ในวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๑๐ เป็นวันที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงกอบกู้เอกราชชาติไทยหลังจากเสียกรุงครั้งที่สอง ทางราชการจึงกำหนดให้วันที่ ๒๘ ธันวาคมของทุกปี เป็นวันถวายบังคมพระบรมราชาอนุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี โดยจะมีพิธีบวงสรวงดวงพระวิญญาณของพระองค์ ที่พระบรมราชานุสาวรีย์ วงเวียนใหญ่
พระบรมราชานุสาวรีย์แห่งนี้ หลังจากทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๔๙๗ เป็นต้นมา หลายคนที่ผ่านไปมาก็เกิดข้อข้องใจ และวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้กันมากว่า
“ทำไมหางม้า และขนหาง จึงชี้ตรงออกไป ทั้งๆที่ม้าไม่ได้วิ่ง!”
เสียงวิพากษ์วิจารณ์นี้แพร่กระจายไปทั่ว จนศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ผู้ออกแบบอนุสาวรีย์นี้ให้ อาจารย์แสวง สงฆ์มั่งมี เป็นผู้ปั้น ก็ไม่อาจจะนิ่งเฉยอยู่ได้ และศิลปินผู้สร้างงานก็มีคำตอบทุกข้อสงสัย
ศาสตราจารย์ศิลป์บอกว่า ถ้าหางนี้อยู่ผิดลักษณะ ก็สามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้โดยง่าย แค่ตัดมันออกแล้วต่อใหม่ให้ห้อยลงมาอย่างที่ต้องการก็สิ้นเรื่อง และสามารถทำม้าในท่าต่างๆให้ถูกใจคนวิจารณ์ได้มากมายหลายท่า แต่งานศิลปะทุกชิ้นขึ้นอยู่กับความคิดเห็นของศิลปิน เป็นธรรมดาที่จะต้องทำไปตามความคิดเห็นของศิลปินผู้สร้างงาน จึงขออธิบายเรื่องนี้ว่า
อันดับแรก เรื่องสัดส่วนของพระบรมรูปกับม้าทรง เพื่อให้สอดคล้องกับความจริงในประวัติศาสตร์ จึงทำให้ม้าทรงมีลักษณะเป็นม้าไทย ไม่ใช่ม้าเทศ แม้จะทำให้ค่อนข้างใหญ่กว่าม้าไทยธรรมดาแล้วก็ตาม แต่กระนั้นส่วนสัดของพระบรมรูปกับม้าทรงก็ยังไม่เหมือนกับส่วนสัดของอนุสาวรีย์ขี่ม้าในยุโรปและอเมริกา
อากัปกิริยาของม้าก็เช่นกัน คนส่วนมากจะเห็นม้าในลักษณะที่กำลังยกขาขึ้นก้าวเดิน เหมือนกับม้าตามแบบฉบับของกรีกและโรมัน และย้ำอีกครั้งว่าศิลปินแต่ละคนก็มีความคิดเห็นของตนเอง ซึ่งไม่เหมือนกับศิลปินคนอื่นๆ ถึงแม้จะคิดเรื่องเดียวกันก็ตาม ถ้าไม่เช่นนั้นก็คงทำแบบพิมพ์ของรูปที่ถือเป็นแบบฉบับไว้ แล้วหล่อออกมาเหมือนกันทุกรูปต่อๆ ไป ไม่ต้องเสียเวลามาปั้นใหม่
“แต่นี่ข้าพเจ้าทำคิดทำอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินในลักษณะวีรบุรุษไทย มิใช่ในลักษณะของจักรพรรดิโรมัน ข้าพเจ้าคิดเห็นพระองค์ในการกระทำเพื่อมนุษยธรรมอย่างแท้จริงเพื่อกอบกู้อิสรภาพของชาติไทย ในยามที่ความหวังทั้งหลายดูเหมือนสูญสิ้นไปแล้วจากจิตใจของชาวไทยทั้งมวล ข้าพเจ้าคิดเห็นองค์วีรบุรุษของเราในขณะทำการปลุกใจทหารหาญให้เข้าโจมตีข้าศึกเพื่อชัยชนะ ดังนั้นในความรู้สึกที่แสดงออกในพระพระพักตร์จึงเต็มไปด้วยสมาธิในความคิดเห็น และเต็มไปด้วยลักษณะของชาติชาตรี”
ทั้งพระเจ้าตากสินและม้าทรงต่างอยู่ในอาการตึงเครียด พระองค์กระชับบังเหียนเพื่อจะรุดไปข้างหน้า และม้าทรงก็ตื่นเต้นคึกคักที่จะพุ่งไปข้างหน้าเช่นกัน เมื่อเป็นดังนี้หูและหางที่ชันชี้ จึงสอดคล้องกับความตื่นคะนองของสัตว์
ผู้วิจารณ์หลายคนบอกว่า ม้ากำลังตื่นคะนองจะยกหางขึ้นก็จริง แต่ก็ยกได้เพียงส่วนที่เป็นกระดูกเท่านั้น ขนยังต้องหอยลงมา
อาจารย์ศิลป์ยอมรับว่าเป็นการตั้งข้อสังเกตที่สมเหตุผล แต่อาจารย์เห็นว่าหางของสัตว์ใดๆ ก็ตามอาจยกขึ้นโดยแรงเหวี่ยงของกระดูก ซึ่งจะส่งผลถึงขนด้วย เหมือนม้าที่ถูกรบกวนจากแมลงแล้วสะบัดหางไปมา ความคิดที่ทำก็เพื่อเสริมความรู้สึกที่จะเคลื่อนไปข้างหน้า
ยังมีประชาชนกล่าวอีกว่า ลักษณะการวางขาของม้าควรจะแตกต่างกัน อาจารย์ศิลป์ก็ว่าเป็นการง่ายที่จะปั้นขาหลังหรือขาหน้าให้อยู่ในท่าที่ไม่เหมือนกัน แต่ที่ไม่ทำเช่นนั้นก็เพราะคิดว่าม้าทรงถึงจุดสุดยอดของอาการที่จะพุ่งตัวออก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องตรึงกีบมั่นกับพื้น เพื่อให้มีพลังที่จะโผนไปข้างหน้า หากขาหนึ่งแปลกออกไป จะลดคุณค่าความเป็นจริงที่มุ่งหมาย และว่า
“ข้าพเจ้าต้องการให้พระบรมรูปนี้แทนองค์วีรบุรุษในขณะประกอบวีรกรรม มิใช่อนุสาวรีย์ของนายทัพที่นั่งผึ่งผายอยู่บนหลังม้าเพื่อรับคำสรรเสริญอย่างกึกก้องจากฝูงชนที่คับคั่งตามท้องถนน โห่ร้องต้อนรับผู้มีชัย ซึ่งส่วนมากท่าทางของม้าที่ปั้นนั้นมีลักษณะเหมือนม้าที่สง่างามของละครสัตว์”
อาจารย์ศิลป์ พีระศรียังอธิบายถึงความคิดของท่านในการออกแบบพระบรมราชานุสาวรีย์แห่งนี้อีกว่า
“ผู้ชายจะปรากฏกำลังอำนาจของระบบกล้ามเนื้อและจะดุดันน่ากลัว ก็ในขณะที่เตรียมพร้อมที่จะต่อสู้ด้วยความตื่นเต้นอย่างรุนแรงมากกว่าเมื่อกำลังต่อสู้กัน เหมือนกับระบบกล้ามเนื้อของเสือที่กำลังจับเหยื่อ ในขณะที่มันพร้อมจะกระโจนออกย่อมมีความเกร็งแกร่งมากกว่าเมื่อมันตะปบเหยื่อได้แล้ว”
อาจารย์ศิลป์ พีระศรีได้เปรียบเทียบพระบรมรูปและม้าทรงของพระเจ้าตากสิน กับพระบรมรูปของสมเด็จพระปิยมหาราชไว้ว่า
“จะเห็นได้โดยชัดเจนว่า อนุสาวรีย์แรกเป็นอนุสาวรีย์แด่ชายชาตินักรบที่ออกศึกเพื่อกอบกู้อิสรภาพให้แก่ชาติ ส่วนอนุสาวรีย์หลังเป็นอนุสาวรีย์แด่องค์พระมหากษัตริย์ซึ่งพระราชกรณียกิจของพระองค์ได้อำนวยประศาสโนบายปกครองบ้านเมืองอย่างเลอเลิศ ด้วยเหตุฉะนั้นเองที่มีความสุขุมคัมภีรภาพและความสง่าผ่าเผย จึงปรากฏสมบูรณ์ในอนุสาวรีย์ของพระบรมรูปทรงม้าพระปิยมหาราช”