xs
xsm
sm
md
lg

สถาปนิกบนแปลงผัก “บ้านไร่ ไออรุณ” จากฝันของคนบ้า สู่ชีวิตที่ดีงาม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แชร์สะพัดโลกออนไลน์ เรื่องราวของชายหนุ่มสถาปนิกอนาคตไกล “เบส วิโรจน์ ฉิมมี” ที่เขียนจดหมายลาออกจากงานประจำเพื่อไปปลูกผัก ทำสวน ใช้ชีวิตเกษตรกรคลุกดินกลิ่นโคลน ท่ามกลางหุบเขา จนสามารถปลุกปั้น “บ้านไร่ ไออรุณ” บ้านที่อบอุ่นด้วยความรักและรายล้อมด้วยธรรมชาติงดงามเฉกเช่นสวรรค์บนดิน

แต่กว่าจะถึงวันนี้...ชีวิตที่ผ่านมา ไม่มีคำอื่น นอกจากคำว่า “บ้า” ที่ถูกมองมาจากสายตาของคนอื่น และวันเวลาที่ต้องผ่านการทดสอบพร้อมพิสูจน์ความฝันที่ค้านต่อความหวังดีของคนที่รักตลอดระยะเวลา 2 ปี ที่คืนสู่บ้านไร่ แต่เขาก็ไม่ประหวั่นพรั่นพรึงหรือดึงตัวเองให้ถอยหลัง หากแต่เพียรสร้างทีละนิด จนสำเร็จลุล่วง

อะไรทำให้อดีตสถาปนิกอนาคตไกลผู้นี้ เลือกเดินทางวิถีเรียบง่าย
การเปลี่ยนย้ายจากเมืองสู่ป่า จะมีรสชาติเยี่ยงไร
นี่คือเรื่องราวของเขาที่เริ่มด้วยการลาออกจากงานสถาปนิก
สู่การเป็นเกษตรกรผู้มีความสุขกับชีวิตชนิดที่ทุกคนต้องชมเชย!

พลิกฟื้นผืนดินชีวิต
จากสถาปนิก สู่เกษตรกร

“ที่กลับมาบ้าน เพราะคุณแม่โดนรถชน แล้วท่านไม่ค่อยแข็งแรง เดินไม่ค่อยได้ครับ”
หนุ่มสถาปนิกเริ่มต้นเล่าชีวิตที่พลิกผันสู่เส้นทางเกษตกร

“แต่จริงๆ ผมตั้งใจจะลาออกจากงานประจำถึงสองครั้งแล้วล่ะครับก่อนหน้านี้ เพราะเราไม่ได้อยากเป็นสถาปนิกไปตลอดชีวิต ที่เรียนสายนี้ก็เพียงเพราะว่าตอนเด็กๆ เราโตมาด้วยการที่มีบ้านหลังหนึ่งซึ่งคุณแม่ออกแบบเองแล้วก็สร้างไม่เสร็จสักที เราก็แอบถามแม่ตั้งแต่เด็กๆ แล้วว่าทำไมบ้านยังไม่เสร็จ แม่ก็บอกว่าเรายังเรียนอยู่ ต้องใช้ทุนในการเรียนของเราก่อน ผมก็เลยเลือกที่จะเรียนสถาปัตย์ เพราะอยากจะช่วยสานฝันคุณแม่ในการออกแบบบ้านของเราเอง ตอนนั้นคิดแค่นั้น

“นอกจากนั้น...พอเราได้เรียนสถาปัตย์แล้ว เราก็จะคุยกับพ่อตลอดว่าเราจะกลับมาทำบ้าน เราจะทำอะไรกันดี เพราะพ่อท่านไม่ห้ามเราในเรื่องนี้เท่าไหร่ ท่านคงมั่นใจว่าถ้าเราคิดทำอะไรแล้ว คงไม่ทำให้ท่านผิดหวัง ตั้งแต่เด็กๆ แล้วที่ท่านปล่อยให้เราเลือกทางเองอย่างนี้ตลอด”

แต่มันก็ไม่ใช่อย่างที่คิดที่ฝันไว้...
เพราะคงจะเป็นดั่งเช่นบุพการีทั่วไปที่ตรากตรำ หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน ทำงานหนักหาเงินด้วยหวังว่าอนาคต ลูกจะเติบใหญ่ได้มีการศึกษา อันจะนำไปสู่ชีวิตที่สุขสบาย หรือกระทั่งกลาย “เป็นเจ้าคนนายคน” ทำงานในห้องแอร์คอนดิชัน เย็นฉ่ำ ท่ามกลางตึกสูงระฟ้าเทียมเมฆ

“คุณแม่ท่านไม่อนุญาตให้เรากลับบ้าน”
หนุ่มสถาปนิก อดีตมนุษย์เงินเดือน เอื้อนเอ่ยถึงเรื่องราวเมื่อคราวหลัง
“เพราะความที่ท่านส่งเสียเราให้ได้เรียนสูงๆ แม่ก็มีความคาดหวังว่าเราจะได้ไม่ต้องมาทำงานที่หนัก ตากแดดตากฝน ท่านอยากให้ทำงานสบายๆ ในห้องแอร์ เรามีผลการเรียนที่ดีมาตลอด ก็ดูเหมือนจะไปได้สวยในสายอาชีพ อีกทั้งการเป็นสถาปนิกก็เป็นสิ่งที่ดูดีด้วย ท่านก็ขอให้เราทำงานที่กรุงเทพฯ ก่อน ตอนนั้นก็เลยไปสมัครทำงานที่บริษัทเอกชนในตัวเมืองกรุงเทพฯ ตามที่ท่านอยากให้เราทำ

“เราก็ทำตาม กะว่าอายุสัก 30 แล้วค่อยกลับบ้านที่ต่างจังหวัด เพราะต้องรอคุณแม่พร้อม”

ช่วงเวลาระหว่างนั้น ดูเหมือนว่า ทั้ง “ความหวัง” ของคุณแม่ และ “ความฝัน” ของตนเอง จะท่วมท้นเต็มสองบ่า และรอเวลาประสานเป็นหนึ่งเดียว

“เราก็อยากจะกลับมาตลอด ก็ขอคุณแม่อยู่เรื่อยๆ แต่ท่านก็ปฏิเสธ...ย้ำคำเดิมว่าไม่อยากให้เราลำบาก เพราะที่ส่งไปเรียนสูงๆ ก็หวังจะให้ได้มีงานดีๆ ทำ สบายๆ ชีวิตไม่ลำบาก ทำไร่สวนยาง ทำงานเกษตรกรรม ซึ่งอันที่จริง เรื่องเกษตร เราก็ใช่ว่าจะไม่เคยทำ เพราะตอนเด็กๆ ก่อนไปโรงเรียนหนังสือ ก็เคยช่วยรีดน้ำยางที่สวน รวมทั้งสวนผสมรอบๆ บ้านก็เคยช่วยท่านทำ

“ครั้งหนึ่ง เกือบจะประสบความสำเร็จ”
ชายหนุ่มเล่าถึงการขอแม่เพื่อลาออกจากงานประจำ
“ตอนนั้นเป็นงานวันแม่ คุณแม่ก็ได้แม่ดีเด่นของชุมชนอำเภอที่บ้าน นายอำเภอท่านก็พูดบอกแม่ประมาณว่าให้ลูกกลับมาอยู่บ้าน เราก็ขอจังหวะนั้น แต่คุณแม่ก็เปลี่ยนใจ”

ครั้งที่หนึ่งผ่านไป ครั้งที่สองผ่านไป โอกาสประสบความสำเร็จ แทนที่จะเพิ่มขึ้นตามแรงเพียร ทว่ายิ่งนานวัน ยิ่งดูเหมือนจะริบรี่ลง

“คล้ายๆ ยิ่งพอเราทำงาน บุคลิกภาพเราก็เปลี่ยนไป ดูดีขึ้นตามสังคมสิ่งแวดล้อม ตอนนั้นก็เคยมีพูดบ้างเรื่องความฝันของเราที่อยากจะกลับไปทำสวนที่บ้าน แต่เพื่อนๆ เขาก็ไม่ค่อยเห็นด้วย พูดไปเขาก็ว่าเราเป็นคนบ้า (หัวเราะ)

“แต่ก็ยังไม่ยอมนะ คือมั่นใจว่าจะต้องทำแบบนี้ ก็เขียนผังทุกอย่างไว้ ร่างมายด์แม็ป (Mind Map) ไว้ สเก็ตโน่นนี่นั่นไว้ เก็บรวมรวบข้อมูลทุกอย่าง จินตนาการภาพว่ามันจะออกมาเป็นแบบไหนอะไรยังไง เราคิดว่าเราต้องทำได้ และทุกอย่างที่เราจะทำ มันจะต้องทำให้ทุกคนมีชีวิตที่ดีขึ้น
“แต่ก็ได้แค่คิดไว้ก่อน ไม่พูดกับใคร เพราะตั้งใจไว้ว่าวันหนึ่ง เดี๋ยวเราทำได้ ทุกคนก็คงเข้าใจเราเอง”

กลับบ้านนอกของเราดีกว่า
10 วันลาออก ไม่บอกใคร

ถึงแม้ความสุขท่ามกลางชีวิตการงานที่สวยหรูดูดี ในช่วง 3 ปี 8 เดือน มีทั้งรถยนต์และคอนโดมิเนียม (เช่า) ตามรูปแบบชีวิตในความฝันของคนร่วมสมัย แต่ลึกๆ ใจของเขาก็ยังถวิลหากลิ่นไอบ้านทุ่ง ตำบลกะเปอร์ อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง...บ้านหลังน้อยที่รายล้อมไปด้วยป่าเขา

“ถามว่ามีความสุขไหม ก็มีครับ แต่มันเหงา คนรายล้อมรอบตัว แต่เหมือนไม่มีใคร ตอนใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงเทพฯ เราก็ใช้ชีวิตปกติ เที่ยวผับเที่ยวบาร์ ร้านนั่งเล่น (หัวเราะ) เพราะอยู่ย่านเอกมัย ทำงานก็ปกติ เพื่อนก็เป็นปกติ กินเหล้า เที่ยว ก็อยู่ในเมือง มีรถด้วย ทุกอย่างดูดีไปหมด

“แต่มีความสุขคนเดียว และมันจะมีฉุกคิดอยู่ตลอดเวลาว่า พ่อกับแม่ก็แก่แล้ว คือผมเป็นคนที่รักที่บ้านมาก แล้วนิสัยพื้นฐานส่วนตัว คุยกับพ่อแม่ทุกวัน วันละหลายๆ รอบ ก็รู้สึกว่าท่านก็เริ่มแก่แล้ว เราต้องเสียสละความสุขส่วนตัวออกไปบ้าง เรื่องแฟน เรื่องความรัก เรื่องสังคมในเมือง เรื่องเพื่อน เพื่อจะมาทำตรงนี้ ตอนอายุเท่านี้ จะอยู่กับสิ่งเหล่านี้นานๆ”

“ผมคงจะรับไม่ได้เลย ถ้าพ่อกับแม่เราเป็นอะไรไป
ก่อนที่เราจะทำสิ่งที่เราคิดให้มันสำเร็จ”

“ตอนนั้นเกือบจะซื้อคอนโดแล้วเหมือนกัน แต่ฉุกคิดได้ว่า เออ มีพี่ที่ทำงานที่นั่งข้างๆ เขาอายุ 35 เขาได้เงินเดือนประมาณ 6 หมื่นบาท แต่เขายังผ่อนรถ ผ่อนบ้าน ผ่อนคอนโดอยู่เลย ซึ่งเราก็แอบถามว่าเขาจะผ่อนไปถึงกี่ปี เขาบอกว่าเขาคงผ่อนไปเรื่อยๆ เพราะเขาผ่อนประมาณ 25-30 ปี ผมก็ลองบวกลบคูณหารอายุตัวเองลงไป ถ้าผ่อนเสร็จคงประมาณ 50 ปี ตอนนั้นพ่อแม่ก็คงไม่รอแล้ว เราก็ได้แค่ห้อง 4 เหลี่ยมแคบๆ แค่นั้นเอง

“พอรู้แบบนี้ก็เลยไม่ต้องคิดอะไรเยอะ ขอลาออกภายใน 10 วันเลย เพราะกลัวคุณแม่จะเปลี่ยนใจอีก เราคิดว่ากลับบ้านตั้งแต่ตอนนี้เลยดีกว่า จะได้อยู่กันนานๆ คืออยู่ได้ไม่ได้ ไม่รู้เหมือนกัน แต่ว่ากลับมาก่อน ค่อยว่ากันอีกที วัดใจตัวเองเลย”

แม้ฟังดูจะเป็นความสำเร็จที่ได้กลับไปทำตามฝันอย่างที่ตั้งใจ ทว่ากลับเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะหลังจากนั้นก็ต้องฝ่าฟันกับอุปสรรค ทั้งที่มาจากในบ้านและนอกบ้าน

“แรกๆ พ่อแม่ท่านก็ไม่เข้าใจ เพราะด้วยสังคมต่างจังหวัด ด้วยคำพูดของชาวบ้าน เห็นเรากลับมาปลูกผักขาย ก็เข้าใจว่าตกงานหรือเปล่า อกหักกลับมาบ้างอะไรบ้าง แต่เราไม่แคร์ เพียงแต่คุณแม่ท่านจะรู้สึกมากกว่าเรา ท่านก็พูดกระตุ้นให้เราไปสมัครงาน เพราะถึงแม้เราจะกลับมาอยู่บ้าน คุณแม่ท่านก็ยังอยากจะให้เราทำงานด้านสถาปนิกอยู่ (ยิ้ม) แต่เราไม่ เราคิดว่าลาออกครั้งนั้นครั้งสุดท้าย เราจะไม่กลับไปทำงานอย่างนั้นอีกแล้ว

“เราก็ดื้ออยู่นานถึง 7 เดือนตอนที่กลับมาอยู่ที่บ้าน ก็ชวนพ่อไปตัดไม้ทำบ้าน แต่งบ้าน ทาสี ไปเรื่อย ขายผักได้เท่าไหร่ก็เอามาทำเท่านั้น จนได้สัก 2-3 ห้อง แม่ก็พูดกระตุ้นอีกแล้ว... “ยังไม่สมัครงานสักที” (หัวเราะ) ก็เลยคิดว่าต้องมีอะไรสักอย่างที่เป็นเครื่องพิสูจน์ ทำให้แม่รู้ว่าเราตั้งใจจะอยู่บ้าน และอยู่ได้ มีชีวิตที่ดีได้ พูดอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีคนอื่นมาช่วยยืนยัน ก็เลยส่งแบบบ้านเข้าไปประกวด โครงการ Show me your home ของนิตยสาร MY Home ในเครืออมรินทร์

“เราก็ถ่ายรูปพ่อบ้างคุณแม่บ้างในระหว่างที่ทำบ้าน ก็เก็บไว้ตั้งแต่วันแรกที่ร่วมกันทำ แล้วก็เขียนเรื่องราวส่งไป จากนั้นเขาก็ติดต่อกลับมาว่า ให้เราขึ้นไปฟังงานประกาศผลที่งานบ้านและสวนแฟร์ ที่ไบเทค บางนา ก็ชวนพ่อไป พ่อก็ไม่ค่อยอยากไปเท่าไหร่ (หัวเราะ) แต่เราลุ้นอยู่ในใจอยากได้รางวัลนี้ เพราะว่ามันจะได้เครื่องพิสูจน์เรา”

ผลปรากฏได้รับรางวัล ความรู้สึกเชื่อมั่นจึงมีโอกาสได้ส่งผ่านจากลูกสู่พ่อ จากไม้ในสวนแปรเปลี่ยนเป็นผนังกันห้อง โคมไฟระย้าจากฝีมือของแม่ที่ส่องสว่างบ้าน และนั่นก็เป็นจุดเริ่มอันแท้จริงแห่งความเชื่อมั่นในกันและกัน เกิดการร่วมแรง ประสานใจ กันไปโดยอัตโนมัติ

“คืออยู่ในบ้าน เราไม่พูดกันอย่างนี้ ไม่เหมือนที่เล่า (หัวเราะ) ทำอย่างเดียว ไม่ค่อยได้พูดอะไรกันหรอก แต่ว่าวันนั้นที่ไปฟังผลรางวัล แล้วเราได้ที่ 1 ก็เลยได้มีโอกาสพูด พาพ่อขึ้นไปบนที ได้เล่าเรื่องที่เราทำตามฝันที่เราทำ ต่อหน้าคนอื่นแล้วก็ได้บอกพ่อไปด้วย พ่อก็ร้องไห้ดีใจบนเวทที พอกลับมา ทุกอย่างมันเปลี่ยนไป เพราะว่าเราเหมือนพิสูจน์ตัวเองได้ในระดับหนึ่ง ให้คนอื่นเข้าใจ แล้วพ่อกับแม่ก็ไม่ไล่ไปทำงานที่อื่นอีก ให้ขายผักได้ต่อ (ยิ้ม) ท่านก็ดีใจ ดูภูมิใจกับสิ่งที่เราทำมากขึ้น

“จากนั้น เราพ่อแม่ลูกก็ช่วยกันทุกอย่าง กว่ามันจะมาเป็นบ้านอย่างที่เห็น เราตัดไม้เอง ตอกตะปูเอง ช่วยกันทำ มันก็เลยเป็นบ้านที่เป็นบ้านจริงๆ”

“บ้านจริงๆ” ในความหมายของชายหนุ่ม ไม่เพียงเป็นบ้านที่สร้างมาด้วยเงินอย่างเดียว หากแต่ไม้ทุกแผ่น ตะปูทุกดอก และองค์ประกอบทุกอย่างแห่ง “บ้านไร่ ไออรุณ” มีความรักความอบอุ่นของคนในครอบครัวผสมอยู่ในนั้นด้วยอย่างแน่นหนาแข็งแรง

สุขกาย สบายใจ
ณ บ้านไร่ ไออรุณ

เริ่มต้นจากบ้าน ก่อนจะปรับปรุงแผงผักให้มีสไตล์ทันสมัยตามความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมา และล่าสุดกลายเป็นฟาร์มสเตย์ที่พักท่ามกลางหุบเขา ทั้งหมดเกิดด้วยสองไม้และสองมือของคนในครอบครัว

“ที่สร้างทั้งหมด ก็ช่วยกันสร้างจากสองมือ ป้ายร้าน ป้ายสินค้าทุกอย่างทำกับมือ ก็ลองผิดลองถูกมาเยอะเหมือนกัน”

เบส วิโรจน์ คั่นคำพูดของตัวเองด้วยเสียงหัวเราะ ก่อนจะบอกว่า ถึงแม้ร่างกายจะดูโทรม ดูคล้ำ ดำลงไปบ้าง ก็ไม่เป็นไร เพราะถือว่าได้ฝันนี้ที่เป็นจริงแล้ว พ่อกับแม่ก็มีความสุขด้วย

“ถึงตอนนี้ก็คุ้มค่ากับสิ่งที่ได้มา เรามีงานทำอยู่ในสวน ปลูกผัก ชายผัก มีบ้าน มีพื้นที่เล็กๆ ที่เราช่วยกันทำให้มีรายได้ขึ้นมา อีกอย่างก็คือมีฟาร์มสเตย์ นี่คือชีวิตที่เราต้องการ เราต้องการแบบนี้ เราก็ฝันไว้ตั้งแต่เด็ก แล้วมันค่อยๆ ชัดเจนขึ้นมาจากสิ่งที่เป็นความสุขของคนในบ้าน พ่อชอบอะไร แม่ชอบอะไร เรามีอะไร ชอบอะไร น้องสาวด้วย อยากทำอะไร เราก็มาบวกกันจนกลายเป็นบ้านไร่ไออรุณ พื้นที่แห่งรักที่มากกกว่าบ้าน เป็นฟาร์มสเตย์นี้ที่เปิดขึ้น

“ก็ภูมิใจที่เราได้ช่วยกันลงมือทำ วันนี้มันถึงเป็นจริงขึ้นมา”
วิโรจน์เผยถึงความรู้สึกในวันนี้ ที่แม้จะยากลำบาก แต่ความสุขที่ได้ทำร่วมกันกับคนในครอบครัว งานสวนลงแรงที่ห่างร้างมือ ก็ไม่ใช่อุปสรรคที่ต้องทนท้อ

“คือมันมีแต่ความสุขเวลาที่เราได้ทำ จึงไม่รู้สึกถึงความลำบาก เราก็ทำเรื่อยๆ ของเรา แล้วทุกอย่างมันชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ คือตอนแรกก็กลัวเหงาเหมือนกันกับการกลับมาอยู่ที่นี่ เพราะอยู่ในป่า แต่ว่าพอทำแล้ว เราได้อยู่ด้วยกันในบ้าน 3-4 คน ได้ทำในสิ่งที่เราตั้งใจมาตั้งแต่เด็ก มันก็เลยมีแต่ความสุข ยิ่งเห็นคุณพ่อกับคุณแม่มีความสุขและสุขภาพก็ดีขึ้น เรายิ่งไม่รู้สึกว่าเหนื่อยหรือลำบาก

“แล้วไม่ได้มีชีวิตที่ดีแค่คน เพราะทั้งผัก ทั้งลำธารน้ำ ทั้งต้นไม้ ดอกไม้ ก็ค่อยๆ โตงอกงามพร้อมกับการที่เรากลับไปอยู่บ้าน ถ้าเราไม่ได้กลับไป พวกผัก ดอกไม้ บ้านก็ไม่มีอะไรสักอย่าง”

และถึงเม็ดเงินรายรับอาจจะไม่ดีเท่าเมื่อครั้งทำงานในเมืองหลวง
แต่ความสุขกับมีมากกว่า อย่างเทียบไม่ได้

“จริงๆ อยู่กรุงเทพฯ เงินเดือนเราก็ไม่มีเหลือเก็บอยู่ดี ตอนนี้อยู่ที่บ้าน นอกจากขายผักในตลาดนัดทุกวันอังคารกับวันเสาร์ ได้วันละเกือบ 2,000 บาท ตอนนี้ก็มีขายน้ำวันนี้ได้ 3,000 กว่าบาท มีแผงผักขายในบ้านเสริมอีกด้วยสำหรับผู้มาเยี่ยมเยือน

“คือเงินไม่ใช่ปัจจัยหลักของเราแล้ว การได้กลับมาดูแลคนที่เรารักไปพร้อมกับการได้ทำในสิ่งที่เรารักมากกว่าเป็นสิ่งที่มีความสุข มากกว่าตัวเงินนั้น แต่ก่อนเราทำงานออกแบบ เราใช้เงินสร้างสิ่งต่างๆ ขึ้นมา ลูกค้าก็จะบอกว่าเขามีเงินมาให้เท่านี้นะ สร้างให้ได้เท่านี้นะ ทุกอย่างเอาเงินตั้งก่อน แต่พอกลับมาอยู่ที่นี่ อย่างที่บอกมันไม่ใช่เรื่องเงินอย่างเดียว แต่มันเหมือนการนำวัสดุ การนำสิ่งที่เรามี การได้ช่วยกันในครอบครัว เงินมันไม่ใช่ตัวกำหนดงานดีไซน์แล้ว มันเป็นเหมือนการปรับใช้มากกว่า”

เล่าถึงตรงนี้ วิโรจน์ยิ้มเต็มดวงหน้าให้กับความสุขเล็กๆ ในทุกครั้งที่เด็กๆ วิ่งกันมาซื้อแล้วถ่ายรูปสินค้าในร้านเสมอๆ และยังคงแอบปลื้มดีใจทุกครั้ง ซึ่งจากความสำเร็จที่แม้จ้าตัวจะบอกกล่าวว่าเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่ก็นับว่าเป็นก้าวที่น่าดีใจในสายตาคนอื่น หรือแม้กระทั่งหน่วยงานภาครัฐก็ยังกวาดสายตามามองด้วยความสนใจ

“เราเริ่มจากมุมแผงผัก เริ่มทำแพคเกจจิ้งเพิ่ม เติมตรงโน้นตรงนั้นไป อย่างตลาดมันเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนโน้นคนนี้ได้เห็นว่าเรานำเอาความรู้มาปรับใช้อย่างไรในอาชีพเกษตรกร ก็ทำแผงผักใหม่ ทำแรกๆ ชาวบ้านมองเป็นคนตลก แม่ก็จะเขินๆ เวลาไปนั่งอยู่ในร้าน เพราะว่ามันจะแปลกประหลาดกว่าชาวบ้าน (หัวเราะ) พอสักพักหนึ่ง เขาเริ่มชิน แล้วพอดีมีรายการทีวีมาถ่าย ชาวบ้านมองเราเปลี่ยนไป จากคำนินทา ก็กลายเป็นคำชื่นชม

“จากนั้นก็เริ่มมีให้ไปช่วยตรงโน่นนี่นั่น หน่วยงานรัฐก็เข้ามา แต่เรารู้สึกว่ามันไม่ยั่งยืน อยากทำให้มันยั่งยืน เพราะในขณะที่เราเพิ่งเริ่มต้น เรายังไม่สามารถไปสอนคนอื่นได้ เพราะเราเองยังมีจุดบกพร่อง เราเริ่มต้นเราก็เป็นเด็กคนหนึ่ง เรายังเป็นศูนย์เรียนรู้ไม่ได้ แต่ก็ยินดี หากใครจะมาขอความรู้ คือทุกวันนี้ก็มีคนเข้ามา ทุกคนก็น่ารัก เข้ามาเห็นเราทำโน่นนี่ ก็มาพูดคุยทำความรู้จัก อยากไปทำที่บ้านตัวเอง เราก็ภูมิใจว่าสิ่งที่เราทำอยู่ตรงนี้ มันทำให้คนอื่นได้กลับไปสร้างไปพัฒนาบ้านตัวเอง อย่างเช่นการรีโนเวทบ้าน การทาสีบ้านใหม่ เราก็ให้คำปรึกษา

“อนาคตก็จะมีสร้างพื้นที่ตรงนี้ให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ปลูกผัก ดอกไม้ หลักๆ คือทำอะไรที่พึ่งพาตัวเองให้ได้มากที่สุด ยั่งยืนที่สุด อย่างน้อยถ้าเศรษฐกิจไม่ดี เราก็มีผักกิน อยู่ในพื้นที่ที่อากาศดีๆ แล้วคนที่เข้ามาก็เหมือนเป็นเพื่อนกัน มาอยู่ในบ้านของเรา ก็มีรายได้ด้วย ก็เชิญชวน ตอนนี้เราเปิดโฮมสเตย์ด้วยแล้ว มีบ้านพัก 2 หลัง รวมบ้านตัวเองก็ 3 หลัง แล้วก็มีสวนครัว แปลงผัก มีพื้นที่นั่งทานอาหารที่แปลงผัก แล้วก็มีร้านขายสินค้าเกษตรที่เป็นแบรนด์ของเราเอง มีน้ำขาย เร็วๆ นี้ก็จะสร้างบ้านให้ได้สัก 5 หลัง

“ใครที่มาพักก็จะมีกิจกรรมพาเรียนรู้ ให้ทุกคนมาร่วมสร้างฝันด้วยกันแบบนี้ มาตรงนี้ มาเก็บผัก ปลูกผัก แล้วก็ผักเอาไปทำกับข้าวกิน ตรงนี้ใกล้ทะเลด้วย อาหารทะเลอย่างกุ้ง หอย ปู ปลา สั่งมาสดๆ แล้วก็มาปรุงอาหารในครัวตรงนี้ แล้วก็มานั่งกินข้าวกัน เหมือนมาบ้านเพื่อน คือถ้ามาที่นี่ ต้องรู้ว่าอะไรสิ่งที่เราอยากให้เกิด มันคือสถานที่ที่มีความรัก ความฝัน รอยยิ้ม ความสุขของคนรอบๆ ตัว จะเป็นตัววัดพิกัดคนที่เข้ามาที่นี่เองครับ”

ความสุขอยู่ที่เรา
“ลงมือทำ”

“สังคมเพื่อนก็เปลี่ยนไป ตัวเราเองก็เปลี่ยนไปด้วย เราโตเป็นผู้ใหญ่ขึ้น เราคิดถึงอะไรๆ ที่ดูมีอนาคตมากขึ้น จากที่ไม่ค่อยคิดอะไรเลย เที่ยวโน่นนี่เล่น ซื้อเสื้อผ้า ไม่ประหยัด แต่ทุกอย่างที่ได้มาทุกวันนี้ เราต้องออม ต้องประหยัด เพื่อเอาไปสร้างสิ่งที่เราคิดที่เราฝันให้มันเป็นจริง คือมันไม่มีตัวจ่าย ไม่มีห้าง ไม่มีโรงหนัง ไม่เหมือนที่กรุงเทพฯ ได้เงินมาสองสามหมื่น มันก็จะหมดไปกับสิ่งที่ล่อตาล่อใจเหล่านั้นหมด แล้วก็ไม่เหลือเงินเก็บ แต่ที่นี่ได้มาเท่าไหร่ก็เหลือเก็บ ผักก็ไม่ต้องซื้อ อาหารทะเลก็ราคาถูก หนี้เราก็ไม่มี

“สำคัญเลย เราเคยมีบัตรเครดิต แต่กลับมานี่หักทิ้งหมด เราตัดสินใจมาอยู่ที่นี่ มาทำชีวิตอีกแบบหนึ่ง”
วิโรจน์เผยถึงชีวิตบนพื้นที่กว่า 20 ไร่ ที่ไม่ใช่เพียงแค่ตัวบ้านและแผงผักที่เปลี่ยนแปลง แต่การมองโลกของเขาก็เปลี่ยนไปด้วย

“มันเปลี่ยนเราไปด้วย คนที่เขาว่าเรา ก็เข้าใจเรามากขึ้นว่าเรากำลังทำอะไร ไอ้คนบ้าวันนั้น มันไม่ได้บ้าแล้วในวันนี้ ลึกๆ ก็แอบดีใจ เพื่อนคนที่เคยเห็นต่างแล้วแชร์ข่าวของเราในช่วงนี้ เขาก็เข้าใจแล้วในสิ่งที่เราทำ โดยที่เราไม่ต้องบอกเองเลย แล้วดูเขาก็ภูมิใจในตัวเราด้วย

“ความสุขสร้างด้วยสองมือเรา (หัวเราะ) ประมาณนั้น ทุกอย่างมันอยู่ที่การลงมือทำ การลงมือทำสำคัญมากกว่าคำพูด มีคนเคยเรียกเราด้วยคำว่าคนบ้า คนเพี้ยน ติสต์แตกบ้างอะไรบ้าง เพราะเรากลับมา เราไม่ได้สนใจโลก เราไปเก็บหิน เศษไม้ มาแต่งบ้าน เก็บดอกไม้ข้างทาง ขับรถสามล้อทำโน่นนี่ แต่เรารู้สึกว่าคนที่มีชีวิตคนที่ไม่เหมือนคนอื่นไม่ใช่คนบ้า แต่คนที่ต้องทนทุกข์กับสิ่งที่ตัวเองไม่ต้องการไปทั้งชีวิตนั้นแหละที่เป็นคนบ้า วันนี้เรามีความสุขแล้ว เราไม่ใช่คนบ้า เราเข้าใจตัวเอง มาวันนี้ก็ภูมิใจว่าไอ้คนบ้าคนนี้มันไม่มีแล้ว”

“แต่ตอนนี้ก็ยังยืนคำเดิมว่าเราเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น เราทำมาได้สองปีกว่า แต่เราก็ต้องมีชีวิตไปอีก 10 ปี 20 ปี 30 ปี ก็คอยดูต่อไปว่ามันจะดีขึ้นกว่าวันนี้หรือเปล่า”

ท่ามกลาง "ความสุข" ที่โรยรายล้อมรอบบ้านไร่ ไออรุณ ใครที่คิดหวังหรือตั้งฝันเช่นเดียวกันกับวิโรจน์ ชายหนุ่มยิ้มน้อยๆ ที่มุมปาก พร้อมบอกฝากว่าเป็นไปได้ ถ้าใครจะทำ

“คือทำทุกอย่างที่เราอยากทำให้ดี เวลามันจะช่วยเราเอง แต่เราต้องลงมือทำนะครับ แล้วเวลามันจะพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นเองว่า เราไม่ใช่คนบ้า ซึ่งจากประสบการณ์ 2 ปีที่ผ่านมา ก็ไม่ง่ายเลย พูดๆ ง่าย ใครก็พูดได้ว่าจะออกจากงาน แต่การลาออกจากงานมันเป็นแค่จุดเริ่มต้นแค่นั้นเอง แต่เราจะมีชีวิตที่ดีเหมือนที่เราคิดไว้ได้หรือไม่ มันขึ้นอยู่กับตัวเราเอง คือมันไม่มีจันทร์ อังคาร พุธ พฤหัส ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ทุกวันคือวันทำงาน ถ้าเราไม่ทำ เราก็ต้องกลับเข้าไปหมวดเดิม ตัวเราเองต้องมีจุดยืนที่ชัดเจนว่าทุกอย่างจะต้องเป็นจริงให้ได้

“แต่ก็อย่าลืมดูหลายๆ อย่างด้วยนะครับ เช่น ดูต้นทุนชีวิตที่มีหรือไม่มีอะไรบ้าง อย่างเรา เรามีพ่อแม่ มีบ้าน มีที่ดินแปลงหนึ่งซึ่งพ่อแม่สร้างมา นั่นคือต้นทุนชีวิตของเรา

“และที่สำคัญเหนืออื่นใด คือหาเป้าหมายให้เจอเร็วที่สุดว่าเราอยากจะทำอะไร เรามีความฝันอย่างไร แบะถ้าเจอเป้าหมายเร็ว เจอความฝันไว มันจะได้เป็นเครื่องนำทางเราไป อย่างเราถ้ายังไม่เจอความฝันในวันนั้น ก็ไม่รู้จะออกมาทำอะไร ก็คงจะยังออกมาไม่ได้”




เรื่อง : รัชพล ธนศุทธิสกุล
ภาพ : เฟซบุ๊ก บ้านไร่ ไออรุณ baan rai i arun

กำลังโหลดความคิดเห็น