xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นทำสัญญาลับ ให้ไทยบุกไปยึดรัฐฉานจากอังกฤษเอาเอง สถาปนาเป็น “สหรัฐไทยเดิม” แล้วก็เหมือน ๔ จังหวัดในฝัน!!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

โฆษณาชวนเชื่อของญี่ปุ่น
วันก่อนได้เล่าเรื่อง “๔ จังหวัดในฝัน” ของไทยไปแล้ว นั่นเป็นแค่ทางด้านอีสานและตะวันออก แต่ทางใต้ยังมีอีก ๔ รัฐ กับทางภาคเหนือ คือ “สหรัฐไทยเดิม” ซึ่งเป็นชื่อที่คนยุคนี้คงไม่คุ้น แต่ก็เคยเป็นรัฐที่อยู่ในความปกครองของไทยเช่นกัน

ทั้งนี้ในข้อตกลงเกี่ยวกับการร่วมยุทธระหว่างไทยกับญี่ปุ่น มีข้อตกลงกันว่า ทางด้านทะเล จักรพรรดินาวีของญี่ปุ่นจะรับผิดชอบด้านอันดามันและอ่าวไทยตั้งแต่หัวหินลงไป ส่วนเหนือหัวหินขึ้นมาให้อยู่ในความรับผิดชอบของกองทัพเรือไทย

ส่วนทางบก นอกจากไทยจะต้องรับผิดชอบแนวเขตแดนด้านพม่าแล้ว ทางด้านเหนือคือรัฐฉานของอังกฤษ มีสัญญาลับว่า ญี่ปุ่นจะยกดินแดนรัฐฉานผนวกเข้าเป็นอาณาเขตประเทศไทย แต่ฝ่ายไทยจะต้องเข้าไปยึดคืนจากอังกฤษเอาเอง ถ้าหนักหนาสาหัสญี่ปุ่นจึงจะช่วย

ไทยได้จัดตั้งกองทัพพายัพขึ้นเมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๔๘๔ โดยมี พลตรีจรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ เป็นผู้บัญชาการ มีภารกิจทำการรบร่วมกับกองทัพญี่ปุ่นในพื้นที่ตามแนวถนนตาก-แม่สอดขึ้นไป เพื่อเข้ายึดเมืองตองยี ลอยก่อ และเมืองยอง กับอีกด้านหนึ่งรุกจากแม่ฮ่องสอนเข้าไปจนไปจรดแม่น้ำโขง เพื่อกวาดล้างทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน เข้ายึดเมืองเชียงตุง และเมืองต่างๆ ในสหรัฐไทยใหญ่หรือรัฐฉานของพม่า

ตอนต้นสงคราม ญี่ปุ่นตีตะลุยแบบสายฟ้าแลบ ทำให้อังกฤษต้องถอยกรูด จึงถอนกำลังจากรัฐฉานไปเสริมทางด้านอื่น มอบให้กองพล ๙๓ ของจอมพลเจียงไคเช็คเข้ารักษาแทน ฉะนั้นเมื่อกองทัพพายัพบุกเข้าไปจึงต้องปะทะกับกองทหารจีน ไม่ใช่ทหารอังกฤษ แต่ก็ไม่ได้รับการต่อต้านมากนัก นอกจากเมืองใหญ่ที่มีทหารระดับกองพันคุ้มครองอยู่ แต่ที่ทหารไทยต้องลำบากยากเข็นอย่างแสนสาหัส ก็คือต้องต่อสู้กับธรรมชาติอันแสนทุรกันดารและไข้ป่า และใช้กองพันพิเศษเข้าไปทำสงครามจิตวิทยา ช่วยชาวบ้านทำงานและขอข้าวกิน

เมื่อกองทัพพายัพได้เริ่มเคลื่อนเข้ารัฐฉานเมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๔๘๕ กองพลที่ ๒ ในบังคับบัญชาของ พลตรีหลวงไพรีระย่อเดช (กี๋ ชมะบูรณ์) ซึ่งเป็นกองรบด้านซ้ายได้รับมอบหมายให้ตีเมืองสาด ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเชียงตุงประมาณ ๙๐ กม.

เมืองสาด อยู่ห่างจากเขตแดนไทยประมาณ ๙๐ กม.เช่นกัน ตัวเมืองตั้งอยู่บนพื้นที่ราบเชิงเขา ด้านตะวันออกมีแม่น้ำกก ซึ่งไหลมาจากทิวเขาในมณฑลยูนานของจีน ลงมาผ่านอำเภอท่าตอน อำเภอแม่อายของไทย บรรจบกับแม่น้ำโขงที่สบกก อำเภอเชียงแสน ชาวเมืองส่วนใหญ่เป็นไทยใหญ่ เผ่าไทยเขิน พูดภาษาไทยที่มีสำเนียงคล้ายชาวล้านนา ตลอดจนมีวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีคล้ายคลึงกัน

ทหารจีนกองพลที่ ๙๓ รักษาการณ์ตั้งแต่เมืองหาง เมืองต่วน เมืองสาด มีกำลังพล ๑ กองพัน เมื่อกองทัพไทยเข้าตี ทหารจีนสู้พลางถอยพลางไม่ได้ต้านทานอย่างเหนียวแน่น ทิ้งทหารเจ็บป่วยและติดฝิ่นไว้ตามรายทาง ไปรวมกับทหารที่ถอยข้ามแม่น้ำสาละวินมา และไปสมทบกับกองกำลังส่วนใหญ่ที่เชียงตุง กองพลที่ ๒ จึงยึดเมืองสาดไว้ได้พร้อมกับจับเชลยได้หลายคน

ตามแผนยุทธการ เมื่อยึดเมืองสาดได้แล้ว กองพลที่ ๒ จะต้องเคลื่อนไปตามถนนเชียงตุง-ท่าฬ่อ ให้ลึกเลยเชียงตุงเข้าไป แล้วอ้อมไปตีข้างหลัง ขณะที่กองพลที่ ๓ จะตีเมืองเชียงตุงด้านหน้า

แต่การเดินทัพของกองพลที่ ๒ เกิดอุปสรรคไม่สามารถเคลื่อนกำลังได้ตามเป้าหมาย เพราะภูมิประเทศเต็มไปด้วยโคลนเลนเนื่องจากฝนตกหนัก แม้แต่เกวียนก็ไม่สามารถเคลื่อนไปได้ กำลังพลถูกไข้ป่ากระหน่ำล้มตายลงไม่ต่ำกว่าครึ่ง มีเพียงทหารม้า ๑ กองพันเท่านั้นที่เข้าไปถึงนครเชียงตุงได้ และไปถึงหลังจากที่กองพลที่ ๓ ยึดได้แล้วถึง ๑๐ วัน

กองพลที่ ๔ ภายใต้การบังคับบัญชาของ พันเอกหลวงหาญสงคราม (ฟ้อน สุวรรณไศละ ภายหลังเปลี่ยนเป็น พิชัย หาญสงคราม) ได้เคลื่อนกำลังจากแม่สายเชียงราย ล่วงหน้าไปก่อนกองพลที่ ๓ ในวันที่ ๑๐ พฤษภาคม มีเป้าหมายให้ยึดเมืองพยาค ซึ่งเป็นศูนย์กลางคมนาคมของย่านนี้ จากนั้นจึงมุ่งเข้าสู่เชียงตุง ซึ่งห่างจากเมืองพยาคไปอีก ๘๐ กม. และมีเครื่องบิน ๑๐ เครื่องร่วมปฏิบัติการ ทิ้งระเบิดเมืองต่างๆล่วงหน้าไปก่อน กองพลที่ ๔ จึงยึดเมืองพยาคได้สะดวกในวันที่ ๒๐ พฤษภาคม มีการต่อต้านเพียงประปราย

ส่วนกองพลที่ ๓ ในบังคับบัญชาของ พลตรีหลวงชำนาญยุทธศาสตร์ (ผิน ชุณหะวัณ) เคลื่อนตามหลังกองพลที่ ๔ ไปเพื่อสนับสนุนการเข้าตีเมืองพยาค จากนั้นจะแยกเข้าตีเมืองเชียงตุงด้วย

วันที่ ๑๐ พฤษภาคม กองพลที่ ๓ เคลื่อนผ่านท่าขี้เหล็กแต่เช้ามืด ผ่านเมืองโก เมืองเลน ที่กองพลที่ ๔ ล่วงหน้าไปก่อน เมื่อถึงเมืองพยาคแล้วแบ่งกำลังออกเป็น ๓ กอง ให้กรมทหารราบที่ ๔ จากอุดรธานี เป็นกองระวังหน้า กรมทหารราบที่ ๓ จากนครราชสีมา เป็นกองหลวง พลตรีผิน ชุณหะวัณ อยู่ในกองนี้ อีกกองเป็นกองพันอิสระซึ่งเป็นกองพันพิเศษ

การบุกเชียงตุงสำเร็จนั้น กองพันอิสระนี้มีความสำคัญอย่างมาก โดยแยกตัวไปจากกองพลที่ ๓ เป็นอิสระสมบูรณ์แบบ ไม่มีการส่งกำลังบำรุงใดๆทั้งสิ้น ต้องหาเลี้ยงชีพด้วยตนเอง เข้าไปถึงหมู่บ้านไหนก็เข้าตีสนิทกับชาวบ้านช่วยทำงานแล้วขอข้าวกิน บางครั้งก็ต้องหาเผือกหามันหรือล่าสัตว์กินเอง และมีภาระสำคัญในด้านการปล่อยข่าว โดยคุยกับชาวบ้านว่า กองทัพไทยมีแสนยานุภาพมาก ทั้งยังมีกองทัพญี่ปุ่นตามมาสนับสนุน ข่าวนี้เมื่อไปถึงทหารกองพล ๙๓ ที่ยึดครองพื้นที่อยู่ ต่างขวัญผวาไปตามกัน เพราะทั้งทหารและชาวบ้านได้กิติศัพท์การบุกของกองทัพญี่ปุ่นแล้ว อังกฤษยังถอยไม่กล้าอยู่สู้ เมื่อรู้ว่ากองทัพไทยบุกนำมีญี่ปุ่นตามมาก็เตรียมถอยกันแล้ว

จากเมืองพยาคมีถนนไปเชียงตุง แต่พอลุยถนนโคลนไปได้ ๑๐ กม. ก็เจอทะเลโคลน รถยนต์ที่เกณฑ์มาจากภาคอีสาน ๔๐๐ คันจมอยู่ในโคลนมากกว่าครึ่ง ทั้งยังต้องผ่านหุบเหวที่ข้าศึกระเบิดภูเขาถล่มปิดเส้นทางไว้ ทหารต้องบุกป่าฝ่าโคลนไปท่ามกลางพายุฝนและอากาศที่หนาวเหน็บ แต่ทหารอีสานก็ทนทายาด เมื่อไม่มีอาหารก็ขุดเผือกขุดมันมาต้มกินแทนข้าว ขุดหน่อไม้มาเคี้ยวกินดิบๆ พอประทังชีวิตไปได้

พลตรีผินเล่าความหลังให้นักข่าวฟังเมื่อตอนเป็นจอมพลแล้วว่า

“ผมยังเคยเคี้ยวกินหน่อไม้ดิบๆร่วมกับทหารเขาเลย มันออกรสขมๆ หวานๆ ปะแล่มๆ อร่อยดีเหมือนกันยามหิว”

การเคลื่อนกำลังของกองพลที่ ๓ มุ่งสู่ดอยเหมย ผ่านความยากลำบากของภูมิประเทศ ทั้งยังไม่มีเวลาหยุดพักเลยนั้น ทำให้ทหารพากันอ่อนกำลัง หลายคนเป็นมาเลเรียขั้นหนัก ยาประจำกองทัพก็มีแต่ควินินเม็ด ส่วนยาฉีดไม่มีเลย จึงไม่สามารถเอาชนะมาเลเรียได้ ทหารล้มสิ้นใจไปต่อหน้าผู้บัญชาการก็มี ส่วนที่พอจะเยียวยาได้ก็ส่งกลับไปเมืองพยาค ที่เหลือก็ลุยต่อไปจนถึงเชียงตุง

นครเชียงตุงตั้งอยู่ในวงล้อมของเทือกเขาสูง มีถนนเข้าไปได้เพียงเส้นเดียวที่มาจากแม่สาย อังกฤษได้สร้างปราการแข็งแกร่งติดอาวุธหนักไว้บนดอยเหมย คุมเส้นทางยุทธศาสตร์สายนี้ และใช้เป็นที่ตากอากาศของคนอังกฤษด้วย ทั้งคุยว่าไม่มีกองทัพใดจะผ่านปราการอันแข็งแกร่งนี้ไปได้ ฉะนั้นก่อนที่กองพลที่ ๓ จะเคลื่อนไปถึง จึงได้ส่งฝูงบิน ๑๐ เครื่องไปถล่มปราการบนยอดดอยเหมยเสียก่อนเมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ทำให้บางส่วนถูกทำลาย ทหารจีนขวัญกระเจิง กองพลที่ ๓ แบ่งกำลังส่วนหนึ่งอ้อมไปด้านหลัง กำหนดตีพร้อมกัน ๒ ด้าน แต่การนำปืนใหญ่ขึ้นไปเป็นเรื่องที่ยุ่งยากมาก เพราะเส้นทางสูงชัน ม้าไม่มีกำลังจะลากปืนใหญ่ขึ้นไปได้ เผอิญทหารที่ไปส่วนใหญ่เป็นคนอีสานผ่านประสบการณ์ทำนามา เห็นควายที่ชาวบ้านปล่อยไว้ตามยถากรรมจึงไปต้อนมา ๔ ตัว ให้ลากปืนใหญ่ขึ้นไปได้ ๒ กระบอก

พอได้ที่ตั้งเหมาะ ปืนใหญ่ทั้ง ๒ กระบอกนั้นก็คำรามใส่ป้อมปราการของอังกฤษจนฝ่ายต่อต้านเงียบเสียง ทหารไทยบุกขึ้นไปก็พบทหารจีนถอยไปหมดแล้วทิ้งศพทหารไว้เกลื่อน ทั้งยังพบทหารไทยหน่วยลาดตระเวนที่ถูกจับมาขังให้อดอาหารจนผอมโซ

ขณะที่กองพลที่ ๓ ยึดครองดอยเหมยอยู่นั้น ในวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๔๘๕ เจ้าบุญวาสน์วงศ์ษา ณ เชียงตุง ข้าหลวงนครเชียงตุงพร้อมด้วยกรมการเมืองได้เดินทางมาพบพลตรีผิน ชุณหะวัณ แจ้งให้ทราบว่า กองพลที่ ๔ ซึ่งเป็นกองระวังหน้าและกองพันอิสระของกองพลที่ ๓ ได้ยึดนครเชียงตุงไว้ได้แล้ว จึงเชิญพลตรีผินนำกองพลที่ ๓ เคลื่อนเข้าสู่นครเชียงตุง

ทหารกองพลที่ ๙๓ ของจีน ได้ถอยออกเชียงตุงไปหมดแล้ว ทิ้งไว้แต่สภาพยับเยินของเมือง เหลือตึกอยู่เพียง ๓ หลังในตลาดและศพเน่าเปื่อยที่เหม็นคลุ้งอยู่ทั่วเมืองไม่น้อยกว่า ๔๐๐-๕๐๐ ศพ

รัฐบาลไทยได้สถาปนารัฐฉานหรือสหรัฐไทยใหญ่ขึ้นเป็น “สหรัฐไทยเดิม” และแต่งตั้ง พลตรีผิน ชุณหะวัณ ดำรงตำแหน่งข้าหลวง พร้อมกับเลื่อนยศขึ้นเป็นพลโท เร่งปรับปรุงบ้านเมืองจัดระเบียบการปกครอง รวมทั้งระบบสาธารณสุขและการศึกษา

หลังจากยึดเชียงตุงได้แล้ว กองทัพพายัพของไทยยังรุกคืบหน้าต่อไป และเข้าตีเมืองยองซึ่งเป็นเมืองใหญ่รองจากเชียงตุง และยึดเมืองต่างๆได้จนข้าศึกต้องถอยเข้าไปในมณฑลยูนาน จึงประชิดชายแดนจีนเป็นผลสำเร็จในวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๔๘๖ เป็นไปตามเป้าหมายยุทธการของกองทัพพายัพ

จากนั้นกองทัพพายัพก็เริ่มถอนกำลังออกจากสหรัฐไทยเดิม คงเหลือกำลังไว้ตามความจำเป็นพอสนับสนุนเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง คือ สำนักงานข้าหลวงทหารประจำสหรัฐไทยเดิม ซึ่งได้แบ่งการปกครองออกเป็น ๑๒ อำเภอ คืออำเภอเมืองเชียงตุง อำเภอเมืองยอง อำเภอเมืองพยาค อำเภอเมืองยู้ อำเภอเมืองปิง อำเภอเมืองมะ อำเภอเมืองยาง อำเภอเมืองซาก อำเภอเมืองเลน อำเภอเมืองโก อำเภอเมืองสาด และอำเภอเมืองหาง พร้อมกับให้ตั้งศาลขึ้น ๓ แห่ง ที่เมืองเชียงตุง เมืองสาด และเมืองหาง มีอำนาจพิจารณาคดีเช่นเดียวกับศาลจังหวัดในประเทศไทย แต่ให้คำพิพากษาของศาลทั้ง ๓ นี้เป็นเด็ดขาด ไม่มีการอุทธรณ์หรือฎีกา สำหรับการรักษาความสงบนั้นให้เป็นหน้าที่ของตำรวจสนาม

ต่อมาในวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๔๘๖ หลังจากที่ไทยยึดสหรัฐไทยเดิมมาปีเศษ ญี่ปุ่นโดยเอกอัครราชทูตประจำกรุงเทพฯ ก็ได้ลงนามร่วมกับจอมพล ป.พิบูลสงคราม ตามที่ได้ทำสัญญาลับกันไว้ ยอมรับการรวมสหรัฐไทยเดิมเข้าเป็นอาณาเขตของราชอาณาจักรไทย พร้อมกับ กลันตัน ตรังกานู เคด้า ปะลิส และบรรดาเกาะทั้งหลายที่ขึ้นกับรัฐต่างๆนั้นด้วย โดยญี่ปุ่นจะมอบการปกครองในรัฐมลายูที่ญี่ปุ่นกำลังปกครองอยู่นั้นให้ไทยภายใน ๖๐ วัน ไทยจึงได้ดินแดนที่เสียไปในรัชกาลที่ ๔ และที่ ๕ คืนมาทั้งหมด

แต่แล้วก็เหมือนแค่ความฝัน เมื่อญี่ปุ่นยอมแพ้ในวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๔๘๘ ไทยต้องรีบประกาศสันติภาพ คืนดินแดนเหล่านี้ให้อังกฤษแต่โดยดี คำว่า “สหรัฐไทยเดิม” จึงปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์เพียงแค่ระยะเวลาสั้นๆ เหมือน ๔ จังหวัดในฝันทางเขมรและลาว
รถถังไทยข้ามสะพานแม่สายสู่รัฐฉาน
ทหารไทยเข้าถึงเชียงตุง
 สภาพเชียงตุงเมื่อไทยเข้ายึด
กองพันปืนใหญ่รุกผ่านบ้านท่าขี้เหล็ก
หน่วยยานยนต์เข้าสู่รัฐฉาน
กำลังโหลดความคิดเห็น