที่เราทำก็คือสร้างความสมดุล ให้มีส่วนผสมของความฮาทุกรูปแบบเข้ามาไว้ในเล่มเดียวกัน ให้พอดี มันอาจจะไม่จำเป็นต้องฮาทุกหน้า แต่อาจจะมีบางหน้าที่อ่านแล้วอมยิ้ม อ่านแล้วรู้สึกดี หรือบางหน้าก็ขำไปเลย บางหน้าใส่มุกแบบโจ๊ะๆ หน่อย และส่วนผสมเหล่านี้เมื่อมารวมกันแล้ว ต้องทำให้อ่านรู้สึกว่าเป็นส่วนผสมที่คนทั่วไปรับได้ เพราะเราเป็นหนังสือที่ใครๆ ก็อ่านได้ เป็นความฮาสามัญประจำบ้านของคนไทย เพราะฉะนั้น เราจะไม่สามารถโฟกัสไปได้ว่าเป็นความฮาที่กลุ่มนี้ชอบเท่านั้น แต่เป็นความฮาที่คนทั่วๆ ไปรู้สึกว่าอ่านแล้วชอบ

• ปัจจุบัน โลกหนังสือกระดาษถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีออนไลน์มากขึ้น เรามีวิธีรับมือกับตรงนี้อย่างไรบ้าง

ตอนนี้เราถือว่า เราเป็นผู้สร้างสรรค์เนื้อหาที่วางตำแหน่งตัวเองว่า บันลือกรุ๊ป ไม่ได้เป็นสื่อประเภทใดประเภทหนึ่ง แต่เราสามารถสร้างเนื้อหาได้หลายรูปแบบ แล้วพาเนื้อหาของเราไปอยู่ในทุกช่องทาง ในทุกแพลตฟอร์มได้หมด เรารู้สึกว่ามันเป็นการต่อยอดจากรากเดิมที่แข็งแรงของเราไปสู่สื่อใหม่ๆ

• มีอะไรที่เป็นกังวลหรือมองว่าเป็นความเสี่ยงหรือเปล่าคะ

เรื่องความเสี่ยง คิดว่าเป็นเรื่องของช่องทางและเทคโนโลยีมากกว่า ว่าเราจะใช้มันอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเรื่องความชอบของคนที่เราต้องไวมากๆ มุมมองต้องเปิดกว้าง เราต้องอัปเดทตัวเองตลอดเวลา และอยู่ให้ได้นาน ส่วนเรื่องโอกาสของธุรกิจขำขัน คิดว่ายังมีอยู่มาก เพราะโดยพื้นฐานสังคมไทย มีบริบทที่ชอบเรื่องอารมณ์ขันอยู่แล้ว แล้วก็มีเรื่องของความบันเทิงรื่นเริงแฝงอยู่ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นงานบุญ งานบวช งานวัด งานอีเวนท์ หรือแม้แต่โฆษณา สื่อที่คนชอบเสพก็ยังเน้นอารมณ์ขันส่วนมาก

ดินแดนแห่งอารมณ์ขัน จริงๆ มันกว้างมาก และไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่ยังมีในต่างประเทศด้วย เรามองว่าเรื่องอารมณ์ขันมันเป็นเรื่องสากลที่ทุกคนสามารถขำเรื่องเดียวกันได้ ถ้าเราสามารถข้ามพ้นกำแพงเรื่องภาษาและวัฒนธรรม ซึ่งขายหัวเราะเองก็มีหลายแก๊กที่สามารถเล่นได้โดยที่คนต่างชาติก็เข้าใจ อีกอย่างหนึ่งคือเรามองว่าอารมณ์ขันที่เป็นเอกลักษณ์ของเรา จริงๆ แล้ว โดยตัวอารมณ์ขัน มันยังสามารถเป็นสื่อได้ด้วย หมายความว่า ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหา มันสามารถสื่อสารอะไรก็ตาม ทำให้เนื้อหามันเบาลงและคนเปิดใจรับได้มากขึ้น อย่างเช่นคาแร็กเตอร์ปังปอนด์ไปเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้องค์กรรัฐและเอกชน เพื่อเข้าถึงกลุ่มเด็กๆ

องค์กรรัฐต้องการสอนเด็กๆ เรื่องไข้เลือดออกป้องกันอย่างไร ถ้าเอาหนังสือไปให้เขาอ่านเลย เด็กไม่เปิดรับแน่นอน แต่พอปังปอนด์เป็นคนพูด ทุกคนก็จะรู้สึกว่ามันน่าจะสนุกเพราะปังปอนด์เป็นตัวละครที่ใครๆ ก็รู้จักและเป็นมิตรมากๆ อีกทั้งการใช้อารมณ์ขันเป็นสื่อในการสอน เด็กๆ ก็จะรู้สึกสนุกไปกับเนื้อหานั้นได้ หรือการที่หนูหิ่น ไปเป็นพรีเซ็นเตอร์ด้านการเงินของบริษัทการเงินแห่งหนึ่ง เพื่ออธิบายให้คนทั่วไปเข้าถึงเรื่องของการกู้ยืม ดอกเบี้ย หรือเปอร์เซ็นต์ ซึ่งด้วยคาแร็กเตอร์ของหนูหิ่นที่ซื่อๆ เป็นมิตร จริงใจ ทำให้ทุกคนรู้สึกว่าถ้าเรื่องนี้หนูหิ่นเข้าใจได้ เราก็เข้าใจได้ การนำเสนอในรูปแบบความฮา ทำให้คนเปิดรับและค่อนข้างได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจมากๆ เพราะรู้สึกว่าคาแร็กเตอร์และอารมณ์ขันของเรามันเหมาะมากที่จะเป็นสื่อ ออกไปสู่ทุกคน เพราะฉะนั้น มันอยู่ที่วิธีการใช้มากว่า ว่าเรามองออกหรือเปล่า ใช้เป็นหรือเปล่า
คุณพ่อวิธิต อุตสาหจิต บรรณาธิการหนังสือการ์ตูนในเครือบรรลือสาส์นและลูกสาวนิว พิมพ์พิชา อุตสาหกิจ
• ถ้ามองแบบเปรียบเทียบ หนังสือในยุคบุกเบิกหรือรุ่นคุณพ่อ กับยุคใหม่ที่คุณนิวเข้ามาบริหาร แตกต่างกันอย่างไรบ้าง

แตกต่างมาก อย่างเทคโนโลยีที่เข้ามา ก็ทำให้เราต้องปรับตัวไปสู่หลากหลายช่องทางมากขึ้น อย่างเทรนด์ของคนอื่นหรือผู้ชมค่อนข้างเปลี่ยนไป เมื่อก่อนทางเลือกในการเสพสื่อ ก็จะมีน้อยกว่านี้ มีแค่โรงหนังไม่กี่โรง หรือทีวีไม่กี่ช่อง พอตอนนี้มีสื่อออนไลน์เข้ามา ทำให้คนมีทางเลือกที่หลากหลายขึ้น และการเปิดรับวัฒนธรรมจากต่างประเทศก็เพิ่มมากขึ้นด้วย แต่ทางเรามีการปรับตัวอยู่เสมอเพื่อให้ตามทันว่าคนกำลังชอบอะไรหรืออินอยู่กับอะไร

ในความคิดเห็นของนิว มันจะมีความต่าง เช่น ในด้านความขำ คนจะยังขำกับอะไรที่ขอบเขตกว้างๆ คือเราโฟกัสที่มิติความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นยุคไหนก็ตาม มันเหมือนกันคือ ถ้าเรารู้ว่ามิติของมนุษย์เป็นอย่างไร และเข้าใจเขา เช่น เราแซวอาชีพหมอ เราจะเข้าใจมิติความเป็นหมอ เราพลิกมุมมอง คลิกถูกจุดว่าเราล้อตรงนี้แล้วขำ ตรงนี้จะยังเหมือนเดิม คือคนไม่ได้เปลี่ยนไป ตราบใดที่นักเขียนเราสามารถหามุมองดีๆ ของมนุษย์ได้ แต่ส่วนที่เปลี่ยนไปคือความสนใจของคนมันกระจายหลากหลายมากขึ้น มีทางเลือกมากขึ้น เพราะฉะนั้น เมื่อเขามีทางเลือกมากขึ้น เราก็ขยายทางเลือกให้ไปอยู่ในทางเลือกของเขา พัฒนาเนื้อหาและพยายามใกล้ชิดกับชีวิตประจำวันของคนอ่านมากที่สุด

• ล่าสุด เห็นว่าพาปังปอนด์และหนูหิ่นไปให้ชาวต่างชาติได้รู้จัก และชาวต่างชาติให้ความสนใจเป็นพิเศษ เรามองตรงนี้อย่างไรบ้างคะ

คิดว่าปัจจุบัน โลกของคาแร็กเตอร์ค่อนข้างเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เหมือนกัน เมื่อต้นปี นิวไปงานที่ฮ่องกง พบว่าโลกของคาแร็กเตอร์เป็นโลกที่กว้างใหญ่มาก คือมันสามารถไปอยู่ได้ทุกที่จริงๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อของการเรียนการสอน บนสินค้าทุกอย่าง อยู่ที่ว่าเราจะสามารถนำพาคาแร็กเตอร์เราไปได้ไกลแค่ไหน

“ปังปอนด์” เป็นตัวละครที่นิวใช้คำว่า มีความเป็นที่สนใจในต่างประเทศ แตกต่างจากตัวอื่น ในแง่ที่ว่าทุกคนสามารถสนุกกับปังปอนด์ได้ ขำกับปังปอนด์ได้ ปังปอนด์เข้าถึงคนต่างประเทศได้ เพราะเขาเข้าใจความเป็นปังปอนด์ แต่หนูหิ่นจะไปในลักษณะของการเป็นตัวคาแร็กเตอร์ประจำถิ่นของไทยมากกว่า เพราะหนูหิ่นมีความเป็นอีสาน และเป็นอะไรที่คนต่างประเทศอาจจะไม่เข้าใจ คนอาจจะไม่เข้าใจว่าทำไมหนูหิ่นต้องพูดอีสาน ทำไมสำเนียงไม่เหมือนคนอื่นๆ เขาไม่เข้าใจ แต่ถามว่าเวลาเขาคิดถึงคาแร็กเตอร์ไทย เขาก็นึกถึงหนูหิ่น เพราะเขารู้ว่ามันแปลก ไม่เหมือนตัวอื่นๆ ในต่างประเทศ คาแร็กเตอร์ของเราทุกตัว จะมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันออกไป ตัวหนึ่งดีด้านหนึ่ง อีกตัวหนึ่งก็ดีอีกด้านหนึ่ง

• สุดท้าย คาดหวังอย่างไรบ้างกับทิศทางข้างหน้า

อันนี้เป็นการต่อยอดทางธุรกิจ เรามีการออกมาสู่ช่องทางใหม่ๆ เช่น ไปเป็นรายการทีวี หรือเป็นอีเวนท์ เป็นหนัง เป็นแอนิเมชั่น เราเข้าใจว่าทางเลือกในการเสพสื่อของคนเยอะขึ้น แต่เราก็ขยายของเราไปทุกอัน เช่น การจัดอีเวนท์ก็เป็นการเข้าหาคนกลุ่มใหม่ที่เป็นวัยรุ่น เมื่อเรารู้ว่าช่องทางไหนที่เราสามารถไปอีกได้บ้าง และเป็นช่องทางที่สามารถครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่ม

อย่างนิทรรศการ ก็แน่นอนว่าได้กลุ่มคนกลุ่มหนึ่งแน่ๆ ที่เป็นกลุ่มแฟน “ขายหัวเราะ” กลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือว่าการที่หนูหิ่นและปังปอนด์ไปตามอีเวนท์ ไปตามโรงเรียนเยอะมาก ปีหนึ่งไปเป็นร้อยๆ โรงเรียน คือเข้าไปหาเด็กๆ ในโรงเรียน บางทีจะมีแบรนด์ต่างๆ ที่เข้ามาทำการตลาดกับเราด้วย เช่น พาเด็กๆ ล้างมือ เด็กๆ จะไม่ลืมเขา เพราะเขาไปใกล้ชิดกับคน หรือนำไปทำเป็นไลน์สติ๊กเกอร์ ก็ทำให้คนรุ่นใหม่สนใจ และตัวขายหัวเราะเองก็มีการปรับปรุงเนื้อหาอยู่เสมอ เพื่อให้ทันสมัย เราจะมีแก๊กกระแส หรือแก๊กอะไรที่คนทั้งรุ่นใหม่ก็ชอบ ทั้งรุ่นเดิมก็ชอบ เราพยายามปรับตัวและสร้างความสมดุลในจุดนี้เข้าด้วยกัน เราก็วางแผนไว้หลายอย่าง ทั้งต่อยอด พัฒนาไม่หยุด


เรื่อง : นงนุช พุดขาว, สุนิสา ศรีสุข
ภาพ : พงษ์ฤทธิ์ฑา ขวัญเนตร

กำลังโหลดความคิดเห็น