xs
xsm
sm
md
lg

จับนางสีดามายังกรุงลงกาแห่งความป๊อป! “เดอะ รู๊บ” กับเพลงเศร้าที่ฮิตสุด ณ ตอนนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อาจจะมีไม่บ่อยครั้งนัก ที่เพลงไทยสมัยนิยมจะมีกลิ่นอายของทำนองแบบไทยมาเป็นส่วนผสมของบทเพลง แต่ “เดอะ รู๊บ” (The Rube) วงดนตรีจากค่ายสไปร์ซซี่ ดิสก์ ได้ทำสำเร็จแล้ว ด้วยซิงเกิล ‘I’m Sorry (สีดา)’ เพลงป็อปส่วนผสมดนตรีและวรรณคดีไทยเรื่องรามเกียรติ์ และกวาดยอดวิวบนยูทูปไปแล้วเกือบร้อยล้านวิว!

จากการรวมตัวของรุ่นพี่-รุ่นน้องเอกดนตรีสากล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ที่ผ่านการเปลี่ยนแปลงสมาชิกมาหลายรุ่น จนมาลงตัวที่ เก๊ท-ศิวพงษ์ เหมวงศ์ (ร้องนำ), จุ๊บ-ธีรวงศ์ วัฒนาจารุพงศ์ (กีตาร์), น๊อต-ทรงพล ศรีสะอาด (เบส) และ เจน-ณัชรพงศ์ วัฒนาจารุพงศ์ (กลอง) ซึ่งพวกเขาก็ผ่านการค้นหาตัวตนอยู่นานพอควร ก่อนจะมาลงเอยด้วยสไตล์ที่เขาเรียกว่า Thai Modern Tradition ซึ่งได้พิสูจน์ตัวตนผ่านซิงเกิลดังกล่าวจนเป็นที่ยอมรับอยู่ในขณะนี้

• จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น คิดว่าเกิดจากอะไร

ศิวพงศ์ : ก็ไม่คิดว่าทุกคนจะอินตามถึงขนาดนี้ครับ ผมว่าสิ่งที่ทำให้คนอินจนเกิดปรากฎการณ์คือการที่เราเอามาเล่าใหม่ในแบบที่คนเข้าใจได้ง่ายกว่า อย่างเช่น เราใช้ภาษาที่เล่าเป็นวัยรุ่น แต่ในสัดส่วนที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยเหมือนเดิม และอีกอย่างก็คือ เราอยู่ในพื้นฐานดนตรีที่เป็นป็อปน่ะครับ แนวดนตรีมันสามารถเข้าถึงกลุ่มวัยรุ่นทุกคนอยู่แล้ว แม้ว่าก่อนหน้านี้ อาจจะมีเร็กเก้เข้ามา แต่ทุกวันนี้เพลงเพราะก็ยังเป็นเพลงเพราะ ไม่ว่ายุคใดสมัยใด เทรนด์ก็จะเป็นเช่นนี้ แต่เราแค่เพิ่มกลิ่นเข้าไป เพลงนี้เป็นกลิ่นของวรรณคดีไทย

• คือคุณกำลังจะบอกว่า ทางวงเป็นตัวแทนในการแปลงสารให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น

ศิวพงศ์ : ผมคิดว่าเรื่องราวเอกลักษณ์ที่เรามีอยู่ ทั้งเรื่องวัฒนธรรมและวรรณคดี ผมว่ามันเจ๋งมาตั้งแต่ก่อนแล้ว แต่ถ้าตีความ เช่น กลอนแปด ขุนช้าง ขุนแผน หรือ รามเกียรติ์ที่เป็นวรรณคดีรวมทั้งหมดพันกว่าหน้า คงไม่อ่านหรอกครับ หรืออย่างเราไปนั่งดูโขน ผมอาจจะซึมซับเรื่องของการแสดง เรื่องของแสง เรื่องของไฟ แต่ถ้าจะให้ดูจนจบเรื่อง ต้องดูเป็นปีเลยนะ และเราก็ไม่น่าจะสามารถอินกับเนื้อเรื่องได้ครบอยู่แล้ว ถ้าเราไม่ต้องใช้คำที่โบราณจนเกินไป ที่วัยรุ่นเข้าใจได้ง่าย ผมว่าก็มีโอกาสที่คนจะอินตามนะ แต่ผมไม่ได้บอกว่าเป็นคนแปลงสารนะครับ เรื่องพวกนี้มันดีอยู่แล้ว เราแค่แบบว่า...เราฟลุกที่ทำมันดังขึ้นมาได้ (หัวเราะ)

ทรงพล : คือพวกเรามีหน้าที่ที่หยิบตรงนี้มาทำให้คนได้เข้าใจได้ง่ายขึ้น เราแค่ฟลุกตรงนี้ คนเสพแล้วมองเห็นภาพ ทั้งเอ็มวีและเพลง ทั้งความหมาย และเข้าใจในแนวป็อปที่เราสื่อ ครอบคลุมได้หมด ทุกเพศทุกวัย เข้าใจได้ง่าย

ณัชรพงศ์ : อย่างบางคนที่ไม่เข้าใจ ก็ยิ่งทำให้เขาอยากจะรู้เรื่องราวว่าต้นตอและเนื้อเรื่องมีความเป็นมายังไง ประมาณนั้นครับ ทำให้วัยรุ่นไทยยุคใหม่กลับมาสนใจเรื่องราววรรณคดีไทยได้มากขึ้น บางส่วนจะงงว่า สีดาคือใคร มันมีเรื่องราวหลายๆ อย่าง ที่ทุกคนกลับไปขุดคุ้ย แล้ววัยรุ่นก็อินไปกับเราด้วย เด็กผู้ใหญ่ก็ชอบ

• หลายคนอาจจะยังไม่รู้จักวง อยากให้ช่วยเล่าถึงการก่อของวง The Rube นี้หน่อยครับ

ศิวพงศ์ : พวกเราเป็นศิษย์พี่ศิษย์น้องที่ราชภัฎจันทรเกษม เอกดนตรีสากล ซึ่งผมอายุมากสุด รองลงมาก็น็อต จุ๊บ และเจน (น้องชายของจุ๊บ) จริงๆแล้ว เราก็เคยเจอในการทำงานเบื้องหลัง ต่างคนก็เล่นดนตรีกลางคืนกันคนละวง คนต่างคนก็มีโอกาส ต่างคนก็ต่างทำเพลง อย่างบางคนก็เคยมีผลงานมาก่อนหน้านี้บ้าง จนกระทั่งวันหนี่ง ผมกับจุ๊บที่ต่างคนต่างวงแตก ในระยะเวลาที่ใกล้ๆ กัน ก็มารวมตัวกัน และสมาชิกก็ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปครับ ตอนแรกสุด พวกเรามาในฐานะศิลปินหน้าใหม่ของ spicy disc จากโครงการของ melody of life ครั้งที่ 7 เราก็ได้เข้ารอบชิง ปรากฏว่าได้ที่ 2 เลยมีโอกาสได้ทำอัลบั้มร่วมกันแล้วเอาเพลง ‘ทางไกลใจใกล้กัน’ ซึ่งเป็นเพลงที่ประกวดมาทำเป็นซิงเกิล แต่กระแสก็เงียบ และยังไม่ประสบความสำเร็จ จนสมาชิกทุกคนก็ถามว่าจะยังไงต่อ เพราะทุกคนก็ไม่ใช่เด็กๆ แล้ว ทุกคนมีภาระ คือตอนนี้ทำเพื่อตอบสนองปัญหา คือทำเพราะอยากเป็นศิลปิน บางคนก็เริ่มถอนตัวออกไป

จนมาซิงเกิลที่ 2 เราก็ทำกันเองเหมือนเดิม แล้วก็ทำแบบรูปแบบเดิม ก็มีสมาชิกบางคนถอนตัวออกไปอีก ไปเป็นนักดนตรีเบื้องหลังกันเยอะ และเป็นเรื่องของปากท้องด้วยครับ เพราะเราก็ไม่ใช่คนรวย มาจากต่างจังหวัดกันหมด ถึงได้ชื่อวงนี้ แล้วเราก็มานั่งคิดกันว่ามันไม่เวิร์กนะกับสิ่งที่เราทำอยู่ เราต้องการสร้างอะไรใหม่ๆ ที่ไม่ไปซ้ำใคร

แล้วบังเอิญคนรอบข้างเขาจะรู้ว่าผมจะเป็นแบบแนวไทยๆ เลย เพราะที่บ้านผมจะเป็นลักษณะนี้ พ่อจะให้เราไปร้องแนวนี้ ซึมซับอยู่แล้ว แถมผมจะเล่นมุกแบบนี้ที่บ้านด้วย แบบช่วงที่ประชุมกัน ก็จะมีร้องแบบไทยเดิมบ้างเพื่อแซวเพื่อน แกล้งไปเรื่อย แล้วโปรดิวเซอร์ของวงเรา (เป้-บดินทร์ เจริญราษฎร์นักร้องนำวงมายด์)) ก็จับเอกลักษณ์ แล้วบอกว่า ทำเหอะ ทำเลย แบบนี้แหละ ซึ่งเราก็จะงงว่าทำยังไง ซึ่งโดยปกติ เขาจะมีรูปแบบของเขาเอง ที่จะรู้เลยว่าเกี่ยวกับมายด์แน่นอน แต่วันนั้นเขาบอกเลยว่าอยากเปลี่ยน อยากได้คำศัพท์แบบโบราณ มีอะไรบ้าง ช่วยเขียนให้หน่อยแบบที่เขาต้องการ จนวันหนึ่ง เขาก็เริ่มสร้างสิ่งที่เราเรียกว่า แนว thai modern traditional ก็เลยได้มาทำงานในลักษณะนี้ขึ้นมา

• แล้วที่มาของเพลง ‘I’m Sorry (สีดา)’ นี่เป็นยังไง

ศิวพงศ์ : คือต้องย้อนไปเพลงซิงเกิลแรกสุดเลย พี่เป้เขาให้มา 2 เพลง คือเพลง I’m sorry กับอีกเพลง ซึ่ง 2 เพลงนี้เราคิดว่า มันเป็นเพลงโคตรฮิต อย่างเวลาจะมีการขายเพลง พี่เป้จะบอกประมาณว่ากูมีเพลงโคตรฮิต ตีคอร์ดแล้วร้องให้ฟัง คือไม่ได้ขายแค่เพลงเดียวนะ ขายเป็นสิบเพลงเลย แต่จะแต่งแค่ท่อนฮุค อย่างเพลง I’m sorry เขามีแค่ท่อนฮุค แล้วให้เราเลือกว่าจะเอาเพลงไหน เพื่อนผมเลือกเพลง “ทางไกลฯ” แต่แกให้หมดเลย เพราะเป็นเพลงที่เหลือใช้จากวงมายด์ แต่ตอนนั้นยังไม่เสร็จนะครับ จนผมไลน์หาจุ๊บแล้วบอกว่า กูต้องเอาเพลงนี้ว่ะ เพลงนี้ฮิตแน่ๆ

พอวันต่อมา เราก็เขียนท่อนต่างๆ จนจบเพลง และก็มาทำเดโมกัน แต่ก็เก็บไว้ยังไม่ออก จนวันที่เราก็มานั่งคุยอีกครั้ง ผมรู้สึกว่าเสียดายว่าถ้าเราปล่อยเพลงตั้งแต่ตอนแรกสุดไปแล้ว มันก็ดังไปแล้วหรือเปล่า ด้วยความมึนงง เราก็เอาเพลงนี้มาฟังอีกครั้ง และด้วยความที่มันนานมาแล้ว ผมก็เลยไปส่งใหม่ แล้วมาฟังและคิดใหม่ว่าถ้าจะดึง 2 เพลงนี้กลับมาอยู่ในเกมของเรา เราจะทำไงดี สรุปคือเป็นการด้นครับ เราต้องใส่ท่อนที่เป็นไทยเข้าไป แต่ว่าจะใส่ยังไง ซึ่งที่บ้านจะมีกีต้าร์หลักอยู่ตัวหนึ่ง ก็จับมาเล่น จากนั้นก็จัดการอีกรอบ ตีคอร์ดมา ซึ่งจุดกำเนิดในการทำอีกครั้งคือยอยศพระลอ คือเนื้อจะมาประมาณ “โอ้ว่าเอย” ประมาณนี้ มีคำหลักแบบนี้ก่อน คือเป็นคีย์เวิร์ดที่เป็นการด้นคำ

พอกลับบ้านไป เราก็คิดถึงท่อนนี้ แล้วค้นหาคำว่าพระราม พระลักษณ์ และหนุมาน สรุปคือรามเกียรติ์ แล้วชื่อเพลงจะมีแค่ชื่อเดิม แต่จะยังไม่มีส่วนที่เป็นไทยเลย แล้วมีตัวหลักอย่างที่บอกแล้ว เราก็มาดูว่าเรื่องราวความรักตรงไหนบ้าง ฉะนั้น เราก็ดูตั้งแต่ต้นเรื่อง ยันจบเลย แล้วพอใกล้จบ เราก็ไปสะดุดตอนที่สีดาลุยไฟ คือเรามาดูแล้ว ใช่เลยอ่ะ ดูไปเรื่อยๆ ตามง้อ ตามขอโทษ ก็เรียบร้อยสิครับ ก็เริ่มยัดใส่ไปก่อน ซึ่งตอนแรกจะมีหลายเวอร์ชั่น แล้วท่อนนี้หลายเวอร์ชั่นครับ ซึ่งผมเสนอแค่เรื่องนี้ไป เล่าเรื่องช่วงหลังจากตีกรุงแตกไปจนจบเรื่องให้พี่เป้ฟังว่าเป็นแบบนี้นะ นี่คือที่มาที่ไปของเพลงนี้

พอมาถึงช่วงที่เราเขียนเพลงตอนแรก เราจะเอาแค่ช่วงตอนสีดาลุยไฟ แต่พี่เป้บอก ไม่ได้ ต้องเล่าให้หมด ซึ่งมันยากมาก ไล่มาตั้งแต่ช่วงตอนเลย คือเนื้อเรื่องมันยาวมาก ก็เขียนส่งๆ ไป จนพอได้แบบที่ดีที่สุด ก็เริ่มมีการทำงาน คือเริ่มทำกันแล้ว จนพอได้เนื้อเพลงเสร็จ พี่เป้ก็เริ่มทำคอร์ดก็เริ่มมีเครื่องดนตรีไทย ทำปากก่อน ตรงนี้เป็นซอนะ แต่ยังไม่ได้บอกว่าเป็นซออะไร ก็เลือกเสียงว่าใช้ซออู้มันน่าจะหวานกว่า จนกลายเป็นโครงเพลง พอมาในส่วนของวงก็เพิ่ม arrange เพลงเข้าไป สุดท้ายก็มาเปลี่ยนท่อนฮุคดาวน์ให้กลายเป็นไทยเดิม

• เรียกได้ว่าต้องลงไปคลุกกับวรรณคดีเรื่องนี้เลยทีเดียว

ศิวพงศ์ : ใช่ครับ เราต้องดูให้หมด ไม่งั้นจะมั่ว แต่มันจะมีวิธีลัดคือ ดูผ่านทางอนิเมชั่นครับ คือมันจะไม่มีอะไรที่เพ้อเจ้อ แต่ได้เพิ่มเติมตรงคำที่สนุกสนาน เนื้อเรื่องจะละเอียด คือเขาสามารถเล่าอะไรก็ได้เพราะเป็นการ์ตูน ผมดูรามเกียรติ์ มินิไอดอลประมาณ 2 ครั้ง ดูวนไปประมาณเป็นสัปดาห์ได้ครับ และต้องหาข้อมูลหลายๆ ที่ เพื่อมาวางให้ตรงกัน บางฉบับก็บอกว่า ฟันแล้วเป็นพวงมาลัยไม่มี แต่ก็มีการถกเถียงกัน เราก็บอกว่ามี ก็มีดราม่าอยู่ แต่สุดท้ายเราโชคดีที่ไม่ได้ผิดพลาดในบางจุด เราไม่ได้ขุดที่ลึกมาก ซึ่งบางคนอาจจะขุดลึกมากเกินไป ซึ่งเพราะวรรณคดีนี้มันมีหลายเวอร์ชั่นมาก ทั้ง รัชกาลที่ 2 บางคนก็บางตอน มีแก้บ้าง เหมือนสามก๊กน่ะครับ เลยได้เพลงนี้ขึ้นมายาวเลย

• ในระหว่างที่ทำเพลง มีความกังวลหรือเปล่ากับสารที่เราพยายามสื่อออกมา

ศิวพงศ์ : แน่นอนครับ กังวลเพราะ หนึ่ง มันเป็นการเพ้อ คือผมฟังก็ขนลุกไปคนเดียวด้วยนะ หลังจากที่ผมกับพี่เป้ทำเสร็จเรียบร้อย ผมก็เปิดให้ทั้งวงฟัง ทุกคนยังนิ่งและยังไม่เข้าใจว่าทำอะไร ยังไม่อินเลย เพราะยังเป็นแค่เดโมด้วย ทุกอย่างยังไม่เป็นเพลงที่มันเพราะ เป็นอะไรที่ถ้าคนอินก็อิน เพราะหนึ่ง เขาอ่านเนื้อเรื่อง แต่ไม่รู้เรื่องหรอก อยู่ดีๆ ก็มาเฉยเลย ฟังไม่ทัน ไม่รู้เรื่อง คนจะฟังแค่ท่อนฮุคที่มันโชว์นิดนึง และควรจะอินแบบว่า ในสัดส่วนของไทยเดิม จะเป็นแบบแร็ป แต่เราร้องแบบเอื้อน ทุกคนจะงงเลยว่า มึงเล่าเรื่องอะไรวะเนี่ย ก็เลยจะได้ไปย้อนตามว่า I’m sorry สีดา คืออะไร ซึ่งตอนแรกพี่เต่า (เจน มโนภินิเวช : มือกีตาร์วงมายด์) ยังสั่งเลยว่า ให้เปลี่ยนภาษาใหม่หมดเลย เพราะเขามองว่ามันจะไม่มีใครฟัง เพราะทุกคนไม่รู้เรื่องพวกนี้หรอก อย่างเราอินเพราะเราศึกษา แต่ถ้าคนฟังแบบเด็กๆ ไม่น่าจะมีใครอิน ถึงขนาดให้เปลี่ยนเป็นอีกภาษานึงเลย แล้วเราทำไปแล้ว แบบใช้ภาษาใหม่เลย แต่สุดท้าย เอาเหมือนเดิมเหอะ ทุกอย่างผ่านกระบวนการทางความคิดหมด จนผลสุดท้าย เราก็เอาเวอร์ชั่นนี้ แล้วก็มาวัดว่าจะมีคนฟังมั้ย ดูว่ามีคนฟังหรือเปล่า ไม่เอก็เอฟล่ะวะ (หัวเราะ)

• แต่ผลลัพธ์ กลับไม่ได้เอฟ

ณัชรพงศ์ : ผมก็ไม่ได้คิดว่าจะมาไกลได้ขนาดนี้เหมือนกันครับ เราคุยกันตลอดว่า เออมาไกลมาก ซึ่งแต่ก่อน หวังไว้แค่ล้านวิวนี่ ลุ้นแล้วลุ้นอีก แต่พอมาเพลงนี้ ขึ้นหลักสิบล้านได้ ปลื้มมากเลย ซึ่งถ้าเกิดได้เป็นเพลงแห่งปีนี่ จะขอบคุณมากครับ (หัวเราะ) แต่จริงๆ แล้ว ก่อนที่เราจะออกไป เรามี 5 เพลง เป็นมินิอัลบั้ม แต่แค่เลือกเพลงนี้เป็นเพลงแรก

ศิวพงศ์ : สิ่งแรกเลย ต้องขอบคุณค่าย ที่นอกจากตัวเพลงที่เขาเคยฟังอยู่แล้ว สิ่งแรกที่เขาประทับใจและเหวอขึ้นมาคือมิวสิควิดีโอ ซึ่งมันเป็นอะไรที่ดีเกินคาด หลายคนอาจจะมองว่ามันน่ากลัวกับสารที่สื่อออกไป ตอนแรกเราคิดไว้ว่าจะใช้หุ่นละครแต่เอาคนจริงเล่น ใช้โทนสีแบบแฟชั่นหมด เราได้พี่ทีมงานที่เป็นมืออาชีพเข้ามาช่วย ตอนแรกเรากลัวว่าสิ่งที่เราวาดไว้กลัวว่าจะเป็นยังไง แต่พอไปดูตอนถ่ายทำนี่คือร้องอุทานเลย เพราะมันเป็นแฟชั่นหมด อย่างในส่วนของการแต่งหน้าและคอสตูมจนไปถึงหน้ากาก พอเราเห็นในภาพรวมว่าภาพสวยมาก แต่ยังกังวลว่าจะเป็นยังไงอยู่ พอมาช่วงตัดต่อนี่คือดีมาก ทุกอย่างจะผสมแบบกึ่งแฟนตาซีนิดนึง จนเราพูดไม่ถูก ซึ่งแน่นอน อาจจะวังเวงไปหน่อย แต่ถ้าสังเกต เราจะผสมแฟชั่นเข้าไปครับ อย่างที่บอก สีสันต่างๆ พอปล่อยปุ๊บ ทางโปรดิวเซอร์เราโทรมาถามเลยว่า เย็นนี้เล่นที่ไหน ไปไหนต่อ ก็มาที่บ้าน ก็น้ำตาซึมๆ ไป แม่งเจ๋งว่ะ พอถึงช่วงปล่อยเอ็มวี นั่งกินข้าวอยู่ ทุกคนหยุดเลย ดูจนจบ และภูมิใจว่ามันออกมาได้ขนาดนี้ แต่ไม่รู้ว่ามันจะมาไกลได้ขนาดนี้ แค่ปลื้มกันเอง อย่างน้อยๆ ก็เจ๋งมากนะ

• ในขณะเดียวกัน การปล่อยเพลงนี้มา ก็ทำให้คนฟังเริ่มสนใจรสชาติไทยๆ มากขึ้น

ศิวพงศ์ : ใช่ครับ สิ่งแรกคือคนเริ่มไปขุดคุ้ยเรื่องรามเกียรติ์เยอะมาก จะมีส่วนนึงถามว่า ความหมายคืออะไร แล้วทุกคนก็ไปตีความกันเอง เราก็กลัวว่าทุกคนอาจจะเข้าใจไปว่ามันคืออะไร แล้วทุกคนก็ไปขุดคุ้ยว่าเรื่องมันเป็นอย่างนี้นะ บางคน พอเพลงเป็นกระแสแบบนี้ปุ๊บจะต้องไปศึกษาขึ้นมา แต่บางคนก็ไปค้นหาในกูเกิล แล้วเรื่องราวไม่ละเอียด บางคนก็อาจจะยังงงอยู่ หรือบางทีเราอาจจะใบ้คำว่าลองไปดูแบบนี้นะครับ เผื่อได้เรื่องราวที่มันละเอียด เพราะบางคนก็จะแบบเป็นตัวจริงมาเลย ประมาณเด็กเอกไทยมาเลย ก็จะเกิดการถกเถียงกันเป็นเรื่องราวที่จะดราม่าเข้ามา สนุกสนานกันไป บางคนก็หลังไมค์เข้ามาว่าขอบคุณที่นำเสนอมา ทำดีมากเลย ได้ทำให้คนกลับมาสนใจ

ทรงพล : อีกอย่างเราก็พยายามที่จะไม่ยัดจนเกินไป ให้คนฟังรู้สึกว่ายัดอะไรเนี่ย เราก็ไม่ใส่เยอะจนเกินไปจนคนฟังว่าไม่ใช่ พยายามลดทอนให้มันพอดีมากที่สุด ให้คนฟังรู้ว่ามีแค่นี้พอแล้ว ให้เขาไปตามต่อเองได้

• แสดงว่าการใส่ดนตรีท้องถิ่นในเพลงสมัยนิยม ก็ถือว่าเป็นบทพิสูจน์อีกครั้งที่ทำให้คนชอบและยอมรับได้

ศิวพงศ์ : ผมว่าคนไทยยังไงก็เป็นคนไทยนะ ซึ่งก็มีที่เรากังวลในตอนแรก แต่ตอนนี้มันคลายมากเลยนะ ผมเชื่อว่าทุกคนอิน ทุกคนรักสิ่งนี้หมด ในเอกลักษณ์และศิลปะของเรา แต่ทุกคนไม่แสดงออก ซึ่งพอเรามองในนี้ ตอนแรกน้อยใจนะ แต่พอแบบฝรั่งมาภูมิใจแทน เราก็ดีใจนะ ผมว่าทุกคนภูมิใจและดีใจ แต่พอมาถึงจุดนี้ จุดประกายปุ๊บ ทุกคนก็พยายามที่จะไปศึกษามัน ไปทำให้สามารถทำได้ อย่างเพื่อนผมที่เป็นนักร้อง ก็พยายามที่จะร้องแบบไทยเดิมให้ได้ เข้ามาถามเราว่าต้องร้องยังไง เลยทำให้เขารู้สึกจุดไฟเพื่อสิ่งนั้นขึ้นมา แล้วมีประเด็นนึงคือ ศิลปะแบบนี้มันไม่ใช่อะไรที่ไร้สาระหรือโบราณ เชย แต่มันกลับกลายเป็นสิ่งที่มีคุณค่าขึ้นมา มากกว่าสิ่งที่ทุกคนไปตามกระแสจากประเทศอื่นๆ

• คล้ายกับว่าเป็นคนนำเทรนด์ให้กับพวกเขาด้วยมั้ย

ศิวพงศ์ : มันมีประเด็นนี้ ผมไปตามนะ บางคนจะชอบพูดว่า เพลงนี้เป็นจุดเริ่มต้นของเพลงวรรณดคี แต่ก็มีคนมาแย้งว่ามันก็มีเพลงในลักษณะนี้มาก่อนแล้วนะ คือทุกคนทำกันมาเยอะมาก แต่ของเราจะเรียกว่าฟลุกดังมากกว่าครับ กลายเป็นว่าทุกคนจับเพลงเราและมาทำตามเป็นเทรนด์ ไม่ใช่ว่าเราจะเป็นผู้นำขนาดนั้น ซึ่งมองมุมนี้มาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เพราะว่าถ้าเราจะมองในการเป็นผู้นำ ก็คงในแง่ของการนำเอาเอกลักษณ์ในศิลปะการร้องของไทยมาผสมผสานมากกว่า แนวเพลงของเราคือ modern traditional ซึ่งผมมองว่ายังไม่มีใครผสมผสานแล้วประสบความสำเร็จแบบเรา เราเป็นผู้นำในด้านนี้มากกว่า เช่น การร้องไทยเดิมในสัดส่วนของฮิปฮอปและอาร์แอนด์บี และต่อไปอาจจะมีแนวทางอื่นมาผสมเข้ามา นี่คือเราสามารถมั่นใจที่จะพูดได้ว่ายังไม่มีใครทำ แต่ก่อนหน้านี้ อาจจะทำแล้วเฟลหรืออาจจะมีมาก่อนแล้ว แต่ยังไม่มีคนรู้ก็ได้

• จากความสำเร็จของเพลงดังกล่าว เราจะนำพาตัวเองต่อไปอย่างไร

ศิวพงศ์ : แน่นอนครับ อย่างที่เห็นกันครับ หลายคนก็พูดอย่างที่ผมคิดแหละ เราเป็นศิลปินโนเนมแล้วมีเพลงที่ดังขึ้นมา ซึ่งถ้ามองในมุมของคนที่ทำงานมานานๆ แล้ว ที่ทำงานหนัก แต่ก็มีคนบอกว่าเดี๋ยวก็ดังเพลงเดียว ผมว่ามันต้องมีกรณีนี้อยู่แล้ว เพราะว่ามุกที่จะเล่ามันมีแค่นี้ แล้วทุกคนทำเยอะมาก เช่นว่า เรารอดในอัลบั้มนี้ ต่อไปจะทำไง แต่จริงๆ เราคิดตลอดเวลาครับ แต่ของไทยไม่ได้มีแค่วรรณคดีอย่างเดียวนะ เราอาจจะมีอะไรให้เล่นได้เยอะแยะเลย ซึ่งอาจารย์ที่เป็นหัวหน้าภาคที่สาขาเรา ท่านกำลังวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับดนตรีท้องถิ่นอยู่ ซึ่งเอาเข้าจริง ดนตรีท้องถิ่นในบ้านเราเยอะมากเลยนะครับ มีหลายอย่างครับที่เล่นได้ แต่ต้องลองไปศึกษาดู เพราะเครื่องดนตรีในบ้านเรามีเพียบเลยครับ ผมเชื่อว่าไม่หมดหรอก


เรื่อง : สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช
ภาพ : พลภัทร วรรณดี และ ค่าย Spicy Disc

กำลังโหลดความคิดเห็น