xs
xsm
sm
md
lg

เก่งและแกร่ง “ครูหนิง-พันพัสสา” คนไทยเพียงหนึ่งเดียวใน The Actors Studio นิวยอร์ก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพความทรงจำแห่งความรุ่งเรืองของลิปซิงค์โชว์ ที่เคยรุ่งเรืองจนถึงกล่าวได้ว่าเป็นยุคทองของ “การแสดงคาบาเรต์โชว์” นั้น กำลังจะกลับมาให้ได้ยลโฉมกันอีกครั้ง ใน “Day Young Show” ละครเวทีเรื่องใหม่ที่จะเรียกเสียงฮือฮาเหล่านั้น ให้กลับมามีชีวิตชีวาตรงกลางฟลอร์อีกครั้ง ผ่านการกำกับการแสดงที่มากประสบการณ์ โดย “ครูหนิง-พันพัสสา ธูปเทียน” คนไทยเพียงคนเดียวที่เป็นสมาชิกของ The Actors Studio สถาบันการแสดงที่ขึ้นชื่อระดับโลก ที่มีสมาชิกอย่าง Al Pacino, Julia Roberts หรือ Jack Nicholson เป็นต้น

จากเด็กสาวผู้รักในศาสตร์ละครเวทีอย่างสุดใจ ที่ฝ่าความกลัวและอุปสรรคมาทั้งหมดทั้งมวล ไล่มาตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยไปถึงเรื่องใหญ่มาก แต่ก็สามารถก้าวข้ามปัญหาเหล่านั้นมาได้ด้วยผ่านการกำกับการแสดงละครเวทีมามากมาย ทั้งในและนอกประเทศ และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังกับคนรุ่นใหม่ ผ่านสถานะอาจารย์ภาควิชาการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ที่น่าจะสร้างบุคลากรในศาสตร์นี้ได้ต่อยอดให้กับวงการละครเวทีไทย ไปไม่มากก็น้อยเลยทีเดียว

ความทรงจำของนางโชว์ จะกลับมาอีกครั้ง

“ที่มาที่ไปของละครเวทีเรื่องนี้ก็คือ เรารู้จักพี่เดย์ ฟรีแมน (อารยาอิสรีย์ เอกอุชุกร : นักแสดง) จากการเป็นนางโชว์ในตำนาน เมื่อประมาณ 5-6 ปีก่อน เราทำละครชื่อ The Four Sister ซึ่งเป็นเรื่องของคนญี่ปุ่นที่อยู่ในเมืองไทย แล้วพล็อตเรื่องมันเกี่ยวกับชีวิตของนางโชว์ ที่เกิดเรื่องว่าบาร์กำลังจะปิดแล้วจะทำยังไงให้บาร์นี้อยู่ต่อไป เราก็เลยรู้สึกว่าเราต้องวิจัย ดังนั้น เราจึงติดต่อพี่เขาเพื่อที่จะขอสัมภาษณ์ และทำการบ้านว่าชีวิตของพวกเขาเป็นอย่างไร ตรงนั้นทำให้เรารู้จักพี่เดย์ แล้วทำให้เรารู้ว่าพี่เขาเป็นนางโชว์ที่มากความสามารถมาก

ขณะที่หนึ่งในนักแสดงของเรา คือพี่กราฟ (สัญญพงศ์ อัคณัฐพงษ์) ผู้เป็นเจ้าของบริษัท ดัง สิบ ทิศ ก็ติดใจประเด็นเรื่องพี่เดย์ พอวันหนึ่ง พี่กราฟเขาจะทำโปรดักชั่นของตัวเองขึ้นมา ก็เลยรู้สึกว่าอยากทำโชว์แรกโดยเอาพี่เดย์เป็นตัวหลัก เราจึงมารวมตัวกัน ด้วยคิดว่าถ้าเราเล่าเรื่องราวของพี่เขา ควรจะมีองค์ประกอบอะไรบ้าง ที่จะทำให้คนดูได้อรรถรสของนางโชว์เยอะที่สุด เราก็เลยแบ่งเป็นพาร์ตๆ ตามชีวิตของพี่เดย์

“อย่างในพาร์ตเรื่องความรัก เราก็คิดถึงผู้ชายที่จะมาเป็นตัวแทนของพี่เดย์ ก็มาจบที่แท็ก (ภรัณยู โรจนวุฒิธรรม) เขาเป็นผู้ชายในฝันของกะเทยทั้งหลาย แล้วเขามีลักษณะคล้ายๆ แฟนเก่าของพี่เดย์, พาร์ตที่เกี่ยวกับความเป็นแม่ เพราะพี่เดย์เขามีลูก คืออุปถัมภ์หลาน แต่เลี้ยงเหมือนลูกเลย เรามองในความเป็นแม่ของเขา ซิงเกิล มัม (Single Mom) เลยมาลงตัวที่พี่ดี้ ชนานา (นุตาคม) แล้วเอาความเป็นแม่ของเพศหญิงกับพี่เดย์มาเจอกัน, พาร์ตของแก๊งนางโชว์ ก็จะมีโจทย์งอกมาอันหนึ่ง คือ พี่เดย์ เคารพ อ.เสรี วงษ์มณฑา มาก เพราะดูแลเกื้อกูลกันมา โดยมันมีคำจากพ่อพี่เดย์ที่บอกว่า ถ้าจะเป็นกะเทย ก็ต้องประสบความสำเร็จให้ได้ แล้ว ดร.เสรี เป็นคนดี มีความรู้ และดำเนินชีวิตอย่างที่ทุกคนให้ความเคารพ พี่เดย์ก็เลยสนิทกับท่าน แล้วอยากให้อยู่ในโชว์ด้วย แถมมี ดร.เสรี อยู่ในพาร์ตของนางโชว์ด้วย

“ส่วนพาร์ตสุดท้ายคือพาร์ตที่เราโยงโจทย์ว่า พี่เดย์ไม่ได้ดังจากการร้องลิปซิงค์เป๊ะเท่านั้น แต่มีความครีเอตมาก พอเพลงมา เขาก็สามารถที่จะตีความใหม่ ไปวิพากษ์สังคม สร้างตัวละครใหม่ ทำอะไรที่มันเป็นดาร์ก คอเมดี้ (Dark Comedy) คือไม่ใช่แค่ตลกอย่างเดียว มันเสียดสีและสะท้อนอะไรบางอย่างในความเป็นสังคมไทย ซึ่งพาร์ตนี้จะมีเพลงโจทย์ให้พี่เดย์ แล้วให้พี่เขาไปตีความมาในแต่ละรอบ มันก็จะต่างกันออกไป เพื่อจะดูว่าทักษะนางโชว์ของพี่เดย์นั้นเป็นอย่างไร

เราอยากให้นิยามของนางโชว์ยุคนั้นใหม่ คือนางโชว์ยุคนั้น เขาฝึกกันหลายเดือน ศึกษาคาแรกเตอร์ตัวละครและเคารพในศาสตร์ของตัวเองมาก โชว์เสร็จกลับบ้านเลย ไม่ดื่ม ไม่รับทิป ไม่ลงมาอยู่กับแขก แล้วในขณะโชว์จะไม่มีมารับเงิน แซวคนดู คือเขารู้สึกว่าเขาเป็นนักแสดง แล้วถ้าไม่เป๊ะจริง เขาไม่ให้ขึ้นโชว์ จะไม่ใช่แบบว่าตลกโปกฮาไปเรื่อยๆ ซึ่งเรารู้สึกว่าอันนี้คือสิ่งที่นางโชว์หลายๆ คนเขาเลิกโชว์ เพราะพอมันเปลี่ยนไป เขาก็ไม่ยอมรับกฎกติกาใหม่ๆ ที่มันเกิดขึ้นในยุคนี้ แล้วเรารู้สึกว่าเขาเป็นศิลปิน ไม่ว่าคุณจะเพศอะไร หรือโชว์ที่ไหน จะอยู่ตรงไหน แต่ถ้าคุณศรัทธาในสิ่งที่คุณทำ เราก็เรียกคุณว่าศิลปิน เราจึงอยากทำงานกับเขา และอยากให้ทุกคนได้เห็นมุมนี้

“อีกอย่างพี่เดย์เป็นนางโชว์ที่อยู่ในโรงดัง ซึ่งโรงหรือผับดังกล่าว ก็ไม่ได้เข้ากันง่ายๆ จะเข้าได้เฉพาะเกย์เท่านั้น ค่าเปิดขวดต่างๆ ก็แพง แล้วผู้หญิงที่จะเข้าได้คือดารานางแบบเท่านั้น แล้วเขาต้องการเจาะ เพราะว่ามันเป็นศาสตร์นะ มันแพงนะ ถ้าคุณอยากดู มันไม่ใช่แค่ดูกันง่ายๆ นะ อันนี้คือสิ่งที่พี่เขาแชร์ให้เราฟัง เพราะเราก็ไม่ทันยุคนั้น แต่เวลาที่เขาพูดถึงมัน เขาจะมีความภาคภูมิใจ เขาพูดด้วยความเคารพและศรัทธาในสิ่งที่เขาทำ เราถามเขาว่าการตัดสินใจเลิกโชว์นั้น เขาทำใจได้ไง แล้วจะอยู่ต่อไปได้ยังไง เพราะนี่คืออาชีพเขา เขาบอกว่าเขายอมลำบากดีกว่าที่จะไปทำในสิ่งที่เขารู้สึกว่าทรยศต่อศาสตร์ของตนเอง แต่เวลาดูเขาโชว์ มันก็มีส่วนที่ตลกโปกฮา เหมือนดูลิเกลำตัด มันก็มีตามธรรมชาติอยู่แล้ว แต่มันไม่ได้มาง่ายๆ มันมาจากการฝึก แล้วเขาบอกว่า กว่าที่จะได้ขึ้นไปโชว์ ต้องได้รับเลือก ต้องพิสูจน์ตัวเอง แล้วเราเห็นสิ่งเหล่านี้อยู่ในแววตาเขา ในความภาคภูมิใจ ศักดิ์ศรี และสิ่งนี้ คือสิ่งที่เราอยากถ่ายทอด”

ฝ่าความกลัวด้วยศาสตร์แห่งละคร

“เราเป็นคนช่างคิดอยู่แล้ว ตอนเด็กก็ชอบอ่านหนังสือ ชอบเขียน เขียนบทละครต่างๆ มาตั้งแต่เด็ก แต่เราเป็นคนขี้อาย แล้วพอมาเข้ามหาวิทยาลัย (คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ก็ไม่กล้าเรียนละคร ก็เลยไปเข้าวรรณคดีอังกฤษในตอนแรก แต่ว่าก็แอบไปลงเรียนวิชาพื้นฐานละคร ซึ่งก็เป็นตัวเดียวที่ได้เอ (หัวเราะ) ซึ่งตอนที่เรียนเอกแรกนั้น เราเรียนหลักภาษาต่างๆ วิธีที่เขาสอนเราคือ 1+1 เท่ากับ 2 คนเขียนเขาคิดแบบนี้ แล้วให้เราจำและไปตอบ ทุกอย่างโดนตีความหมดแล้ว แล้วเกรดออกมาก็ไม่ดี จนอาจารย์เรียกไปคุยว่าทำไมคะแนนเป็นแบบนี้ เราก็บอกว่าเราไม่เข้าใจ คนที่เขียนก็ตายไปตั้งนานแล้ว รู้ได้ยังไงว่าเขาเขียนแบบนี้ ซึ่งในเชิงวรรณคดี มันมีหลักในการตีความของเขาอยู่ แต่เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่ที่ของเรา ไม่สนุกกับความคิดนั้น แต่อาจารย์ที่ปรึกษาบอกว่า วิชาเดียวที่ได้เอคือละคร เพราะฉะนั้น ท่านก็บอกเหมือนกัน คือเขาพูดในทำนองว่า ไปเหอะ (หัวเราะ)

“เราก็เลยย้ายเอก ถึงแม้ว่าจะจบช้าก็ตาม แล้วมันแลกมาก จากที่ทุกข์ทรมานเวลาไปเรียน โดดกระจาย แต่พอมาเรียนละคร เขาบอก 10 เราทำ 100 คือถ้าเราอินมันจะสนุก เราก็ทำเต็มที่ แล้วละครมันสอนให้เรารู้จักและยอมรับตัวเอง ซึ่งนี่สำคัญมาก แล้วพอเราผ่านมันมาได้ ความขี้อาย ความกังวล ความกลัวผิด หรือความกลัวคนที่จะมองว่าเป็นยังไง มันก็หายไป มันก็โอเคขึ้น แคร์น้อยลง แล้วก็รู้สึกว่า แค่นี้มันก็ทำให้เราได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขแล้ว นี่คือละครมันให้เรามากกว่าวิชาชีพ

“ส่วนองค์ประกอบรอบข้างก็มีส่วนค่ะ คือหลักสูตรละครในเมืองไทยคือการเอาละครตะวันตกมาเรียน ดังนั้นมันก็ทำให้มุมมองเรากว้างขึ้น เวลาเรียนบทละคร เราจะได้เรียนรู้กับชีวิตที่หลากหลายพื้นที่ และทำให้เราเรียนรู้ที่จะมองต่างมุม มองตัวละครในมุมนี้มุมนั้น แล้วมันทำให้เราเข้าใจคนรอบข้างหรือชีวิต หรือวิเคราะห์วิพากษ์สิ่งรอบตัวให้กว้างและเป็นกลางขึ้น มันเซฟวิธีคิดเราเยอะ

อย่างในยุคเรา มันก็ไม่ได้ไกลจากยุคพ่อแม่เราเท่าไหร่ คือเข้าหาแหล่งข้อมูลด้วยการอ่านจากหนังสือ การวิ่งไปห้องสมุด ซึ่งมันก็ได้อีกบรรยากาศหนึ่ง มันให้ความรู้สึกว่า มันขลังจังเลย การที่เอาตัวเองไปจมอยู่ตรงนั้น หนังสือกองเต็มไปหมดเลย แล้วเราต้องพยายามทำความเข้าใจกับมัน ใช้จินตนาการค่อนข้างสูง เพราะแหล่งข้อมูลก็เป็นตัวหนังสือซะส่วนใหญ่ อาจจะมีภาพถ่ายที่มากับหนังสือ แต่ไม่ได้มีเยอะ แล้วก็จะเป็นภาพขาวดำ มันทำให้เรารู้สึกว่า เราได้สนุกกับการสร้างสรรค์ท่าทาง เพราะเราเริ่มจากศูนย์ แต่เมื่อเทียบกับวัยของลูกศิษย์ที่เราสอน เรารู้สึกว่ามันท้าทายเขานะ เพราะพอมันเห็นเยอะแล้วมันจะประยุกต์กับสิ่งเหล่านั้นยังไง จะเอาจากที่เราเห็นจากกูเกิล ที่เราเห็นโปรดักชั่นทั้งโลกเลย อย่างฉากหรือการออกแบบมันก็ทำแล้ว สิ่งที่ท้าทายเด็กยุคนี้ คือ “ออริจินัล เวิร์ก” (Original Work) มันยังมีอยู่มั้ย เพราะมันถูกถาโถมเข้ามาหมด เมื่อก่อนเราก็ไม่เคยรู้เหมือนกันว่าคนอื่นก็เคยทำแบบเดียวกับเรา เราก็ไม่รู้เลย คือมีทั้งข้อดีและข้อเสีย เด็กเดี๋ยวนี้ข้อมูลเยอะ ซึ่งเข้าถึงง่ายมาก คลิกเดียว อยากจะดูอะไรก็ดูได้เลย ทุกอย่างมันเร็วมาก สะดวกมาก แต่ความท้าทายก็คือเวลาที่เขาคิดมากเองแล้วต่อยอดจากสิ่งเหล่านี้ เขาก็คิดหนักเหมือนกัน

“ช่วงสมัยเรียน ถือได้ว่าดูละครเยอะเหมือนกัน เปรียบประมาณว่าชอบหนัง เราก็ดูหนัง เพราะฉะนั้น เราก็อยากรู้ว่าคนอื่นเล่าเรื่องยังไง เขาเล่นยังไง บทเป็นยังไง ซึ่งมันก็สนุกและได้เรียนรู้ไปในตัว พอไปเมืองนอกก็เหมือนกัน คือทำละคร ดูละคร พอเราทำในสิ่งที่ชอบ เราก็ไม่รู้สึกว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ ยุคนั้นเราจะตามดูทั้งกลุ่มพระจันทร์เสี้ยว กลุ่มมายา กลุ่มแดส กลุ่มมรดกไทย เป็นต้น คือยุคเรามันเป็นยุคของละครเชิงสังคมเยอะ ส่วนในระดับมหาวิทยาลัย ก็มีแต่ก็ไม่เยอะแบบทุกวันนี้ หลักๆ ก็จะมีแค่จุฬาฯ และธรรมศาสตร์ เราก็มีไปดูของจุฬาฯ ตอนนั้น อ.สดใส (พันธุโกมล) ก็กลับมาทำละคร เราก็ตามไปดู

“แนวละครในช่วงเวลานั้นมันก็หลากหลายนะ ถ้าเป็นในระดับมหาวิทยาลัย มันจะนำเสนอละครในเชิงเรียลิสติกหรือสมจริงค่อนข้างเยอะ เพราะเขานำศาสตร์จากเมืองนอกผ่านครูมา แต่ละครที่อยู่นอกมหาวิทยาลัย จะเป็นกลุ่มที่ได้อิทธิพลจากกลุ่มละครที่เข้ามาเวิร์กชอปในเมืองไทย คือกลุ่มนอกเขาจะไม่ได้เรียนในรั้วมหา’ลัย ก็จะเป็นละครเชิงการเมืองหรือวิพากษ์ต่างๆ แล้ววิธีการเล่าเรื่องมันก็จะเป็นอีกแบบ จะเป็นแบบพูดกับคนดูโดยตรง หรือทำเป็นโครงสร้าง ประกอบฉากขึ้นมา ที่เขาเรียกว่า non realistic คือเป็นละครที่สะท้อนจุดมุ่งหมายปัญหาบางอย่าง ก็มีหลากหลายค่ะ แต่ขึ้นอยู่กับว่า แต่ละที่จะได้รับอิทธิพลจากอะไร”

นิวยอร์กให้ประสบการณ์ชีวิต

หลังสำเร็จการศึกษาปริญญาตรี ระหว่างที่รอรับปริญญา พันพัสสาได้ทำละครเรื่องแรกเพื่อนำไปเป็นผลงานประดับในการศึกษาต่อ และงานชิ้นนี้ก็ประสบความสำเร็จ โบยบินสู่มหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ต่อยอดเส้นทางละคร...

“จริงๆ เรารับปริญญาปุ๊บก็ไปเลย แต่ช่วงเวลาระหว่างรอ เรารู้สึกว่าน่าจะทำละครสักเรื่อง และเป็นผลงานเพื่อไปที่นั่นด้วย เลยทำละคร ร.6 แสดงที่หอสมุดแห่งชาติเก่า ซึ่งเป็นโรงละคร ร.6 ที่พื้นมันเอียงอยู่ เพราะเมื่อก่อนเขาทำมาเพื่อผู้ชมข้างหลังมองเห็น มันยังเป็นยุคที่ยังไม่มีอะไรมาช่วยในเรื่องบล็อกกิ้งได้ เราก็รู้สึกว่าได้ทำละครที่ไทยแท้ๆ แล้วพอไปสมัครเรียนที่นั่น ทางนั้นเขาก็สนใจว่า ละครในช่วงสมัยรัชกาลที่ 6 มันคืออะไร ซึ่งเขารู้สึกว่ามันดีที่เราไม่ได้ทิ้งรากเหง้าของตัวเอง เพราะหลักสูตรเรามันเรียนตะวันตกอยู่แล้ว เขาก็เห็นว่าการเรียนการสอนก็ไม่ได้แตกต่างจากเด็กฝรั่ง แล้วพอเขาเห็นงานที่เป็นไทยๆ เขาก็รู้สึกว่ามันมีอะไรที่จะมาแชร์กัน คล้ายกับว่าประยุกต์ ซึ่งตอนนั้นคือเราทำแค่เรื่องเดียว ก็ไปเรียนต่อเลย และไปทำละครที่นั่น

“เราสมัครสอบที่นี่ที่เดียวเลย (The Actors Studio) เพราะเราชอบที่นี่ แล้วก็หาข้อมูลค่อนข้างเยอะ จนเราศรัทธาที่นี่ ก็เลยเลือกที่เดียว ต่อมาเราก็เข้าไปคุยกับเขาว่าเราอยากเรียน เขาก็แปลกใจแหละว่ามายังไง ตอนนั้นคะแนนภาษาอังกฤษที่จะเรียนละครมันต้องสูงมาก สมัยก่อนคะแนนโทเฟลต้อง 600 คะแนน ซึ่งถือว่าโหดมาก แล้วคะแนนเราก็ขาดไปไม่ได้เยอะมาก แต่ก็ยังไม่ถึงอยู่ดี ซึ่งตามหลักเกณฑ์ เขาจะยังรับไม่ได้ แล้วทางโรงเรียนภาษาก็บอกว่าต้องเรียนให้จบหลักสูตร ซึ่งเราก็ต้องเสียเวลาไปอีกเทอมหนึ่ง ค่าเรียนก็เป็นแสนนะ กว่าจะเข้าโรงเรียนเขาได้ แต่เราคุยกับเขาว่าเราอยากเรียนมาก เขาก็หัวเราะและถามว่าพร้อมเหรอ เราก็บอกว่าพร้อมและเรียนได้ เขาบอกถ้ายูแน่ใจ ยูก็มาเลย เราก็แบบ...ได้ด้วยเหรอ (หัวเราะ)

ความรู้สึกเราในตอนนั้นคือน้ำตาเอ่อเลยนะ อยากเรียนมาก แต่ก็ต้องทำงานด้วยค่ะ เพราะที่บ้านก็ไม่ได้ร่ำรวยอะไร ไปอยู่ที่นั่น ทำงานทุกวัน ทำจนเป็นผู้จัดการร้านอาหาร ในแต่ละวันหลังจากเลิกเรียน เราทำงานถึงเที่ยงคืน เก้าโมงเช้าก็ไปเรียน เรียนเสร็จก็ไปทำงาน ทำแบบนี้ทุกวัน คือมันหนักแต่เรารู้สึกว่าถ้าเขารับเรา มันก็จะไปเรียนได้เร็ว จะได้รีบจบ เพราะค่าเรียนมันแพง แต่เขาก็ให้ทุนนะ เพราะผลการเรียนเราก็ดีขึ้นเรื่อยๆ จากภาษาที่ดีขึ้น คะแนนเราก็สูงเป็นท็อป เขาก็ให้ทุนประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของค่าเรียน มันก็ช่วยได้เยอะ

ช่วงชีวิตตอนอยู่นิวยอร์กค่อนข้างโหด เพราะมันเป็นอเมริกันจ๋าเนอะ แถมเราเป็นผู้หญิงที่เรียนกำกับการแสดง เราเข้าไปคลาสแรก ไม่มีใครเล่นให้เราเลยนะ เขาให้หาคนที่มาเล่นละครให้ มันจะมีนักแสดงประมาณ 40 กว่าคน ผู้กำกับมี 8 แต่ไม่มีใครเล่นให้เลย เพราะเราก็พูดกับเขาไม่ค่อยรู้เรื่อง แล้วเขาก็แบบว่า อีนี่เป็นใคร เป็นผู้หญิงและคนเอเชียด้วย แถมอายุก็เพิ่งจบปริญญาตรี ซึ่งคนอเมริกันส่วนใหญ่จะเป็นแบบอายุเยอะนิดนึงแล้วไปเรียนต่อโท ตอนนั้นคือไม่ได้รับการยอมรับ ต้องใช้เวลาพิสูจน์ตัวเองหนักมาก แล้วฟังที่เขาพูดไม่ทันอีก โหดมาก แล้วก็หางานทำด้วย ไปเดินสมัครตามร้านอาหารทุกวัน ก็ไม่มีใครรับเพราะเราไม่มีประสบการณ์ จนมาร้านสุดท้าย หลังจากที่ผ่านมากว่ายี่สิบร้าน เขารับทำงาน แต่ทำหน้าที่แค่เช็ดโต๊ะกับล้างห้องน้ำ ห้ามคุยกับแขกและเสิร์ฟอาหาร เพราะยังทำไม่เป็น เงินก็ได้น้อยมาก ช่วงแรกนี่คือหนักเลย ชีวิตหนักมากแต่ก็เปลี่ยนตัวเองเลยนะ เพราะทำให้เราโต พอเวลาผ่านไปสักพัก ในเรื่องเรียน พอเราพิสูจน์ตัวเองได้ งานก็ออกมาดี เพื่อนก็ค่อยๆ ให้การยอมรับมากขึ้น ตอนหลังก็โอเค ใช้เวลาประมาณหนึ่งเทอมได้ แล้วโรงเรียนแห่งนี้เขาจะเน้นแบบเรียนปฏิบัติหมด เรียนตั้งแต่ 9 โมง ถึง 4 โมงเย็น เพราะฉะนั้นมันจะเห็นกันตลอด แล้วงานเราออกมาก็โอเค ตอนหลังเลยเป็นคนเดียวที่ได้เอ

ในแง่ความพยายาม เราก็ถือว่าหนักกว่า ต้องมีเทปบันทึกเสียงตลอดเวลา เพราะฟังและจดไม่ทัน เราก็ต้องอ่านไปก่อน จากนั้นก็ไปเปิดพจนานุกรมตาม ต้องทำการบ้านเยอะมากเพื่อที่จะเข้าใจ อย่างในคลาสช่วงแรกๆ คือมันไม่ใช่วิชาจด แต่เป็นวิชาที่ทำแล้วเล่นเลย เรายังไม่รู้เลยว่าเขากำลังพูดอะไรกัน (หัวเราะ) โหดมาก แต่พอไปอยู่ที่นั่นก็พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ทั้งการฟังการพูด หลังจากนั้นเพื่อนก็จะมาแบบ...ยู กำกับงานให้หน่อย ซึ่งมันเป็นยุคแรกๆ ที่คนไทยยังไม่ค่อยไปเรียนละครเท่าไหร่ เราก็ไม่ได้มีเพื่อนที่ร่วมสาขาวิชาชีพอะไร เป็นคนไทยคนเดียวที่ไป

“ส่วนวุฒิภาวะถือว่าโตขึ้นมากเลย คือเราไปในช่วงเหตุการณ์ 911 ซึ่งวันเกิดเหตุ เราเดินไปเรียนปกติ แล้วตึกมันอยู่ตรงหน้าเรา เพราะว่ามันคือถนนสายเดียวกับโรงเรียน ตอนนั้นสงสัยว่ามันคือควันอะไร แล้วรถทุกคันมันหยุดหมดเลย เป็นภาวะแช่แข็ง แล้วทุกคนไปในจุดเดียวกัน บางคนก็ร้องไห้ เราถาม เขาก็บอกว่าเครื่องบินมันชนตึก นั่นคือลำแรก เราก็งงว่าเกิดอะไรขึ้น ก็รีบไปที่โรงเรียน เขาก็พาทุกคนไปที่ตึก เขาบอกว่าเด็กต่างชาติให้โทร.กลับที่บ้านได้เลย บอกว่าสถานการณ์เป็นยังไง แล้วอย่าเพิ่งไปไหน ให้อยู่ตรงนี้ก่อน สักพัก คนก็กรี๊ดกร๊าดโวยวาย แล้วก็บอกว่า เครื่องบินลำที่ 2 ชน เราก็รู้แล้วว่าไม่ใช่อุบัติเหตุ เรารู้สึกสงสารคนที่อยู่บนตึก เพราะว่ามันชนสูงมาก ไฟก็ไหม้ แล้วมันเป็นช่วง 9 โมง งานประจำวันมันเพิ่งเริ่ม

“แต่อเมริกามันน่าสนใจตรงที่ว่า พอเราอยู่ภาวะนั้น เราไม่รู้อะไรเลย การรักษาความปลอดภัยนี่คือโอเคมาก ขนาดเราดูทีวีเราไม่เห็นภาพนะ เราเห็นคนที่เดินออกจากตึกนี่คือตัวขาวหมดเลย เพราะฝุ่น แล้วเดินร้องไห้ออกมา เรารู้ความเคลื่อนไหวจากแม่ที่โทร.มาบอก รู้จากภายนอกว่ารายละเอียดเป็นยังไง แต่เราประสบเหตุตรงนั้น ไม่รู้เรื่องอะไรเลย คือเขาพยายามทำให้คนในประเทศไม่หวาดกลัว ซึ่งถ้าเป็นประเทศเรา ข่าวออกมาจนคนสติแตกไปเรียบร้อย (หัวเราะ) แต่ทีวีทุกช่องจะเป็นแบบขอให้ทุกคนอยู่ในความสงบ ประธานาธิบดีจะออกมาแถลงข่าว และไม่มีถ่ายทอดสดทั้งสิ้น รถทุกสายใช้ฟรี แค่ขอให้ทุกคนกลับบ้าน แต่ก็เป็นภาวะที่พอไปอยู่ที่นั่นมันได้เรียนรู้ว่าช่วยเหลือตัวเองเยอะ ทุกคนกระตือรือร้นมาก เพราะมันเป็นเมืองที่ทุกคนพุ่งไปสู่อะไรบางอย่าง มันไม่มีใครเป็นนิวยอร์กเกอร์จริงๆ คือมาจากที่อื่นทั้งนั้นแหละ เพื่อจะมาอยู่ที่นั่น อยากจะเป็นดารา นักร้อง นักแสดง อยากเป็นคนในวงการ พนักงานเสิร์ฟทุกคนที่เราทำงานด้วย เขาไม่ได้ยึดเป็นอาชีพจริงๆ หรอก แต่ว่ามาทำเพื่อเอาเงินไปเรียนแฟชั่น ทำหนัง ไปเป็นศิลปิน

“มันก็มันดี ได้เจอคนที่มีความฝันคล้ายๆ กัน คือคนอเมริกันจะมีความคิดที่ว่า คุณฝันได้ แต่จะต้องรับผิดชอบชีวิตตัวเองด้วย คือคนพวกนี้กู้เงินเรียน แล้วมาทำงานหนัก เพื่อที่จะทำในสิ่งที่ตัวเองฝัน ถือว่าเป็นข้อดีที่เราได้ และทุกวันนี้ก็ทำหลายอย่าง คือสอนไปด้วย และก็ไม่หยุดที่จะทำละคร เราก็อยากให้ลูกศิษย์เห็นว่า เราต้องมีความสมดุลกับชีวิต มันไม่ใช่ว่าเรามีงานประจำแล้วหยุดทำในสิ่งที่ตัวเองฝันไม่ได้ แล้วมันก็ไม่ได้ขึ้นกับเงินด้วย เราไม่จำเป็นต้องรวยมาก แต่ว่าเรามีความสุข

“หลังจากเรียนจบปริญญาโท ในช่วงแรกก็ทำละครเล็กๆ กับรุ่นพี่ที่จบจากอังกฤษ ชื่อเรื่อง ‘นายผมผิด’ เป็นละครการเมือง เป็นเรื่องเกี่ยวกับคนชนชั้นแรงงาน แล้วมีความกดดันจนจิตแพทย์เขาต้องมากดดันว่ารักษาให้หาย ทั้งๆ ที่เป็นความไม่เข้าใจในระหว่างชนชั้น มันก็ทำให้เห็นว่าชนชั้นดังกล่าวเจออะไรมาบ้าง ซึ่งการที่จะเอานักจิตแพทย์ที่ฉลาดและเน้นทฤษฎี มันก็ไม่เข้าใจคนเหล่านี้ได้หรอกว่าจริงๆ แล้วคนเหล่านี้ผิดมั้ย เขาอาจจะไม่ผิดก็ได้ แต่บรรทัดฐานของสังคมไปตัดสินเขาแล้วว่าเขาผิด มันคล้ายเรื่อง “คำพิพากษา” เลย (คำพิพากษา : นวนิยายโดย ชาติ กอบจิตติ) ชอบเล่าเรื่องในมุมที่ทุกคนไม่ค่อยเห็น

“จากนั้นก็ไปสอนเอเอฟ ในปีแรกๆ ซึ่งเรารู้ว่าวงการมันไม่เหมาะกับเรา คือโจทย์มันเยอะ เรารู้สึกว่าไม่สนุก แล้วพอมาได้มาเข้าสอนที่จุฬาฯ ทางภาคก็ให้เราทำละครเรื่องหนึ่ง เราก็กำกับเรื่อง Animal Farm เป็นละครการเมืองอีกแล้ว (หัวเราะ) ก็สนุกมาก จากนั้นก็ทำละครมาเรื่อยๆ ตอนแรกเราทำแบบโรงเล็กก่อน เพื่อที่จะพิสูจน์ว่าอยากให้คนที่ไม่รู้จักได้เข้าถึงละคร ราคาไม่แพง ให้ดูใกล้ๆ เลย ก็ถือว่าโอเค ได้ทำให้รู้จักมากขึ้น บัตรก็ขายเต็มและเพิ่มรอบไปเรื่อยๆ ซึ่งก็พยายามพิสูจน์ คือเราก็ซ้อมหนักเหมือนกัน มันไม่ใช่เราเก่งหรอก เราพยายามเอาคนที่เก่งจริงๆ มาเล่น งานมันได้คุณภาพ ขายบัตรหมดทุกรอบ ซึ่งเราก็พยายามทำมาเรื่อยๆ จากนั้นก็ทำแบบโรงใหญ่บ้าง

“จากนั้นก็มีโอกาสไปกำกับที่ออสเตรเลีย เป็นละครเควียร์ (Queer) ซึ่งเป็นแนวหญิงรักหญิง ได้ไปทำในเทศกาลที่ซิดนีย์ จากนั้นก็ทำวิจัยเกี่ยวกับหนังใหญ่ วัดบ้านดอน จังหวัดระยอง เพราะเราก็มีความรู้สึกว่าเรายังไม่รู้จักในความเป็นไทยเลย เราเรียนแต่ฝรั่งมา แล้ววันดีคืนดี ก็มีฝรั่งที่เป็นศิลปินชาวสวีเดน ซึ่งประมาณว่าเป็นศิลปินแห่งชาติของที่นั่น คือคุณ Michael meschke เขาก็ติดต่อเรามาผ่านรุ่นพี่ว่า ยูเป็นผู้กำกับใช่มั้ย เขาจะเอาหนังใหญ่ของเมืองไทยไปเล่นเทศกาลหุ่นที่สวีเดน ที่ยุโรป ยูสนใจจะช่วยมั้ย เพราะเขาอาจจะไม่ได้อยู่เมืองไทยยาวขนาดนั้น เขารู้สึกว่าเขาอยากที่จะทำให้สนุกกว่านี้ ซึ่งเราเป็นคนไทยแท้ๆ เรารู้สึกว่าเขาพูดเรื่องอะไรเนี่ย (หัวเราะเบาๆ)

“คือเรารู้ว่าหนังใหญ่คืออะไร แต่เราไม่เคยไปดูเลย เราก็เลยไปดูที่ระยอง เป็นคณะหนังใหญ่ที่เมืองไทยเหลือ 2 ที่ คือวัดขนอนกับวัดบ้านดอน เราก็ทำการบ้านไป ก็สงสัยเหมือนกันว่าทำไมไม่ไปวัดขนอน เขาก็บอกว่าก็ทุกคนพูดแบบนี้ แล้วเมื่อไหร่ที่อื่นจะได้เกิด เขาไปติดต่อหน่วยงานราชการ แต่ทุกคนพูดถึงแต่วัดขนอนหมดเลย เขารู้สึกว่าไม่มีที่อื่นแล้วเหรอ เพราะว่าเขาอยู่ได้แล้ว ไปก็ไม่อยากสนับสนุนแล้วไง ไออยากจะให้ที่อื่นที่คนทั่วโลกเขายังไม่เห็น และที่นั่นยังรอการช่วยเหลืออยู่ เขาก็ไปหาเองจนมาเจอวัดนี้

“แล้วเราก็ไปนั่งดู เราดูแล้วรู้สึกว่า (ส่ายหน้า) เพราะเวลาเด็กเชิดไป ก็เคี้ยวหมากฝรั่งไป แล้วเชิดแบบหยองๆ แหยงๆ และน่าเบื่อมาก 2 ชั่วโมงทรมานมาก เราถามเขาว่า จะเอาแบบนี้ไปเมืองนอกเหรอ เขาก็ตอบกลับมาว่า นี่ไง ถึงเรียกยูมาช่วยกันไง เราก็ว่าน่าสนใจดี ก็มาลองคุยกัน ตอนแรกสุดเราไปแบบความคิดฝรั่งมาก มีความรู้สึกว่าฉันเก่ง แล้วจะไปเมตตาคนเหล่านี้ ซึ่งเป็นความคิดของคนอายุ 20 กว่าๆ ที่มั่นใจ เพราะจบมาจากนอก พอเราไปทำงานกับเขา เราเอาทัศนคติเราไปใส่ ซึ่งเขาไม่เข้าใจ เราก็บอกเล่นให้ดูหน่อย เขาบอกได้ครับ แต่เขาขอเวลาแป๊บนึง เขาขอไหว้ครูก่อน เราก็นั่งดู พอเขาไหว้ครู คือคนไทยบางคนจะไกลตัวจากเรื่องแบบนี้ กลายเป็นว่า เขามีความนิ่ง ศรัทธา และเขาไหว้หนังทุกครั้งก่อนจับ สิ่งนี้มันไม่ใช่อุปกรณ์แล้ว เขาเชื่อว่ามันเป็นครูจริงๆ แล้วเด็กพวกนี้เขาไม่กินและฆ่าเนื้อ เพราะว่าหนังทำจากวัว แล้วเป็นเด็กที่ประพฤติอยู่ในศีล 5 ทั้งๆ ที่ใช้ชีวิตเหมือนเด็กปกติเลย ขี่มอเตอร์ไซค์แว้นไปมา และติดเกมอีก (หัวเราะ)

“แต่เรารู้สึกว่ามันน่าสนใจมาก เราเลยมีความคิดที่ว่าต้องทำให้เด็กพวกนี้เป็นที่รู้จักให้ได้ มันเหมือนกับเวลาเราเห็นนักมวยไหว้ครูก่อนขึ้นชก มีภาวะที่เป็นอะไรก็ไม่รู้ เขาก็มีพ่อแก่ที่เขาศรัทธา ที่เขาเชื่อ ซึ่งเด็กอายุแค่ 17-18 แต่เชื่อเรื่องพวกนี้ เช่นเวลาที่เราจะไปจับพ่อแก่ เขาก็จะบอกว่า ครูจับไม่ได้นะครับ ครูเป็นผู้หญิง แถมเด็กๆ เหล่านี้แกะหนังเอง เป็นหนังต่างๆ เราก็ได้ทำงานกับเขา ก็คิดว่าทำไงให้มันสนุกขึ้น ทำไงให้เขาเชิดและอินไปกับมันมากขึ้น แล้วเราเอาโปรดักชั่นนี้ และพาเขาไปทัวร์ที่ยุโรป แล้วเขาก็ได้รางวัลที่นู่น สามารถพากลุ่มนี้ให้เป็นที่ยอมรับในนานาชาติ

ด้วยประสบการณ์ของการกำกับการแสดง

“เราชอบกำกับละครเวที เพราะมันสด ด้วยการที่เราเรียนมา ทั้งการถ่ายทีวีหรือหนังมาอยู่แล้ว แล้วมาเปรียบเทียบดู เรารู้สึกว่าหนังมันเป็นเรื่องของเทคนิคเยอะ มันไปแก้กันที่ห้องตัด มันสามารถเอาเทปนี้ไปแปะนั่นนี่ มันเอาเพลงช่วย มันเป็นศาสตร์ของการเล่าเรื่องที่หลากหลาย...หลากหลายองค์ประกอบมาก ซึ่งเราจะสนุกกับการเล่าเรื่องที่มันสดๆ วิถีชีวิตที่เกิดขึ้นข้างหน้า คือไม่มีเทกแล้วเรารู้สึกว่ามันเจ๋งดี ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราซ้อม 2-3 เดือน เจอกันทุกวัน วันละหลายชั่วโมง เพื่อ 2 ชั่วโมงนั้น เพราะไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น การแสดงมันจะต้องดำเนินต่อไป แล้วชีวิตที่อยู่ข้างหน้า มันสด เราว่ามันสัมผัสถึงกันได้มากกว่าดูผ่านจอ นี่คือเสน่ห์ของมัน หรือการใช้เทคโนโลยีไม่ได้ การเปลี่ยนฉาก ใช้แสง การกำกับโฟกัส สายตาคนดูที่เราไม่สามารถจะซูมอิน จะโคลสอัพได้ แต่จะทำยังไงให้คนดูมองจุดนั้นได้ เราว่ามันท้าทายดี

“ส่วนจุดบกพรอ่องในศาสตร์นี้ มันควบคุมยาก หมายถึงว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่หนึ่งทุ่มครึ่ง ทุกอย่างต้องพร้อม ไม่ว่านักแสดงจะอกหักมา ญาติเสีย นักแสดงต้องเล่นให้ได้ หรือไฟกับเทคนิคจะมีปัญหา มันต้องเกิดขึ้นให้ได้ และความยากอีกอย่างหนึ่ง คือ พอมันเป็นการแสดงสด มันไม่ใช่ที่ทุกคนจะมาพร้อมให้เรา คือมันจะมีนักแสดงสักกี่คนที่ว่างมาซ้อมให้เรา หรือว่างมาเล่นกับเราในเวลาเท่านี้ๆ ด้วยราคาเท่านี้ๆ หรือนายทุนเขาก็ไม่ได้อยากจะมาลงทุนอะไรที่คาดเดาไม่ได้ คำถามแรกๆ เลยว่าใครเล่น เขาไม่ได้สนใจเรื่องบทด้วยซ้ำ มันยังเป็นโรคแบบนั้นอยู่ หรือจะมีโปรดิวเซอร์สักกี่คนที่เข้าใจว่าเขาให้อิสระในการทำงานกับเรา ใม่มากำหนดเราว่าต้องเอาคนนี้เล่นเท่านี้นะ บทต้องแบบนี้ มันก็เหมือนคนทำงานศิลปะทั่วไปน่ะ

“อย่างเมืองนอกเขารู้จักละครเวทีมาตั้งแต่อนุบาล มันก็จะเห็นว่าเด็กอนุบาลก็เล่นกันแล้ว หรือเขาเสพงานศิลปะเป็นเรื่องปกติ ดังนั้น ทัศนคติที่มีต่อละครเวทีมันจะเป็นเชิงบวก แต่บ้านเรา เวลาเราทำงานกับนักแสดง สิ่งแรกๆ ที่มีต่อนักแสดงและทีมงานเลย คือ เราต้องปรับทัศนคติเขา ให้เขาเข้าใจว่า นี่ไม่ใช่งานอดิเรกนะ นี่ไม่ใช่ว่ามาวิ่งเล่นกันสนุกๆ คือเราก็ต้องพยายามบอกเขาว่ามันก็คือศาสตร์และอาชีพหนึ่ง เหมือนหมอเข้าห้องผ่าตัด เขาก็ต้องทำสมาธิหรือเปล่า สิ่งนี้ก็เช่นกันว่า อย่าไปคิดว่าเรื่องนี้มันขำๆ เล่นๆ อันนี้คือทำยังไงให้เขาเคารพในสิ่งที่ทำก่อน เรื่องทัศนคติเลย หรือถ้าอยากเป็นดารา ไม่ต้องมาตรงนี้หรอก มันเสียเวลา มันมีทางลัดอื่นเยอะแยะ มันยากตรงเรื่องทัศนคติ พอเริ่มซ้อมหนัก เริ่มจริงจัง บางคนอาจจะคิดว่ามันเริ่มไม่สนุกแล้ว ถึงแม้จะเป็นตลก แต่มันก็ต้องซ้อม ไม่ใช่ว่ามาเจอกันหน้างาน แล้วจำๆ บทมั่วๆ ไป

คือเราก็เหนื่อยใจกับตรงนี้ค่ะ ต่างกับเมืองนอก เมืองไทยก็ยังมีบางสิ่งที่ไม่เข้าใจ ส่วนคนดูเอง เมืองนอกเขาจะรู้สึกว่าเรียนรู้ เหมือนกับเราไปดูงานศิลปะแล้วมันเป็นสิ่งที่ดี ตัวเองรู้สึกว่ามีคุณค่า แต่คนไทยอาจจะยังไม่ได้รู้สึกอะไรแบบนั้น ถ้าไปดูละครโรงใหญ่ๆ เขาอาจจะต้องรู้สึกว่า ฉันจะต้องไปดูรอบแรกสุด ฉันจะเป็นซัมวัน แต่งตัวสวยๆ ไป หรือไปดูละครตลกเท่านั้น ต้องอลังการ ต้องเปลี่ยนฉากเยอะๆ ต้องร้องเพลงเท่านั้น เป็นเรื่องทัศนคติ

“ถือว่าเป็นเรื่องท้าทายแหละ เพราะเราก็หวังว่าหลังจากนี้มันจะดีขึ้น คือทุกอย่างที่ทำและทุกคนก็จะถามนะว่ามันจะมีอาจารย์มหาวิทยาลัยสักกี่คนที่ทำละครไปทั่ว ใครชวนก็ทำ เพื่อนร่วมวิชาชีพก็จะถามเราว่าเหนื่อยมั้ย รู้ว่าทำแล้วเจ็บตัว คือเราจะไปเจอคนที่เขาไม่เข้าใจเรา เจออีกโลกนึง บางทีเราก็รู้สึกว่าเขาดูถูกศาสตร์เราจังเลย แต่เรารู้สึกว่าถ้าเราไม่ทำต่อไปเรื่อยๆ แล้วเมื่อไหร่มันจะดีขึ้น เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน เราก็รู้สึกว่ามันอาจจะไม่ออกมาดีเลิศหรอก เราแค่คนเดียวที่ไปช่วยเขา แต่อย่างน้อย คนตรงนั้นก็เริ่มเห็นวิถีที่เขาร่ำเรียนกันมาว่าทำกันยังไง หรือว่าคนดูดีขึ้น เล็กๆ น้อยๆ ลูกศิษย์เราก็จะรู้สึกว่าสายตรงนี้มันก็ไม่น่ารังเกียจนะ เข้าไปเถอะ แล้วไปช่วยกันพัฒนา

“ส่วนเวลาทำละครกับคนไทย บรรยากาศมันจะสบายๆ กว่า อย่างฝรั่งมันเอาจริงมากนะ คือเขาทรีตว่ามันเป็นงาน บางทีก็ค่อนข้างเครียดพอสมควร มันค่อนข้างเป๊ะ มันควรจะได้แบบนี้ ซึ่งบางทีก็ปะทะกันหนัก เพื่อให้ได้งาน คนไทยจะมีความผ่อนคลายกว่า นิดๆหน่อยๆ ก็จะตลกกันแล้ว บรรยากาศจะดีกว่า แล้วช่วงปีสองปีนี้เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลง คือคนเปิดกว้างมากขึ้น มีนายทุนให้ความสนใจมากขึ้น มีหลายๆ วิกเกิดขึ้นใหม่ หรือกลุ่มใหม่ๆ ที่เราไปทำด้วย มันมีความตื่นตัวมากขึ้น ในการทำตรงนี้ในธุรกิจ เพราะคนดูเริ่มให้ความสนใจมาดูละครสดมากขึ้น มันมีแนวโน้มที่ดี คือบรรยากาศของคนทำละครในตอนนี้มันในแง่บวก ความหวังมันมีมากขึ้น

ความคาดหวังของละครเวทีไทยในปัจจุบัน

ถึงแม้ว่าแวดวงละครเวทีของประเทศไทยในปัจจุบัน จะถือว่าเป็นสัญญาณที่เป็นแง่บวก เพราะไม่ว่าจะมองไปมุมไหน แทบจะได้เห็นการแสดงเกือบทุกเดือน แต่พันพัสสาก็ยังมองว่าการแสดงละครในศาสตร์ดังกล่าว ก็ยังต้องเดินหน้าต่อไป ไม่ว่าหน้าฉากจะเป็นยังไงก็ตาม

จาก 10 ปีที่วงการละครเวทีบ้านเรามันเริ่มฟื้นฟูขึ้นมา ครูหนิงกำลังจะบอกว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้ต่อยอดจากสิ่งนั้นมากขึ้น

ใช่ค่ะ มันพัฒนาขึ้น อย่างทั่วเอเชีย สิงคโปร์ ฮ่องกง เกาหลี เริ่มที่จะมีบรอดเวย์ เริ่มมีโปรดักชั่นไปลง สำหรับภูมิภาคนี้มันเริ่มที่จะโตขึ้น คนให้ความยอมรับมากขึ้น คนเริ่มที่จะเป็นธุรกิจได้ อย่างเรื่อง srek ที่มาเล่นเมืองไทย คือปกติการทัวร์ เขาจะข้ามประเทศเราไป แต่เขามาประเทศเรา มันเป็นนิมิตหมายที่ดี และทำให้ทั่ววงการเกิดแรงสั่นสะเทือน เด็กก็มาเรียนละครเยอะขึ้น ทุกมหา’ลัยก็เปิดการสอนภาควิชาละครมากขึ้น เราก็ได้เด็กเก่งๆ มากขึ้น พ่อแม่ก็ให้ลูกเขามาเรียน แล้วเราก็มีที่ทางที่จะไปเมื่อเรียนจบ

ขณะเดียวกัน วงการศิลปะโดยรวมในบ้านเรา ก็ค่อนข้างเปิดมากขึ้น กล่าวโดยสรุปโดยรวม ถือว่าโอเคในระดับหนึ่งแล้ว ประมาณนั้นมั้ย

เห็นด้วยค่ะ มันเกิดการยอมรับมากขึ้น ซึ่งมันสำคัญมากเลยนะ เพราะพอภาคธุรกิจที่มองเห็นในการลงทุนทางด้านนี้ มันเกิดผลกระทบสูง พอมันมีอาชีพ พ่อแม่ผู้ปกครองก็เริ่มให้ลูกมาเรียน เด็กก็เริ่มทำตามความฝันตัวเองมากขึ้น สายที่มันเปิดสอนด้านนี้ ก็ได้เด็กที่เป็นคุณภาพมากขึ้น ซึ่งเมื่อ 10 ปีก่อน จะเป็นแบบเด็กที่อยากเรียนแต่ไม่ได้เรียน เราก็จะได้เด็กแบบนี้ ไม่ใช่อย่างที่บอก เพราะฉะนั้น ทุกอย่างมันขับเคลื่อนหมดเลย คนไทยเริ่มยอมรับมากขึ้น ไม่ใช่แค่หมอ วิศวกร หรือ บัญชี ซึ่งถ้ามีลูกอยากเรียนศิลปะ พ่อแม่ก็เริ่มเปิดใจมากขึ้น แต่แน่นอนว่ารายได้อาจจะไม่เท่าหมอหรอก ซึ่งมันเป็นทั่วโลก แต่เราก็อยากให้คนไทยมีทัศนคติที่ไม่ต้องรวยมาก ความสุขมันสำคัญมากกว่า

ด้วยปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ครูหนิงคาดหวังยังไงกับแวดวงละครเวทีในบ้านเราครับ

เราก็พยายามมองโลกในแง่ดีว่ามันเป็นสัญญาณที่ดีขึ้นนะ คือมันอาจจะไม่ชัดเจนมาก แล้วภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ด้วย แต่เราว่ามันค่อยๆ ดีขึ้น ถ้าดูจากสถิติของปริมาณละคร โรงเล็กไม่ต้องพูดถึง เขาทำกันอยู่แล้ว แต่ปริมาณของโรงใหญ่มันมีมากขึ้น จากผู้จัดที่หลากหลายมากขึ้นด้วย มันเห็นแนวโน้มว่ามันเปิดกว้าง เราอยากเห็นละครที่หลากหลายมากขึ้น จากคนมากมายที่ช่วยกันทำ สิ่งหนึ่งที่เลือกเป็นครู เพราะเราคนเดียว ชีวิตนึง เราจะทำละครเวทีได้กี่เรื่อง แต่ถ้าเราสามารถจุดประกายให้คนรุ่นต่อจากเราให้รักและเข้าใจมัน และทำมันออกมา เรารู้สึกว่าสิ่งนี้มันยั่งยืน ส่วนความหวังคือ อยากให้มันเกิดขึ้น อยากให้ละครเวทีมันเติบโตและพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ เหมือนกับศาสตร์ต่างๆ ตามเขาให้ทัน และอยากให้คนไทยดูและสนใจละครเวทีมากขึ้นค่ะ







ละครเวที เดย์ ยัง โชว์ (Day Young Show) จะเปิดการแสดงตั้งแต่วันที่ 8-24 กรกฎาคมนี้ ณ โรงละครครีเอทีฟ อินดัสทรี่ส์ (Creative Industries) ชั้น 2 เอ็ม เธียเตอร์ ถนนเพชรบุรี ทุกวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ โดยจะเปิดการแสดงเพียง 12 รอบและรอบละ 100 ที่นั่งเท่านั้น
บัตรราคา 1,000 / 1,500 และ 2,000 บาท เริ่มจำหน่ายบัตร วันที่ 4 มิถุนายน 2559 จองบัตรได้ที่ ไทยทิคเก็ตเมเจอร์ (www.thaiticketmajor.com)
เขียนบทโดย อภิรักษ์ ชัยปัญหา / กำกับการแสดงโดย พันพัสสา ธูปเทียน / อำนวยการผลิตและสร้างสรรค์โดย สัญญพงศ์ อัคณัฐพงษ์ และ บริษัท ดังสิบทิศ จำกัด


 

 

เรื่อง : สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช
ภาพ : พงษ์ฤทธิ์ฑา ขวัญเนตร

กำลังโหลดความคิดเห็น