xs
xsm
sm
md
lg

จีน-อินเดียจ่อเปิด “สายด่วนทางทหาร” เพื่อจัดการความตึงเครียดทางพรมแดน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - จีนและอินเดียกำลังมุ่งสู่การจัดตั้งสายด่วนทางทหาร สื่อทางการจีนรายงาน ในขณะที่ข้อพิพาททางดินแดนและความตึงเครียดจากการคว่ำบาตรจากกรณีการก่อการร้ายยังคงเกาะกุมความสัมพันธ์ระหว่างสองยักษ์ใหญ่ในเอเชียอยู่

จีน “ตอบสนองในเชิงบวก” ต่อแผนการจัดตั้งสายด่วน สำนักข่าวซินหวาของทางการจีนรายงานโดยอ้างจากคำพูดของ ฉาง ว่านเฉวียน รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมในวันจันทร์ (18) ระหว่างการพูดคุยกับรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของอินเดีย

สองชาติที่มีประชากรมากที่สุดในโลกกำลังแข่งขยายอิทธิพลในเอเชียและความสัมพันธ์ของพวกเขาถูกครอบงำด้วยข้อพิพาททางดินแดนที่ปลายสุดของเทือกเขาหิมาลัยทั้งสองฝั่ง

ในปี 1962 พวกเขาทำสงครามพรมแดนเกี่ยวกับรัฐอรุณาจัลประเทศทางตะวันออกเฉียงเหนือของแดนภารตะ ซึ่งมีหลายพื้นที่ที่จีนอ้างสิทธิว่าเป็นทิเบตตอนใต้

ความตึงเครียดพุ่งสูงขึ้นในปี 2014 เมื่อทหารจีนหลายร้อยนายเคลื่อนเข้าสู่ดินแดนลาดักห์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของอินเดีย ในขณะที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน อยู่ระหว่างการเยือนแดนภารตะครั้งประวัติศาสตร์

เมื่อค่ำวานนี้ (18) ซินหวารายงานโดยอ้างจากคำพูดของ มาโนฮาร์ ปาร์ริการ์ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมอินเดีย ว่า อินเดีย “หวังที่จะยกระดับการแลกเปลี่ยนทวิภาคีและความร่วม (กับจีน) ในทุกด้าน”

ปาร์ริการ์เรียกร้องอีกครั้งให้มีการกำหนด “เส้นแบ่งเขตควบคุมตามความเป็นจริง” (Line of Actual Control หรือ LAC) ระหว่างสองประเทศอย่างชัดเจน สำนักข่าวพีทีไอของอินเดียรายงาน

อย่างไรก็ตาม พีทีไอเสริมว่า จีน “แสดงความกังขาต่อเคลื่อนไหวลักษณะดังกล่าว” ซึ่งถูกเสนอเมื่อปีที่แล้วตอนที่นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี แห่งอินเดียไปเยือนแดนมังกร

อินเดียตอบสนองอย่างโกรธเกรี้ยวเมื่อช่วงต้นเดือนนี้หลังจากที่จีนขัดขวางคำร้องขอของพวกเขาที่จะเพิ่ม มาซูด ฮัซฮาร์ หัวหน้ากลุ่มติดอาวุธจาอิช-อี-โมฮัมหมัดของปากีสถานลงในบัญชีดำขององค์การสหประชาชาติ

จีนมีความสัมพันธ์ที่ดีกับปากีสถาน อริเก่าแก่ของอินเดีย และกำลังดำเนินโครงการโครงสร้างพื้นฐานมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ที่นั่น

ในความพยายามเพื่อดึงดูดการลงทุนจากจีน เมื่อเดือนมกราคมอิสลามาบัดระบุว่า พวกเขากำลังพิจารณายกระดับสถานภาพตามรัฐธรรมนูญของแคว้นแห่งหนึ่งทางตอนเหนือซึ่งก็ถูกอ้างสิทธิโดยอินเดียเช่นกัน

พีทีไอรายงานว่า ซุชมา สวาราช รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศเรียกร้องให้ปักกิ่ง “ทบทวน” จุดยืนของตนเรื่องอัซฮาร์ ผู้ซึ่งถูกกล่าวหาว่าวางแผนการโจมตีฐานทัพอากาศปาธานคอตในรัฐปัญจาบทางตอนเหนือ


กำลังโหลดความคิดเห็น