ชมปรากฏการณ์ “สุริยุปราคาบางส่วน” ในประเทศไทย ซึ่งหากพลาดชมครั้งนี้ต้องรออีก 4 ปี ส่วนสุริยุปราคาเต็มดวงต้องรออีก 54 ปี สดร. ถ่ายทอดสดจาก 6 จุด “กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ - ฉะเชิงเทรา - นครราชสีมา - สงขลา - อินโดนีเซีย”
วันนี้ ( 9 มี.ค.) เมื่อเวลาประมาณ 06.20 น. ปรากฏการณ์ “สุริยุปราคา” เริ่มต้นขึ้นแล้ว สำหรับประเทศไทยจะได้เห็น “สุริยุปราคาบางส่วน” ส่วน เมืองเตอร์นาเต หมู่เกาะโมลุกกะ ประเทศอินโดนีเซีย จะเป็น “สุริยุปราคาเต็มดวง”
ซึ่งข้อมูลจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ระบุว่า สุริยุปราคาในวันที่ 9 มี.ค. นี้ แนวคราสเต็มดวงจะเคลื่อนจากมหาสมุทรอินเดีย สู่มหาสมุทรแปซิฟิก โดยส่วนใหญ่จะพาดผ่านมหาสมุทรแปซิฟิก แต่ช่วงต้นแนวคราสจะเคลื่อนผ่านเกาะใหญ่ ๆ ของอินโดนีเซีย เช่น เกาะสุมาตรา กาลิมันตัน สุลาเวสี และหมู่เกาะโมลุกกะ ซึ่งบริเวณหมู่เกาะโมลุกกะจะเกิดคราสเต็มดวงนานกว่า 3 นาที ส่วนคราสเต็มดวงนานที่สุดกว่า 4 นาที เกิดขึ้นบริเวณมหาสมุทร
ศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ สดร. จัดทีมเจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์เดินทางไปเก็บข้อมูลเพื่อศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความเข้มของแสง และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศขณะเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง ณ เมืองเตอร์นาเต หมู่เกาะโมลุกกะ ประเทศอินโดนีเซีย
โอกาสนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง ณ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ในวันที่ 9 มี.ค. ซึ่งทีม สดร. ได้จัดเตรียมกล้องโทรทรรศน์ติดฟิลเตอร์กรองแสงพร้อมอุปกรณ์สังเกตการณ์ถวายพระองค์ด้วย และถ่ายทอดสดปรากฏการณ์ผ่านเว็บไซต์ www.narit.or.th
สำหรับประเทศไทยจะได้เห็นปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็น “สุริยุปราคาบางส่วน” ช่วงเวลาประมาณ 06.20 - 08.35 น. ซึ่งทางภาคใต้จะได้เห็นดวงอาทิตย์เว้าแหว่งมากกว่าภาคอื่น ๆ โดยที่ อ.เบตง จ.ยะลา จะเห็นดวงอาทิตย์แหว่งมากที่สุดประมาณ 69% ส่วนกรุงเทพฯ เห็นเว้าแหว่งประมาณ 41% และขึ้นไปทางเชียงใหม่เห็นเว้าแหว่งประมาณ 27%
สุริยุปราคาวันที่ 9 มี.ค. 59 เป็นสุริยุปราคาลำดับที่ 52/73 ในชุดซารอสที่ 130 ซึ่ง ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการ สดร. ระบุว่า หากพลาดชมครั้งนี้ต้องรอไปอีก 4 ปี จะเกิดสุริยุปราคาบางส่วนในวันที่ 26 ธ.ค. 62 ส่วนสุริยุปราคาเต็มดวงต้องรอไปอีก 54 ปี จึงจะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงที่เห็นได้เมืองไทย วันที่ 11 เม.ย. 2613
“วันที่ 11 เม.ย. 2613 จะเป็นสุริยุปราคาครั้งประวัติศาสตร์ เพราะเป็นสุริยุปราคาในชุดซารอสที่ 130 ชุดเดียวกับที่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์นักดาราศาสตร์ทรงคำนวณไว้ได้อย่างแม่นยำ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2411 และจะสังเกตการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงครั้งนี้ได้ที่อำเภอหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นจุดเดียวกันกับที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมพระราชอาคันตุกะไปทอดพระเนตรนั่นเอง” ดร.ศรัณย์ ระบุถึงความสำคัญของสุริยุปราคาเต็มดวงที่จะเกิดขึ้น
สดร. ยังได้เตรียมจุดสังเกตปรากฏการณ์ 5 จุดใหญ่ทั่วประเทศ ได้แก่ 1. กรุงเทพมหานคร ณ สวนเบญจกิติ ถนนรัชดาภิเษก ติดศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ 2. เชียงใหม่ ณ ดาดฟ้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัลเชียงใหม่ 3. ฉะเชิงเทรา ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ ๗ รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา อำเภอแปลงยาว 4. นครราชสีมา ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ ๗ รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และ 5. สงขลา ณ ลานชมวิวนางเงือก หาดสมิหลา อำเภอเมือง
ชมถ่ายทอดสด