xs
xsm
sm
md
lg

50 ปี โขนธรรมศาสตร์ ตอกย้ำความยิ่งใหญ่แห่งงานนาฏศิลป์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เป็นที่รู้ทั่วกันดีสำหรับ "โขน" นาฏกรรมที่มีความเป็นศิลปะเฉพาะตัว และถือเป็นเอกลักษณ์จุดเด่นประจำชาติบ้านเรา แม้ว่าจำเนียรกาลผ่านล่วงเลยมาถึงยุคปัจจุบัน ณ ตอนนี้ กระนั้นก็ยังคงมีผู้สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นอย่างองอาจมั่นคง

โดยเฉพาะ "โขนธรรมศาสตร์" ที่ยังคงความวิจิตรงดงามตระการตาตามแบบแผน ไม่เปลี่ยนแปลงทามกลางคืนวันเวลาจวบจนพุทธศักราช 2559 ระยะเวลากว่ากึ่งศตวรรษ "โขนธรรมศาสตร์" กำลังแสดงอภินิหารอีกครั้ง ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันที่ 6 เมษายน 2559 ที่จะถึงนี้

เพื่อยืนยันถึงการคงอยู่ ตัวตนและรากเหง้าความเป็นไทยให้ประจักษ์ อย่างที่ได้กำเนิดก่อเกิดปฐมฉากบทนี้ขึ้นมาด้วยปณิธานอันแรงกล้า และด้วยด้วยความเป็นไทยที่ไหลริน

“โขนจะอยู่ได้ก็ด้วยคนดู และถ้าจะดูโขนให้เป็นก็ต้องเล่นโขนได้”
คือคำกล่าวของ “อาจารย์หม่อม” ศาสตราจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ถึงแนวความคิดหลักในการสร้างโขนธรรมศาสตร์ขึ้นมาเมื่อ 50 ปีก่อน ในช่วงราวพ.ศ.2509 ซึ่งในขณะนั้นท่านเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความตั้งใจที่จะทำให้โขนซึ่งเป็นนาฏศิลป์ชั้นสูง เป็นศิลปะที่มีชีวิต ( Living Art) ที่มีการสืบสาน เผยแพร่ และดำรงคงอยู่ในหมู่ประชาชนทั่วไป

เมื่อคิดได้เช่นนั้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ จึงเสนอต่อที่ประชุมสัมมนาเรื่องนาฏศิลป์และดนตรีไทยในชีวิตไทยในบทความเรื่อง “การสืบเนื่องและการถ่ายทอดนาฏศิลป์ไทย” ซึ่งจัดโดยสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อ พ.ศ.2515 ถึงเจตนารมณ์ในการก่อตั้งโขนธรรมศาสตร์ว่า

“นาฏศิลป์ไทยนั้น ถ้าหากจะสืบเนื่องต่อไปได้ในอนาคตแล้ว ก็จำเป็นที่จะต้องสร้างทั้งนาฏศิลปินและคนดู

ในขณะนี้ทางวิทยาลัยนาฏศิลป์ของกรมศิลปากร เป็นแหล่งผลิตนาฏศิลปินของไทยอยู่แล้ว แต่นาฏศิลปินที่กรมศิลปากรได้ผลิตขึ้นนั้น ต่อไปอาจจะไม่เป็นประโยชน์ในทางสืบเนื่องนาฏศิลป์ได้เต็มที่ ถ้าหากว่าไม่มีคนดูที่มีความรู้ความเข้าใจในนาฏศิลป์ไทยถึงขั้นรู้ดีรู้ชั่วและวิจารณ์ได้

นักศึกษามหาวิทยาลัยนั้น ต่อไปเมื่อสำเร็จจากมหาวิทยาลัย ก็จะได้ไปทำการงานต่างๆ และอยู่ในฐานะผู้นำของชุมชน ถ้าหากว่านักศึกษาเป็นคนดูนาฏศิลป์ไทยที่มีคุณสมบัติขนาดนั้นแล้ว การสืบเนื่องนาฏศิลป์ไทยก็จะเป็นไปได้โดยสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพราะจะเป็นการสร้างคนดูโขนละคร ของกรมศิลปากร

การที่จะทำให้นักศึกษาเป็นคนดูขนาดนั้นได้ ก็จะต้องถ่ายทอดนาฏศิลป์ไทย ให้แก่นักศึกษาจนถึงรำได้เลย แสดงได้เอง และรู้เพลงหน้าพาทย์ต่างๆ ทั้งหมดหรือเกือบหมด"

(ในเวลาต่อมา บทความนี้ได้ถูกตีพิมพ์ในชื่อ “โขนธรรมศาสตร์” ในจุลสารไทยคดีศึกษา ฉบับพิเศษ อาลัย ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช)

โขนธรรมศาสตร์ในปีแรกที่ถือกำเนิด มีสมาชิกประมาณ 70 คน ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา ปี 1 และเกือบทั้งหมดไม่เคยดูโขนหรือรู้จักโขนกันเลย ดังนั้นการเรียน การฝึกจึงใช้บ้านพักของท่าน ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ที่ซอยสวนพลู เป็นที่ฝึกซ้อม ในตอนบ่ายของวันจันทร์ พุธ และศุกร์ โดยมีครูจากกรมศิลปากรซึ่ง ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ทาบทามไว้ เป็นผู้สอน

และภายในระยะเวลาเพียงแค่ 3 เดือน โขนธรรมศาสตร์ก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ ให้แสดงหน้าพระที่นั่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โดยแสดงเรื่อง รามเกียรติ์ ตอน “ศึกนาคบาศ” ซึ่งการแสดงเป็นที่พอพระราชหฤทัย ทรงมีพระราชดำรัสกับผู้แสดงอย่างใกล้ชิด และพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำแก่คณะโขน ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

นับจากนั้นในช่วงปี พ.ศ.2509 ถึง 2515 จึงเรียกได้ว่าเป็นยุครุ่งเรืองของโขนธรรมศาสตร์ เนื่องจากมีการแสดงที่หอประชุมใหญ่ ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีละ 2 ครั้ง นอกจากนั้นยังสัญจรไปแสดงในทั่วทุกภาคของประเทศไทย แถมจำนวนผู้แสดงก็มีจำนวนมากขึ้น ฝีมือการแสดงก็ดีขึ้น ตามประสบการณ์ที่สั่งสมมา ก่อเกิดให้มีชื่อเสียงจนเป็นที่ยอมรับจากสังคมเป็นวงกว้าง

การแสดงที่สำคัญครั้งหนึ่งที่ตราตรึงมิคลายในช่วงนี้คือ การแสดงเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2515 ในวาระสถาปนาองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามกุฎราชกุมาร ในครั้งนั้นคณะโขนธรรมศาสตร์แสดงตอน "พิเภกสวามิภักดิ์"

แต่ทว่าหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 สภาพแวดล้อมของบ้านเมืองไม่เอื้อต่อกิจกรรมของนักศึกษา โขนธรรมศาสตร์ต้องยุติการแสดงเป็นเวลานานพอสมคว จนเมื่อ พ.ศ.2538 ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อธิการบดีสมัยนั้น ได้ฟื้นฟูโขนธรรมศาสตร์ขึ้นมาอีกครั้ง โดยจัดให้มีการแสดงโขนธรรมศาสตร์ตอน "ศึกพรหมาสตร์" ในวาระที่ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ มีอายุ 7 รอบ ในวันที่ 20 เมษายน 2538

อย่างไรก็ตาม คล้อยหลังเพียงครึ่งปีในวันที่ 9 ตุลาคม ปีเดียวกันนั้นเอง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ก็ได้ถึงแก่อสัญกรรม โขนธรรมศาสตร์ต้องปิดตัวไปโดยปริยาย เพราะขาดผู้อุปถัมภ์หรือ "หัวหน้าคณะโขน" จนถึง พ.ศ.2543 คะเนนับรวมได้ 5 ปี โขนธรรมศาสตร์ได้หวนขึ้นเวทีอีกครั้งในสมัยรองศาสตราจารย์ ดร.นริศ ชัยสูตร เป็นอธิการบดี โดยจัดการแสดง ตอน "ถวายลิง ชูกล่อง ครองเมือง" เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ

การแสดงครั้งนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรด้วย จึงประหนึ่งพลิกฟื้นคืนชีพอย่างถาวรตามหลักการ ของ ศาสตราจารย์ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช นั้นเพราะหลังการแสดงครั้งนั้นบรรดาศิษย์โขนธรรมศาสตร์รุ่นต่างๆ ได้พยายามรวมตัวกันใหม่ โดยร่วมมือกับนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดตั้ง "ชุมนุมโขนธรรมศาสตร์" เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2544

ส่งผลให้ในปี 2546 โขนธรรมศาสตร์จึงได้เปิดการแสดงครั้งใหญ่ ในตอน "จองถนนและยกรบ" เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุครบ 48 พรรษา การแสดงครั้งนั้นมีผู้แสดงถึงเกือบ 200 คน นับเป็นโขนโรงใหญ่ที่สุดเท่าที่จัดแสดงมา และในวาระครบรอบปีที่ 80 แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2557 ชุมนุมโขนธรรมศาตร์ ได้จัดแสดงโขนตอน “ นารายณ์ปราบนนทุก และ หนุมานถวายพล” ขึ้นที่หอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ในดิถีฤกษ์ดีปีนี้ วันที่ 6 เมษายน 2559 "โขนธรรมศาสตร์" ได้จัดขึ้นเวทีหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อีกครั้งหนึ่ง ในการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ชุด “นางลอย-นาคบาศ" ตอกย้ำความยิ่งใหญ่ในนาฏกรรมปวงชนชาวไทย

แม้ว่า 50 ปีผ่านไป สังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ดนตรี นาฏศิลป์ไทย ต้องต่อสู้กับกระแสวัฒนธรรมต่างชาติอันเชี่ยวกราก เพื่อการดำรงคงอยู่ ห้าสิบปีที่โขนธรรมศาสตร์ถือกำเนิดขึ้นมาตามปณิธานสืบสานนาฏศิลป์ไทย

“โขนจะอยู่ได้ก็ด้วยคนดู" และ “ถ้าจะดูโขนให้เป็นก็ต้องเล่นโขนได้”

แล้วเราเป็นคนไทยจะไม่อนุรักษ์ส่งเสริมความเป็นไทย ก็ดูจะผิดโลหิตน้ำที่หลั่งไหลของบรรพบุรุษในตัวตน

กำลังโหลดความคิดเห็น