xs
xsm
sm
md
lg

งดงาม ล้ำค่า พิธีวิวาห์แห่งปกาเกอะญอ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สัมผัสวิถีชีวิตเหนือยอดดอยสูงสุดแดนสยาม ชมวัฒนธรรมล้ำค่าของชนเผ่าปกะเกอะญอ กับพิธีแต่งงานอันงดงามและดีงาม สะท้อนความผูกพันและให้ค่ากับผืนดินถิ่นเกิด ธรรมชาติ และวัฒนธรรมประเพณี
ลมหนาวปลายปี ไล่ริ้วไปบนตอซังข้าวที่เพิ่งผ่านการเก็บเกี่ยวมาไม่นาน หมอกยามเช้าแผ่สยายไปทั่วทั้งผืนนาขั้นบันไดกลางหุบเขาเหนือยอดดอยอินทนนท์ แมลงบางชนิดส่งเสียงขับขานมาจากกอไม้ใบหญ้าและพฤกษาบางพุ่มที่ยังชุ่มน้ำค้างเมื่อกลางคืนไม่หมาดเม็ด ลำแสงสีทองสาดทอมาจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออก บอกให้รู้ถึงการเริ่มต้นเช้าวันใหม่ เช่นเดียวกับชีวิตของใครบางคนที่ก็กำลังเริ่มต้นใหม่อีกครั้งเช่นกัน

หลังจากตากตรำกรำงานในไร่นามานานเดือน นอกจากลมหนาวที่มาเยือน ปลายปียังเป็นช่วงเวลาแห่งความเบิกบานสำราญใจ นับยาวต่อไปอีกหลายเดือนสำหรับหลายคน และหนึ่งในนั้นอาจกำลังเล็งวันเพื่อการสมรส หารักครองคู่ห่มกายคลุมใจให้คลายหนาว และนั่นก็เท่ากับว่าวิถีชีวิตและขนบธรรมเนียมประเพณีกำลังจะกลับมาสร้างสีสันให้คนในชุมชนเบิกบานสราญจิตอีกหนหนึ่ง

ประเพณีการแต่งงาน หรือ “ดึ เทาะ โค่ เบล” สำหรับชนเผ่าปกาเกอะญอนั้น กล่าวได้ว่ามีการให้ความสำคัญนับแต่อดีตจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งในหนึ่งงานจะประกอบไปด้วยขั้นตอนพิธีกรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงความผูกพันระหว่างคนกับธรรมชาติอย่างเหนียวแน่น และทุกขั้นตอนล้วนแต่เป็นไปด้วยใจที่เคารพต่อธรรมชาติซึ่งไม่เพียงสำคัญกับการดำรงอยู่ หากแต่ยังมีส่วนในการชุบชูจิตวิญญาณของผู้คน เสมือนหนึ่งเป็นที่พึ่งทั้งทางกายและทางใจ

• เปลี่ยนชุดแต่งงาน

หลังจากคบหาดูใจกันมาจนมั่นใจว่าชีวิตนับจากนี้จะครองคู่อยู่ร่วมไม่ทิ้งจาก หนุ่มสาวที่รักก็จะเข้าสู่พิธีแต่งงาน โดยกระบวนการแรกที่จะเกิดขึ้นในวันแต่งงานก็คือ “พิธีแต่งตัวเปลี่ยนชุดแต่งงาน” เพื่อเป็นประจักษ์พยานถึงการครองคู่ บ่าวสาวจะต้องถอดเปลี่ยนจากชุดเสื้อผ้าที่ใส่อยู่เพื่อใส่ชุดใหม่ โดยอาภรณ์ของฝ่ายเจ้าสาวจะเป็น “เสื้อลายปักลูกเดือย หรือลายทอจก” “กระโปรงลายย้อมสายน้ำ” “ผ้าโพกหัวลายจก” ซึ่งได้มาจากฝีมือของแม่ฝ่ายชายหรือพี่สาวน้องสาวฝ่ายชาย ขณะที่เจ้าบ่าวสวมเสื้อแดงลายจกเป็นเสื้อตัวหลัก สวมกางเกงหรือโสร่งของกะเหรี่ยงก็ได้ ขึ้นอยู่สภาพพื้นที่ ส่วนชุดเก่าที่ถูกถอนเปลี่ยนในเวลานั้น ใครที่อยู่ใกล้หรือถ้าบ่าวสาวมีเพื่อนพิเศษ ก็มักจะมอบให้ แต่ส่วนมากผู้ที่มาช่วยเปลี่ยนชุดแต่งงานให้จะได้ไป ทั้งนี้เพื่อเป็นเกียรติแก่คนที่มาทำพิธีนี้



เมื่อแต่งตัวเรียบร้อยแล้ว เจ้าบ่าวเจ้าสาวจะเป็นผู้นำแขกผู้มีเกียรติที่ติดตามมากับฝ่ายเจ้าสาวเข้าบ้านฝ่ายเจ้าบ่าว แต่ระหว่างทาง ญาติฝ่ายเจ้าบ่าวจะมีพิธีต้อนรับด้วยนันทนาการพื้นบ้านตามแต่ว่าพื้นที่นั้นมีการละเล่นอะไร แต่ส่วนใหญ่จะมีกลองยาวเล็ก ฉาบ ฆ้องโมง เป็นองค์ประกอบหลักในการต้อนรับที่ตีเล่นออกมาเป็นเสียงดนตรีพื้นบ้าน ตามมาด้วยการฟ้อนเชิง และรำดาบ หรือการแสดงต้อนรับอื่นๆ แต่จะไม่มีพิธีประตูเงินประตูทอง

• รดน้ำล้างเท้าบนแผ่นหิน

ขั้นตอนนี้ แม่ของเจ้าบ่าวจะเป็นผู้ประกอบพิธีสำหรับบ่าวสาวทั้งสอง โดยองค์ประกอบที่สำคัญคือ แผ่นก้อนหินที่หามาจากแม่น้ำ และกระบอกไม้ไผ่ที่บรรจุน้ำซึ่งตักมาจากแม่น้ำเช่นกัน ด้านหนึ่งนั้นเป็นสัญลักษณ์การเคารพต่อธรรมชาติถิ่นฐานที่ตนเองเกิดมาและกำลังจะสร้างชีวิตใหม่ต่อไปในอนาคต

แผ่นหินนั้นแสดงถึงความเข้มแข็ง แกร่งดั่งภูผา แต่อ่อนน้อมต่อสายน้ำ ขณะที่น้ำคือการนำความชุ่มฉ่ำเย็นสบายมาสู่ครอบครัวและหล่อเลี้ยงสิ่งมีชีวิตมวลสรรพสิ่งบนโลก กระบอกไผ่บรรจุน้ำคือสองคนที่ต้องอยู่ร่วมกัน เพราะไผ่เปรียบเหมือนเสาหลักที่ต้องมีความเข้มแข็งและอ่อนโยนภายในตัว แม้จะเจอมรสุมลมพัดหรือแดดเผา ก็จะทนอยู่กับสภาพแวดล้อมและฝ่าฟันผ่านพ้นไปได้ เฉกเช่นเดียวกับ “ครอบครัว”

นอกจากนั้น ความสำคัญของพิธีนี้ให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวได้รำลึกถึงเส้นทางการเดินทางของความรักที่ทั้งสองได้รู้จักกันมาจนถึงวันที่ต้องแต่งงานกัน เพื่อทั้งคู่ระลึกเสมอว่าตลอดการเดินทางที่ทั้งไปมาหาสู่กันนั้น ได้ข้ามสายน้ำภูเขาลำเนาไพร ได้เดินเหยียบย่ำบนผืนแผ่นดินไปมาหาสู่กัน แต่ในช่วงเวลาดังกล่าว ทั้งสองต้องฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการ มีทั้งอารมณ์ร้อนเย็น ได้ใช้วาจาต่างๆ นานาต่อกัน อีกทั้งอาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าได้เหยียบย่ำต้นไม้ใบหญ้า สัตว์เล็กสัตว์น้อยไปหรือไม่ มาวันนี้ ผู้เป็นแม่ก็จะทำหน้าที่ให้ลูกทั้งสองได้มีความใสสะอาดอีกครั้ง เหมือนดั่งครั้งที่เขาทั้งสองเกิดมาและได้อยู่ในอ้อมกอดของแม่เป็นคนแรก

• พิธีแม่ศรีเรือน

เมื่อเสร็จสิ้นพิธีรดน้ำล้างเท้าบนแผ่นหินเจ้าบ่าวก็จะจูงมือเจ้าสาวเข้าบ้านและสิ่งแรกที่เจ้าสาวต้องทำ “พิธีแม่ศรีเรือน” ซึ่งประกอบไปด้วย “การหุงข้าวหม้อแรก” และต่อด้วย “การตักน้ำใส่กระบอกไม้ไผ่” จากนั้นจึงเข้าสู่ “การทำแกงกับข้าว”

การหุงข้าว การตักน้ำ การทำแกงกับข้าว เป็นจุดเริ่มต้นของเจ้าสาวในการทำหน้าที่ในครัวเรือนของตนเอง แล้วครอบครัวทั้งสองฝ่ายต้องมาทานร่วมกัน ด้วยฝีมือของเจ้าสาว เมื่อข้าวหุงสุกและทำกับข้าวเสร็จแล้ว เนื่องด้วยเจ้าบ่าวเจ้าสาวนับถือศาสนาพุทธ จึงมีพิธีการทางสงฆ์ หลังจากที่เจ้าสาวได้ทำหน้าที่พิธีแม่ศรีเรือนเสร็จ

• ไหว้เจ้าป่าเจ้าเขา

หลังจากพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์แล้ว ลำดับถัดไปจะเป็น “พิธีไหว้เจ้าป่าเจ้าเขาสิ่งศักดิ์สิทธิ์” โดยต้องนำอาหารที่จ้าสาวทำ ไปไหว้เจ้าป่าเจ้าเขาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีญาติทั้งสองฝ่าย ฝ่ายละสามท่าน เข้าร่วมพิธีกรรม และสวดกล่าวพร้อมกัน ตามแต่ใครจะสวดกล่าวต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พิธีกรรมนี้เป็นการแสดงให้ความเคารพต่อธรรมชาติถิ่นฐานของคนกะเหรี่ยงปกาเกอะญอที่ต้องพึ่งพาธรรมชาติตั้งแต่เกิดจนตาย หากไม่มีป่า ดิน น้ำ อากาศ ชีวิตของคนก็จะไม่สามารถดำรงอยู่ได้ นั่นหมายความว่าการที่เราเคารพต่อธรรมชาติ อาศัยเกื้อกูลธรรมชาติ ธรรมชาติย่อมให้ที่อยู่ที่กิน ตราบจนชั่วลูกหลานและนำความผาสุกมาสู่ครอบครัวลูกหลานสืบต่อไป

• ผูกข้อมือ คล้องใจให้บ่าวสาว

ถือเป็นพิธีการสุดท้ายที่ผู้มาร่วมงานทุกคนจะได้ผูกข้อมือให้กับคู่บ่าวสาวเพื่อเป็นการอวยพรให้สองครองเรือนอย่างมีความสุข เจริญรุ่งเรืองในหน้าที่การงานและครอบครัว เมื่อเสร็จสิ้นการผูกข้อมือ ในเวลาราวๆ ก่อนทานข้าวมื้อเที่ยง จะมีการกล่าวอวยพรจากแขกญาติผู้ใหญ่ต่างๆ หลังจากนั้น ทานมื้อเที่ยงและสังสรรค์เริงรื่นกันตามอัธยาสัย

...เมื่อวิถีชีวิตแนบสนิทกับธรรมชาติ การแสดงออกซึ่งความรัก ความศรัทธา และเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ จึงอยู่ในทุกกระบวนการแห่งชีวิตของชนปกาเกอะญอ ดั่งอนุสติเสียงเตือนให้ระลึกนึกถึงคุณค่าป่าเขาลำเนาไพรและสายน้ำ เพราะถ้าสิ้นไร้ซึ่งสิ่งนี้ ก็เท่ากับไร้สิ้นซึ่งชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแต่งงานที่หมายถึงการเริ่มต้นชีวิตใหม่และพร้อมที่จะให้กำเนิดชีวิตใหม่






กำลังโหลดความคิดเห็น