xs
xsm
sm
md
lg

ชุบชีวิตให้ตึกเก่า “บูรณะสถาน” สาวสถาปัตย์-วิศวะ หัวใจอนุรักษ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ใช้แล้วทิ้ง หรือเก่าแล้วก็หมดคุณค่า เรื่องแบบนี้ไม่เพียงเกิดขึ้นกับสิ่งของเล็กๆ น้อยๆ ไล่ตั้งแต่กระดาษทิชชู่ไปจนถึงเสื้อผ้าอาภรณ์ เพราะแม้แต่สิ่งก่อสร้างอย่างตึกรามบ้านช่อง บ่อยครั้งยังกลายเป็นของเก่าตกยุคและถูกรื้อถอนทุบทิ้งราวไร้ค่า แต่ทว่านั่นอาจจะไม่ใช่สำหรับเธอเหล่านี้ที่เรียกตัวเองว่า “บูรณะสถาน” ผู้มองเห็นความงามแห่งวันวานในอาคารบ้านเรือน
เฟรนด์-ชินชนก พลีสุดใจ, แพร-แพรไพลิน จันทนโชติวงศ์ และอัง-อังสนา บุญเกษม
จากนักศึกษาสถาปัตย์และวิศวกรรม 3 สาว สมาชิกกลุ่ม “บูรณะสถาน” ทั้ง “แพร-แพรไพลิน จันทนโชติวงศ์”, “อัง-อังสนา บุญเกษม” และ “เฟรนด์-ชินชนก พลีสุดใจ” ใช้ทักษะการออกแบบและการก่อสร้าง รวมตัวกันเพื่อธุรกิจเชิงอนุรักษ์ รื้อถอนของเก่า สร้างของใหม่ แบบคงไว้ซึ่งคุณค่าด้านสถาปัตย์จากอดีต

กับผลงานที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น “โครงการวันอุดมสุข” (one udomsuk), “นิวาส อยุธยา” (the niwas) ตลอดจน “ท่าเตียน ลอร์ด” (tatien lodge) สะท้อนให้เห็นเด่นชัดว่า อดีตกับปัจจุบันนั้นอยู่ร่วมกันได้ โดยไม่จำเป็นต้องทำลายทิ้งสิ่งหนึ่งสิ่งใด...

• ก่อนจะมาเริ่ม “บูรณะ” สถานที่ต่างๆ มีเหตุการณ์อะไรเป็นตัวจุดประกาย

เฟรนด์ : มีชาวเขมรคนหนึ่งชื่อนายแมว เขาไม่ได้เรียนหนังสือ ไม่มีจุดหมายอะไรในชีวิตเลย วันหนึ่ง เขารู้สึกว่าอยากเป็นจิตรกรที่มีชื่อเสียง จึงตัดสินใจออกเดินทางเพื่อมาวาดรูป บวกกับการที่เขาชอบพวกตึกเก่าอะไรอยู่แล้ว ก็จึงไปที่ซอยส่องพระ แถววัดหัวลำโพงซึ่งมีตึกเก่าประมาณ 60-70 ปีอยู่เยอะมาก เขาจึงตัดสินใจปักหลักอยู่ที่ซอยนี้และเริ่มวาดรูป วาดไปเรื่อยๆ และระหว่างที่เขาวาดไปได้ใกล้จะเสร็จแล้ว วันดีคืนดี ตึกหลังนั้นที่เขากำลังวาด กลับหายไป เขารู้สึกเหมือนว่าความฝันของเขาหายไป อีกทั้งรูปที่เขายังวาดไม่เสร็จก็เหมือนถูกทำลายลงไปด้วย เพราะคนที่ไม่เห็นค่าตึกนั้น

เรื่องราวนี้ทำให้เราได้คิดว่า ของสิ่งเดียวกัน แต่คนเห็นคุณค่าไม่เหมือนกัน เรารู้สึกว่ามันต้องมีหน่วยงานสักหน่วยเพื่อบูรณะ มันเหมือนกับว่าทำไมยังมีคนขับรถเมล์หรือมีวินมอเตอร์ไซค์ ทั้งๆ ที่เป็นอาชีพที่หนัก คือมันยังมีอาชีพนี้อยู่ในสังคม ถ้าไม่มีคนขับ เราจะอยู่ได้ยังไง มันก็เลยเป็นตัวตนของกลุ่มเราว่าทำไมต้องมาทำเรื่องนี้

แพร : การที่แพรเรียนจบสถาปัตย์มา มันทำให้เราเข้าใจว่า กว่าจะมีอาคารขึ้นมาได้สักหลังหนึ่ง ใช้ทั้งแรงของเราเอง ใช้ทั้งวัตถุดิบต่างๆ นานา และเมื่อเป็นงานสร้าง มันควรที่จะทำให้โลกนี้มีคุณภาพมากขึ้น มีอะไรที่ดีขึ้น แต่กระบวนการที่มันจะเกิดขึ้น มันเกิดการทำลายสภาพแวดล้อม ทำลายทรัพยากรไปในตัว และบางครั้ง มันทำให้เรารู้สึกอยู่ลึกๆ ว่า “ทำไมเราต้องมานั่งตัดโมเดลด้วย เพราะเดี๋ยวมันก็ต้องถูกทิ้งแล้ว’ อะไรอย่างนี้ แล้วพอมาทำงานจริงๆ ขยะเยอะกว่าตอนสมัยที่เราเรียนมากเลย แล้วยิ่งพอมี BTS ขึ้นมา มุมมองเราสูงขึ้น เราจะเห็นอาคารเก่าอาคารใหม่ได้กว้างขึ้น และพอมีการสร้างอาคารใหม่ ก็มีการไล่ทุบอาคารเก่า

ทรัพยากรเก่านั้นมีอยู่ แต่โดนทุบเพื่อที่จะให้เกิดสิ่งใหม่ขึ้นมา ทุกอย่างมันเลยวนเวียนอยู่อย่างนี้ ดูไม่น่ายั่งยืนเลย สร้างชิ้นหนึ่งและทำลายอีกชิ้นหนึ่งไปในตัว เราก็เลยรู้สึกว่า จะเป็นไปได้มั้ย ถ้าทำให้สิ่งใหม่เกิดขึ้นมา โดยที่ใช้ทรัพยากรใหม่ให้มันน้อยลง หรือนำของที่ใช้แล้วมาใช้อีกครั้ง ซึ่งมันน่าจะเป็นอะไรที่ท้าทายด้วย และอีกอย่าง สิ่งที่เราทำ เราไม่ได้ทำเพื่อตัวเองเท่านั้น แต่ทำเพื่อคนหลายคน มันก็รู้สึกดีกับการที่เราเหนื่อยมา มันคุ้มค่ามาก

• จากที่ทำงานด้านรีโนเวตหรือบูรณะมาระยะหนึ่ง คุณมองเห็นสิ่งใดบ้างและอยากแชร์

แพร : ทำให้เราเห็นงานที่ซ้ำๆ และจริงๆ ทุกอาคารมันมีที่มาที่ไปอยู่แล้วว่าทำไมเขาถึงสร้างอาคารนี้เมื่อ 30 ปีก่อน แต่แน่นอนว่า พอเราจะสร้างใหม่ ก็ต้องมีการรื้อวัสดุต่างๆ ภายในอาคารออกบ้าง แต่เราก็จะไล่เช็กว่าอันไหนใช้ได้บ้าง เพื่อที่ว่าอย่างน้อย เรายังเก็บรักษาคุณค่าให้กับตัวอาคารเดิม มีการเอาของเก่านำมาใช้ใหม่ ถ้าได้ก็ดี ถ้าไม่ได้ก็อาจจะเก็บไว้ก่อน เพราะว่าเราจะไปหาที่ใส่ที่อื่น ส่วนเรื่องราคา อาจจะไม่ได้ช่วยลด เพราะการที่เราเอาของเก่ามาทำใหม่ มันก็มีมูลค่าอยู่เหมือนกัน แต่สิ่งที่ได้มาและคงอยู่คือความรู้สึก อย่างเช่น มันทำให้คนบางคนได้เห็นว่า บ้านนี้เป็นบ้านของพ่อ มีบานประตูที่เคยใช้ด้วยกันมา อาจจะมีเรื่องราวซึ่งเป็นคุณทางใจ

• ในเรื่องการดำเนินงาน กระบวนการ เริ่มจากตรงไหนยังไงบ้างครับ

อัง : เริ่มแรก เมื่อลูกค้าติดต่อมา ก็จะมานั่งคุยกันว่าทำอะไรยังไง เพื่อดูว่าเราจูนกันติดหรือเปล่า คุยวัตถุประสงค์ โครงการ แล้วค่อยเข้าไปดูอาคารของจริงว่าจะสามารถปรับตามที่เขาต้องการได้หรือไม่ ณ จุดนั้น เราก็จะมีการแชร์ว่าทำได้หรือไม่ได้อะไรยังไง ทั้งในแง่การออกแบบโครงสร้าง วิศวกรรม หรือในแง่ธุรกิจ ดูว่าเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน

แพร : หลังจากนั้น เราและลูกค้าจะทำงานไปด้วยกัน เพราะว่างานชิ้นหนึ่ง ถ้ามาจากดีไซเนอร์มันคือคนเดียว แต่คนที่อยู่ต่อไปมันไม่ใช่เรา คนที่ใช้งานคือเจ้าของหรือลูกค้าของเจ้าของ ดังนั้น ในกระบวนการทำงาน คุณต้องเดินไปพร้อมกับเรานะ ชอบหรือไม่ชอบตรงไหน เราช่วยกันดู เพื่อว่าสุดท้าย สิ่งที่เราทำ มันจะเป็นส่วนผสมระหว่างเรากับลูกค้า มันคือการจูนกัน

• เรื่องของราคา มีหลักเกณฑ์การตกลงว่าจ้างกันอย่างไร

อัง : ลูกค้าบางรายอาจจะตกลงราคาคร่าวๆ ก่อน หรือลูกค้าบางคนก็จะมีกรอบมาเลยว่ามีงบเท่านี้ เราก็จะมาดีไซน์กัน บางทีถ้าเกินงบไปบ้าง เราก็จะชี้ให้ดูว่ามันเกินหรือเป็นอย่างนี้เพราะอะไร มันไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ แต่เราก็ไม่ได้ตัดสินใจนะคะว่าสุดท้ายมันจะราคาเท่าไหร่ เพราะลูกค้าจะเป็นคนเลือก เราแค่เป็นคนแนะนำ บอกและอธิบาย

แพร : เรื่องวัสดุที่เราใช้ เราก็พยายามหาที่ราคาไม่ได้เวอร์มาก แต่เราอาจจะใส่ไอเดียนิดๆ หน่อยๆ เข้าไป จัดระเบียบใหม่ อย่างเช่น อิฐหนึ่งก้อน เขาอาจจะสร้างมาเพื่อก่อผนัง แต่มันอาจจะทำอะไรได้มากกว่านั้นก็ได้ เราก็อาจจะเอามาทำเป็นเลโก้ต่อๆ กัน คือลองให้หลุดจากสิ่งที่อิฐเป็น แล้วใส่อย่างอื่นเข้าไปแทน แล้วมันเกิดเสน่ห์อะไรบางอย่าง การทำพวกนี้ก็ฝึกสมองเราไปด้วย ให้ได้คิด อย่างเช่น เฟรมหน้าต่างของออฟฟิศ มันจะเป็นหน้าต่างเก่าจากตึกนี้อยู่แล้ว แล้วโครงการก็จะไม่ใช้บานหน้าต่างพวกนี้ เพราะความที่ดูแลรักษายาก พอมันเหลือทิ้ง แล้วเรารื้อปุ๊บ ปกติจะต้องทิ้งหรือไปขาย แต่เราจะเก็บไว้ก่อน แล้วมาแต่งออฟฟิศ นำมาตัดให้เกิดระเบียบใหม่ขึ้นมา คือจากของเดิมๆ ที่มี ถ้าเราใส่ไอเดียเข้าไป ใส่ความมันและคอนเซ็ปต์เข้าไป มันอาจจะเกิดสิ่งใหม่ก็ได้ อาจจะช่วยเขาคุมงบประมาณได้ แล้วก็เกิดสิ่งใหม่ด้วย กลายเป็นคาแรกเตอร์อีกต่างหาก

อัง : ในอีกแง่หนึ่ง สิ่งที่เราทำ อาจจะไม่ได้ราคาถูกที่สุด แต่ถ้ามองในแง่ของมูลค่า มองในแง่คุณค่าความทรงจำ มันอาจจะเป็นสิ่งที่เขาหาซื้อไม่ได้แล้ว เหมือนตึกนี้ตึกเดิม แต่มีสิ่งใหม่เติมเข้ามา ให้เขาเห็นค่า ให้เขารัก

• มีความคิดเห็นอย่างไรกับเรื่อง “ของใหม่” “ของเก่า” รวมถึงการรื้อถอนและสร้างใหม่

แพร : ตอนนี้ก็มีคนเริ่มเห็นคุณค่ามากขึ้นนะคะ อาจจะเป็นเพราะกระแสจากต่างประเทศด้วย ทำให้คนไทยเห็นค่า แต่คนที่ยังไม่เห็น เขาอาจจะยังไม่พร้อมที่จะมองมันก็ได้ เช้ามา เขาก็ตื่นมาทำงาน แล้วตอนเย็นก็ต้องเลี้ยงลูก มันไม่มีเวลาที่สบายๆ มานั่งพักนั่งมอง มานั่งดูว่าวัดนี้สวยดี ต้นไม้นี้สวยดี ซึ่งจริงๆ เขาไม่ผิดนะ แค่เขาอาจจะไม่ได้มีเวลาว่างขนาดนั้น แต่อย่างเราได้เห็น ได้มีเวลา จากการเรียนหรืออะไรก็ตาม พอเรามีโอกาส ได้เห็นหรืออะไร ถ้าเราสามารถทำมันได้ เราก็น่าจะทำอะไรสักอย่างมากกว่าการเขียน ถ้าได้ทำและทำได้ มันก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดี

อัง : คือเราปรับปรุงของเก่ามาก็จริง แต่มันก็มีความกลมกลืนกับยุคปัจจุบัน เราไม่ได้รักษาของเดิมร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เราเลือกสิ่งที่เหมาะสมและสิ่งไหนเหมาะ อันไหนดี ก็ยังคงอยู่ แต่อันไหนที่มันไม่ใช่และผ่านไปแล้วจริงๆ ก็ต้องยอม เพราะทุกอย่างมันย่อมมีการเปลี่ยนแปลง

• อย่างกรณี “สะพานเหล็ก” เป็นต้น พอเขาทำมาแล้ว ในมุมมองของเรารู้สึกอย่างไรบ้าง

เฟรนด์ : เฉยๆ นะคะ แต่ถ้าดีขึ้นก็โอเค ทุกอย่างมันก็ต้องเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ถ้าทำให้มันดีขึ้นก็ดี แต่อย่าให้มันแย่ลงก็พอ แต่เหมือนว่า ช่วงที่เราโตขึ้นมาในรอบเวลา 20 กว่าปีมานี้ หลายอย่างมันเปลี่ยนไปนะ อย่างเช่นสยาม ก่อนหน้านี้มันก็มีน้ำพุ เซ็นเตอร์พอยท์ ตอนนี้ก็เป็นสยามสแควร์ วัน สำหรับเราก็เสียใจแค่ช่วงแรกๆ นะที่มันเปลี่ยน แต่ตอนนี้เฉยๆ ไม่ได้ไปยึดติดกับมันว่าหายไปแล้ว ไม่เคยยึดว่าห้างนี้เคยเป็นแบบนี้มาก่อนนะ หรืออย่างห้างเก่าสมัยพ่อแม่เรา ที่เดี๋ยวนี้มันไม่มีแล้ว มันก็ยังดีที่ยังอยู่ในความทรงจำ ไม่ได้รู้สึกว่าทำร้ายเราขนาดนั้น ก็ใช้ชีวิตปกติ

แพร : ในกรณีแบบนี้ ยกตัวอย่างบ้านตามต่างจังหวัดได้อีกอย่าง คือเมื่อก่อน บ้านก็เป็นใต้ถุนสูง แต่เพราะความที่ปู่ย่าแก่แล้ว ขึ้นบันไดทุกวันก็คงไม่ไหว ต้องมาใช้ชีวิตอยู่ข้างล่าง จึงกั้นห้องกั้นผนัง ซึ่งมันเหมาะกับการใช้ชีวิตของเขา เราอาจจะรู้สึกว่าไม่สวยเลย ของเก่าสวยกว่า แต่ว่าสวยแล้วใช้งานไม่ได้ ก็ไม่มีประโยชน์ เรามองว่ามันคือไลฟ์ (Life) มันคือชีวิตการใช้งานของเขานะ เพราะคนไทยจัดสรรแบบนี้เก่งจะตาย อยากได้อะไรก็ปรับๆ กลายเป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งซึ่งเราต้องไปเรียนรู้ด้วยซ้ำ บางอย่างเขาวางดีกว่าเราอีก เพราะเขารู้ว่าต้องใช้งานยังไง

อัง : แต่โดยส่วนตัวอัง เราก็อยู่บ้านไม้มาตั้งแต่เด็ก แล้วทุกวันนี้ก็ยังอยู่ แต่บ้านรอบข้างเริ่มหายไปทีละหลัง เราไม่รู้สึกว่าเขาไม่เห็นค่านะ แต่มันเหมือนกับว่าชีวิตเปลี่ยนไป สังคมเปลี่ยนไป สภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป มันก็ต้องเดินหน้าต่อ มันคือทางเลือกที่เขาเดิน แต่อย่างบ้านไม้กับสภาพปัจจุบันมันจะไหวมั้ย คือถ้าอยู่ต่างจังหวัดก็อาจจะอยู่ได้ เขาอยู่ตรงนั้นตลอด เลยไม่รู้สึกว่ามันร้อน แต่ถ้าเป็นคนเมืองแล้วให้ไปอยู่บ้านไม้ มันก็ไม่เหมาะ (แพร : เหมือนไปเดินห้าง พอกลับมาบ้าน ร้อนมาก เพราะว่าห้างติดแอร์ แต่บ้านไม่ได้ติด) เหมือนเราไปเจออะไรบางอย่าง แล้วมันเกิดข้อเปรียบเทียบ

• แล้วอย่างนี้ ถ้าเปรียบเทียบกว้างไปอีกหน่อย ระหว่างบ้านเรากับเมืองนอก เหมือนหรือต่างกันอย่างไร

แพร : เป็นไปได้มั้ยว่าเมืองนอกเขาก้าวหน้าเราไป 10 ปีแล้ว เขาผ่านจุดที่เรากำลังเป็นอยู่ตอนนี้มาแล้ว เขาเคยทิ้งของเหมือนกับที่เราทิ้งอยู่ตอนนี้ แต่ทุกวันนี้เขาทิ้งสิ่งของที่คิดว่าจะเห็นคุณค่าในอนาคตน้อยลงแล้ว เพราะเขาเริ่มเก็บ แต่ของเรายังมีอยู่เยอะ เราต้องเริ่มเก็บ

เฟรนด์ : เป็นความโชคดีของเราที่ตามหลังเขา เพราะไม่มีใครบอกเขาเช่นกันว่า จะเกิดอะไรขึ้นข้างหน้า แต่เราเห็นแล้ว เราสำนึกได้ก่อน อย่านิ่งเฉย

• สุดท้าย อยากเห็นอะไรเกิดขึ้นบ้างจากการทำตรงนี้

แพร : เชื่อว่าตอนนี้คงมีคนติดตามดูเราอยู่ ถ้าทำดีก็มีคนชม ถ้าไม่ดีก็รอกระทืบซ้ำ แต่เราก็จะลองทำสิ่งที่เราทำได้ และทำให้ดีที่สุด

เฟรนด์ : มันมีความยากอยู่แล้วค่ะในฐานะที่เป็นผู้เริ่มใหม่ คือมันไม่มีหนังสืออะไรที่มาบอกเราได้ว่าการรีโนเวตบ้านควรทำแบบนั้นแบบนี้ ทุกอย่างอยู่ที่ประสบการณ์หมด ปัญหาที่เจอก็ไม่เหมือนกัน ถ้าเป็นสายอาชีพอื่นหรือการสร้างบ้านใหม่ เขาก็จะมีการจดบันทึกและสามารถหาข้อมูลได้ แต่คนทำเรื่องรีโนเวตยังมีน้อย ทำให้มีข้อมูลไม่มาก ฉะนั้น เราจะต้องทำซ้ำๆ เรื่อยๆ แต่ละครั้งที่เราทำ เราก็จะถูกพัฒนาจากสิ่งที่ผ่านมา ก็จะดีขึ้นไปเรื่อยๆ แต่เราก็ไม่ได้บอกว่าเราเก่งที่สุดในตอนนี้ และพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ

อัง : อันที่จริง เราก็เคารพของเก่า แต่เราก็ต้องเดินไปข้างหน้า สมัยเรียนสถาปัตย์เราอาจจะเคยสนใจแต่เรื่องการจะสร้างใหม่ แต่พอมาทำงานปุ๊บ ความคิดเปลี่ยนไป คือจะทำยังไงให้ของเก่ากับของใหม่มาแมตช์กันได้ อยู่ร่วมกันได้ มันต้องเกิดการปรับ เหมือนกับเราผสมผสานระหว่างสิ่งเก่ากับสิ่งใหม่ อยากให้มันลงตัว อยากให้อยู่ได้นาน


คอนเซปต์ : การเดินทางแบบไม่ต้องไปไหน จากอุดมสุขถึงอุดม..สุข


คอนเซปต์ : ฉากหนึ่งจากนิทานเรื่องความอ่อนไหวของยักษ์ ที่ริมเกาะกลางกรุง


คอนเซปต์ : ที่ชานเรือนมีแสงหิ่งห้อยตัวใหม่บินผ่านใต้แสงพระจันทร์ดวงเก่า


คอนเซปต์ : ขณะก้าวขึ้นบันได การเดินทางนั้นยาวนานเสมอ


คอนเซปต์ : รังมดแดงแฝงมิตรภาพของชุมชนนักเดินทางแปลกหน้า

เรื่อง : สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช
ภาพ : พลภัทร วรรณดี และเฟซบุ๊ก บูรณะสถาน

กำลังโหลดความคิดเห็น