xs
xsm
sm
md
lg

กดเลิฟ..“หมอแนน-ณฐพรรษ” นางฟ้าของคนรักสัตว์เลี้ยง : "ไม่รัก ไม่เมตตา ก็ขออย่าทำร้าย"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

“ส่องกันให้ชัดๆ”, “เทใจให้เลย”, หรือกระทั่ง “กดเลิฟ” คือถ้อยคำที่กล่าวขวัญลั่นโลกออนไลน์ถึงหญิงสาวที่บางคนเรียกขานว่านางฟ้า ผู้มีความรักเป็นแรงผลักดันให้ก้าวสู่การเป็นสัตวแพทย์

คุณหมอรักษาสัตว์โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ สาขาแจ้งวัฒนะ เชื่อว่าวินาทีนี้ มนุษย์โซเชียลน้อยคนนักจะไม่รู้จัก จากโมเมนต์ใสๆ ที่เธอใส่ใจน้องหมาน้องแมว กระทั่งเราก็ต้องขอเข้าพบเพื่อทำความรู้จักกับเธอให้ลึกซึ้งยิ่งกว่าเดิม...“สัตวแพทย์หญิงณฐพรรษ” หรือ “หมอแนน” ที่หนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่ทั่วหล้าปวารณาเป็นแฟนคลับของเธอ


• รู้สึกอย่างไรบ้างกับการเป็นคุณหมอคนดังที่ใครต่อใครต่างชื่นชม โดยเฉพาะหนุ่มๆ

คือจริงๆ ส่วนตัวหมอก็ไม่ได้มีอะไรเป็นพิเศษกว่าหมอคนอื่นนะคะ เพราะหมอทุกคนเขาก็รักษาสัตว์เหมือนกัน ใส่ใจการรักษาสัตว์เหมือนกัน เพียงแต่ว่าที่แชร์ที่พูดถึงเรา เขาแอบถ่ายรูปเรา ก็ไม่รู้จะห้ามอย่างไร สังเกตในภาพจะเป็นภาพที่เราไม่ได้ตั้งใจ เราก็เลยไม่มีคอมเมนต์อะไร ถ้าพูดกันตามหลัก มันก็ไม่ควรเกิดขึ้น คือเราอยู่ในขณะทำการรักษา ห้ามถ่ายรูป ไม่ว่าจะเป็นหมอรักษาคนหรือหมอรักษาสัตว์ เพราะจะเป็นการรบกวน

• ไม่มีมาแอบแฝง แบบพาน้องหมาน้องแมวมารักษาเพื่อที่จะได้พบเรา

ไม่มีค่ะ (หัวเราะ) ทั้งก่อนหน้านี้หรือว่าหลังจากที่ภาพถูกเผยแพร่ออกไป ทำงานมา 4 ปีกว่าๆ ตั้งแต่จบที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ไม่มีค่ะ และก็ขอให้ไม่มีดีกว่า (ยิ้ม)

ส่วนตัวอยากจะบอกว่าจริงๆ การรักสัตว์ มันไม่ใช่แค่มันมีอะไรมาเป็นแรงบันดาลใจก่อนแล้วเราถึงรัก แต่ต้องมีความรักด้วยตัวเองอยู่แล้ว ไม่ใช่ว่า สมมติเห็นดาราคนนี้เลี้ยงสุนัขพันธุ์นี้แล้วน่ารัก ทำให้อยากเลี้ยงตาม ไม่ใช่ อันนี้ไม่อยากให้เกิดประเด็นอย่างนั้น เราควรจะเริ่มจากจิตใจเรา จากตัวเราทุกอย่าง ไม่ว่าจะเรื่องการรักสัตว์ เลี้ยงสัตว์หรือว่าทำงานในด้านนี้

• อย่างนี้แสดงว่าเหตุผลของการเลือกประกอบอาชีพเป็นสัตวแพทย์ของเราก็เกิดจากความรักสัตว์เป็นพื้นฐาน

ใช่ค่ะ...เพราะที่บ้านแนนเลี้ยงสัตว์มาตั้งแต่เด็กๆ จำความได้ก็เลี้ยงสุนัขมาตลอด มันก็เลยเหมือนเป็นความเคยชิน คือที่บ้านมีสุนัขอยู่ในบ้านเสมือนสมาชิกครอบครัว เป็นคนคนหนึ่งในครอบครัว เป็นส่วนหนึ่งซึ่งทำให้รู้สึกว่าชอบ รักเขาอย่างใจจริง ก็เลยเลือกที่จะเรียนทางด้านนี้และทำงานทางสายอาชีพนี้ รู้สึกโอเคกับการที่เราได้ทำงานเกี่ยวกับสัตว์ รักษาสัตว์ ซึ่งโดยส่วนใหญ่ หมอที่เรียนมาทางด้านนี้ก็ต้องมีความรักสัตว์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว คือถ้าไม่ได้มีความรักสัตว์จะไม่สามารถทำได้ เรียนไม่ได้ เพราะว่างานของเรามันก็ต้องอยู่กับสัตว์

• เรียนเป็นหมอรักษาคนกับเรียนเป็นหมอรักษาสัตว์ มีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

ที่เหมือนกันก็คือจะเรียน 6 ปีเหมือนกัน แต่ที่จะแตกต่างกันออกไปคือเรื่องของการที่ไม่มีแบ่งแยกแผนก เวลาเรียนส่วนใหญ่จะเรียนรวม เรียนพื้นฐานทุกสปีชีส์ หมายถึงสัตว์เล็ก สุนัข แมว กระต่าย เอ็กโซติกเพ็ตส์ สัตว์ใหญ่อย่างม้า หรือสัตว์ป่า สัตว์เศรษฐกิจ สัตว์ทุกชนิด เพียงแต่ว่าพอถึงเวลาทำงาน เราก็เลือกตามที่เราชอบว่าเราอยากทำ เราเหมาะกับตรงไหน อาจจะไม่ได้ทำในส่วนของการรักษาหรือสังกัดคลินิก โรงพยาบาล มันสามารถทำได้หลายอย่าง เช่น ทำในรูปแบบของบริษัทก็ได้ คือเป็นในลักษณะของการขายพวกเวชภัณฑ์ยาเกี่ยวกับสัตว์ ก็ได้หลากหลายรูปแบบ แต่แนนชอบสุนัข แมว สัตว์เล็ก กระต่าย เป็นการส่วนตัว เลยเลือกสายนี้ค่ะ

• ระหว่างสุนัข แมว กระต่าย เราชอบอะไรมากกว่ากัน

จริงๆ ก็ชอบหมด แต่หลักๆ จะเป็นสุนัขกับแมว (ยิ้ม) แล้วก็ไม่มีการแบ่งแยกสายพันธุ์ว่ารักพันธุ์ต่างประเทศมากกว่า พันธุ์ไทยก็น่ารัก น่ารักหมด แต่จริงๆ อยู่ที่นิสัยมากกว่าหน้าตาความน่ารักหรือพันธุ์

• แล้วเรื่องของหนุ่มๆ ล่ะ ต้องดูที่นิสัยด้วยหรือไม่

นอกประเด็น (หัวเราะ) ก็...นิสัยเหมือนกันค่ะ คือแล้วแต่ความชอบของแต่ละคน ส่วนตัวหมอไม่รู้ว่าจะยังไง แต่โดยส่วนใหญ่ก็ต้องดูที่นิสัยเป็นหลักอย่างแรก บางคนอาจจะมองที่หน้าตาหรือรูปร่างหรืออะไร แต่ถ้าสำหรับหมอดูที่นิสัยก่อนค่ะ

• ไม่จำเป็นต้องคุยภาษาน้องหมาน้องแมวรู้เรื่องเหมือนเรา

(หัวเราะ) จริงๆ หมอก็ไม่มีใครคุยกับน้องหมาน้องแมวรู้เรื่องนะคะ แต่คนอาจจะสงสัยคิดว่าคุยกันรู้เรื่อง หรือมีตำราสอน เพียงแต่ว่าคุณหมอส่วนใหญ่เราจะช่างสังเกต เพราะว่าคนไข้เราพูดไม่ได้ แล้วบางทีเจ้าของก็คือเขาก็จะมีความรักความใส่ใจในระดับหนึ่งอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ามากน้อยมันต่างกัน เพราะฉะนั้นเวลาเรารู้ว่าเขาเป็นอะไรไม่ใช่เพราะคุยกับเขา เราจะถามอาการจากเจ้าของ บวกกับต้องสังเกตที่สุนัขแมวที่สัตว์เลี้ยงว่าเขาแสดงอาการอย่างไร คือเบื้องต้นคือต้องช่างสังเกต เราไม่ได้คุยรู้เรื่อง เราแค่ต้องช่างสังเกตค่ะ ไม่ใช่เราคุยกับเขารู้เรื่อง

• ต้องมีความช่างสังเกต แล้วต้องมีคุณสมบัติอะไรอีกบ้าง จึงจะก้าวขึ้นมาเป็นสัตวแพทย์อย่างเราได้

ก็เรื่องเรียนค่ะ เบื้องต้นเลยก็คือต้องเรียนมาทางสายวิทยาศาสตร์ก่อน นอกนั้นพื้นฐานในการเรียนชั้นมัธยมก็จะเหมือนกับทั่วไป สายวิทยาศาสตร์สายแพทย์ทั่วไป เพราะว่าพอเราเข้ามาเรียนความรู้ด้านนี้มันต้องใช้ต่อเนื่องอยู่แล้ว ฟิสิกส์ยังไม่เท่าไหร่ แต่พวกเคมี ชีวะ จะใช้เป็นหลัก ฉะนั้น น้องๆ ถ้าเกิดอยากเรียนเป็นสัตวแพทย์ก็ควรจะเน้นการตั้งใจเรียน

• เรียนยากเหมือนกับหมอแผนอื่นๆ ไหม

ยากไหมเหรอ? อันนี้แล้วแต่ความรู้สึกแต่ละคน แนนว่านะ แต่ที่แน่ๆ เนื้อหาเยอะ ฉะนั้นก็เลยต้องใช้ความอดทนค่อนข้างเยอะ บางทีเราไปเรียนอะไรที่เราไม่ได้มีความสนใจ ไม่ได้มีความชอบ เช่น อย่างหมอชอบสัตว์เล็กสัตว์เลี้ยง พอไปเรียนสัตว์ใหญ่ สัตว์เศรษฐกิจ ม้า วัว ก็จะรู้สึกว่ามันยาก จะแนะนำหรือติวก็ไม่แน่ใจว่าเดี๋ยวนี้เด็กเขาสอบกันอย่างไร แล้วมันอาจจะเป็นการสอบคนละรูปแบบกับที่หมอเคยสอบ เพราะมันนานมาแล้ว ตอนนี้แนนอายุ 28 ปี ก็ห่างกันหลายรุ่น แต่ว่าถ้าตั้งใจจริงๆ อ่านหนังสือเรียนพื้นฐานให้แน่นตามหลักสูตร มันก็เพียงพอ

ที่เหลือก็คือต้องมีความรักความชอบก่อน มันจะนำพาเราไปเอง แค่นั้น ถ้าไม่ได้มีพื้นฐานมาจากความสนใจ ความชอบความรัก มันก็จะยาก แล้วสุดท้ายก็คือมันก็ต้องเรียนไปด้วยความฝืนแล้วมันจะใช้ระยะเวลาเรียนนานก็จะกลายเป็นไม่มีความสุข อาจจะต้องย้ายสาขา (ยิ้ม)

• เสน่ห์ของการเป็นสัตวแพทย์ ส่วนตัวเราคิดว่าอยู่ที่ตรงจุดไหน นอกจากการที่เราจะได้คลุกคลีกับน้องหมาน้องแมวที่รักเป็นการส่วนตัว

จริงๆ คือถ้าถามหมอๆ หลายๆ คนก็คงจะตอบเสียงเดียวกันว่าที่ทำงานด้านเกี่ยวกับสัตว์ เสน่ห์ก็คือการได้อยู่ได้คลุกคลีกับเขา ถ้าเกิดเราติดตามดูหรือเห็นเฟซบุ๊กของคุณหมอหลายๆ ท่าน ก็จะเห็นว่าคุณหมอจะชอบอัปโปรไฟล์เป็นรูปคู่กับสัตว์เลี้ยงที่เลี้ยงบ้าง แนนก็อัปรูปน้องแมวที่บ้านที่เก็บมาเลี้ยง หรือสัตว์ที่มารักษาบ้าง ซึ่งก็เป็นความสุขของการทำงานอย่างหนึ่ง ส่วนตัวคิดว่าน่าจะเป็นความสุขที่เกิดขึ้นจากตรงจุดนี้ ที่คุณหมอที่อยู่สาขาอื่นทำไม่ได้

• ในระยะหลังนี้มักมีกรณีคนทำร้ายสัตว์ให้ได้ยินบ่อยครั้ง คุณหมอมีความคิดเห็นอย่างไรบ้างในเรื่องนี้

อันนี้คือความคิดส่วนตัวนะคะ จริงๆ เท่าที่เห็นในเฟซบุ๊กที่แชร์กัน มันก็สะท้อนให้เห็นว่าคนเราสมัยนี้ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาซะส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ เรื่องอะไรก็ตาม แม้กระทั่งเรื่องความรัก ถ้าไม่พอใจ เราก็ทำร้าย เราก็ฆ่ากัน เพื่อจะได้จบ ได้ยุติปัญหา กรณีการใช้ความรุนแรงกับสัตว์จึงเป็นปัญหาที่วนเวียน ซึ่งอันนี้ก็ยากที่จะสามารถห้ามการกระทำเหล่านั้นได้ เนื่องจากว่าสัตว์เลี้ยง ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของคนเลี้ยงแต่ละคนด้วยส่วนหนึ่ง

แต่ที่อยากจะรณรงค์ก็คือว่า อยากให้เตรียมความพร้อม ทำความเข้าใจ ศึกษาทุกอย่างแล้วก็ดูว่าเราสามารถเลี้ยงได้ไหม เพราะอย่างสุนัขไม่ได้อยู่แค่ 2-3 ปี เขาอยู่กับเราไปนาน 10 ปี 15 ปี โดยเฉลี่ย เพราะฉะนั้น 10 ปี 15 ปี ถือว่าสุนัขตัวนี้หรือแมวตัวนี้เขาสามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวของเราได้เลย ฉะนั้น เราก็อยากให้คนที่จะซื้อหรือว่าอยากจะเลี้ยง ต้องแน่ใจก่อนว่าอยากจะเลี้ยงจริง แล้วก็สามารถเลี้ยงได้ เพราะว่าซื้อมาเลี้ยงแล้ว ถ้าเขาป่วย มันก็ต้องมีค่าใช้จ่ายในเรื่องของการรักษาหรือการดูแลต่างๆ อาหาร มันเป็นค่าใช้จ่ายหมด ก็ต้องมีความพร้อม

ส่วนกรณีที่เกิดการทิ้งขว้าง ก่อนที่จะเอาไปทิ้งหรือเอาไปปล่อย ถ้าเรารู้ตัวว่าเราไม่สามารถเลี้ยงได้จริงๆ เดี๋ยวนี้มันมีหลายๆ ช่องทาง จะลงในเพจเฟซบุ๊กหรือในโซเชียลต่างๆ ก็ได้ คือชี้แจงเหตุผลว่าเราไม่สามารถเลี้ยงได้เพราะอะไร เผื่อมีคนที่เขาสนใจแล้วมีความรักสุนัขแมวอยู่แล้ว และเขาสามารถที่จะเลี้ยงดูให้ได้ มันก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้สุนัขกับแมวไม่ต้องไร้บ้าน ถูกนำไปปล่อยวัด ปล่อยข้างทาง เราควรจะต้องหาบ้านให้ก่อน คือวิธีการแก้ปัญหามันก็มีหลายรูปแบบ พูดง่ายๆ คล้ายๆ ว่าถ้าเราโดนทิ้ง เราจะรู้สึกอย่างไร เราก็น่าจะไม่โอเค

• คุณหมอมีคำแนะนำในการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงพวกนั้นอย่างไรบ้าง

แล้วแต่ค่ะ เพราะการเลี้ยงสัตว์ก็มีหลายระดับจริงๆ ซึ่งหมอไม่อยากจะเฉพาะเจาะจงว่าต้องเป็นอะไร แต่ถ้าเลี้ยงด้วยความรักความเอาใจใส่แล้วก็ไม่ทิ้งขว้าง ไม่ว่าจะให้กินอะไร หมอว่าโอเคหมด เพราะบางบ้านเขาอยากเลี้ยงเขาเห็นสุนัขแล้วเขาสงสารรับมาเลี้ยง แต่ไม่ได้มีสตางค์มากพอที่จะให้อาหารดีๆ ก็คือใช้เป็นข้าวคลุกอย่างนี้ก็โอเค คืออย่างน้อยสัตว์ก็ได้มีข้าวกิน ได้มีที่อยู่อาศัย

ส่วนเรื่องการดูแล สุนัขกับแมวถ้าเขาอยู่กับเราตลอดเป็นเหมือนส่วนหนึ่งของบ้าน อยู่กันแทบจะ 24 ชั่วโมง เจ้าของเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดในการที่จะดูแลเขา ดูว่าเขามีอะไรผิดปกติ แล้วจะได้ทำการรักษาหรือป้องกันได้ทัน ไม่ใช่ว่าปล่อยไว้นานจนเกินที่จะรักษาแล้วค่อยพามา อันนี้มันก็จะเป็นปัญหา พอพามาแล้วรักษาไม่หายหรือค่ารักษาเยอะ เพราะจำเป็นต้องตรวจเยอะ คือจริงๆ เจ้าของเป็นบุคคลแรกที่จะดูแลเรื่องอาการ ความผิดปกติให้กับหมอได้ดีที่สุด เรื่องความผิดปกติต่างๆ เวลาเข้ามาให้ตรวจหมอก็จะถามเจ้าของว่าน้องเป็นอะไรมา

อาการเบื้องต้นที่น้องไม่โอเค จะสังเกตได้อย่างไร โดยส่วนใหญ่ที่เข้ามา มักจะบอกว่าน้องซึมผิดปกติ ไม่เล่นไม่กินข้าว ไม่ร่าเริง อันนี้คืออาการพื้นฐานที่เจ้าของทุกคนจะเช็กได้ว่าเขาผิดปกติ ก็คือเขาซึมไป ก็ต้องสังเกตเขาเป็นพิเศษหน่อย แล้วมีอาการอย่างอื่นร่วมด้วยหรือเปล่า เช่นท้องเสียหรือเปล่า ถ่ายเป็นอย่างไร อาเจียนไหม พอเริ่มซึม เราก็ต้องเริ่มดูเขาละเอียดมากขึ้นว่าเขาเป็นอะไร มีอาการอะไรแปลกๆ หนักกว่านั้นไหม

• คนที่รักและดูแลเขาอย่างจริงจังจึงมักได้ยินเขาเรียกน้องๆ ว่าลูก ประหนึ่งลูกคน

ใช่ค่ะ...ปัญหาที่เกิดขึ้นคือบางคนมองแค่สัตว์ มันไม่ได้มีคุณค่าชีวิตจิตใจเท่ามนุษย์ แต่จริงๆ เท่าที่หมอทำงานมา เราก็จะเจอแต่กลุ่มคนที่เขารัก บางคนรักเหมือนลูกเลย ก็จะไม่ค่อยเจอหรือไปสัมผัสกลุ่มที่กระทำหรือมองเขาเป็นเพียงแค่สัตว์ด้อยกว่าเราเท่าไหร่ ตรงส่วนนั้นจะได้ข่าวจากที่เขาเห็นแชร์กันในโซเชียลมากกว่า คือพอมีโซเชียล มันก็ทำให้เป็นกระจกสะท้อนให้ได้เห็น จากแต่ก่อนที่เราอาจจะรู้แค่ว่ามันมีการกระทำความรุนแรง

อีกทั้งตอนนี้ พอมี พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์ การกระทำรุนแรงต่อสัตว์ก็ลดน้อยลง อาจจะทำให้คนที่คิดจะทำกลัวกฎหมายมากขึ้น หมอคิดว่าอาจจะช่วยได้ส่วนหนึ่ง แต่จริงๆ อันนี้มันเป็นเรื่องของพื้นฐานจิตใจของความเป็นมนุษย์ด้วยส่วนหนึ่ง ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถทำรุนแรงอย่างนั้นได้ คือหมายความว่ามันเป็นพื้นฐานของมนุษย์ด้วยกัน ตรงนี้เราไม่สามารถที่จะไปบอกทุกคนให้เขาต้องรักสัตว์นะ ต้องเมตตา อันนี้มันเป็นเรื่องของพื้นฐานจิตใจด้วย แต่ไม่รัก ไม่เมตตา ก็ไม่ต้องไปทำร้ายก็ได้ อันนี้เราช่วยกันได้ ก็อยากจะให้คนที่รัก รักด้วยตัวเราจริงๆ และถ้ารักเขา ก็ดูแลเขา เพราะเขาก็เหมือนคนในครอบครัวคนหนึ่ง มีเลือดเนื้อ มีจิตใจ ไม่ใช่สัตว์ในคำนิยามความหมาย ก็ขอฝากตรงนี้ค่ะ









เรื่อง : รัชพล ธนศุทธิสกุล
ภาพ : โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ

กำลังโหลดความคิดเห็น