วานนี้ (2 มิ.ย.) เฟซบุ๊กแฟนเพจ “ชุมชนคนท้องถิ่น” โพสต์ภาพและข้อความระบุว่า มีข้อมูลจากแฟนเพจที่อาศัยอยู่ในประเทศกัมพูชา แจ้งว่า พบ “นมโรงเรียน” ซึ่งเป็นนมยูเอชทีที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทย ถูกวางจำหน่ายในตลาดในประเทศกัมพูชา ในราคา 0.5 เหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นเงินไทย ประมาณ 17 - 18 บาท ทั้ง ๆ ที่ข้างกล่องระบุชัดว่าห้ามจำหน่าย
“ได้รับข้อมูลจากแฟนเพจ ซึ่งเป็นคนไทยที่อาศัยอยู่ในกัมพูชา “ซึ่งประหลาดใจ เมื่อพบนมโรงเรียน ที่ข้างกล่องระบุชัดเจน “สนับสนุนโดยรัฐบาล” ห้ามจำหน่าย แต่กลับวางขายอยู่ภายในซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่งในกัมพูชา โดยคิดเป็นราคาเงินไทยจะอยู่ที่ กล่องละประมาณ 17 - 18 บาท” ผู้ให้ข้อมูลกล่าวทิ้งท้ายด้วยความห่วงใยว่า “รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณค่านมนี้ เพื่อมอบให้เด็กนักเรียนและโรงเรียนทั่วประเทศไทย แต่กลับกลายมาเป็นสินค้าส่งออกวางจำหน่ายได้อย่างไร””
สำหรับโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนเป็นโครงการที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้น ตั้งแต่ปี 2535 เพื่อแก้ปัญหาการขาดสารอาหารและภาวะทุพโภชนาการในเด็ก ซึ่ง องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization : FAO) ได้แนะนำให้เด็กได้ดื่มนม ซึ่งเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง อันจะส่งผลต่อพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของเด็กเป็นไปอย่างเต็มศักยภาพ ประกอบกับระยะเวลาดังกล่าวรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการเลี้ยงโคนมของเกษตรกรตลอดจนการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมให้สามารถขายน้ำนมดิบได้ จึงส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กนักเรียนได้ดื่มนมอย่างจริงจัง ปัจจุบันองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทยเป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนภายใต้การกำกับดูแลเชิงนโยบายของคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม
อย่างไรก็ตาม ปัญหาการทุจริตในโครงการนมโรงเรียนนั้น ก็มีการตีแผ่มาอย่างต่อเนื่องหลายสิบปี ทั้งในประเด็นปัญหาด้อยคุณภาพ เน่าเสีย ปลอมปน ทุจริตคูปองนม ฯลฯ เพราะเป็นโครงการที่งบประมาณนับหมื่นล้านบาท (อ่านเพิ่มเติม : www.parliament.go.th/ewtcommittee/ewt/education/download/article/article_20130318183704.pdf)