xs
xsm
sm
md
lg

“พระนางเรือล่ม”สุดเสน่หาอาลัยของ ร.๕ ทรงครรภ์สิ้นทั้งกลม ไม่อาจทนฟังปี่พาทย์ประโคมพระศพได้!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ กับสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ที่ทรงอุ้มสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรรณณาภรณ์เพชรรัตน์
ที่พูดกันว่า “พระนางเรือล่ม” หมายถึง สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ อัครมเหสีพระองค์แรกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งประสบอุบัติเหตุจากการเสด็จประพาสทางเรือ สิ้นพระชนม์ในขณะทรงครรภ์ได้ ๕ เดือน พร้อมกับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ พระราชธิดาองค์แรก ซึ่งยังความสุดเศร้าโศกแก่สมเด็จพระปิยมหาราชอย่างใหญ่หลวง จนไม่อาจทนฟังเสียงปี่พาทย์ที่ประโคมพระศพได้

สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทาฯ มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ เป็นราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติจากเจ้าจอมมารดาเปี่ยม และทรงเป็นพระเชษฐภคินีร่วมพระชนกชนนีเดียวกับสมเด็จพระนางเจ้าศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระนางเจ้าศรีสวรินทราบรมราชินี ราชเทวีในรัชกาลที่ ๕

เมื่อพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์เจริญพระชันษาได้ ๑๘ พรรษา ตรงกับปีที่ ๑๐ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ได้เข้ารับราชการเป็นบาทบริจาริกา และได้รับการสถาปนาขึ้นในตำแหน่งพระอัครมเหสีเมื่อประสูติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ เมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๒๑ ซึ่งพระราชธิดาองค์นี้เป็นพระราชธิดาองค์แรกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ จึงเป็นที่โปรดปรานของพระราชบิดามาก

ในวันเกิดเหตุวิปโยค คือวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๒๓ ซึ่งเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงกำหนดเสด็จพระราชดำเนินไปประทับพักผ่อนพระอิริยาบถที่พระราชวังบางปะอินเหมือนเช่นเคย ในเวลา ๒ โมงเช้า ทรงมีพระราชดำรัสให้ปล่อยขบวนเรือพระประเทียบล่วงหน้าไปก่อน ส่วนพระองค์เสด็จไปทอดพระเนตรการซ่อมบำรุงวัดพระศรีรัตนศาสดารามแล้วจะตามไป

เวลา ๒ โมงเศษ เมื่อทรงนมัสการพระแก้วมรกตแล้ว จึงเสด็จไปประทับเรือพระที่นั่งโสภณภควดีที่ตำหนักแพ ซึ่งเป็นเรือกลไฟ ฝีจักรเร็วที่สุดในขณะนั้น

ครั้นเรือพระที่นั่งโสภณภควดีไปถึงบางตลาดจะเข้าปากเกร็ด ทอดพระเนตรเห็นเรือกลไฟราชสีห์ล่องแม่น้ำสวนมาอย่างรีบร้อนและเข้าเทียบเรือพระที่นั่ง จมื่นทิพเสนาและปลัดวังซ้ายขึ้นมากราบทูลว่า เรือพระประเทียบของพระนางเจ้าสุนันทาฯ ที่ล่วงหน้าไปแต่เช้า โดยมีเรือยนต์ปานมารุตลากจูงได้เกิดล่มขึ้นที่บางพูด ทำให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรรณาภรณ์สิ้นพระชนม์

ทันทีที่ทรงทราบก็รับสั่งให้เร่งฝีจักรเรือพระที่นั่งขึ้นไปที่บางพูดทันที และไปถึงราว ๕ โมงเช้าเพราะต้องแล่นทวนน้ำ ทอดพระเนตรเห็นเรือพระประเทียบลอยอยู่ใกล้ๆ กับเรือปานมารุต ตรงบริเวณที่มีคนมาดำทราย กรมหมื่นอดิสรกับพระยามหามนตรีกราบทูลถึงเหตุร้ายว่า

ก่อนที่จะเกิดเหตุ เรือกลไฟราชสีห์ซึ่งลากจูงเรือประทับของพระองค์เจ้าสุขุมาลย์มารศรี แล่นนำหน้าไปใกล้ฝั่งด้านตะวันออก เรือกลไฟโสรวารที่พระยามหามนตรีควบคุม ลากจูงเรือประทับของพระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี แล่นมาในแนวเดียวกัน ส่วนทางด้านตะวันตกมีเรือยอร์ชลากจูงเรือของสมเด็จกรมพระสุดารัตน์ราชประยูรแล่นคู่ขนานมากับเรือราชสีห์ สำหรับเรือปานมารุตซึ่งลากจูงเรือเก๋งประทับของพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ กับพระราชธิดาสมเด็จเจ้าฟ้ากรรณาภรณ์ฯ นั้น แล่นอยู่ระหว่างกลางตามมาไม่ห่างนัก และได้เร่งความเร็วเพื่อให้ทันขบวนเรือ

เมื่อเรือปานมารุตแล่นเข้าใกล้เรือราชสีห์ก็เบนหัวออก เรือพระประเทียบจะเบนตามแต่ก็เบนไม่พ้น หัวเรือพุ่งไปชนท้ายเรือโสรวาร ทำให้พื้นน้ำเกิดละลอกคลื่นกดหัวเรือพระประเทียบจมคว่ำ

พระยามหามนตรี ผู้ควบคุมเรือโสรวารทูลว่า ตัวเองได้กระโดดลงไปในน้ำและดำลงไปเชิญเสด็จพระเจ้าลูกเธอออกมา แต่ก็สิ้นพระชนม์เสียแล้ว

กรมหมื่นอดิสรทูลซัดพระยามหามนตรีว่า เป็นเพราะเรือโสรวารเบนหัวหนีตื้นออกมา ทำให้เรือปานมารุตซึ่งแล่นอยู่ห่างราว ๑๐ ศอกต้องหักหัวเรือเบนหนีตาม

เมื่อต่างคนต่างซัดกัน จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านายที่มากับเรือพระที่นั่งไปไล่เลียงกับคนอื่นดู โดยแยกกันถาม

ราว ๑๐ นาทีต่อมา พระองค์เจ้าเทวัญฯ พระเชษฐาของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทาฯ ก็มากราบทูลว่า

“หญิงใหญ่ก็เต็มที่เหมือนกัน”

ทรงรีบเสด็จไปที่เรือปานมารุต เมื่อทรงจับพระวรกายสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทาฯ ก็ทรงพบว่ายังอุ่นอยู่ แต่ก็ยังไม่รู้สึกพระองค์ จึงทรงเร่งให้ช่วยกันแก้ไข

เมื่อทรงเรียกทุกคนที่อยู่ในเหตุการณ์ รวมทั้งคนที่หนีออกมาจากเรือได้ และคนที่สลบซึ่งได้รับการช่วยเหลือให้ฟื้นแล้ว มาไล่เลียงหาความจริงจึงได้ความว่า ขณะที่เรือล่มนั้น พระนางเจ้าสุนันทาฯ ประทับอยู่ในเก๋งออกมาไม่ได้ จึงได้ช่วยกันหงายเรือขึ้น แต่ก็ต้องใช้เวลากว่าครึ่งชั่วโมงจึงช้าไป และเมื่อเชิญร่างของพระนางขึ้นมาบนเรือปานมารุตแล้วต่างก็ช่วยกันแก้ไข โดยมีหลวงราโช แพทย์หลวงมาในเรือปานมารุตด้วย รวมทั้งชาวบ้านซึ่งมาช่วยให้ข้าหลวงฟื้นได้หลายคนแล้ว ก็ถูกเรียกให้มาช่วยด้วย แต่พระนางก็ไม่ฟื้น ทรงกริ้วที่ไม่มีใครมากราบทูลเรื่องพระนางเจ้าสุนันทาฯ แต่แรก มาทูลเมื่อเสด็จมาถึงกว่า ๑๐ นาทีแล้ว

จนบ่าย ๒ โมงการแก้ไขก็ไม่ได้ผล พอดีกับพระองค์เจ้าหญิงสว่างวัฒนาฯ ทรงทราบข่าวร้าย จึงให้กรมหมื่นนเรศวรฤทธิ์นำเรือเวสาตรีซึ่งเป็นเรือกลไฟลำใหญ่ไปรับพระเจ้าอยู่หัว และได้เชิญเสด็จเจ้านายที่มากับเรือเล็กขึ้นประทับในเรือเวสาตรีทั้งหมด
อนุสาวรีย์ที่พระราชวังบางปะอิน
ชั้นแรก ทรงมีพระราชดำริที่จะจัดพระเมรุขึ้นที่บางปะอิน แต่สมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ และบรรดาขุนนางทูลขอให้นำพระศพลงมากรุงเทพฯ จึงทรงยอมตามและกลับมาถึงประมาณ ๑ ทุ่ม

ในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯได้ทรงกล่าวถึงเจ้านายและขุนนาง ซึ่งได้แสดงความจงรักภักดีในเรื่องพระศพตอนหนึ่งว่า

“...คุณสุรวงศ์ (เจ้าพระยาบรมมหาศรีสุรวงศ์) ก็ได้มีความสงสาร ได้รับช่วยการแข็งแรง เหมือนศพนั้นควรจะขึ้นอยู่บนปราสาทได้ตามอย่างเจ้านายวังหลวงสำคัญที่ตายมาก่อน แต่ฉันกลัวว่าคนทั้งปวงจะพากันว่า เอาศพคนมีท้องขึ้นไว้บนปราสาท จึงได้เอามาไว้ที่หอธรรมสังเวชเหมือนอย่างครั้งกรมสมเด็จพระเทพศิรินทร์...”
ป้ายที่พระราชวังบางปะอิน
จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันได้กล่าวอีกว่า

“...ครั้นในวันที่ ๓ มิถุนายน บ่ายโมง สมเด็จกรมหลวง (สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระจักรพรรดิพงศ์) กับสมเด็จพระองค์น้อยฯ กรมหมื่นพิชิต กรมหมื่นภูธเรศ ไปพร้อมกัน ชำระความถามตั้งแต่กรมหมื่นอดิศร ตลอดไปจนคนเลวที่ไปในเรือประเทียบ จึงได้ความว่า การที่เรือล่มนี้ ถ้าช่วยกันทันทีหงายเรือขึ้นแล้ว พระองค์เจ้า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอก็จะไม่เป็นอันตราย ที่พระมหามนตรีทำการช้าไปไม่สมควรกับเหตุเรือล่ม แล้วไม่ให้คนโดดลงไปโดยเร็ว และเรียกคนให้ช่วยกันให้พร้อม หงายเรือทันท่วงที มัวแต่เรียกเรือสำปั้นพายไป แล้วยังมิหนำคนชาวบ้านมาช่วยห้ามเสีย ที่กราบทูลว่าลงไปดำได้ศพสมเด็จพระเจ้าลูกเธอองค์นี้ ในคำให้การบางคนก็ว่าลงน้ำ บางคนก็ว่าไม่ได้ลง แต่มีคนดำได้ ให้การซัดหลายปาก รับสั่งถามสมเด็จกรมพระ สมเด็จกรมหลวง สมเด็จพระองค์น้อย เรื่องชำระความท่านทูลตามเรื่อง จึงกริ้วพระยามหามนตรีว่า แกล้งไม่ช่วยกันจริงๆ และพูดปดและอะไรอื่นๆ ไปมาก...”

ความวิปโยคโศกเศร้าของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯในครั้งนั้น กล่าวกันว่าใหญ่หลวงลึกซึ้งและเรื้อรังอย่างน่าวิตก ทรงเก็บพระองค์อยู่แต่ในพระที่ มิให้ข้าราชการฝ่ายในมารบกวน มีแต่มหาดเล็กที่ใกล้ชิดรับใช้เบื้องพระยุคลบาทอยู่เพียงไม่กี่คนเท่านั้น เมื่อได้ยินเสียงปี่พาทย์และกลองชนะประโคมพระศพขึ้นครั้งไร ก็ทรงพระกรรแสงพิลาปร่ำรำพรรณไปต่างๆนานาจนกระทั่งทรงประชวร พระศพได้ถูกเก็บไว้นานถึง ๑๐ ปีจึงได้จัดพระราชพิธีพระราชทานเพลิงทั้ง ๒ พระองค์เป็นพระราชพิธีใหญ่ หลังจากนั้นก็ยังทรงระลึกถึงอยู่ไม่วาย โปรดให้จัดสร้างอนุสรณ์สถานขึ้น ๓ แห่งในสถานที่ซึ่งพระนางเคยเสด็จไป คือ

ในพระราชอุทยานพระราชวังบางปะอิน ทำเป็นอนุสาวรีย์หินอ่อนรูปเสาเหลี่ยม มีตราประจำพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าประดิษฐานอยู่ ๒ ด้าน อีก ๒ ด้านเป็นคำจารึกที่ทรงกลั่นออกมาจากพระราชหฤทัยที่เศร้าโศกอันเนื่องจากความรักว่า

ที่ระลึกถึงความรัก
แห่ง
สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์
พระบรมราชเทวีอัครมเหสี อันทิวงคตแล้ว
ซึ่งเธอเคยมาอยู่ในสวนนี้โดยความสุขสบาย
และเป็นที่เบิกบานใจ พร้อมด้วยผู้ซึ่งเป็นที่รักและสนิทสนมอย่างยิ่ง
อนุสาวรีย์สร้างขึ้น
โดย
จุฬาลงกรณ์ บรมราช
ผู้เป็นสามีอันได้รับความเศร้าโศก
เพราะความทุกข์อันแรงกล้าในเวลานั้นแทบจะถึงชีวิต
ถึงกระนั้นก็ยังมิได้หักหาย
จุลศักราช ๑๒๔๓


ส่วนที่น้ำตกพลิ้ว ซึ่งพระนางได้เสด็จไปเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๗ โปรดให้สร้างอนุสาวรีย์เป็นรูปพิรามิด กับอีกแห่งที่พระราชวังสราญรมย์ ซึ่งทั้ง ๓ แห่งก็จารึกด้วยคำอาลัยคล้ายๆกัน
อนุสาวรีย์ทรงพีรามิดที่น้ำตกพลิ้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น