xs
xsm
sm
md
lg

จะเป็นอย่างไร เมื่อ "เฟซบุ๊กพาบุกดาวอังคาร"? [คลิป 360 องศา]

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วานนี้ (1 ก.พ.) มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารเฟซบุ๊ก เครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โพสต์คลิปวิดีโอแบบชมได้ 360 องศา (360 video) เป็นภาพของพื้นผิวดาวอังคาร จากกล้องของยานคิวริออซิตี (Curiosity Mars Rover) ซึ่งนาซ่าส่งไปลงยังดาวอังคาร โดยลงจอดเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2555

"นี่เป็นวิดีโอ 360 องศาจากพื้นผิวดาวอังคารที่เนียนสุดๆ คุณสามารถมองดูรอบๆ ราวกับว่าคุณอยู่บนดาวอังคารเลยทีเดียว นาซ่าทำภาพนี้ขึ้นโดยต่อภาพที่ถ่ายจากยานคิวริโอซิตี โดยใช้เทคโนโลยีซึ่งสร้างขึ้นโดยทีม วิดีโอ 360 องศาของเฟซบุ๊ก นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของสิ่งที่เราสามารถทำกับเทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน (Virtual Reality) และ วิดีโอ 360 องศา มหัศจรรย์จริงๆ" ซัคเคอร์เบิร์กระบุในเฟซุบุ๊กของเขาซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 48.9 ล้านคน

This is a neat 360 video from the surface of Mars. You can look around like you're actually on the planet.NASA...

Posted by Mark Zuckerberg on Sunday, January 31, 2016


ทั้งนี้นาซ่าส่งคิวริออซิตีขึ้นไปตั้งวันที่ 26 พ.ย. 2554 โดยสเปซด็อทคอมระบุว่าเป็นภารกิจที่น่าจับตา เนื่องจากเป็นความพยายามในการส่งยานอวกาศขนาดรถมินิคูเปอร์ออกจากโลกไปไกลหลายล้านกิโลเมตร แล้วลงจอดบนพื้นผิวดาวเคราะห์ด้วยอื่น ซึ่งภารกิจของยานมูลค่ากว่า 8 หมื่นล้านบาทนี้จะกินเวลานาน 2 ปี โดยมีหน้าที่สำรวจภายในหลุมอุกกาบาตเกลและตามล่าหลักฐานการมีมหาสมุทรโบราณบนดาวแดง

ส่วนบีบีซีนิวส์ระบุว่ายานคิวริออซิตีนับเป็นยานสำรวจลำที่ 4 ของนาซ่าที่ลงจอดบนดาวอังคาร แต่ด้วยขนาดที่ใหญ่โตและความซับซ้อนของยานทำให้ยานสำรวจลำอื่นๆ เล็กลงไปถนัด เฉพาะเครื่องมือของยานอย่างเดียวก็ใหญ่กว่ายานสำรวจลำแรกๆ ที่ส่งขึ้นไปดาวอังคารเมื่อปี 2540 ถึง 4 เท่า ภารกิจของคิวริออซิตีคือการสำรวจใจกลางภูเขาที่สูงกว่า 5 กิโลเมตรในหลุมอุกกาบาตเกล โดยยานจะปีนเขาและศึกษาหินของภูเขาซึ่งมีอายุหลายพันล้านปี เพื่อค้นหาร่องรอยของน้ำ รวมถึงหาหลักฐานของสิ่งแวดล้อมในอดีตที่น่าจะมีร่องรอยของสิ่งมีชีวิตเล็กๆ อย่างไรก็ดี นักวิทยาศาสตร์แจงว่าภารกิจดังกล่าวไม่ใช่ภารกิจที่เร่งด่วน สำหรับพลังงานของยานนั้นจะใช้แบตเตอรีพลูโทเนียม ซึ่งมีอายุยาวนานกว่าระบบพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใช้ในยานสำรวจดาวอังคารลำอื่นๆ และเบื้องต้นยานได้ทุนสนับสนุนในการดำเนินการเป็นเวลา 2 ปี แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่าปฏิบัติการครั้งนี้จะมีบทบาทต่อไปนานนับสิบปีหรือมากกว่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น